Healthy and Organic Products

Healthy and Organic Products

ใครหลายคนอาจมองว่าเรื่องเกษตรเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนเมือง แต่ ‘ปีตาชัย เดชไกรศักดิ์’ และ ‘พรธิดา วงศ์ภัทรกุล’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Siam Organic กลับไม่คิดอย่างนั้น พวกเขาตระหนักถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย จึงได้ศึกษาและเล็งเห็นถึงปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย บวกกับทุกวันนี้คนเมืองเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จึงเกิดแบรนด์ JASBERRY ที่เอาใจคนรักสุขภาพขึ้นมา

Siam Organic เป็นกิจการเพื่อสังคมที่มุ่งแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทย โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพื่อเพาะปลูกผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกข้าวแจสเบอร์รี่ (JASBERRY Rice) ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามากว่าทศวรรษ เป็นข้าวที่ไม่มีการตัดต่อพันธุกรรมและได้รับการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ เมล็ดข้าวจึงมีสีม่วงเข้มจนเกือบเป็นสีดำ นอกจากจะสร้างคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังสร้างประโยชน์ต่อสังคมเกษตรกรไทยนับพันรายอีกด้วย 

คุณปาล์มมี่ (พรธิดา วงศ์ภัทรกุล) หนึ่งในหุ้นส่วนSiam Organic ได้บอกเรื่องราวของ JASBERRY ให้เราฟังว่าตอนนี้ข้าว JASBERRY มีทั้งหมด 3 ตัว คือ Premium, Lo-Gi Mix และ Delicious Mix วางขายตามห้างและร้านอาหาร ซึ่งทุกอย่างภายใต้แบรนด์นี้
จะทำจากข้าวทั้งหมด และยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นชาอีกด้วย เป็นชาสมุนไพรโดยมีข้าวเป็นส่วนผสม นอกจากนี้ยังทำพวกแป้งและเส้น 

“เราเริ่มจากดูปัญหาก่อนว่าเกษตรกรเมืองไทยทำไมถึงยากจน เพราะว่าตอนนั้นทุกคนในประเทศรู้หมดแหละว่าทำไมเกษตรกรถึงยากจน รู้ว่าการจำนำข้าว ทำให้รัฐบาลเดือดร้อน ทำให้ประเทศชาติเดือดร้อน รู้ทุกคนแหละ แต่ไม่มีใครคิดว่าจะแก้ยังไง 
เราก็เลยมาดูว่าต้นเหตุปัญหามันเกิดมาจากอะไร จริง ๆ แล้วผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรต่ำมาก เหมือนเขาได้ภาครัฐสนับสนุนมาตลอด ทำให้คิดว่าฉันไม่ต้องเก่งมากก็ได้ เพราะยังไงรัฐก็สนับสนุน มันยิ่งทำให้เขาไม่พัฒนา แล้วมันก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นวงจร 

“การที่เราจะทำให้เขาดีขึ้นอย่างไรก็คือเอาเขาออกจากวงจรนั้น ไม่ต้องให้เขาพึ่งพาภาครัฐ แล้วเราก็ต้องคิดโมเดลว่าถ้ารัฐบาลเปลี่ยน เขาจะไม่เกิดผลกระทบ ถ้ารัฐเปลี่ยนนโยบายไม่สนับสนุน เขาก็อยู่ได้ ถ้าเขาไม่พึ่งพาภาครัฐเขาก็จะดีขึ้น เขาจะรู้สึกว่าเขาต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ทีนี้เราก็มาโฟกัสกับเกษตรกรว่าลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต นั่นคืองานที่เราทำมาตลอดสี่ห้าปีที่ผ่านมา”

เกษตรกรที่ร่วมมือกับ JASBERRY ตอนนี้มีทั้งหมด 1,026 ราย เป็นกลุ่มสหกรณ์วิสาหกิจชุมชนภาคอีสานที่เป็นรายย่อยเท่านั้น สาเหตุที่เจาะกลุ่มไปที่ภาคอีสานเพราะเป็นภาคที่ลำบากที่สุด และเน้นทำแค่เกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล 

“เราต้องทำทั้งตลาดและคนผลิตให้ไปด้วยกัน ถ้าตลาดต้องการสินค้ามีคุณภาพ คนผลิตก็ต้องมีคุณภาพสูง เกษตรกรที่อยากเข้ามาก็ต้องดูด้วยว่าเต็มใจที่จะทำหรือเปล่า เมล็ดพันธุ์ก็ปลูกยากนะ ผลผลิตก็อาจจะต่ำ มีความเสี่ยงที่ข้าวจะเจอโรคด้วย แต่ถ้าคุณพยายามดีรายได้คุณก็จะดี มีคนติดต่อมาเยอะเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นเคมีเราก็ไม่เอาเลย ถ้าเป็นภาคอื่น อย่างภาคเหนือ ภาคกลาง เราก็ไม่เอา เพราะว่ามันทำเกษตรอินทรีย์ลำบาก ภาคอีสานเป็นภาคที่ยากจน ดินไม่ดี แต่คนจะมีความพยายามที่จะทำให้ออกมาดี เพาะปลูกแค่ปีละครั้ง ต้องมีการวางแผงล่วงหน้าสองสามเดือน ประชุมกันอย่างจริงจัง เป็นเกษตรกรแบบที่เรารู้สึกว่าทำงานด้วยแล้วอุดมการณ์เดียวกัน”

“ธุรกิจเพื่อสังคมเมืองไทยตอนนี้มองว่าเทรนกำลังมาเหมือนกันนะ เรารู้สึกว่าทำธุรกิจอะไรก็ได้แต่ต้องยั่งยืน เหมือนทำธุรกิจเพื่อสังคมมันต้องให้สังคมได้ผลกระทบด้วย ถ้าสร้างโมเดลขึ้นมาแต่มันไม่มีผลกระทบมันก็เปล่าประโยชน์ ก็เลยคิดได้ว่ามันต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปพึ่งพาเงินบริจาค คือเราไม่เคยได้รับเงินบริจาคเลย มีเงินตั้งต้นไม่กี่หมื่นบาท ใช้เงินตัวเองกันหมด ก็เลยทำให้เราต้องพยายาม เพราะถึงเวลาจริง ๆ ธุรกิจเพื่อสังคมก็ต้องแข่งกับธุรกิจนั่นแหละ ใคร ๆ มักจะมองว่าธุรกิจเพื่อสังคมมันสวย แต่จริง ๆ มันยากกว่าธุรกิจธรรมดา ต้องมีต้นทุนที่สูงกว่ามูลนิธิ และต้องมีทุนที่สูงกว่าธุรกิจทั่วไป 

“ถ้าคนรุ่นใหม่มาทำแล้วยังไม่มีประสบการณ์ ในวงการจะเรียกว่าโลกสวย โลกสวยเกินไปจะแข่งกับโลกทางความเป็นจริงยาก เพราะคุณจะคิดว่าฉันเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ฉันทำเพื่อสังคม แต่ลูกค้าที่ควักกระเป๋าเขาไม่ได้มองตรงนั้นนะ เวลาเราขายข้าว ลูกค้าไม่เคยรู้เลยนะว่าเราเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เขาแค่รู้ว่าจ่ายเงินแล้วได้อะไร เขาไม่ได้สนเท่าไหร่หรอกว่าเกษตรกรได้อะไร นั่นคือคนที่จ่ายเงินซื้อสินค้าคุณ อาจจะมีคนที่แคร์เรื่องสังคมแต่น้อย จะว่าลำบากไหมเราก็ลำบากนะ แต่เรารู้สึกว่ายิ่งลำบากก็ยิ่งดี เพื่อให้เราคิดว่าจะทำยังไงให้อยู่รอด บางรายไม่จ่ายเงินเดือนตัวเอง แต่พวกเราไม่ได้นะ ต้องมีเงินเดือน ถือเป็นความท้าทาย ฉะนั้นเราในฐานะธุรกิจเพื่อสังคมจริง ๆ อย่าทำตัวเป็นมูลนิธิ ทำตัวให้คนอื่นเขาเห็นว่าเราอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใครนะ ใช้เงินจากวงจรธุรกิจเหมือนธุรกิจทั่วไปแหละ แล้วเราจะสามารถแข่งกับคนอื่นเขาได้จริง ๆ”

ตอนนี้ JASBERRY เดินหน้าลุยเรื่องการส่งออกไปต่างประเทศ เตรียมเจาะตลาดยุโรป ส่วนอนาคต JASBERRY วางเป้าอยากให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการถึงสองหมื่นราย เพราะเกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยยังมีไม่เยอะ ถ้าพวกเขาขยับขยายฐานเกษตรกรได้เมื่อไหร่ เราคงจะเริ่มเห็นผู้คนหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มากขึ้น ที่สำคัญคือได้ผลประโยชน์ทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภคอีกด้วย 

Know Them 

• ข้าวแจสเบอร์รี่แตกต่างจากข้าวชนิดอื่นตรงที่ มีคุณค่าโภชนาการและสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับข้าวชนิดอื่น ๆ เช่น สารแอนโทไซยานิน วิตามินอี และ เบต้า-แคโรธีน
• กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก คือร้านอาหารและกลุ่มผู้ที่สนใจในเรื่องสุขภาพ
• ติดตามต่อได้ที่ www.siamorganic.net หรือ www.facebook.com/siamorganic 

JASBERRY RICE ข้าวอินทรีย์สายพันธุ์ใหม่