บรรเจิด เหล็กคง
การจะเดินทางตามความฝันที่ตั้งใจไว้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆฉะนั้นการมุ่งมั่นสู่จุดหมายปลายทางโดยไม่ย่อท้อจึงเป็นสิ่งที่ ‘บรรเจิด เหล็กคง’ ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานประติมากรรมจากเหล็กกล้ายึดมั่นเสมอมา ตลอดระยะเวลากว่าสิบสามปีที่รังสรรค์ผลงานชิ้นเอกซึ่งต่อยอดมาจากความชื่นชอบในวัยเด็กผสมผสานกับความคิดที่แตกต่าง ด้วยคุณค่าของความงดงามและมีเอกลักษณ์จึงทำให้ผลงานเหล่านี้มีโอกาสได้อวดสู่สายตาเวทีโลก
การแสดงนิทรรศการเดี่ยวของเขา จัดขึ้นภายใต้ชื่อ‘Banjerd Lekkong a Solo Exhibition – Metamorphosis’ ด้วยคอนเซ็ปต์ Metamorphosis ระหว่างวันที่ 20 พ.ค.– 9 มิ.ย. 59 ณ แกลเลอรี่ชื่อดังของโลกอย่าง Agora Gallery ใจกลางมหานครนิวยอร์ก โดยได้รับการสนับสนุนจากสิงห์ปาร์ค เชียงราย (Singha Park Chiangrai) ซึ่งเขาได้คัดเลือกประติมากรรมเหล็กที่แสนพลิ้วไหวและโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ในแบบไทยไปจัดแสดงจำนวน 15 ชิ้น เช่น ทศกัณฐ์ท่ายืนสู้รบและท่านั่งเจรจา, สิงห์, หนุมานไทย และหนุมานบาหลีหยอกเย้า,องค์พระพิฆเนศ 16 กร, มวยไทย, พระรามแผลงศร และ นกฮูกขย้ำดวงจันทร์ นกอินทรีย์ขย้ำพระอาทิตย์ (ต่างกาล ต่างวาระ) เป็นต้น
“ผมทำงานสไตล์นี้มาตลอด เป็นแบบวรรณกรรมไทย ซึ่งสไตล์แบบนี้มันกลายเป็นศิลปะมุมมองใหม่ของชาวต่างชาตินะ เขามองเห็นความสำคัญของเรามาก ตอนนี้ผมเลยกลายเป็นศิลปินนำร่อง เพราะผมไปสร้างมาตรฐานจนโจทย์สูงแล้วแหละ ถือว่าผมโชคดีมากที่ได้ทำงานแตกต่างจากคนอื่น ใครบอกให้ผมเปลี่ยนสไตล์ผลงานเพื่อให้เข้ากับตลาดค้าขาย ผมก็รับฟังแต่ก็ยังคงสไตล์เดิมมาตลอด ทำแล้วก็ไม่ขายด้วย เพราะมีอยู่ชิ้นเดียว ถ้าจะขายก็ขายแบบดี ๆ มีคุณภาพไปเลยลองคิดว่าถ้าผมทำขายเพื่อตอบสนองคนหมู่มาก ตามฟุตบาท หรือตลาดนัด ผมก็ไม่มีปัญญามานั่งทำคนเดียวทีละเยอะ ๆ หรอก
“คุณภาพผลงานของผมมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆมีความอ่อนช้อยมากขึ้น จากผลงานชิ้นแรก ๆ เหมือนเอาชิ้นส่วนมาปะติดปะต่อ แข็ง ๆ เพราะเครื่องมือมีน้อย มีเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ตอนนี้เรามีเครื่องมือที่ดีมีคุณภาพ สามารถเอาทองแดง และทองเหลืองมาใช้ได้ ซึ่งหลัก ๆ ก็ใช้เหล็ก ทองแดง และทองเหลือง ส่วนสแตนเลสกับอลูมิเนียม ยังนำมาใช้ไม่ได้เพราะสีมันโดด ไม่เข้ากันตอนนี้เริ่มคิดถึงงานใหม่แล้วที่จะได้ไปจัดในมิวเซียม คือผมไม่หยุดแค่นี้หรอก ยังจะไปแสดงงานต่อที่อื่นอีก (ยิ้ม)”
กว่าจะมาถึงจุดที่ผู้คนเปิดใจและยอมรับผลงาน เขาต้องผ่านด่านชีวิตมามากมายนับไม่ถ้วน เริ่มจากชีวิตวัยเด็ก เขาเติบโตมาในบ้านที่เป็นอู่ซ่อมรถ มีเพื่อนเล่นเป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนเหล็ก อ๊อกเหล็กเป็นตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เรียกได้ว่าผูกพันกับบรรยากาศอู่ซ่อมรถมาตั้งแต่วัยเยาว์ ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้นจึงได้เข้าไปศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จบออกมาทำงานสถาปนิกได้ไม่กี่ปีก็ลาออก
“มองกลับมาตอนนี้ผมรู้สึกดีนะที่เลือกเรียนสถาปัตย์ เหมือนได้ประสบการณ์ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง พอลาออกจากงานประจำ ช่วงนั้นก็เป็นขาลงของชีวิต หาอะไรทำหมดทุกอย่างแต่ก็ไปไม่รอด ขายรถ ขายบ้าน พอชีวิตมันหมดทุกอย่างไปแล้ว ก็เลยเริ่มหันมาทำงานเหล็ก ตอนแรกคิดว่าจะทำเป็นงานอุตสาหกรรม เพราะคิดว่าทำงานออกแบบรับเหมามันได้เงินเป็นก้อน หลักล้าน เลยทำเป็นงานโมเดลแล้วให้ลูกน้องทำต่อ ขึ้นงานชิ้นแรกก็คือพระพิฆเนศ แต่ดัดแค่งวงก็รู้แล้วว่าไม่มีใครทำได้หรอก ผมเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นขอทำเป็นงานศิลปะชิ้นเดียว อันเดียวดีกว่า”
ด้วยใจรักต่อศิลปะและงานออกแบบ เขาจึงใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการนำมาสร้างสรรค์ผลงานในฐานะศิลปินและใช้ชื่อผลงานว่า ประติมากรรม ‘เหล็กคง’ ซึ่งสอดคล้องกับชื่อนามสกุลของเขา แต่เส้นทางการเป็นศิลปินของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาเดินหน้าหาทุนหรือผู้สนับสนุนหลายสิบยี่สิบที่แต่กลับถูกปฏิเสธแทบทั้งหมด
“ชีวิตเริ่มเปลี่ยนแล้ว ผมก็เริ่มมีเวลาสร้างผลงาน ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราตั้งใจทำงานดี ๆ งานตรงนี้ก็จะช่วยชีวิตเราได้ตลอดไป จากนั้นผมก็ติดต่อขาย หาทุนหลายที่มากแต่ก็ไม่ได้ จนเรารู้สึกเฟลสุด ๆ ในเมื่อเมืองไทยไม่ให้ก็ขอเสนองานไปต่างประเทศแล้วกัน ส่งอีเมลไปประมาณยี่สิบกว่าที่มีทั้งตอบรับและไม่ตอบรับ (เสนองานจัดแสดง) ติดต่อทั้งเยอรมัน อิตาลี สิงคโปร์ อังกฤษ ฯลฯ ก็ไม่สนใจเราเลยจนในที่สุด Agora Galley ก็ตอบรับ ช่วงสามสัปดาห์ที่เขาขอตรวจงาน เราก็ได้ยินเรื่ององค์กรมาตลอด เลยทำการบ้านด้วยการไปขอสนับสนุนจากองค์กรใหญ่ ๆ ในประเทศไทย ตอนแรกคิดว่าหนึ่งเดือนสำหรับหาทุนยังไงก็ทัน แต่ปรากฏว่าไม่ได้เลย เงียบ ไม่มีใครตอบรับ ช่วงนั้นเสียใจมาก คิดว่าตลอดสิบปีที่เราทำมา เราเดินทางผิดหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่เรามั่นใจมาตลอด จนสุดท้ายถือแฟ้มผลงานเข้าไปพบผู้บริหารที่บุญรอด
“มีคำถามหนึ่งที่คุณสันติ ภิรมย์ภักดี ถามว่า ถ้าคุณไปต่างประเทศแล้วคิดว่าจะทำประโยชน์อะไรให้แก่ประเทศชาติและคนรุ่นหลังบ้าง ผมก็ตอบไม่ตรงคำถามหรอกแต่ตอบไปว่า ‘ถ้าผมเป็นนักวิ่งที่วิ่งเก่งระดับอำเภอ ผมจะต้องแข่งระดับจังหวัด ถ้าเก่งระดับจังหวัดแล้วผมต้องไประดับประเทศครับ ถ้าเก่งระดับประเทศผมต้องไประดับโลกศิลปินไทยไม่ควรจะหยุดอยู่กับคำว่าศิลปินแห่งชาติครับ มันควรจะไประดับโลก’ พอพูดตรงนี้เสร็จปุ๊ป คุณสันติบอกว่า‘ให้เขาไประดับโลกอย่างที่เขาต้องการจะไป คนระดับประเทศต้องไประดับโลก’ วินาทีนั้นผมดีใจมาก วันนั้นผมยังคิดกับตัวเองว่านี่มันเรื่องจริงเหรอ
“มีท้อตลอดแหละ ท้อกับคนใกล้ตัวที่ว่าไม่มีใครสนับสนุนเลย มีแต่พูดกันว่าเราพูดเกินตัวไปหรือเปล่าว่าจะไประดับโลก ไปเจอคนรวยมาเยอะแล้วเขาไม่ให้ ก็ต้องมาคิดแล้วนะว่าทำไมเขาถึงไม่ให้ ผมเลยบอก ก็คอยดูแล้วกันว่าผมจะทำได้ไหม คือเราท้อแต่ไม่ถอย เรามั่นใจว่าสักวันยังไงเราก็ต้องทำได้ วันหนึ่งเราจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็นว่าเราคิดมุมต่างกับเขายังไง พอมาถึงจุดนี้ผมข้ามความรู้สึกยินดีมาเยอะแล้ว หลายคนชื่นชมมาเยอะแล้ว ตอนนี้ผมจะต้องไประดับโลกอย่างภาคภูมิใจ”
ก่อนจากกันเขายังบอกว่า ศิลปินต้องพาผลงานไปด้วยตัวเองจริง ๆ จะฝากใครไปไม่ได้ ต้องรู้จักอดยาก ดิ้นรน แล้วต้องมีความอดทน สั่งสมประสบการณ์ให้มากพอ สิบสามปีที่ผ่านมากว่าจะมีคนยอมรับ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาจึงกลายเป็นศิลปินไทยที่นำความเป็นไทยไปสู่สายตาชาวโลก ผ่านผลงานสร้างสรรค์ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยหัวใจและพลังอันยิ่งใหญ่