ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

ดร.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี

ชายผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์พัฒนามาตรฐานขลุ่ยไทยให้เป็นสากล ทำให้สามารถเล่นโน้ตครึ่งเสียงเพื่อเล่นรับส่งประชันกับเครื่องดนตรีสากลได้ อดีตสมาชิกวงคาราบาว ผู้ทำให้เสียงขลุ่ยดังกระหึ่มทั่วบ้านทั่วเมืองจากเพลงเมดอินไทยแลนด์ ท่านยืนหยัดนำขลุ่ยไทยไปแสดงต่อสายตาชาวโลกให้เห็นถึงเสน่ห์และความงดงามของดนตรีไทย จนชาวต่างชาติยอมรับในเครื่องดนตรีที่มีนามว่า ขลุ่ยของไทย

ท่านเป็นครูที่สร้างคนดนตรีประดับวงการเพลงไทยไว้มากมาย นอกจากขลุ่ยท่านยังชำนาญเครื่องดนตรีสากล อาทิ แซกโซโฟน, คลาริเน็ต, คีย์บอร์ด ฯลฯ ผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก “ลมไผ่” ได้สร้างบทเพลงร่วมสมัยและเป็นเพลงประจำตัวของท่านอย่าง “ทานตะวัน” และมีผลงานต่อเนื่องอีกมายจนถึงปัจจุบัน และปีนี้ท่านได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จาก Thailand International Jazz 2016 จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยแนวทางการเล่นแบบแจ๊สมาประยุกต์ใช้ในการเป่าขลุ่ย

“ผมเป็นเด็กบ้านนอก บ้านผมอยู่ที่ตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีพี่น้อง 4 คน ผมเป็นลูกคนที่สอง เป็นคนท้องไร่ท้องนา เคยเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีถนน สิ่งที่ผมได้ซึมซับมาตลอดเวลานั้นคือความงดงามของธรรมชาติ  ผมก็โตมากับสิ่งเหล่านี้  พ่อต้องไปทำงานในตัวเมือง  เป็นภารโรงอยู่ที่โรงเรียนการช่างสิงห์บุรี พ่อกับแม่ก็ต้องเอาน้องไปเลี้ยง ส่วนผมอยู่กับยาย ผมเรียกท่านว่าแม่ใหญ่ห้อมล้อมด้วยญาติ ๆ  เป็นครอบครัวใหญ่ ผมถึงได้รู้ว่าวัฒนธรรมที่ครอบครัวต้อง
กินข้าวร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ใหญ่จะได้สั่งได้สอนตอนกินข้าวด้วยกัน แล้วมันมีความสุข เวลาเย็นมาบ้านนู้นจะเอาแกงมาให้ มันเป็นการโอบเอื้ออาทรกันแบบธรรมชาติ เป็นวิถีแบบไทยที่แท้จริง 

“เวลาแม่ใหญ่ท่านไปไหนผมก็จะไปด้วย ไปฟังเทศน์มหาชาติ ไปดูลิเก หรือไปงานศพก็ไปกับท่าน เมื่อก่อนกิจกรรมทุกอย่างทั้งศิลปะและวัฒนธรรมนั้นมาจากวัดวัดไม่ได้สร้างเพียงคุณธรรม ยังสร้างศิลปะให้กับบ้านเมืองของเรา และเวลาไปวัดกับแม่ใหญ่ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมอยากเล่นดนตรีคือเพลงธรณีกรรแสงท่อนสอง ผมอยากจะเล่นทำนองนี้ให้ได้ ผมเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ทางบ้านก็ไม่มีเงินมากนัก ไปงานวัดก็มีขลุ่ยขายตามงานวัด แม่ใหญ่ก็แคะสตางค์ใต้เชี่ยนหมากมาซื้อให้ ตอนนั้นยังไม่ถึงสิบขวบ หัดเป่าเมโลดี้เพลงธรณีกรรแสง ไม่ได้เป่าเศร้าเลยนะ พอทำมาก ๆ ซ้ำ ๆ ก็คล่องขึ้น พยายามที่จะเล่นให้ครบทั้งเพลง แล้วดูผู้ใหญ่ รุ่นพี่ หรือวงปี่พาทย์ที่เขาเล่น ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่อง Mood ของเพลง เวลาเขาเล่นมันเศร้า เราจะเล่นยังไงให้เศร้า ก็ปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จุดเริ่มต้นที่เล่นดนตรีมีแค่นี้จุดเล็ก ๆ ไม่เคยคิดใหญ่โตว่าจะมีชื่อเสียง งานอะไรก็แล้วแต่ถ้าทำแล้วไม่มีความรัก ประโยชน์จะเกิดน้อย อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม ผมไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องมีเงินมากมาย มีชื่อเสียง คิดว่าเราทำแล้วเรามีความสุข เอาความสุขเป็นที่ตั้ง”  

ขลุ่ยคือชีวิต ชีวิตคือขลุ่ย

“ต่อมาผมเข้ามาเรียนหนังสือในเมือง มาอยู่กับคุณพ่อ ผมได้ครูดี ครูคนแรกของผมคือ ครูทองดำ สิ่งที่สุข ตอนนั้นยังอยู่มัธยมต้นอยู่เลย ท่านสอนให้ผมอ่านโน้ตสากลได้แต่ก่อนไม่มีหรอก ใช้โน้ตไทยหรือโน้ตเลข ผมเรียนที่โรงเรียนสิงหวัฒนพาห เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย ครูเป็นเรื่องสำคัญทำให้เรามีแนวทางที่จะพัฒนาต่อไป เป็นปัจจัยสำคัญเลย เราได้ครูดีถือว่าเราทำบุญมาดี ท่านเป็นคนที่เก่งมาก แต่ไม่เคยคุยเลย ท่านปฏิบัติให้ดู นักดนตรีที่มาจากกรุงเทพฯ ยกย่องครูมาก และสิ่งหนึ่งที่ติดตัว
มาตลอด ครูเตือนสติตลอดว่า กลองที่ดีต้องให้คนอื่นเขาตี มันถึงจะดัง ถ้ากลองดังเองเขาเรียกว่ากลองจัญไร หมายความว่า เวลาเราจะพูดถึงตัวเรา ต้องให้คนอื่นเขาพูดยกย่อง ไม่ใช่เรายกย่องตัวเอง  

“จากนั้นก็มาเรียนต่อในกรุงเทพฯ สอบเอนทรานซ์เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยการศึกษาปทุมวัน และเล่นกิจกรรมดนตรีของวิทยาลัยด้วย แต่ศึกษาได้เพียง 3 ปี ก็ลาออกก่อน เพื่อไปสอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ระหว่างที่ผมเรียนฟิสิกส์ผมก็เล่นดนตรีมาตลอด เรียนอยู่ประมาณ 1 ปี ก็ตัดสินใจลาออกอีกเมื่อรู้ว่าทางมหาวิทยาลัยได้เปิดสาขาเอกดนตรี จึงได้สอบเข้าใหม่อีกครั้งที่สถาบันเดิม ในวิชาเอกดนตรี เป็นรุ่นแรก ศึกษาอีก 2 ปี จนสำเร็จการศึกษาด้านดุริยางคศาสตร์  

“ใครก็ว่าผมบ้าตอนนั้น แต่คิดว่า Born To Be ผมคงเกิดมาเป็นเพื่อจะเป็นอย่างนี้ ถ้าผมจบฟิสิกส์ผมก็ไปเป็นครูตามต่างจังหวัด ผมรักดนตรี ผมชั่งใจ ขลุ่ยนี่มันคือชีวิต มันเข้าไปในสายเลือดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว จะเรียนขนาดไหนผมจบดนตรีสากล เมเจอร์คือคลาริเน็ต แต่ขลุ่ยจะเป็นเครื่องดนตรีที่อยู่ข้างกายตลอด จะไปไหนก็แล้วแต่ จะสุขจะทุกข์จะอยู่ข้างกายตลอด พอเรียนจบก็ไปสอนที่มหาวิทยาลัยจันทรเกษม ตอนนั้นเป็นวิทยาลัยครูอยู่ ผมไปเป็นหัวหน้าภาคแต่ชีวิตก็มาถึงทางเลือกอีกครั้ง เพราะเรามีชื่อเสียงแล้ว เราต้องเลือกว่าจะอยู่ตรงไหน ตอนนั้นเป็นสมาชิกในวงคาราบาว แล้วช่วงนั้นอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์โด่งดังมาก

ชีวิตนักดนตรี

“ผมเล่นดนตรีสากล มาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีประจำกาย เหมือนเป็นอวัยวะที่ติดตัว ผมรักขลุ่ยรักความเป็นไทยที่ผ่านเสียงขลุ่ยมาก ตอนผมเล่นดนตรีกลางคืน ผมนึกตลอดว่าทำไมเราต้องเล่นดนตรีฝรั่งอย่างเดียวเครื่องดนตรีไทยก็เพราะ ทำไมไม่เอามาโซโล่ มีแต่เล่นในวงปี่พาทย์ ผมคิดมาตลอดและก็ทำมาตลอด ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นเมดอินไทยแลนด์ พยายามเอาขลุ่ยมาเป่าให้เข้ากับเครื่องดนตรีสากล ขลุ่ยไทยเราแต่ก่อนไม่ได้ปรับให้เข้าสากล สุดท้ายผมต้องมาทำเอง ปรับขลุ่ยให้เข้ากับ
โน้ตสากล ก็เลยทำขลุ่ยที่มีครึ่งเสียงแล้วนำเล่นมา 

“เล่นดนตรีกลางคืนตั้งแต่อยู่สิงห์บุรีแล้ว ตั้งแต่มัธยมเลย เป่าแซกโซโฟน ดีดกีต้าร์ บางทีก็ไปช่วยเขาเล่นคีย์บอร์ด เพราะไม่มีใครเล่นแต่เรารักที่จะเล่น ที่เล่นเป็นหลายอย่างต้องยกความดีให้ครูทองดำ คือที่หมู่บ้านมีโบสถ์คริสต์ ผมก็แปลกใจว่าวันอาทิตย์แกขี่จักรยานไปโบสถ์คริสต์แต่เช้าท่านอ่านโน้ตได้ ท่านก็ไปเล่นออร์แกนให้เขาร้องเพลงในโบสถ์ ช่วงเล่นดนตรีอาชีพสนุกครับ ไปกลับกรุงเทพ-สิงห์บุรีเมื่อก่อนก๋วยเตี๋ยวชามละบาท 50 สตางค์ แต่ผมได้ค่าตัววันละ 50 บาท โอ้โฮ! ราชาเงินสดครับ (หัวเราะ) พอเข้ามาเราก็มาเล่นในไนท์คลับบ้าง ร้านอาหารบ้าง ตอนหลังก็มาเล่นในโรงแรม ก็เคยไปเล่นที่แคมป์แถวสัตหีบด้วย ตอนนั้นอายุน่าจะ 20 ปี กำลังห้าว เมื่อก่อนเล่นมาหลายวงครับ อาทิ วงช็อกโกแลต, The Fox ฯลฯ

“ระหว่างที่เรียน มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ผมได้เห็นภาพสองภาพ คือดนตรีไทยและดนตรีสากล สมัยนั้นผมเป็นคนแกะเพลงเขียนโน้ตให้วง ระหว่างที่ต้องเรียนไปด้วย เมื่อก่อนผมต้องใช้หูในการแกะเพลง เทคโนโลยีไม่ใช่แบบนี้ ต่อมาก็ได้มาเรียนเรียบเรียงเสียงประสาน เรื่อง Harmony เรื่องทฤษฎี แล้วมีโอกาสได้ทำเพลงในห้องบันทึกเสียงอัลบั้มชุดแรก ๆ ที่ทำให้สมาคมดนตรีคือชุด เมียมีเมียพี่ต้องมา ที่ร้องโดยคุณยอดรัก สลักใจ แต่ผมไม่ได้ทำเพลงนี้ ในอัลบั้มนั้นผมเรียบเรียงเพลงรักไม่ยุ่งมุ่งแต่งาน”

เมดอินไทยแลนด์

“จากนั้นจึงมาเรียบเรียงเพลงและโปรดิวซ์ให้กับบริษัทอโซน่า นักร้องมากมายให้ผมเรียบเรียง สามารถ บริบูรณ์เวช,นัดดา วิยกาญจน์, ก้อย วาสนา สิทธิเวช แม้กระทั่งของผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในบางเพลง นักร้องในค่ายเขาผมเรียกอาจารย์ ชีวิตผมตอนนั้นคือสอนหนังสือตอนกลางวันเล่นดนตรีกลางคืน เรียบเรียงและบันทึกเสียง คือเวลาแทบไม่มีเลย มีเงินแต่เวลาพักไม่มี เวลาที่จะให้ชีวิตตัวเองคิดอะไรดี ๆ ไม่มีเลย ปล่อยให้กระแสโลกมันดึงไปหมด ก็ทำตรงนั้นหลายปีแล้วเผอิญวงคาราบาวเขาอยู่ในสังกัดนี้พอดี

“ตอนนั้นวงแบคอัพของคาราบาวคือวง Presidentทีนี้เขาต้องไปเล่นคอนเสิร์ตที่อเมริกา เป็นทัวร์คอนเสิร์ตที่ไปกันหลายวง ทำให้คาราบาวซึ่งต้องเล่นคอนเสิร์ตต่าง ๆในเมืองไทยไม่มีนักดนตรีแบคอัพ เจ้าของบริษัทอโซน่าบอกให้ผมไปช่วยแอ๊ดหน่อยเพราะว่าอยู่บริษัทเดียวกัน เวลาอัดเสียงยุคนั้นจะใช้นักดนตรีเยอะ เมื่อก่อนต้องอัดด้วยกันผมก็ชวน เป้า, ไพรัตน์  และเทียรี่  ซึ่งตอนนั้นก็เป็นนักดนตรีห้องอัดให้ผม ผมก็ยกนักดนตรีกลุ่มนี้เข้าไปเล่นเลย จากจุดเริ่มต้นนี้เองผมจึงได้เป็นสมาชิกในวงด้วย 

“ต่อมาอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ประสบความสำเร็จอย่างมาก ผมโชคดีที่ได้อัดเพลงเมดอินไทยแลนด์ จริง ๆ เสียงขลุ่ยเริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่เพลงเดือนเพ็ญแล้ว แต่ที่ทำให้หน้าผมติดกับขลุ่ยเพราะเมดอินไทยแลนด์ คนฟังลืมไปเลยว่าผมเคยทำอะไรได้บ้าง เล่นเครื่องดนตรีอะไรได้บ้าง ผมถือว่าโชคดี คนเขาขีดทางเดินให้แล้ว แล้วเขาก็มีความสุข ที่สำคัญผมทำแล้วผมก็มีความสุขด้วย มันถึงได้เกิดขึ้น ขอย้ำอีกทีมันเกิดเพราะความรัก ผมรักในสิ่งนี้ ผมถึงทำมันอย่างมีความสุขจนมาถึงทุกวันนี้

“ตอนที่เป็นศิลปินมีชื่อเสียง ต่างกับงานเบื้องหลังมาก พอดังแล้วมีแต่คำสรรเสริญเยินยอเต็มไปหมดเลย ไม่มีใครว่าไม่มีใครติเลยรู้สึกตัวลอยสูงกว่าฟ้าอีก ผมพูดมาตลอดว่าชีวิตช่วงอันตรายที่สุดคือช่วงที่มีแต่คำสรรเสริญเยินยอ สาเหตุที่ออกจากวงคาราบาวเพราะคิดว่ามันถึงเวลา ถึงวาระของมัน ผมก็อยากทำงานในส่วนที่เป็นตัวตนของผม คาราบาวเป็นวงที่ดี แต่เส้นทางชีวิตนั้นผมเลือกแล้วว่าผมต้องเอาความสุขนำ ผมก็ทำอย่างที่ผมคิด ต้องขอบคุณวงคาราบาว เพราะทำให้คนรู้จักเรามากขึ้นทำให้ทำงานง่ายขึ้นเป็นประสบการณ์ที่ดี หลังจากนั้นผมก็ได้ทำอัลบั้มกับเพื่อนในขอเดี่ยวด้วยคนนะ และทำอัลบั้มแรกในนามตนเอง ในชุดลมไผ่ มีเพลงดังชื่อว่า ทานตะวัน ที่เป็นการนำเสน่ห์ของดนตรีไทยอย่างขลุ่ยประยุกต์ให้เข้ากับดนตรีร่วมสมัย และทำอีกหลายอัลบั้มครับ” 

ขลุ่ยไทยในวิถีแจ๊ส

“ขลุ่ยไทยก็คือขลุ่ยไทย ความเป็นไทยชัดเจนอยู่แล้ว ผมใช้ศัพท์ที่ตรงเลย ฝรั่งถามคุณเล่นเครื่องดนตรีอะไร ผมบอกขลุ่ย ผมไม่ใช้ Thai Flute ผมใช้คำว่าขลุ่ยเลย K-L-U-E-I ให้ครูภาษาอังกฤษชื่อดังอย่างแอนดรู บิกส์ สะกดให้ เขาก็เห็นด้วยว่ามันไม่ใช่ฟลุ๊ต ผมต้องการทำให้ฝรั่งรู้จักขลุ่ยไทย ผมเคยไปทำเพลงกับฝรั่งมาหลายหนแล้ว ลองหาเพลงที่ผมทำกับวงซาฮาร่าที่ฟลอริด้า เมื่อปี 2530 มาลองฟังเสียงขลุ่ยที่เล่นกับฝรั่งดู ผมไม่ได้เล่นแบบเขา ผมเล่นแบบเรา ผมเอาความเป็นไทยไปทำงานกับเขา 
ตอนนั้นตั้งชื่อว่า East Meet West มันต้องปรับให้เท่ากัน เรื่องการเรียบเรียงผมก็ช่วยกันเรียบเรียงด้วย 

“นักดนตรีที่เล่นดนตรีพอถึงจุดหนึ่งก็อยากเล่นแจ๊สทั้งนั้น ได้สนองตัวเองได้โชว์ศักยภาพให้คนเห็น ผมก็ชอบดนตรีแจ๊สและเล่นมาตลอด ผมได้ครูดีนั่นก็คือบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพลงนั้นคือเพลงแสงเทียน
หารู้ไม่ว่าเสียงโน้ตที่สร้างความเป็นดนตรีข้างในใจผมอย่างยิ่งใหญ่มาก นั่นคือบลูส์โน้ต แล้วมันติดผมมาตั้งแต่ตอนนั้นจนได้นำมาใช้กับเพลงเมดอินไทยแลนด์ ไม่มีใครรู้เลยว่าส่วนหนึ่งของลูกโซโล่ขลุ่ยเพลงเมดอินไทยแลนด์ เอามาจากเพลงแสงเทียน เพลงของพระองค์ท่านสร้างความเป็นบลูส์ให้กับผมโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ Blue Scale โน้ตแค่ตัวเดียวทำให้เสียงของขลุ่ยเปลี่ยนเป็นสากลขึ้นมา ตอนนั้นยังไม่ได้ทำขลุ่ยเอง ซึ่งเสียงยังไม่ตรงกับสเกลมาตรฐานอย่างในปัจจุบัน แต่อาศัยเทคนิคการใช้ลมเข้ามาช่วยดันเสียง แต่ที่มาโน้ตสำคัญมาจากบทเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน ตอนหลังก็เอามาใช้อีกเยอะเลย

“เมื่อเล่นและฝึกมาเรื่อย ๆ ความรู้เราก็พัฒนาด้วย คือคนที่จะเรียนดนตรีที่สำคัญเลยจะเป็นศิลปินเป็นนักดนตรีที่ดีหูต้องอินจูน สมัยที่สอนหนังสือตอนคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาเรียนดนตรี ถ้าหูใครไม่จูนผมให้ไปเรียนเอกอื่น เพราะฉะนั้นนักดนตรีที่ดีต้องฟังรู้ เราต้องรู้เขาเล่นอะไร มันถึงจะสื่อสารกันได้ ถ้าเห็นผมออกสื่อผมจะพูดตลอดเลยว่า เวลาที่เราเล่นดนตรีมันต้องฟังกัน มันถึงจะรวมใจเป็นหนึ่งได้ ผมว่าดนตรีแจ๊สเป็นการพัฒนาฝีมือนักดนตรีให้ดีขึ้น”

สร้างงานสร้างคน    

“ผมเคยได้รางวัลต่าง ๆ ได้ดุษฎีบัณฑิต แต่ไม่ต้องไปสนมันหรอก สนตรงที่คิด พูดแล้วทำได้หรือเปล่า ผมเป็นครูส่วนใหญ่ผมต้องทำให้ลูกศิษย์เห็นทุกอย่าง แต่ก่อนเคยสอนขลุ่ยที่วัด ตอนนี้หยุดแล้วไม่ไหว เด็กเป่าขลุ่ยตั้ง 200-300 คน พระไม่ได้จำวัด ไม่ได้สวดมนต์เลย ผมสอนโดยไม่ปิดบัง เพราะไม่รู้จะปิดบังไว้ทำไม เพราะฉะนั้นอะไรที่ให้ได้จะให้ไปหมด ครูผมท่านบอกไว้เลยว่า เมื่อเราให้อะไรใครแล้ว ไม่ต้องคิดว่าเขาจะนึกถึงบุญคุณหรือไม่ ให้ด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน

“ก่อนหน้านี้ผมเคยทำขลุ่ยออกมาขาย แต่ไม่พอขายเพราะว่าผมต้องตรวจเช็กเองทุกเลา ตอนนี้เลยหยุดไว้ก่อน ที่ต้องทำเพราะประสบการณ์จากการสอน เด็กนี่ต้องได้ของดีที่สุด อย่าเห็นว่าเป็นเด็กแล้วให้อะไรเขาก็ได้ หารู้ไม่ว่าเด็กคือผ้าขาว ถ้าเครื่องดนตรีเพี้ยน หูมันจะเพี้ยนตลอดจนถึงโตแล้วแก้ไม่ได้ บางคนผมพยายามแก้ก็แก้ไม่ได้ เพราะว่าเพี้ยนมาตั้งแต่เด็ก ทั้งที่เขารักดนตรี วิชาอื่นก็เหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งที่จะให้เด็กเล็ก ๆ ต้องเป็นสิ่งที่ดีที่สุดทุกอย่าง ให้อุปกรณ์ไม่ดีนี่ฆ่าเด็กเลย 

“ผมไปญี่ปุ่นมาหลายครั้ง ผมไปเห็นการเรียนการสอนผมชอบมาก เด็กเขาเป็นเด็กจริง ๆ บ้านเราเด็กไม่ใช่เด็ก เอาอะไรไปยัดไปใส่สมองเขา เรียนพิเศษสารพัด พอโตเป็นวัยรุ่นเขาก็ไปหาอย่างอื่น อย่าไปโทษเด็ก โทษสื่อ โทษผู้ใหญ่ที่ทำร้ายเด็กโดยไม่รู้ตัว แล้วบ้านเราดันไปติดของนอกกาย บ้านหลังโต รถหรู ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม ประเทศที่เขาเจริญแล้วเขาดูที่ความงามของศิลปวัฒนธรรม ความงามของหัวใจของคน บ้านเราตามฝรั่งแต่ตามมาผิดที่ ไม่ได้เอาตรงนี้มาด้วย ทั้ง ๆ ที่ความงดงามในบ้านเราเมืองเราเยอะแยะ แต่เราไม่ได้สืบสานไปในคน พูดถึงญี่ปุ่นผมไม่ได้ยกย่องเขา ที่ประเทศเขาเจริญ เทคโนโลยีเจริญขนาดไหน แต่รากเขาไม่ทิ้ง เพราะเขาฝังลงไปในเด็ก สิ่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาก ๆ เลยและบ้านเราหายไปคือการ์ตูน การ์ตูนสร้างชาติญี่ปุ่นจริง ๆ ทำเรื่องยาก ๆ ให้ง่ายโดยผ่านการ์ตูน แม้แต่เพลงสำหรับเด็กบ้านเราก็ไม่มี ผมนี่เรียนจบเอกดนตรีสำหรับเด็ก อนุบาล ประถม มัธยม แต่ไม่มีการทำ เพราะธุรกิจมันดีด เพราะต้องทำเพลงตลาดใหญ่คือวัยรุ่นเท่านั้นเพราะฉะนั้นเราจะสร้างชาติด้วยกัน ต้องเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ออกไป

ตะวันทอแสงสีทอง 

“ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากการล้มละลาย สิ่งหนึ่งที่เกิดคือเราได้เจอเรื่องจริง เรื่องจริงคือคนบางคนเคยรักกันมาก พอเห็นข่าวเราล้มเราโทรไปเขาไม่รับ คิดว่าชีวิตเราทำไมโชคดีจัง เรื่องแค่นี้พิสูจน์คนได้เลย เรารู้เลยว่าใครที่เป็นห่วงเราจริง ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คนถ้าเรายังอยู่แบบปกติสุขคนเห็นแล้วชื่นชม พอเห็นข่าวล้มละลายมาหายไปเยอะเลย เราก็ไม่โกรธเขานะมันสิทธิ์ของเขา แต่เราได้มุมมองชีวิตอีกอย่าง ถือว่าโชคดีมากที่ผ่านวิกฤตตรงนั้นมา เราจะไปปรับเปลี่ยนใครไม่ได้ เราเปลี่ยนที่ตัวเราเองดีกว่า ผมคิดตลอดเวลาว่าเดี๋ยวผมก็ต้องไป แล้วผมจะไปยึดติดทำไมคำพูดคน เขาจะพูดยังไงก็แล้วแต่ มันไม่สามารถทำให้เราดีหรือเลวได้ คนที่จะดีหรือเลวมันอยู่ที่ตัวเราเองเท่านั้นเอง ซ้ำร้ายบางคนยังไม่รู้จักเราเลย ไปฟังคนนี้พูดถึงเราในทางลบกลับเชื่อเขาอีก เรากลับสงสารเขา เราไม่ได้โกรธเขาเลย มุมมองชีวิตคนหลายเรื่องมันเปลี่ยนไปเพราะประสบการณ์ เราฟังข้างเดียวแล้วจะสรุปอีกคนว่าผิดไปตัดสินเขาไม่ได้ เราไม่มีหน้าที่ ผมแค่โชคดีที่เจอภาวะล้มละลาย พอหัวใจเราเข้มแข็ง สุขภาพจิตเราดี เรามีกำลังที่จะสร้างงาน ทำงาน ทุกอย่างเราก็ค่อย ๆ เคลียร์ ผมต้องขอบคุณทุกคนที่เข้ามาทั้งดีและไม่ดี ทำให้ผมมีวันนี้ที่เข้มแข็ง

“วิชาศิลปะทั้งหมดเลยคือวิชาชีวิต การทำเพลงโดยเฉพาะเพลงที่เป็นศิลปะ อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ต้องเอาความงามของดนตรีของเพลงเป็นตัวตั้ง แล้วอย่างอื่นมันจะตามมา แล้วในยุคโซเชี่ยลคนไม่ได้โง่ จริงแค่ไหนเฟคแค่ไหนเขารู้หมดมันถึงกันหมดแล้ว โลกมันแทบจะเป็นโลกเดียวกันแล้ว  ธุรกิจเพลงหรือบริษัทใหญ่อาจพัง แต่ว่าศิลปินอิสระเพิ่มขึ้น เพราะว่ามีสื่อเป็นของตัวเอง โซเชี่ยลใช้ทำอะไรออกมาก็ได้ ผมมองว่าดีนะ อย่าไปมองว่าล่มสลาย แล้วคนที่ทำงานได้จริงจะอยู่ได้ ผมมองอย่างนี้ ธุรกิจบางครั้งก็ทำลายศิลปะ”  

Traditional Music Meets Jazz เสนาะเสียงลมไผ่