ธิติปวินท์ ทัศน์ชัยคมน์ : Thitipawin คอลเลคชั่นพิเศษ จากคนพิเศษ | Issue 168

ธิติปวินท์ ทัศน์ชัยคมน์ : Thitipawin คอลเลคชั่นพิเศษ จากคนพิเศษ | Issue 168

MiX ฉบับนี้พามาทำความรู้จักกับแบรนด์ Thitipawin ที่ก่อตั้งโดยคุณเบน - ธิติปวินท์ ทัศน์ชัยคมน์ ผู้เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมโยงนำพาความพิเศษที่เกิดจากคนพิเศษ  ที่เน้นนำเสนอชิ้นงานให้ลูกค้าได้ตัดสินใจจากตัวชิ้นงานเอง ที่มีดีไซน์ทันสมัย และมีเอกลักษณ์ ใช้งานได้จริง มากกว่าการซื้อเพราะความสงสาร

 “หลังจากเรียนจบมัธยมปลาย ก็มาเรียนต่อที่วิทยาลัยครูสวนดุสิตที่เลือกเรียนที่นี่เพราะว่ามันมีเอก การท่องเที่ยวและโรงแรม เป็นหลักสูตรปริญญาตรีรุ่นแรกของประเทศไทยเลย ที่เรียน 4 ปีก็ทำงานในสายงานทัวร์มาตลอดเกือบ 30 ปี

“ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ซิดนีย์ประมาณ 5 ปีก็ทำงานร้านอาหาร เป็นเชฟเป็นเด็กเสิร์ฟ ขายของในห้าง แต่วันนี้ที่ยืนขายของอยู่เรามีความรู้สึกว่าเรามาทำอะไรที่นี่ ? เรามีความรู้ เรารู้ภาษา แล้วทำไมเราไม่กลับไปช่วยประเทศเรา

“ความคิดในตอนนั้นเกิดขึ้นประมาณ 2 อาทิตย์ก็ตัดสินใจกลับไทยเลย แต่มันก็ยังไม่เกิดขึ้นหรอกค่ะ เพราะพี่เบนกลับมาก็มาทำงานทัวร์บินต่างประเทศ ก็เป็นอาชีพที่เราต้องดูแลคนเยอะ แต่ว่าเราทำได้เพราะว่าเรารักมัน และด้วย

“ความที่เราไปเมืองนอกไปเห็นอะไรเยอะมาก เราก็เลยจะเป็นคนที่คิดอะไรไกลกว่าคนอื่น จนวันนึงได้เจอหนังสือท่องเที่ยวแล้วก็ได้เปิดอ่าน เป็นหนังสือเกี่ยวกับแม่แจ่มและเมืองรอบข้าง เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่หลังดอยอินทนนท์ พอไปถึงเราก็ได้ตกหลุมรักแม่แจ่มเพราะเป็นเมืองในหุบเขาที่สวยมาก ก็ทำให้เราตัดสินใจเปิดร้านอาหารและก็เปิดโฮมสเตย์อยู่สักพัก

เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารและโฮมสเตย์ไปต่อไม่ได้คุณเบนจึงตัดสินใจลาแม่แจ่มกลับกรุงเทพ ฯ และได้รับการติดต่อจากกัลยานมิตรที่เป็นลูกค้าประจำร้านอาหารของเธอ ให้ไปเยี่ยมชมกิจกรรมของเด็ก ๆ ที่ โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร

 “ก็เลยตัดสินใจไปเยี่ยมที่โรงเรียนก็ได้ไปเยี่ยมชมห้องกิจกรรมที่เด็กทำ สิ่งที่ได้ไปเห็นแล้วก็สะดุดตามากก็คือห้องทอผ้าเป็นผ้าซาโอริ ทอจากกี่ซาโอริ กี่อันนี้ส่งมาจากญี่ปุ่นเพื่อช่วยเหลือคนไทยช่วงสึนามิที่พังงา ให้มีรายได้จากการทอผ้า ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนชอบผ้าอยู่แล้วก็เลยสะดุดตาตรงห้องทอผ้า มันมีความสวยและความแปลก ทั้งผื่นที่ทอมาก็จะไม่เหมือนกันเลย ซึ่งอาจารย์ที่ดูแลห้องนั้นอยู่ก็บอกกับเราว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือให้เด็กผู้พิการซ้ำซ้อนฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กและฝึกอารมณ์

“ซึ่งเด็ก 200 กว่าคนไม่ได้แปลว่าเด็กทุกคนจะชอบทอผ้าแต่ก็ต้องทอ ทีนี้ก็จะมีผ้าที่ต้องทิ้งจากการทอ ซึ่งครูก็พยายามที่จะเอาไปทำผลิตภัณฑ์ขายและเราก็ได้ไปเห็นผลิตภัณฑ์ที่โรงเรียนทำขายอันนี้เราก็ต้องบอกตรง ๆ ว่ามันไม่สวย  มันทำให้เรารู้สึกว่าคนที่ซื้อไป ซื้อเพราะความสงสาร ก็เลยตัดสินใจซื้อผ้าทั้งกองนั้นมาเลย 

“จากนั้นก็เอาผ้ามาให้เพื่อนที่เป็นดีไซเนอร์ไปออกแบบเสื้อผ้าให้เรา ปรากฏว่าอีกประมาณ 6-7 เดือนถัดมาเพื่อนก็เอาผ้ามาคืนให้เพราะว่ามันเป็นผ้าที่ออกแบบยากมาก ปรากฏว่าเหตุการณ์นั้นมันเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องแกะแบบเองแล้วก็เย็บมือเอง จากนนั้นนำไปโพสต์ขายปรากฏว่ามีคนซื้อ 

“จนวันนึงได้มีโอกาสไปดูงานที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ แล้วการแต่งตัวของพี่ก็ไปสะดุดตาเจ้าหน้าที่ภายในงาน แล้วเราก็ปรึกษากับน้องเขาจนได้เขียนใบสมัคร แล้วก็เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าของเราปรากฏว่าใบสมัครนั้นทำให้เราผ่านเข้าไปเป็นสมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ณ วันนั้นคือจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “Thitipawin”

“ด้วยความที่ผ้ามันมีเรื่องราวมัน เป็นเรื่องราวที่ดี เราก็เลยถูกส่งเสริมจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ทั้งการอบรม ทั้งเรื่องของ Story Telling รวมถึงการส่งสินค้าของเราไปออดิชั่นกับห้างใหญ่ระดับประเทศหลายราย และได้รับคำแนะนำจากการออดิชั่นตรงนั้นมาพัฒนาปรับปรุงให้มันมากกว่าการเป็นสินค้าเพื่อช่วยเหลือเด็กเท่านั้น

 “สินค้าที่เราทำมันออกไปในโลกธุรกิจเขาไม่สนใจหรอกว่ามันจะมาจากเด็กพิการเพราะสิ่งแรกที่ลูกค้าเห็นก่อนอันดับแรกนั่นคือผลิตภัณฑ์ ความเป็นงานคราฟต์ ความต้องการของผู้ใช้ เลยกลับไปปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนจนได้เด็กที่ทอผ้าเก่ง ๆ มา 3 คน เอามาพัฒนาโดยการใส่เทคนิคเข้าไปก็เลยเกิด texture แบบใหม่จนมีคนสนใจ

“ผ้าที่เขาทำมันไม่ใช่แค่ผ้าทอ แต่มันเป็นผ้าทอที่พิเศษมาก เราไม่ได้บังคับเด็กนะ เราปล่อยให้น้องทอ ให้น้องแก้ปัญหาเอง แต่ถ้าหากเกิดความผิดพลาดเราก็จะถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ยูนิค มหัศจรรย์ขึ้นไปอีก 

“สิ่งที่ทำให้แบรนด์ไปไกล จริง ๆ แล้วไม่ได้เกิดจากตัวพี่เบนหรอก เป็นเพราะความพิเศษของเด็กๆ ต่างหาก ที่เราไปพาเขาออกมา เด็กเขามีความพิเศษที่มันมหัศจรรย์อยู่แล้ว แต่ว่าเค้าไม่มีคนไปนำเขาออกมา พี่เบนถือว่าตัวเองเป็นคนที่นำพา สร้างสรรค์ ต่อยอด และดีไซน์

ล่าสุดเธอได้เข้าร่วมอบรมในโครงการพอแล้วดี รุ่นที่ 5 หลังจนได้ไอเดียที่จะเปลี่ยนชื่อแบรนด์เพื่อให้คนอื่นๆได้เข้ามาช่วยร่วมผลักดันแบรนด์ให้ไปต่อ จนเกิดเป็นชื่อว่า “พิเศษพิศุทธิ์” พิเศษคือความพิเศษของเด็ก พิศุทธิ์คือความสะอาด บริสุทธิ์ ขาวสะอาด เป็นงานเด็กโดยเฉพาะ ส่วนชื่อธิติปวินท์นั้นจะยังคงอยู่โดยเน้นไปทางด้านงานหรรถกรรม ไม่ปนกัน 


More Information 

PisesPisut จะเป็นอีกแบรนด์ที่จะทำผ้าทอโดยเฉพาะ จัดตั้งเป็นบริษัทเต็มรูปแบบ Social Enterprise จากโรงเรียนเด็กทั้งห้าสาย คือตา หู ปัญญาบวกออติสติก พิการ และ ด้อยโอกาส จากภาคเหนือก่อน แล้วค่อยขยายไปทั่วประเทศ 

ธิติปวินท์ ทัศน์ชัยคมน์ : Thitipawin คอลเลคชั่นพิเศษ จากคนพิเศษ | Issue 168