Equals

Equals

ท่ามกลางหนังบล็อกบัสเตอร์ ซูเปอร์ฮีโร่ถล่มเมืองที่เรียกได้ว่าโกยรายได้ถล่มทลาย ก็ยังมีผู้ที่หาญกล้าทำหนังที่ถูกมองว่ายังไงก็เจ๊งอย่าง Equals หากจะพูดแบบกันเองคงเป็น “ไม่เข็ด” แต่ถ้ามองลงลึกไปในตัวหนังแล้วเราจะพบว่า เรื่องราวของโลกหลังจากการล่มสลาย หรือที่เรียกกันว่าเป็นยุค Dystopia นั้นยังมีประเด็นอีกมาก ที่สามารถนำมาเล่าให้ได้น่าสนใจ เช่นเดียวกับหนังเรื่องนี้    

Equals เล่าเรื่องโลกยุค Dystopia โลกอนาคตหลังจากสงคราม มนุษย์ที่เหลือจึงถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมให้ไม่มีความรู้สึกใด ๆ เหลืออยู่เลย ทุกคนมีชีวิตอยู่เพื่อทำหน้าที่ของตัวเอง ใครที่มีความรู้สึกคือผู้แปลกแยกจากสังคม เรียกว่าผู้ป่วย SOS (Switched on Syndrome) ซึ่งจะต้องถูกบำบัด ไซลัส และนีอา รู้สึกถึงบางสิ่งในจิตใจของกันและกัน ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับความรู้สึกแปลกแยก และต้องหาทางที่จะมีชีวิตโดยคงความรู้สึกของตัวเองต่อไปให้ได้

ต้นเหตุของความล่มสลายทางอารยะธรรม ในหนังเรื่องนี้ถูกตั้งโจทย์ไว้ว่า “อารมณ์” ของมนุษย์นั้นเป็นต้นเหตุของการทำให้โลกล่มสลาย เพราะผลสรุปสุดท้ายที่เกิดขึ้นเป็นโลก Equals นั้น คือเศษซากที่หลงเหลือจากสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นเหล่าผู้ปกครองของ Equals จึงจัดการตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม โดนการดัดแปลงพันธุกรรมของมนุษย์ที่เหลือรอดให้ไร้ความรู้สึก ผู้ที่มีความรู้สึกจะกลายเป็นผู้ที่ป่วยเป็นโรค SOS ที่ต้องได้รับการรักษา แต่อย่างไรก็ดีผู้คนที่ถูกนำไปรักษาที่ The Den ล้วนแล้วแต่ไม่มีใครได้กลับมาโลกภายนอกอีก ส่งผลให้ผู้ป่วยทั้งหลายจึงต้องพยายามทำตัวให้กลมกลืน ไร้ความรู้สึกเฉกเช่นเดียวกับสังคมส่วนใหญ่ 

จึงเกิดเป็นประเด็นสถานะของความแปลกแยกในสังคม ในเมื่อคนทั่วไปไม่มีความรู้สึก คนที่มีความรู้สึกจึงถูกกดให้เป็นบุคคลที่ “แตกต่าง” และผิดทำนองคลองธรรม สุดท้ายแล้วก็ทำให้เราได้กลับมาฉุกคิดว่า แท้ที่จริงแล้วคนที่แตกต่างหรือว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เหมือนกับคนปกติทั่วไป(ในกรณีนี้อาจนับรวมถึงคนพิการ เนื่องจากการที่ผู้พิการเหล่านั้นแตกต่างจากคนทั่วไป) จะต้องถูกมองว่าแปลกแยกและถูกมองว่าด้อยค่ากว่าคนอื่นจริงหรือไม่ เพราะว่าในเนื้อแท้ของคนแล้วนั้น ทุกคนถือเป็น “มนุษย์” ที่มีความรู้สึกนึกคิด รวมถึงมีคุณค่าในความเป็นคนเหมือน ๆ กันนั่นเอง

ความรู้สึกของคนที่ไม่รู้สึก และความสนใจใคร่รู้ แน่นอนว่ามนุษย์ล้วนแล้วแต่หวาดกลัวสิ่งที่ตนเอง “ไม่รู้” เพราะฉะนั้นการที่ทุกคนในโลก Equals เกิดมีความรู้สึกขึ้นมานั้น ทำให้คนเหล่านั้นมีความสนใจ “ใคร่รู้” และไม่สามารถปิดกั้นความอยากรู้อยากเห็นของตัวเองได้ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นถือเป็นประสบการณ์ใหม่ เสมือนเด็กที่ได้เปิดโลกทัศน์ของตนเอง ดังนั้นการที่จะรักษาให้ความเป็นตัวของตัวเองยังคงอยู่ ไม่ถูกกลืนไปกับสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางจิตใจของแต่ละคน

ในตอนท้าย ภายหลังจากที่ไซลัสเข้าใจผิดว่านีอาเสียชีวิตลงแล้ว เพราะไม่เชื่อในพวกพ้อง ทำให้เขาได้รู้ข่าวว่าผู้ที่ก่อการช่วยเหลือนีอา ถูกจับทั้งหมดสิ้น เขาจมอยู่กับความผิดหวังและไม่สามารถทนอยู่กับความสูญเสียนั้นได้ เขาจึงเลือกที่จะอยู่อย่างคนทั่วไปที่ “ไร้ความรู้สึก” ดีกว่าที่จะทนอยู่กับบาดแผลในจิตใจของตนเอง ซึ่งช่วงเวลานั้นหนังตัดสลับกับภาพตัวละครของนีอา ที่หนีออกมาแล้วอดทนรออยู่ที่ห้องตามที่พวกพ้องบอกให้รอ แสดงให้เห็นถึงความ “เชื่อใจ” ที่แตกต่างกันของสองตัวละคร จนท้ายที่สุดหลังจากที่ไซลัสเข้ารับการรักษาอาการ SOS แล้วกลับมาพบว่านีอายังรอเขาอยู่ ฉากนี้เป็นฉากที่ชวนอึ้งที่สุดแล้วกับคำพูดของไซลัสที่ว่า “ฉันจำได้ว่าฉันรักเธอ...แต่ฉันไม่รู้สึกแล้ว”เรียกได้ว่านี่เป็นอีกฉากหักมุมในดวงใจอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียวเพราะมันชวนอึ้ง และอดคิดไม่ได้ว่ามันโคตร “เจ็บปวด” ที่สุดท้ายทั้งคู่ออกเดินทางไปด้วยกัน ในขณะที่ฝ่ายหนึ่ง “รัก” และรู้สึกถึงมันอยู่ กับอีกฝ่ายที่ “รัก” แต่ลืมทุกความรู้สึกไปแล้ว

หนังเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นหนังที่ “เจ๋ง” ในด้านการนำเสนอถึงแม้ว่านี่จะเป็นเพียงหนังรักปะหน้าอยู่บนโลกไซไฟแต่ทว่าประเด็นเบื้องลึกเบื้องหลังอันเข้มข้น กลับถูกแทรกซ่อนไว้ในแต่ละองก์ของหนังได้อย่างนุ่มนวล ก่อนที่จะตบหน้าอย่างแรงในบทสุดท้าย ให้คุณตื่นมาพบกับความจริงว่า โลกนี้มันไม่ได้สวยงามเหมือนในฝันหรอกนะ 

ฉันรู้สึก...ว่าฉันไม่รู้สึก