จินา โอสถศิลป์

จินา โอสถศิลป์

ผ่านเรื่องราวมามากมายนับตั้งแต่ก้าวตั้งไข่ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในฐานะทีมงานที่สร้างคอนเทนต์ได้โดนคนทุกวัย “จินา โอสถศิลป์” CEO แห่ง GDH559 ค่ายหนังที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดของไทย เราจะพูดคุยกันนับตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงปัจจุบัน ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ GDH559 ได้รับการยอมรับจากทั่วทุกสารทิศ

คนหลังฉาก ค่ายหนังอารมณ์ดี
“ตำแหน่งหลัก ๆ พี่จะเป็น CEO ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารทั้งงาน บริหารทั้งคน ถ้าพูดถึงตำแหน่งในการทำหนังก็จะเป็นผู้อำนวยการสร้าง ฝ่ายบริหารค่ะ การทำงานของ GDH559 ที่นี่เราทำงานกันด้วยความเชื่อนะ เชื่อว่าเราจะทำหนังหรือคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เราถนัด ทำให้ดีที่สุด ซึ่งจะมีเฮดโปรดิวเซอร์อย่าง พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) แล้วก็จะมีโปรดิวเซอร์ใหญ่ที่เป็นผู้เริ่มต้นทางอย่างคุณวรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ทั้งคู่นั้นถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการริเริ่มทำโปรเจ็กต์หนัง หรือว่าคอนเท้นต์ต่าง ๆ พวกเขาจะ Develop โปรเจ็กต์ขึ้นมา จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการของบริษัทก็คือต้องทำให้ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารอย่างตัวพี่เอง หรือทางกรรมการบอร์ดของบริษัท พี่ ๆ ที่เป็นภาคส่วนหนึ่งของโครงการทำหนังนี่แหละมาพิจารณาร่วมกัน ต้องผ่านขั้นตอนการจัดการหลายอย่าง เพื่อทำให้ตัวพี่รวมทั้งคนอื่น ๆ เห็นพ้องต้องกันว่าโปรเจ็กต์นั้น ๆ น่าลงทุน 

“ซึ่งสำหรับตัวพี่เองสิ่งที่จะทำให้พี่ซื้อได้ จะต้องเป็นสิ่งที่พี่รู้สึกว่ามันผ่านการคัดสรรมาอย่างดีที่สุด เพราะว่าการจะทำหนังเพื่อสื่อสารกับผู้ชมวงกว้างเนี่ย มันจะต้องมีอะไรบ้าง หน้าที่ของเขาคือการทำให้เราชอบ ในส่วนของพี่คือพี่ค่อนข้างเชื่ออยู่แล้วล่ะว่าโปรเจ็กต์ที่มาถึงมือพี่แล้ว มันจะต้องดีอย่างแน่นอน

“หลังจากนั้นพี่ก็จะมาอ่านงาน ถ้าทุกอย่างโอเคเรียบร้อย ก็จะเป็นหน้าที่ของพี่ที่ต้องผลักดันโปรเจ็กต์ รวมถึงสนับสนุนทุกอย่างในทุกภาคส่วน ให้การทำงานในขั้นตอนของโปรดักชั่นมันออกมาราบรื่น และเป็นงานชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุดให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทของนักแสดง ถ่ายทำ โปรโมท หรือบางครั้งก็จะมีการสนับสนุน Marketing Communication จากส่วนอื่น ๆ เช่นส่วนของลูกค้า เราก็จะผนึกกำลังให้โปเจ็กต์หนังของเราไปได้ไกลที่สุด และให้มันดีที่สุดให้ได้ ทั้งหมดนี่คือหน้าที่หลักของพี่ค่ะ”

ก้าวสู่วงการทำหนัง
“สักประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว พี่กับพี่เก้งเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พี่เก้งอยู่ปี 4 ส่วนตัวพี่เองอยู่ปี 1 สมัยนั้นพี่เก้งก็เหมือนเป็นไอดอลของรุ่นน้อง เป็นคนเก่ง น่ารัก และมีอารมณ์ขัน แล้วพอพี่เก้งจบก็ได้ไปทำงานเป็นผู้กำกับมิวสิควิดีโอ พอถึงช่วงที่กำกับหนังโฆษณาก็เลยมาเกณฑ์น้อง ๆ ที่คณะให้ไปช่วยงาน ตัวพี่เองก็เลยได้มีโอกาสไปทำงานในกอง ตอนนั้นเป็นโปรดักชั่น เมเนเจอร์ ช่วยกันประสานงานกองถ่าย ไปเป็นฟรีแลนซ์ทำงานกันสนุกสนาน จนกระทั่งพี่เก้งมีชื่อเสียงขึ้นมาและเปิดบริษัทโปรดักชั่นเฮาส์เล็ก ๆ ที่ชื่อ หับโห้หิ้น 

บางกอก ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แล้วทีนี้พอพี่เรียนจบปริญญาตรีก็เลยไปหาความรู้ด้านการโฆษณาข้างนอกต่อ พอกลับมาก็มาคุยกับพี่เก้งว่า เราอยากเปิดโปรดักชั่นเฮาส์ที่ทำงานดีมีความสุข พี่เก้งเลยชวนมาทำหับโห้หิน บางกอก ด้วยกัน 

“จนถึงตอนนี้ก็ทำงานร่วมกับพี่เก้งมาได้ประมาณ 26 ปีแล้วค่ะ ระยะเวลาผ่านมาเรื่อย ๆ ก็ได้กลุ่มก้อนของคนทำงานที่เป็นพี่เป็นน้องเข้ามาทำงานร่วมกัน ทำงานโฆษณามาประมาณ 10 กว่าปี ซึ่งตอนที่เปิดบริษัทใหม่ ๆ พี่เก้งจะบอกกับ
พวกเราเสมอว่าตัวเขาเองชอบทำหนังไทย จะมีโอกาสสักครั้งไหม ถ้าเราจะค่อย ๆ เก็บเงินกัน เพื่อมาเป็นผู้อำนวยการสร้างในการทำหนังที่เราอยากทำกันจริง ๆ ทุกคนเลยช่วยกันทำงานให้ดีที่สุดเพื่อหาเงินมาทำหนัง จนล่วงเลยมาเป็นสิบปี
พี่เก้งก็กลับมาพูดว่าตัวเขาเองอยากออกไปทำหนังแล้ว ช่วงนั้นก็ทำเป็นงานรับจ้างไปก่อน เริ่มจากเรื่องสตรีเหล็ก ซึ่งพอทำเสร็จแล้วเรารู้สึกสนุกไปกับการทำงาน ก็เลยมาคุยกันแล้วเปิดเป็นธุรกิจของพวกเราขึ้น เป็นหับโห้หิ้นฟิล์มร่วมกับทางคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หนังเรื่องแรกที่เราทำขึ้นมาด้วยชื่อของพวกเราเองจริง ๆ ก็คือเรื่อง สิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด, สตรีเหล็ก 2 แล้วก็ แฟนฉัน ซึ่งหลังจากแฟนฉันนี่เองทำให้ได้มีโอกาสรวมตัวกันมาเป็น GTH อยู่กันมายาวนาน 11 ปี จนกลายมาเป็น GDH559 ในปัจจุบัน ก็อยู่กับพี่เก้งมาตลอด เป็นเหมือนคู่บัดดี้ที่มีพี่เก้งเป็นคนครีเอท ส่วนตัวพี่จะเป็นคนบริหาร อะไรแบบนี้ค่ะ

วิธีการทำงานในแบบของจินา โอสถศิลป์
“ต้องยอมรับว่าตัวพี่เองเป็นคนที่ไม่มีหัวทางด้านครีเอทีฟเลย แต่เหมือนชีวิตเราได้มีโอกาสร่วมงานกับคนที่มีความครีเอทีฟสูงอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นพี่เก้งเอง พี่ ๆ ที่คณะนิเทศฯ หรือแม้กระทั่งทุกวันนี้พี่ก็ได้ร่วมงานกับผู้กำกับเก่ง ๆ หลายคนเหมือนกับว่าพอเราได้ทำงานกับคนเหล่านี้ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เขาคิด ว่ามันเจ๋ง มันดี มันเท่ แล้วทีนี้ขั้นตอนต่อไปก็คือว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่พวกเขาคิดนั้นเกิดขึ้นมาเป็นรูปธรรม เราก็เลยมาเป็นฝ่ายซัพพอร์ทที่จะทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาให้ได้ ก็เลยเข้ามาจับงานด้านตรงนี้ ตั้งแต่งานแรกที่ยังเป็นงานเล็ก ๆ เรื่อยมา พอนานเข้ามันก็เกิดเป็นความเชื่อใจกันขึ้นมา 

“สำหรับตัวพี่เอง พี่เก้งถือเป็นคนที่มีความคิดแปลกและสดใหม่มาก พี่เก้งคิดพี่ลงมือทำ พอร่วมงานกันนานเข้า ๆ มันก็กลายเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมา ฝึกฝนตัวเรามาเรื่อย ๆ ทำงานเยอะขึ้น ทำงานหนักขึ้น เหมือนกันกับนักกีฬาที่เบสิคพื้นฐานแต่ละคนอาจจะไม่ต่างกัน ความขยัน ความทุ่มเทฝึกซ้อมต่างหาก ที่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ พี่ว่ามันคล้าย ๆ กัน ประสบการณ์มันสอนกันไม่ได้ พี่เองก็ฝึกฝนตัวเองมาเรื่อย ๆ นับจากก้าวแรกจนวันนี้ อีกอย่างที่สำคัญก็คือความเข้าใจ เพราะว่าการบริหารคนมันไม่มีหลักสูตรไหนตายตัวอยู่แล้ว อยู่ที่การจัดการ รวมถึงประสบการณ์มากกว่า ที่จะช่วยให้เรายืนหยัดอยู่ได้ในหน้าที่การทำงานของเรา ต้องหนักแน่นค่ะ

“สิ่งหนึ่งที่พี่ยึดมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรเลยก็คือ ครอบครัวมืออาชีพ คือความสัมพันธ์เราอยู่กันเป็นครอบครัว แต่เราต้องทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ เนื้องานต้องเป็นที่ยอมรับและทุกคนต้องสามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ คำว่าครอบครัวนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ความรัก ความเมตตาของครอบครัวมันก็จะเกิดขึ้น แล้วทีนี้การทำงานเราก็ต้องทำอย่างมืออาชีพด้วยวัฒนธรรมของคนไทยเราบางครั้งเราก็อยู่กันแบบครอบครัวกันเกินไปจนทำให้งานไม่เดิน ก็เลยต้องเอาความเป็นมืออาชีพมาใส่ลงไปเพื่อให้มันกลมกล่อม บางทีเราอาจจะติดเกรงใจคนนั้นคนนี้ทำให้งานขาดตอน เราก็ต้องมาคุยกันแบบมืออาชีพ แล้วทีนี้พอหลังจบงานเราก็กลับมาคุยกัน สังสรรค์กัน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นครอบครัวกันเหมือนเดิม GDH559 ที่นี่เราอยู่กันแบบนี้แหละค่ะ

หนังดีสำหรับจินา คือหนังแบบไหน
“หนังดีคือหนังที่สื่อสารกับคนดูในวงกว้างได้ สมมติว่าเราทำหนังไทยสักเรื่องขึ้นมา เราก็ต้องทำให้คนทั้งประเทศดูแล้วสามารถบันเทิงไปกับมันได้ทุกภาคส่วน ถึงแม้ว่าจะเป็นหนังผีมันก็สามารถบันเทิงได้เหมือนกัน คืออะไรก็ตามที่เราทำแล้ว
คนดูรู้สึกแฮปปี้ การที่เขาเสียเงิน เสียเวลาเข้าไปดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วเขารู้สึกคุ้มค่า ได้ความสุขกลับออกมา นั่นคือหนังดี เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสร้างหนังดี ๆ ขึ้นมาสักเรื่อง เพราะว่าคนดูในยุคนี้ต้องการความสดใหม่ ด้วยการที่ต้องเสียเวลาไปกับการจราจรในการเดินทาง รวมไปถึงค่าตั๋วหนังที่แพงมากขึ้น คนดูก็คาดหวังความคุ้มค่าเพิ่มขึ้น การที่เขาจะไปดูหนังในโรงสักเรื่องมันต้องใช้เหตุผลหลายอย่างที่มากขึ้นกว่าสมัยก่อน ที่มีตัวเลือกเพียงแค่โทรทัศน์กับโรงหนัง ในขณะที่ปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารมากมายเต็มไปหมด

“หนังที่ดีก็ควรจะดูในโรงหนังนะ เพื่ออรรถรสที่จะได้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด คือตัวพี่เองไม่ได้เรียนทำหนังมาตั้งแต่แรก บางอย่างเราอาจจะไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งนัก แต่อย่างที่พี่บอกไปว่าเราได้มีโอกาสที่ได้อยู่กับคนเก่ง ๆ รอบตัวตลอดเวลา มันก็เหมือนเราได้เรียนรู้สิ่งเหล่านั้นซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ กระบวนการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนน้ำที่เติมยังไงมันก็ไม่เต็มแก้ว เราก็สามารถเรียนรู้ไปได้เรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันหนังที่ดีก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จไปทุกเรื่องหรอกนะ หนังที่จะประสบความสำเร็จได้มันต้องเป็นหนังที่ทีมผู้สร้างตั้งใจทำให้มันประสบความสำเร็จ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการริเริ่ม คิดคอนเซ็ปต์สิ่งที่สื่อออกไปคนดูจะต้องรู้สึกสัมผัสกับมันได้ด้วย 

“กระบวนการทำบทภาพยนตร์สำหรับพี่สำคัญมาก เพราะมันคือต้นทาง หนังที่จะประสบความสำเร็จได้จะต้องทำให้ดีและตั้งใจตั้งแต่กระบวนการแรก พี่เชื่อว่าบทหนังที่ดีมันจะสามารถกลายเป็นหนังที่ดีและประสบความสำเร็จได้ ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็คือโปรดักชั่น ตรงส่วนนั้นก็ต้องดีด้วยค่ะ ไม่อย่างนั้นบทดีแต่งานสร้างไม่เวิร์คมันก็พังได้เหมือนกัน การทำหนังของเราก็จะมีเป้าหมายที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ กล่าวคือ หนังเรื่องถัดไปของเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะวัดจากหนังเรื่องล่าสุดของเรา ถ้ามันไปได้ไกลกว่า เท่านั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วค่ะ”

จุดเด่นของ Content แบบ GDH559  
“พี่คิดว่าหนัง ละคร ซีรีส์ หรืออะไรต่าง ๆ พวกนี้ มันคือการสร้างแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะมุมใดของสังคม หรือของมนุษย์เราก็ตามมันคือศิลปะแขนงที่เจ็ดที่สามารถสะท้อนแนวความคิดของผู้สร้าง รวมถึงสื่อมุมมองของผู้กำกับเกี่ยวกับสังคมนั้น ๆ ได้ค่อนข้างชัด และเข้าถึงคนได้ง่าย ไม่ว่าเราจะดูหนังเรื่องไหนก็ตาม มันก็จะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สามารถเอาไปต่อยอดนำไปใช้ หรือแม้กระทั่งเก็บไปฉุกคิดไว้แก้ไขในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยพลาดพลั้ง

“มันเหมือนกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นคือสิ่งที่ทีมงานสร้างอยากจะบอกกับสังคม ซึ่งสำหรับบริษัทของเรา พี่อยากให้มันสะท้อนความเป็นไปของสังคม ที่นอกจากเราจะนำประเด็นเหล่านั้นมานำเสนอแล้ว เราต้องพูดถึงวิธีแก้ไขให้กับสิ่งที่เราเพิ่งบอกออกไปได้ด้วย รวมไปถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาหรือไม่ก็ตาม ถ้าสังเกตกันจริง ๆ แล้ว สิ่งเหล่านั้นแหละ คือข้อความที่พวกเราผู้สร้างอยากจะบอกกับคนดูทุกคน มันจะดีมาก ๆ ถ้าเราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครบางคน ในการลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคม หลังจากที่ได้รับสารจากคอนเทนต์ต่าง ๆ ของเราไป หรือแค่ได้คิด แค่ได้รู้สึก สำหรับเราก็ถือว่าหนังเรื่องนั้นประสบความสำเร็จแล้วล่ะค่ะ

ผลงานล่าสุดในโรงภาพยนตร์
“หนังเรื่องใหม่ของเราเข้าฉายแล้วนะคะ ทุกโรงภาพยนตร์ก็คือเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง ตัวพี่เองได้เห็นการทำงานทุกขั้นตอน บอกเลยว่าพี่ภาคภูมิใจมากนะ หนังเรื่องนี้จะเป็นการยกระดับมาตรฐานของ GDH559 อีกเรื่องนึงเลยก็ว่าได้นะ เป็นหนังวัยรุ่นที่มีข้อคิดที่ดีมาก คุณบาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) ผู้กำกับมีไอเดียที่เหนือชั้นมาก เรียกได้ว่าเทียบเท่าหนังระดับฮอลลีวูดได้เลยสำหรับไอเดีย 

“ตัวพี่เองขอนิยามหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังวัยรุ่น แอคชั่น ลุ้นระทึกก็แล้วกัน เพราะมันจะมีการแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบ เพื่อให้ปฏิบัติการลอกข้อสอบประสบผลสำเร็จให้ได้ ซึ่งในขณะเดียวกันหนังก็มีแง่คิดรวมถึงแง่มุมต่าง ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามานอกจากความบันเทิง ทำให้เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ดีจริง ๆ และให้อะไรกับผู้ชมพอสมควรพี่คิดว่ากระบวนการทำหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำบทโปรดักชั่น จนถึงได้เข้าฉายแล้วเนี่ย มันดีมากเลย ทุกอย่างเพอเฟ็กต์รู้สึกได้เลยว่ายกระดับงานของเราไปอีกขั้นจากเรื่องล่าสุด พรจากฟ้าก็อยากแนะนำให้ไปดูไปชมกัน ฉลาดเกมส์โกง เข้าฉายแล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์ค่ะ” 

หนังไทย ภาพสะท้อนสังคมไทย Reflection of Thai Culture