โมเดล 3 ภาคกิจ

โมเดล 3 ภาคกิจ

ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศนั้น ภาคส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องมีอยู่ 3 ภาคกิจ คือ ภาครัฐกิจ (Public sector) เช่น หน่วยงานราชการ, ข้าราชการการเมือง, ภาคธุรกิจ (Private sector) เช่น องค์กรธุรกิจ และภาคประชากิจ (People sector) เช่น NGO, สมาคม, มูลนิธิ, ศาสนสถาน, ประชาสังคม เป็นต้น ทั้ง 3 ภาคกิจนี้นอกจากจะมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ยังมีการทำงานร่วมกันที่เชื่อมโยงทับซ้อนกันอยู่

ถึงกระนั้นก็ตามภาคกิจที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในอดีต คือ ภาครัฐกิจ ต่อมาภาคธุรกิจมีบทบาทในกระบวนการพัฒนาประเทศมากขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีบทบาทในกระบวนการกำหน นโยบายมากขึ้น ขณะที่ภาคประชากิจ ยังไม่ค่อยมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาประเทศมากนัก เช่น ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ควบคุมหรือตรวจสอบการทำงานของผู้แทนฯ ส่งผลให้นักการเมืองใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ หรือปกป้องฐานอำนาจให้กับตนเอง อย่างไรก็ตามในอนาคตมีแนวโน้มว่าภาคประชากิจจะมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากนโยบายที่ถูกกำหนดขึ้นเอื้อประโยชน์แก่ภาคธุรกิจมากเกินไป ขณะที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีความรู้ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น

ทั้ง 3 ภาคกิจจะเข้ามามีส่วนร่วมกัน ในการพัฒนาประเทศได้อย่างไรและเราจะบริหารการมีส่วนร่วมของทั้ง 3 ภาคกิจให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจ ซึ่งผมขอเสนอหลักการและแนวทางบางประการ ดังนี้

หลักการแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญ (Specialization)
การแบ่งงานกันทำให้แต่ละคนทำสิ่งที่เชี่ยวชาญ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่า การที่แต่ละคนต้องทำหลายหน้าที่ ทำให้แต่ละคนมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้ภาพรวมมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากขึ้น ตัวอย่างข้อเสนอการแบ่งงานกันทำ เช่น

1) จับคู่ธุรกิจกับภารกิจเพื่อสังคมอย่างเจาะจง
เนื่องจาก ปัจจุบัน ธุรกิจขนาดใหญ่มีการทำ CSR มากขึ้น แต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ มักเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในระยะสั้น แต่ไม่มีผลกระทบในระยะยาวดังนั้นหากรัฐส่งเสริมการจับคู่ระหว่างธุรกิจกับปัญหาอย่างเจาะจง มอบหมายให้ธุรกิจรับผิดชอบแก้ไขปัญหานั้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เอกชนเกิดความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาสังคมที่เจาะจง นอกเหนือจากการทำธุรกิจ และทำให้ปัญหาสังคมได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

2) คณะกรรมการภาคประชาชน แต่ละหน่วยงาน ภาครัฐ
เนื่องจาก ปัจจุบัน ภาคประชากิจ มีส่วนในการสนับสนุนกำกับและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐกิจน้อยมาก ดังนั้นหากมีการจัดตั้งคณะกรรมการภาคประชาชน 1 คณะก็สนับสนุนกำกับและตรวจสอบ 1 หน่วยงานให้การสนับสนุนช่วยเหลือและ ตรวจสอบและกำกับการทำงานของทุกหน่วยงานภาครัฐ แต่ละคณะมีความเชี่ยวชาญในงานของหน่วยงานนั้น ๆ จะทำให้การสนับสนุนการทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

หลักการทำให้เป็นทางการและมีระเบียบแบบแผน (Formalization) 
ที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันระหว่าง 3 ภาคกิจ ไม่มีประสิทธิภาพเพราะไม่มีระเบียบแบบแผนในการทำงานร่วมกัน ไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องงานประชากิจหรือการทำงานร่วมกับภาคประชากิจและภาคธุรกิจโดยตรง นอกจากนี้ยังขาดโครงสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐกิจและประชากิจ ถึงแม้จะมีโครงสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกิจและธุรกิจอย่างเป็นทางการ เช่น คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นคณะทำงานขึ้นมา 12 คณะ มีตัวแทนจากภาครัฐกิจและธุรกิจรับผิดชอบในแต่ละด้าน แต่เป็นการทำงานร่วมกันของภาครัฐกิจกับธุรกิจเป็นหลัก โดยไม่มีตัวแทนจากภาคประชากิจ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ผมจึงเสนอว่า 

1) จัดตั้ง “กรมประชากิจ” เพื่อส่งเสริมภาคประชากิจอย่างเป็นทางการ
ดังเช่นสหราชอาณาจักรมี Minister for Civil Society หัวหน้าฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่ส่งเสริมภาคประชากิจ กำกับดูแลผู้ประกอบการเพื่อสังคมและการลงทุนเพื่อสังคม ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม (Social Action) หรือคาซัคสถานที่เพิ่งจัดตั้ง กระทรวงกิจการศาสนาและประชาสังคม (Ministry for Religious and Civil Society Affairs) เพื่อปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประชาชนสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม เป็นต้นในการเริ่มต้นอาจเริ่มจากหน่วยงานระดับกรม เพื่อให้มีขนาดใหญ่พอมีงบประมาณ มีบุคลากร มีอำนาจดำเนินการ เมื่อภารกิจประสบความสำเร็จ อาจยกระดับเป็นกระทรวงประชากิจ เป็นต้น โดยบทบาทหน้าที่ของ “กรมประชากิจ” ที่ควรทำ เช่น เป็นศูนย์รวมข้อมูลภาคประชากิจ กำหนดนโยบายในการส่งเสริมภาคประชากิจมอบหมายและกำกับเอกชนในการทำ CSR และ CSV เจาะจงประเด็นส่งเสริมและรวมกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือเป็นคนกลางในการรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายก่อนการดำเนินนโยบาย เป็นต้น

2) ส่งเสริมการจัดตั้งสภาประชาชนสำหรับทุกกลุ่มคน
เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์หรือกลุ่มที่เสียประโยชน์ มีโอกาสมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนโยบาย เป็นช่องทางหนึ่ง ที่สามารถสะท้อนเสียงจากประชาชนมาสู่รัฐบาลและหน่อยงานรัฐและเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มในสังคมอย่างแท้จริง 

3) จัดโครงสร้างความร่วมมือระหว่าง 3 ภาคกิจ
ปัจจุบันมีโครงสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนอย่างเป็นทางการ คือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) มีการประชุมเป็นทางการ สม่ำเสมอเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและนำข้อคิดเห็น
ไปพัฒนานโยบายของประเทศ แต่ยังขาดโครงสร้างที่ภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ ผมจึงเสนอว่าควรจัดตั้งโครงสร้างที่เชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชนกับภาคอื่น ๆ อย่างเป็นทางการอาจจะต่อยอดจากโครงสร้างเดิม เช่น พัฒนาจาก กรอ. ‘ กรอป. หรือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของแนวทางบางส่วนเท่านั้นที่ภาครัฐควรทำเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศร่วมกันระหว่าง 3 ภาคกิจ ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผมเชื่อว่าหากภาครัฐให้ความสำคัญอย่างแท้จริงกับการนำภาคกิจอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแล้ว เราจะได้เห็นแนวทางการทำงานร่วมกันที่สร้างสรรค์อีกจำนวนมากและเราจะได้เห็นการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดกว่าที่ผ่านมาในอดีตมากทีเดียว 

โมเดล 3 ภาคกิจ กับการเพิ่มประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ