สุรเชษฐ์ ปิยวัชรวิจิตร

สุรเชษฐ์ ปิยวัชรวิจิตร

การทำธุรกิจการขายปลีกสื่อบันเทิงในยุคปัจจุบัน ถือว่าต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ในอินเตอร์เน็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้หลายบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้ทยอยปิดตัวลงไป แต่บริษัท ซี เอ พี มิวสิค จำกัด หรือที่เรารู้จักในนาม CAP ร้านจำหน่ายสื่อบันเทิงครบวงจร ที่สามารถยืนหยัดด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหนุ่ม คุณสุรเชษฐ์ ปิยวัชรวิจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี เอ พี มิวสิคจำกัด ผู้หลงใหลในสื่อบันเทิงและเสียงเพลง โดยนำความชอบมาต่อยอดทำธุรกิจได้อย่างลงตัว

ความเป็นมาของการเปิดร้าน CAP ต้องย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน โดยคุณอาของคุณเชษฐ์ นำร่องเปิดแผงขายเทปและวิดีโอในห้างสรรสินค้า ด้วยความเป็นคนชอบเพลงเมื่อถึงเวลาปิดเทอมจึงไปช่วยคุณอาขายเทปเป็นประจำ จนกระทั่งเรียนจบทางครอบครัวเห็นชอบให้มีการเปิดร้านขายปลีกสื่อบันเทิงชื่อ CAP ขึ้นมา โดยที่สาขาแรกเกิดขึ้นที่อิมพิเรียลเวิลด์สำโรง แม้จะปิดตัวไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีอีก 5 สาขาในห้างใหญ่อย่าง Seacon Square (ศรีนครินทร์), Paradise Park, Central World, Mega Bangna, และ Gateway Ekamai 

“การทำธุรกิจแบบนี้ถ้ามองเรื่องกำไรอย่างเดียวคงเลิกไปแล้ว เพราะเราเริ่มทำธุรกิจนี้จากความชอบจึงยังทำธุรกิจนี้ต่อไป ในกลุ่มร้านค้าที่อยู่ลำบากเพราะเป็นเขาตัวแทนซื้อมาขายไปอย่างเดียว แต่ร้าน CAP นั้นมีความแตกต่างจากร้านอื่นคือเหมือนเป็นค่ายเพลงเล็ก ๆ มีเพลงที่จัดจำหน่ายเอง โดยชื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทใหญ่เพื่อมารีแพคเกจ รีมาสเตอร์ มิกซ์เสียงใหม่ เพื่อผลิตและจำหน่ายเพื่อให้ได้คุณภาพมากที่สุด ทั้งซีดีและแผ่นเสียง ในส่วนของภาพยนตร์เราก็ทำเช่นเดียวกัน โดยผมดูแลเรื่องเพลงทั้งหมด และพี่ชายผมดูแลในส่วนของภาพยนตร์ทั้งหมด 

“ปัจจุบันธุรกิจแบบนี้เรากำลังเดินเข้าสู่ตลาดนีชหรือเฉพาะกลุ่ม จากที่เมื่อก่อนมีค่ายเพลงทำเทปออกมาขาย หลายชุดได้หลักล้านตลับ ก็ค่อย ๆ ลดมาหลักแสน ซีดีเหลือหลักหมื่นตอนนี้อยู่ที่หลักพัน ทำให้ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำเพลงมาขายโดยทำเฉพาะศิลปินที่คนนิยมมาก ๆ ทำอัลบั้มเต็มน้อยลงด้วยความที่มันมีน้อยทำให้มูลค่าของแผ่นเสียงพุ่งสูงอย่างน่าตกใจ ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของการนำเพลงเก่ามารีแพคเกจใหม่ โดยคัดเลือกจากหลายปัจจัย ปรับปรุงมาสเตอร์เก่าที่อาจเคยทำเป็นเทป มาทำใหม่เป็นแผ่นเสียงและซีดี ผู้บริโภคที่ตอนนี้เราเรียกใหม่ว่านักสะสมเพลง หากพลาดโอกาสนี้ไปก็อาจไม่มีโอกาสได้อัลบั้มนั้นอีกแล้ว หลายชุดที่เราทำมาก็จำหน่ายหมดไปอย่างรวดเร็ว และในปัจจุบันราคาก็เพิ่มสูงขึ้นกว่าตอนออกจำหน่ายในร้านเสียอีก

“การเลือกที่จะทำแผ่นเสียงขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งต้องเริ่มจากที่ผมชอบและลูกค้าชอบ คือถ้าลูกค้าชอบน้อยในขณะที่เราไม่ชอบเลยจะไม่ทำ แต่ถ้าลูกค้าชอบ 100 ผมชอบ 50 อย่างนี้ทำได้ คือมันต้องไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ว่าฟังแต่ลูกค้าแล้วตัวเองไม่ชอบก็ไมรู้จะทำไปทำไม การทำแผ่นเสียงขึ้นมาใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างอัลบั้มของศรคีรี ศรีประจวบ ที่ผมทำขั้นตอนแรกเราต้องไปคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีอยู่ 4-5 อัลบั้ม ไอเดียของเราคือรวมฮิตเพื่อให้คนรุ่นใหม่ฟัง 30 เพลงที่เพราะทั้งหมด ตรงนี้ก็ต้องไปขออนุญาตเขา พอได้ทำก็คุยเรื่องเสียงมาสเตอร์ที่เขามี ว่าได้คุณภาพมากน้อยแค่ไหนก็เอามาปรับแต่งกัน หลังจากนั้นก็กลับมาทำอาร์ตเวิร์คแต่จะคงเดิมให้มากที่สุด เพราะคนเล่นแผ่นเสียงเขาจะมีความชอบในการดูอาร์ตเวิร์คมากกว่าคนเล่นซีดี จากนั้นก็เข้าสู่การผลิตแผ่นก็ส่งไปที่โรงงานที่ประเทศเยอรมันหรือญี่ปุ่น เฉลี่ยเวลาในการทำงานต่อ 1 อัลบั้มอย่างต่ำก็ 3 เดือน จะเห็นได้ว่านานพอสมควร เรื่องที่ทำให้แผ่นแพงมีหลายปัจจัยเช่นกัน เริ่มจากค่าลิขสิทธิ์เพลงต้นฉบับกับมาสเตอร์ที่ต้องปรับปรุงใหม่ซึ่งเปรียบเหมือนแท่นพิมพ์ แล้วยิ่งกำลังการผลิตน้อยทำให้ราคาแพงมาก บางคนถามว่าทำไมเราไม่ผลิต 1 พันแผ่นไปเลย มันทำได้ครับแต่ถ้าทำแบบนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะขายหมดหรือเปล่า

“ผมคิดว่าธุรกิจแบบนี้มันไม่ได้ดีเหมือนเดิมแล้ว แต่ก็สามารถคัดผู้เล่นที่ไม่ใช่ออกจากตลาดไปเหลือแต่คนที่ใช่ แล้วลูกค้าที่เหลืออยู่ก็น่าจะสนับสนุนต่อไปได้ ตอนธุรกิจมันดีมีแต่คนเข้ามาทำกันเยอะ บางที่อาจจะไม่มีความรู้เรื่องของหนังหรือเพลงก็ยังอยู่ได้เลย เพราะแค่ขายของใหม่ ๆ ที่ทางค่ายผลิตออกมา ซื้อมาขายไป แต่วันนี้มันไม่ใช่เพราะค่ายหนังค่ายเพลงลดจำนวนผลิต ทำให้ต้องปรับตัวด้วยวิธีทางของตัวเอง

“ปัจจุบันทางร้าน Cap ขายซีดีได้จำนวนเยอะกว่าแผ่นเสียงมาก อย่างถ้าแผ่นเสียงขายได้ 500 แผ่น ซีดีจะขายได้ถึง 2 พันแผ่น อย่างอัลบั้มยอดรักอาลัยทูลทองใจ แผ่นเสียงขายได้ราว 600 แผ่น แต่ซีดีขายได้ถึง 4 พันแผ่น ซึ่งไม่เคยมีเพลงไทยชุดไหนไปทำอัลบั้มซีดีแผ่นทองที่ญี่ปุ่นมาก่อน ซึ่งโรงงานที่ผลิตแผ่นทอง 24K เหลือที่เดียวในโลก แม้กระทั่งในอเมริกาก็ต้องมาผลิตที่ญี่ปุ่นทั้งหมด

“ธุรกิจขายสื่อบันเทิงเปลี่ยนไปร้านประเภทนี้จึงต้องขายทั้งหนังและเพลง และต้องมีดีวีดี มีบลูเลย์ มีซีดี แผ่นเสียง ต้องรอบรู้ให้มาก และเรื่องของเงินทุนที่มากพอถึงจะอยู่ได้ เราดูกระแสจากเมืองนอก  เช่น  ฮ่องกงและญี่ปุ่น 2 ประเทศนี้เขาขายแผ่นได้ดีขึ้นมาก ในอนาคตผมก็คิดว่าธุรกิจประเภทนี้ในประเทศไทยก็ยังไปได้เช่นกัน เพียงแต่จำนวนร้านค้าอาจมีให้เห็นน้อยลง” 

The Passion of Music and Business สู่ยุคแห่งการปรับตัว