สุรินทร์...

สุรินทร์...

ถนนบางสายหาใช่เพียงเส้นตรงที่รองรับการขับเคลื่อนผ่านไป บางคราวมันอาจเป็นได้ดังสิ่งเชื่อมโยงผู้คนที่เหยียบยืนอยู่สองฟากฝั่งให้ดำเนินหนทางเฉพาะอย่างเฉพาะตนไปตามสิ่งที่พอจะเรียกได้ว่าหนทางชีวิต

กับถนนบางสาย บางครั้งมันพาเราไปพบกับภาพการเติบโตและชีวิตดิ้นรนตรงชายแดน ขณะบางนาทีก็สะท้อนความสงัดเงียบงดงามของผืนป่า ฟ้ายามเย็นเหนือหนองน้ำ หรือความยิ่งใหญ่ของภูเขาที่กั้นขวางเป็นพรมแดนธรรมชาติ

และทุกครั้งที่ผ่านพาตัวเองไปในการทอดตัวของมัน คราใดที่หักเลี้ยว เลือกเส้นทางเชื่อมโยงเพื่อไปต่อ

เราล้วนต้องตัดสินใจไปในนามของความเด็ดเดี่ยวโดยตัวของตัวเอง

ยามสาย ณ เราพบตัวเองอยู่ที่แหล่งหินตัดภายในอาณาบริเวณร่มรื่นของวัดป่าธรรมศิลารามในเขตอำเภอหินกรวดของบุรีรัมย์ ตามเนินดินในป่าทึบเต็มไปด้วยหินทรายหลายรูปทรง ทั้งที่สกัดเป็นแท่งเป็นคาน บางชิ้นมีร่องรอยเจาะรูสำหรับทำสลัก

นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าที่นี่คือแหล่งหินที่บรรพชนขอมนำไปสร้างปราสาทต่าง ๆ ในอีสานใต้อย่างปราสาทหินพนมรุ้งและปราสาทเมืองต่ำ

ชายแดนไทย-กัมพูชาเต็มไปด้วยถนนสายเล็กสายน้อยที่ลัดเลาะไปตามแนวเขาพนมดงรัก มันพาเราไปรู้จักแง่มุมของประวัติศาสตร์และชีวิตหลากหลายตรงชายแดน

ที่ด่านพรมแดนช่องสายตะกู โลกเบื้องหน้าเต็มไปด้วยการเร่งเร้าสู่วันเติบโตของสองแผ่นดิน อาคารคาสิโนกำลังก่อสร้าง เดาเค้าความใหญ่โตได้ไม่ยาก หลังแลกบัตรประชาชนเราก้าวพ้นคำว่าพรมแดนไปสู่เขตจังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชา

ตลาดชายแดนเล็ก ๆ เต็มไปด้วยภาพการค้าชายแดนและสินค้าประดามี เครื่องไฟฟ้า เหล้าบุหรี่ตกค้าง รวมไปถึงของป่าเป็นสินค้านิยมตามด่านเล็ก ๆ ที่ยังไม่เติบโต

ทว่าภาพการดิ้นรนทำมาหากินตรงหน้านั้นต่างหาก ที่ดูเหมือนจะบอกเราว่า ตรงชายแดนไม่ได้มีไว้สำหรับคำว่าอาณาเขตแต่เพียงอย่างเดียว

เราละทิ้งการเติบโตตรงนั้นไว้เบื้องหลัง พาตัวเองลัดเลาะไปตามถนนสายเล็ก ๆ เชื่อมโยงบ้านกรวดเข้าสู่เขตจังหวัดสุรินทร์ที่อำเภอพนมดงรัก ทางหลวงหมายเลข 2407 อันเก่าแก่พาเราไปพบด่านเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่เข้มงวดไปด้วยระเบียบเพราะความไม่แน่ชัดในเรื่องพรมแดนของนาทีปัจจุบัน

หลังแลกบัตรประชาชนอีกครั้ง ความสงัดเปลี่ยนภาพตรงหน้าให้ผ่อนคลาย กลุ่มปราสาทตาเมือนเรียงรายเป็นหย่อมอยู่ตรงพิกัดที่เรียกกันว่า “ช่องตาเมือน” พื้นที่ใกล้ชายแดนอย่างถึงที่สุด

ปราสาทตาเมือน หรือปราสาทบายกรีม วางตัวสงบนิ่งอยู่ทางซ้าย ในรกเรื้อของแมกไม้ อโรคยาศาลประเภทธรรมศาลาหลังเก่าแก่จากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดดเด่นปรางค์องค์เดี่ยวก่อด้วยศิลาแลงตามแบบศิลปะบายน ขณะที่ถัดไปไม่ไกล ปราสาทตาเมือนโต๊จต่อเนื่องความสมบูรณ์จนคนหลงรักประวัติศาสตร์ต้องเดินดูรายรอบ ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายร่มรื่นอยู่ในกำแพงที่งดงามด้วยโคปุระ โบราณสถานสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อยามฝนเยือน บารายเล็ก ๆ ปริ่มน้ำสะท้อนองค์ปรางค์ลงเบื้องล่างคือภาพที่ใครสักคนวาดหวัง

เลยไปสักไม่ไกลบนทางสายสงัด เราเข้าสู่ความใหญ่โตดังชื่อปราสาทตาเมือนธม ซึ่งธมหมายถึงใหญ่ นักท่องเที่ยวทั้งสองเชื้อชาติประปรายและปะปนไปกับทหารพรานที่ยืนเฝ้าระวังความปลอดภัย ปราสาทขอมขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือนได้รับการบูณะงดงาม ปรางค์ 3 องค์สร้างด้วยหินทราย ภาพจำหลักเหนือซุ้มประตูของปรางค์ประธานสะท้อนแดดบ่าย ที่ลานริมระเบีบงคดปรากฏศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อของพระกัลปกฤษณะ ที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าปราสาทตาเมือนธมน่าจะสร้างขึ้น
ด้วยคติพราหมณ์ ก่อนจะปรับเปลี่ยนเป็นคติความเชื่อทางศาสนาพุทธในภายหลัง

มันเป็นภาพขัดแย้งที่ดำเนินเคียงคู่ไปกับความงดงามของอารยธรรม จากห้วงเวลาและน้ำมือบรรพชนที่ก่อเกิดบนแผ่นดินผืนเดียวกัน สู่คืนวันคู่ขนานที่ค่อย ๆ ฉีกพรากสิ่งเหล่านี้ออกจากกันด้วยเหตุผลบางประการ เหตุผลที่มนุษย์ให้ค่าเส้นแบ่งเขตแดนอย่างถึงที่สุด

ทว่าความเก่าแก่งดงามตรงหน้านั้นก็ล้วนเกิดก่อมาก่อนที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ จะรู้จักคำว่าขอบเขตพรมแดน

จากช่องตาเมือน เราค่อย ๆ ขยับห่างจากชายแดนออกมาทีละนิด ย้อนกลับมาใช้ทางหลวงหมายเลข 224 และแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 214 อำเภอกาบเชิงเป็นบ้านไกลชายแดนที่พานพบ ผู้คนพูดจาด้วยภาษาเขมรตามเชื้อสายและการก่อเกิด

ใกล้ค่ำเราถึงตลาดชายแดนช่องจอม หลังเลือกที่พักสะอาดสะอ้านสะดวกสบาย รถคันเล็กจอดสนิท ภาพปะปนซื้อขายตามตลาดชายแดนของที่นี่ตกทอดอยู่กับการเป็นจุดผ่านแดนถาวร มันส่งผลให้รถราขวักไขว่มากขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าทางการเกษตรดูเหมือนจะเป็นการค้าขายโดดเด่นมากกว่าเสื้อผ้าและของมือสองอย่างชายแดนอื่น ๆ

หลังด่านปิด เราแวะพักตามคำแนะนำของเจ้าถิ่นที่อ่างเก็บน้ำตะเกาว์ โลกแฟนตาซีจากไม้ยืนต้นตายในหนองน้ำรวมไปถึงชายชรากับการวางมอง วางข่ายดักปลา ล้วนเติมเต็มภาพชีวิตธรรมดาที่เคลื่อนไหวหายใจตรงชายแดน

คืนค่ำที่ช่องจอมเงียบสงบ ร้านรวงปิดสนิท ชีวิตตรงพิกัดชายแดนราวหยุดนิ่งรอวันพรุ่ง

วันที่หลายสิ่งหลายอย่างพร้อมจะดำเนินก้าวต่อตราบที่โลกยังหมุนให้ทุกอย่างเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม

รุ่งเช้าอีกวัน เราแยกออกจากถนนสายชานแดนไปสู่อำเภอบัวเชด ทางหลวงหมายเลข 2124 พาเรามายืนอยู่หน้าปราสาทภูมิโปนของเขตอำเภอสังขะ ในปลายสาย

ศิลปะขอมสองสมัยรวมกันอยู่ในความร่มรื่นของแนวต้นตาลที่ขึ้นรับรายรอบ ปราสาททั้ง 4 หลังหลงเหลือหลักฐานการเป็นปราสาทขอมที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในแผ่นดินไทย ไว้ตามองค์ปราสาทและรากฐาน องค์ปราสาทหลังที่ 1 ทางทิศเหนือสุดที่เหลือเพียงฐาน กรอบประตู และผนังบางส่วน ทับหลังและเสาประดับกรอบประตูสร้างด้วยหินทรายจำหลักลวดลาย เทียบได้กับศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร แบบไพรเกม็ง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่12-13

ส่วนปราสาทหลังที่ 3 ที่เป็นปรางค์ประธานนั้นก่อด้วยอิฐล้วน ๆ ไม่สอปูน พบจารึกภาษสันสกฤตด้วยอักษรปัลลวะ ที่เก่าแก่ร่วมสมัยกับหลังที่ 1ใกล้กันยังปรากฏปราสาทหลังที่ 2 และ 4 ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในสมัยต่อมาจากการใช้เสาแปดเหลี่ยมที่พัฒนามาจากการใช้เสากลมแบบศิลปะก่อนเมืองพระนคร

เราจมอยู่ในความเป็นเมืองเก่าของภูมิโปนอยู่เนิ่นนาน ความเป็นชุมชนโบราณตกทอดอยู่ในระบบชลประทานทั้งเขื่อนดินโบราณ สระน้ำ 5 แห่ง สะท้อนถึงการเป็นเมืองเก่าแก่และมีผู้คนอาศัยอยู่มานับพันปี

เมื่อบ่ายหน้ากลับไปหาชายแดนด้วยทางหลวงหมายเลข 2328  ถึงบ้านนาตำบล มันพาเราไปแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2201 เพื่อไปสู่ความเงียบงันของช่องสะงำ มีเพียงรถตู้บรรทุกเงินและผู้คนข้ามฝั่งไปสู่อัลลองเวง หรือต่อไปเสียมเรียบ กระนั้นที่จุดชมวิวพญากูปรีก็เผยภาพมุมสูงของอ่างน้ำ คลองธรรมชาติ รวมไปถึงทิวเทือกพนมดงรักอันครึ้มเขียวในต้นฤดูฝน

บางคราวเราอาจพบว่า ถนนบางเส้นพาเรามาเป็นหนึ่งเดียวกับชายแดนได้ไม่ยาก

ณ ที่ตรงนั้น มันอาจเต็มไปด้วยความงดงามของป่าเขาหนองน้ำ หรือในนามความเก่าแก่แห่งประวัติศาสตร์และอารยธรรม

ทว่าระหว่างชายแดนแห่งจิตใจคนที่พานพบระหว่างทางดูเหมือนจะมีเพียงตัวเราเองเท่านั้น ที่จะรู้ว่าทิศทางของการเดินทางเข้าหากันนั้นต้องใช้หนทางสายใด 

ในความหลากหลายของถนนสายชายแดน