EDITOR’S PAGE

EDITOR’S PAGE

ถ้าพูดถึงความรักผมอยากเขียนถึงเนื้อหาใจความสำคัญโดยสรุปบางตอนจากหนังสือ ความจริงเกี่ยวกับความรัก ความโกรธ และความเมตตา เล่ม 2 (ธรรมกถาในวันมาฆบูชา พ.ศ. 2544 เรื่องความรักจากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย) ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ท่านได้อธิบายเรื่องของความรักสองแบบได้อย่างชัดเจนและในวันแห่งความรักนี้ลองเลือกเอาก็แล้วกันนะครับว่าจะเลือกความรักแบบใด

แบบแรก การได้จึงจะมีความสุข เป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ก็คือความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็เบื่อหน่ายรังเกียจ ความรักประเภทนี้คนทั่วไปรู้เข้าใจกันว่าเป็นความรักระหว่างเพศ หรือความรักทางเพศ มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชมติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก อันเป็นความรักสามัญของปุถุชน ความรักแบบนี้ทางพระท่านเรียกว่า “ราคะหรือเสน่หา” จะเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน

ส่วนแบบที่สอง คือความรักที่เราอยากเห็นเขามีความสุขอย่างที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาดี เรารักใครก็อยากให้คนนั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุขและทำอะไร ๆ เพื่อให้เขามีความสุข ถ้าเรารักเขาโดยอยากให้เขามีความสุขมั่นคงยั่งยืน เมื่อเรามีความทุกข์ความเดือดร้อน แม้ว่าไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังรักเขา และเราจะเกิดความสงสารอยากช่วยเหลือเขาให้หนีพ้นจากความทุกข์ เราจะไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ ซึ่งต่างกันชัดเจนกับความรักแบบแรก ความรักแบบที่สองนี้ทางพระท่านเรียกว่า “เมตตา” รวมทั้ง “ไมตรี” ถ้าหากคนที่เรารักนั้นเขาเกิดเปลี่ยนเป็นมีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน เมตตานั้นก็เปลี่ยนไปเป็น “กรุณา” ซึ่งแบบนี้เป็นความรักของมนุษย์ที่มีความพัฒนาขึ้นแล้ว ก็จะเป็นความรักที่แท้จริงและยั่งยืน

ในยุคที่โลกทั้งใบเปี่ยมไปด้วยความเป็นดิจิตอล และไร้พรมแดนในทุกเรื่องโดยเฉพาะการติดต่อสื่อสาร ไม่เว้นแม้แต่ความรักทำให้อุปสรรคของรักแท้แพ้ระยะทางลดน้อยถอยลง อย่างไรก็ตามความรักก็เป็นสิ่งที่งดงามเสมอหากเลือกที่จะรักในแบบที่ถูกต้องและที่สำคัญหากจะรักแล้วก็เลือกเอานะครับ ว่าจะรักแบบไหนระหว่างหนึ่งหรือสองสำหรับเดือนแห่งความรักนี้ และวันเดือนปีต่อไปครับ

editor