ลูกบุญธรรม
เรื่องราวของมรดกนั้น หากก่อนเจ้าของมรดกเสียชีวิตได้ทำพินัยกรรมไว้อย่างชัดเจน การแบ่งทรัพย์สมบัติก็จะหมดปัญหา ทว่าหากไม่ได้มีการวางแผนหรือเตรียมตัวไว้ก่อนหน้านั้น การแบ่งมรดกก็จะเกิดความยุ่งยากมากขึ้น และหลาย ๆ ครั้งที่ต้องไปยุติที่ศาลอย่างอุทาหรณ์ของซิ้ม
ซิ้ม เป็นชาวจีนที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เพื่อหวังไปตายเอาดาบหน้าบนผืนแผ่นดินไทย เธอไม่เคยเกี่ยงงานหนักเลยแม้แต่นิดเดียว แม้จะเขียนอ่านภาษาไทยไม่ได้ในช่วงแรก ๆ ที่เดินทางมา แต่เธอก็ไม่ย่อท้อ ค่อย ๆ พยายามฝึกฝนจนสื่อสารได้ และด้วยความขยันหมั่นเพียรเรียนรู้ของเธอ ก็เป็นที่รักใคร่ของคนรอบข้าง พออายุย่างเข้า 20 ปี เธอก็มีลูกชายของเถ้าแก่โรงสีมาสู่ขอเพื่อไปเป็นภรรยา ตลอดระยะเวลา 50 ปี เธอปรนนิบัติสามีเธออย่างดี ดูแลงานบ้าน งานเรือนทุกอย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง โดยทั้งคู่มีลูกชาย 4 คน และลูกสาวคนเล็ก 1 คน
หลังสามีจากไป เธอก็เป็นผู้เข้าดูแลกิจการของทางบ้านทั้งหมดเพราะสามีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองให้แก่ภรรยาหลังจากสามีเธอเสียชีวิตไปเพียง 3 ปี เธอก็เสียชีวิตตามไปด้วย แต่ก่อนเสียชีวิต เธอได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมาไว้ในดูแล 1 คน โดยเด็กคนนี้เป็นลูกของแม่บ้านที่คอยช่วยเลี้ยงลูก ๆ ของเธอทุกคนมาตั้งแต่เล็ก ๆ และกำพร้าพ่อ ด้วยความเอ็นดูเธอจึงตัดสินใจรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม
แต่หลังจากเธอเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สมบัติที่เธอมีทั้งหมด จะต้องถูกแบ่งให้กับทายาททุกคน แต่ลูกชายคนโตของเธอและลูกสาวคนเล็กไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการแบ่งสมบัติให้กับบุตรบุญธรรม และต้องการไล่เธอออกจากบ้าน
ลูกชายคนโต : คุณแม่จากไปไม่ได้ทำพินัยกรรมอะไรไว้ ก่อนหน้านี้ที่เธอมาอาศัยอยู่ที่นี่ได้ ก็เพราะคุณแม่อนุญาต แต่ตอนนี้คุณแม่ไม่อยู่แล้ว เชิญเธอเก็บข้าวของออกไปจากที่นี่ได้แล้ว
ลูกสาวคนเล็ก : ใช่ อย่ามาอยู่ขวางหูขวางตา แล้วก็อย่าคิดนะว่าจะเอาสมบัติอะไรไปจากที่นี่แม้แต่ชิ้นเดียว ไม่เช่นนั้น ฉันแจ้งความจับเธอแน่
บุตรบุญธรรม : พวกคุณไม่มีสิทธิ์มาไล่ดิฉันนะคะ เพราะตามกฎหมายดิฉันถือว่ามีสิทธิ์เหมือนกัน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกด้วย
ลูกชายคนโต : ไม่มีทาง พวกเราจะไม่ให้อะไรเธอแม้แต่บาทเดียว อยากได้ก็ไปฟ้องเอาละกัน
Q : เอาล่ะครับ เกิดเรื่องราวขึ้นแล้ว บุตรบุญธรรมของซิ้ม มีโอกาสจะได้รับมรดกไหม และหากได้รับจะได้รับมากน้อยเพียงใด
A : จากกรณีของซิ้มข้อเท็จจริงปรากฏว่า เธอมีบุตรธิดารวมกัน 5 คน และได้มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมโดยถูกต้อง เมื่อเธอเสียชีวิตลง และไม่ปรากฏว่ามีการทำพินัยกรรมเพื่อยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด ดังนั้น มรดกของเธอทั้งหมดจึงตกแก่ทายาท
โดยธรรม จากข้อเท็จจริงคู่สมรสเสียชีวิตแล้วและไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีบิดามารดาที่มีชีวิตอยู่แต่อย่างใดคงมีเพียงผู้สืบสันดานคือลูก ๆ ของเธอเท่านั้นกับบุตรบุญธรรม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 1627 ได้บัญญัติไว้ว่า บุตรบุญธรรมให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นทายาทโดยธรรมของซิ้มที่เป็นผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1629 จึงมีจำนวน 6 คน ทุกคนจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1633 บุตรบุญธรรมของซิ้มจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากับลูก ๆ ของเธอทุกคน
ความโลภอาจทำให้ลืมคิดไปว่าทรัพย์มรดกนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นทรัพย์สินที่บิดามารดาของตนเองหามาด้วยความเหนื่อยยากของเขาทั้งสิ้น นอกจากท่านจะเลี้ยงดูด้วยความรัก ให้การศึกษามาอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อท่านเสียชีวิตท่านก็ยังทิ้งทรัพย์มรดกไว้ให้อีก ดังนั้นอย่าให้ความโลภมาบังตาทำให้เกิดปัญหาในการแบ่งทรัพย์มรดกอย่างเช่น อุทาหรณ์ลูก ๆ ของซิ้ม เพราะถึงแม้เราไม่ได้มีทรัพย์มรดกใด ๆ เลยก็อย่าลืมว่าเลือดเนื้อและชีวิตความเป็นอยู่ในวันนี้ทั้งหมดของเราไม่ใช่บุพการีหรือที่มอบให้
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน (2) บิดามารดา (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน (5) ปู่ ย่า ตา ยาย (6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ในลำดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียวทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
WORD OF WISDOM
อย่าให้ความโลภมาบังตาและหาเหตุผลในการกระทำผิดแล้วคิดว่าถูกต้อง
นิติธัช