Lost Ferrari : สามัญชนคนเมทัล Issue 142

Lost Ferrari : สามัญชนคนเมทัล Issue 142

Lost Ferrari วงดนตรีเมทัลอิสระประกอบด้วย แตงโม ปริวรรษ เจียมจิตต์ (ร้องนำ), บุ๊ค อำไพพรรณ สุธิราธิกุล (กีต้าร์), เมฆ สิปปนันทน์ สมสุขทวีกูล (กีต้าร์), เฟิส สุขธัช ผดุงพงษ์ (เบส) และ เฟริส์ ติยพันธ์ ศรีกุลมนตรี (กลอง) พวกเขาทั้ง 5 คนถือเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการเมทัลอันเดอร์กาวน์ที่มีเอกลักษณ์แปลกใหม่ และมีเสน่ห์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร พร้อมสร้างสรรค์ผลงานในสไตล์สามัญชนคนธรรมดา บอกเล่าเรื่องราวง่าย ๆ ที่ทุกคนล้วนประสบพบเจอในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อใดที่ได้ยินได้ฟัง บทเพลงเหล่านั้นกลับสามารถจับใจคนฟังได้อยู่หมัด

 

เฟิส : ก่อนหน้านี้พวกเราทุกคนเล่นดนตรีกันมาอยู่แล้วและรู้จักกันตามงานต่าง ๆ แต่ไม่ได้เล่นกันเป็นอาชีพหลัก ต่างคนต่างมีหน้าที่การงานเป็นของตัวเอง จุดเริ่มต้นของวงเกิดจากความตั้งใจของผมที่จะทำวงดนตรีขึ้นมาเพื่อส่งประกวด ผมจึงเริ่มชักชวนจากบุ๊คกับเฟิร์ส ต่อมาเป็นแตงโม และได้เมฆเข้ามาเสริมในภายหลัง พอได้สมาชิกครบพวกเราคิดชื่อวงกัน และสรุปออกมาเป็นชื่อวงว่า Lost Ferrari เป็นวงเมทัลที่ผสมผสานลูกเล่นใหม่ ๆ เข้ามาในเพลง เช่น พิณ ฉิ่ง ทำให้เพลงของวงเราดูแตกต่างจากวงอื่น ภายหลังได้มีการตีความชื่อวงโดยแตงโม คำว่า Ferrari ในภาษาอิตาลีแปลว่าช่างตีเหล็ก ประกอบกับพวกเรามองว่าในยุคนี้เพลงเมทัลมันซบเซาลงไป เหมือนช่างตีเหล็กของวงการมันหายไปครับ

 

บุ๊ค : พวกเรารู้จักกันจากงานเมทัลอันเดอร์กาวน์ ความชอบของทุกคนล้วนเดินไปในแนวทางเดียวกัน ผลที่ได้ออกมาคือการทำวงดนตรีเพี่อเล่นเพลงแนวเมทัล หลายคนอาจมองว่าดนตรีแนวนี้มีแต่ความดุดัน เนื้อหารุนแรง ร้องเสียงสำรอก แหกปากโวยวาย แต่ความจริงมันมีอะไรมากกว่านั้น เมทัลสามารถร้องแบบปกติได้ สร้างพูดถึงความรักได้ สามารถพูดถึงอะไรที่สดใสได้ เสียงดนตรีสามารถเพิ่มลดความหนักแน่นได้ ไม่จำเป็นที่จะร้องเพลงเล่นดนตรีให้คนฟังไม่รู้เรื่อง มันเป็นการสื่อสารผ่านดนตรีมากกว่า เป็นการบอกเล่าเรื่องราว ระบายมันออกมา สะท้อนภาพความจริงที่พบเจอในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมันขึ้นอยู่กับมุมมองของศิลปินนั้น ๆ เมทัลมันคือแนวเพลงแนวหนึ่งท่ามกลางแนวเพลงที่หลากหลาย ความชอบมันเป็นรสนิยมส่วนบุคคล ชอบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนคนนั้น ไม่มีถูกหรือผิดค่ะ

 

แตงโม : เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพวกเราเพิ่งปล่อยผลงานออกมา เป็น EP อัลบั้ม ชื่อว่า สามัญชน ในแต่ละเพลงพูดถึงเรื่องราวทั่วไปที่พบเจอได้ในสังคมทั่วไป เป็นภาพสะท้อนสังคมในมุมมองของพวกเรา อย่างเพลงปลาดิบ พูดถึงค่านิยมเวลาทำอะไรมักถ่ายรูปลงโซเชียล บางครั้งเห็นเขาทำก็ทำตาม ๆ กัน เพลงทัณฑ์มนุษย์ พูดถึงข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในทุกวัน โดยคำว่าทัณฑ์มนุษย์เราได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเรื่องซามูไรพเนจร เพลงแม่ปูกับลูกปู พูดถึงสังคมปากว่าตาขยิบสอนอย่างแต่ทำอีกอย่าง เพลงมนุษย์ป้า พูดถึงคนที่ชอบแซงคิว ไม่เคารพกติกาสังคม ไม่มีมารยาท และสุดท้ายเพลงสู่รู้ พูดถึงนิสัยสอดรู้สอดเห็นเรื่องคนอื่น ซึ่งเพลงนี้จะเป็นเพลงที่หนักที่สุดใน EP เหตุผลที่เลือกพูดถึงเรื่องราวทั่วไป เพราะพวกเราอยากเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่สะท้อนสังคม สะท้อนเรื่องราวในยุคสมัยของเรา อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

เฟิร์ส พวกเราต่างมีงานประจำเป็นของตัวเอง แล้วใช้เวลาว่างมาทำเพลง มาเล่นดนตรีด้วยกัน การจัดการเวลาถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะทุกคนต่างต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในทุกด้าน อาจจะเหนื่อยแต่ใจพวกเรายังสู้อยู่ ถ้าตอนนี้ให้เลือกลาออกไปเป็นนักดนตรีอาชีพจริง ๆ คงยังทำไม่ได้ วงดนตรีอิสระที่พวกเรารู้จัก ถึงเขาจะมีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ในวงการอันเดอร์กาวน์ก็ยังทำงานเหมือนกัน เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ งานโชว์มันไม่ได้มีมากพอที่จะรองรับให้กับทุกคน และแม้ว่าตลาดเพลงในบ้านเราเปิดกว้างมากขึ้น แต่แนวเพลงแบบพวกเราก็ยังต้องให้เวลากับคนฟัง พวกเราเป็นเหมือนตัวเลือกหนึ่งที่ทำให้เขาได้รู้ว่ายังมีเพลงแนวนี้อยู่นะ ลองฟังดู มันอาจเติมเต็มอะไรบางอย่างที่ไม่เคยได้สัมผัสในแนวเพลงที่คุณคุ้นเคยก็ได้ครับ

เฟิร์ส สุดท้ายนี้ฝากชาว MiX Magazine ทุกคนติดตามผลงานและอัพเดทข่าวสารของพวกเราวง Lost Ferrari ได้ที่ Facebook : Lost Ferrari Band ทาง Youtube: Lost Ferrari Official และฝากผลงาน EP อัลบั้มแรกของพวกเราสามัญชนด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

 

Photo : Pornsarun Soithong

Lost Ferrari : สามัญชนคนเมทัล Issue 142