ธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์

ธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์

สถานการณ์สัตว์ป่าในประเทศไทยตอนนี้น่าเป็นห่วงอย่างมากทั้งจากการตัดต้นไม้ทำลายป่าซึ่งยากต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า การล่าและทารุณ รวมทั้งการลักลอบนำมาเลี้ยงโดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกวิธี บางอย่างใกล้สูญพันธุ์หรืออาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ทำให้ ‘ธนพัฒน์ พยัคฆาภรณ์’ ตัดสินใจสานต่อมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทยจากคุณแม่ทันที 

“ย้อนกลับไปเมื่อรุ่นคุณแม่ เมื่อตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าเลย ก็คือเราจะเห็นตลาดมืดในประเทศไทยเต็มไปหมด คุณแม่ไปเจอลูกลิงตัวหนึ่งใกล้ตายแล้วมันน่าสงสาร เขาก็เลยตัดสินใจซื้อมาด้วยเหตุผลที่ว่าเขาบอกให้คนขายเอาไปหาหมอ แต่คนขายบอกว่าค่ารักษามันแพง ปล่อยให้ตายดีกว่า เพราะช่วงยุคนั้นมันไม่มีหมอเกี่ยวกับสัตว์ป่าเลย หมอสายสัตว์ป่าเพิ่งมาเกิดเมื่อไม่กี่ปีนี้ เลยตัดสินใจซื้อมาแล้วมาประคบประหงมอยู่หลังบ้าน

“พอคนรู้จักว่าเรารับเลี้ยงดูสัตว์ป่าคนก็เอามาให้เยอะขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์มีปริมาณมากขึ้น พื้นที่ในการเลี้ยงดูสัตว์ป่าไม่เพียงพอ ประกอบกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างทวีคูณ จึงได้ปรึกษาและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน จนได้ตัดสินใจจัดตั้งมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย (The Wild Animal Rescue Foundation of Thailand) ขึ้น เมื่อปี 2535 แล้วก็เริ่มมีโครงการอื่น ๆ มาจนถึงทุกวันนี้

“สมัยนั้นก็ยังไม่มีใครที่มีความรู้เรื่องสัตว์ป่า เราก็ทำการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาให้คำแนะนำในเบื้องต้น เพราะว่าส่วนใหญ่เขาก็ไม่มีสัตว์เหมือนเรา ความเชี่ยวชาญก็จะไม่เหมือนกัน จนขณะนี้ประเทศไทยก็ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าครบทุกด้าน ใครถนัดด้านใดก็จะไปด้านนั้น อย่างสัตวแพทย์ทางด้านช้างก็จะดูแลทางด้านช้างไปเลยแต่ของเราก็มาเน้นทางชะนีเยอะหน่อย เพราะในประเทศไทยชะนีเป็นสัตว์ที่ DNA ใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด

“สถานการณ์สัตว์ป่าตอนนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะว่าเราแย่งที่อยู่เขาแล้วก็ล่าเขา  ทั้งกิน ขาย โชว์ หรือจะส่งไปเลี้ยงเมืองนอก สิ่งที่เราทำก็คือไปช่วยสัตว์ที่โดนทรมาน โดนทรมานเยอะนะ บางที่ถ้าเราเห็นข่าวตำรวจไปจับของกลางซึ่งเป็นสัตว์ป่าเป็นร้อยเป็นพันตัว ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากยุ่งเพราะว่ามันเหมือนเอาเขากลับไปคืนสู่ป่าไม่ได้ เราก็จะมาดูแลสัตว์ตรงนี้แหละ สัตว์ที่คนเคยเอาไปเลี้ยง เอาไปทรมาน เราก็ฝึกเขาเพื่อปล่อยคืนสู่ป่าและให้ดำรงชีพตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่าอย่างแท้จริงได้เพราะว่าการปล่อยสัตว์มันจะไม่เหมือนปล่อยนกปล่อยปลา

“กระบวนการฝึกของเราจริง ๆ คือเริ่มจากการเปิดกรง แล้วเริ่มติดตามเขาตลอด 24 ชั่วโมง ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เขาไปตรงไหนเราตามตรงนั้น โดยไม่ได้ใช้เครื่องมือติดตาม เราใช้เจ้าหน้าที่ของเราติดตามผล ตอนนี้เราเข้าป่าทุกวันทั้ง 365 วัน อย่างเช่น ‘โครงการคืนชะนีสู่ป่า’ เราใช้เวลา 10 ปีในการฝึกครอบครัวแรก ให้เขามามีสัญชาตญาณสัตว์ป่า ทุกวันนี้เราก็ยังเป็นโครงการเดียวในโลกที่สามารถปล่อยสู่ธรรมชาติได้ ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เวียดนาม ที่เขามีโครงการเหมือนเรา ทุกวันนี้เขาก็ยังปล่อยไม่สำเร็จ บางที่ก็กลับมาหาคน ตายหมด หายหมด

“เรามีอาสาสมัครเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นอาสาสมัครต่างชาติ ตอนนี้โครงการที่เราทำก็จะเน้นไปที่ ‘โครงการคืนชะนีสู่ป่า’ ที่ภูเก็ตเพราะถือว่าเป็นศาสตร์ที่ยากมาก ๆ แล้วเราทำสำเร็จ ก็เลยมีอาสาสมัครจากทั่วโลกมาเรียนรู้ กฎเหล็กของเราก็คือเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครทุกคนไม่มีสิทธิ์จับสัตว์เลย ถ้าอยู่ในที่ฝึกที่จะเตรียมปล่อย แม้กระทั่งให้อาหารเราจะใช้ระบบระยะไกลหมด ไม่ให้ใกล้ชิดมนุษย์เลย โดยใช้รอกเลื่อนลำเลียงอาหารไปให้เขา

“องค์กรของเราคนก็จะไม่รู้จัก จะไม่เห็นเรามาเคลื่อนไหวตามสื่อต่าง ๆ เราไม่เก่งทางด้านสื่อเลย แต่ว่าเราจะทำของเราไปเงียบ ๆ ถามว่าอยากทำประชาสัมพันธ์ทางด้านสื่อไหม อยากทำนะ แต่เราทำไม่เป็น (ยิ้ม) อย่างบางองค์กรที่เราเห็นตามสื่อต่าง ๆ ตอนนี้ที่ช่วยเหลือเพียงแค่ตัวเดียว แต่มีการทำประชาสัมพันธ์ใหญ่โตได้เงินมากมาย ถามว่ายอดเงินของเขาเยอะไหม ผมว่าเยอะ! แต่ถ้าเขาลุยเพื่องานอนุรักษ์พอไหม... ผมว่าไม่มีทางพอ!”

เป้าหมายของมูลนิธิฯ ไม่ได้มองเรื่องความเติบโตขององค์กรเป็นหลัก แต่มองและโฟกัสไปที่สัตว์ป่า ‘สัตว์ป่าต้องดีกว่านี้’ เพราะสัตว์ป่าเขาก็มีชีวิตจิตใจเหมือนมนุษย์เรา รวมถึงมีโรคภัยไข้เจ็บเหมือนกัน ฉะนั้นสัตว์ป่าก็ต้องได้รับการดูแลเหมือนมนุษย์ ที่สำคัญคือเขามีป่าเป็นบ้าน ซึ่งคุณธนพัฒน์ เองก็ได้ให้คำปฏิญาณกับตัวเองตั้งแต่แรกเริ่มมาตลอดว่า “สัตว์ป่าก็เป็นเหมือนเพื่อนเรา ทำยังไงก็ได้ให้เขาได้กลับบ้าน” และนี่ก็เป็นการอนุรักษ์เชิงพัฒนาอย่างแท้จริง 

Know Them
ศูนย์ของมูลนิธิตั้งอยู่ภูเก็ต ระนอง เชียงใหม่ เขาจะพยายามไม่ตั้งศูนย์ ถ้าตั้งไปมันก็เป็นเฉพาะขององค์กร แต่สิ่งที่เขาทำคือลงพื้นที่แล้วพาชาวบ้านมาทำงานงานร่วมกัน เมื่อแล้วเสร็จก็ยกให้ชุมชนเป็นคนดูแลเพื่อให้ยั่งยืน 
สามารถบริจาคเงินผ่านบัญชี “มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย” ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกะปิ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 096-2-10048-1 พร้อมกับแนบสลิปหลักฐานการโอนพร้อมระบุชื่อที่อยู่เพื่อขอใบเสร็จรับเงิน (ใช้หักภาษีได้)
ไปที่ [email protected] หรือจะส่งผ่านทาง Facebook: WARFTHAI

Protect Our Wild Animals คืนสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติ