ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง

ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง

“ครูช่าง” คือครูที่นักแสดงชื่อดังหลายคนต่างเคารพรัก ท่านเป็นทั้งครู นักแสดง ผู้กำกับ เขียนบท ทำละครเวที ปัจจุบันท่านเป็นทั้งผู้บริหารและครูใหญ่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนการละคร บ้านเรียนละครมรดกใหม่ (จ.ปทุมธานี) และวิทยาลัยกุมุทาลัย - อาศรมศิลป์ (จ.เลย) นอกจากนี้ท่านยังได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2552อีกด้วย

หลังจบการศึกษาในสาขาการละคร ด้านการเขียนบทละคร จากมหาวิทยาลัยมอนแทนา สหรัฐอเมริกา ท่านก็ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาการละคร โดยเฉพาะเรื่องการเขียนบท

“ผมชื่อช่าง เพราะคุณพ่อคุณแม่ผมเป็นคนตั้งให้ พี่ผมชื่อนายห้าง ผมชื่อนายช่างสิ่งที่ทำให้ผมเป็นอยู่ในทุกวันนี้ อันดับแรกต้องยกให้บรรพบุรุษของเราก่อน เราเกิดมาอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีการฝึกระนาดอย่างจริงจัง คุณตาของผมเป็นนักร้องที่เสียงไพเราะมาก คุณพ่อผมชอบผจญภัย เข้าป่าเขา ผมจึงชอบต้นไม้ ชอบป่า พร้อมทั้งคุณพ่อเป็นนักค้นคว้าและมีความฝันที่ยิ่งใหญ่มาก สิ่งเหล่านี้จึงฟูมฟักให้เราออกมาเป็นตัวตน เมื่อครั้งไปเรียนที่ต่างประเทศได้พบเจอครูอาจารย์ดีๆ มากมาย ทำให้เรามีความคิดที่ต่อยอด ขยายให้เราเข้าใจในสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้น   

“จุดเริ่มต้นในงานด้านต่างๆ ของผมเกิดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จากนั้นผมได้ไปเขียนบทให้กับละครทีวีและภาพยนตร์ เมื่อเขียนเสร็จผู้กำกับอาจจะไม่เข้าใจทำให้กำกับไม่ได้ เราก็ต้องไปช่วยกำกับในกองถ่าย แล้วก็ได้เล่นเองอีก เมื่อคนเห็นเราเล่นแล้วเข้าตา มันจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้เข้าวงการ เริ่มจากเขียนบท กำกับจนกระทั่งได้เป็นนักแสดงในที่สุด แต่ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นดาราเลยนะ ผมจะคิดว่าตัวเองทำงานอยู่เบื้องหลังตลอดเวลา พอตอนหลังๆ เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น คนรู้จักมากขึ้น คนก็เริ่มให้ความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น 

“ด้วยความที่เราเป็นครูจึงทำให้มีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย ในตอนแรกเราคิดว่าเขาอยากได้วิชาความรู้จากเรา แต่ความเป็นจริงคือเขาแค่ต้องการทางผ่านเพื่อไปสู่ความเป็นดารา คนส่วนใหญ่จึงมองว่าผมเป็นตัวทวารที่เดินผ่านเข้าไปสู่
ตรงนั้นได้ ผมให้ได้แค่ความรู้ในสายงานนี้ แต่ถ้าจะมาให้ผมดันเข้าสู่วงการ ผมทำไม่ได้เมื่อเขาไม่ได้อยากเรียนรู้ในสิ่งที่เราสอนแบบจริงๆ จังๆ เราจึงรู้สึกว่าโดนธรรมชาติหลอกวิธีการแก้ไขง่ายๆ คือเลิกทำให้หมด

“โดยส่วนตัวแล้วลึกๆ ผมเบื่อระบบราชการมาก พร้อมทั้งยังเห็นความไม่ถูกต้องในระบบราชการหลายๆ อย่าง แต่ด้วยคำของคุณแม่ที่ว่าตราบใดที่ท่านยังมีชีวิตอยู่อย่าออกจากระบบราชการเด็ดขาด ในเวลานั้นเราไม่อยากให้คุณแม่เสียใจจึงรับราชการเรื่อยมา ต่อมาเมื่อคุณแม่เสียชีวิตลง ภายในปีนั้นผมยื่นใบลาออกจากการเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาฯ แล้วหลังจากนั้นการลาออกจากส่วนอื่นๆ ก็ตามมาเป็นกระบวนการ”

ตัดสินใจหันหลังให้วงการมายา

“ในตอนที่เรามีหัวโขน อำนาจ เงินทองมากมายเข้ามาเป็นธรรมดาที่ปุถุชนอย่างเราจะหลงใหลในสิ่งเหล่านั้น การถ่ายละครทางโทรทัศน์แต่ละครั้ง เมื่อเราถ่ายเสร็จก็ถือว่าจบ แต่จริงๆ แล้วเรายังไม่สามารถเสวยสุขได้ ต้องรอจนกว่าละครของเราจะได้ออกอากาศ สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือละครเวที เพราะมันเป็นความรู้สึกที่สดใหม่ รู้สึกได้ในขณะนั้น และเราสามารถมีความสุขได้ในวินาทีนั้นๆ แค่ทำก็มีความสุขแล้ว อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของรายได้ ถ้าเมื่อไหร่เราทำเพื่อเงิน ความสุขก็จะหายไป และทุกการกระทำของเราจะเป็นเงินไปหมด แม้แต่การไปงานเลี้ยงปิดกล้องเราก็ต้องไปเพื่อคาดหวังให้มีงานต่อไปในอนาคต เราต้องประจบประแจงนักข่าวเพื่อให้เขาเขียนข่าวเชียร์เรา เราต้องพูดคุยกับผู้จัดละครเพื่อให้เขามอบงานชิ้นต่อๆ ไปให้ ทุกอย่างเลยกลายเป็นการแก่งแย่งเพื่อความอยู่รอด ผมจึงไม่ชอบ ผมมองว่ามันเป็นโลกมายาจริงๆ บางครั้งเงินอาจจะไม่ใช่ความสุขก็ได้ 

“ผมว่าคนที่หลงในสิ่งสมมติเรื่องธุรกิจบ้ากว่าผมอีกผมมาอยู่ที่นี่ (บ้านเรียนละครมรดกใหม่) ช่วงแรกยังใช้ชีวิตแบบทุนนิยมอยู่ ทุกคนที่อยู่กับผมมีเงินเดือนให้หมด แต่มันกลายเป็นตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่าเราอยู่กันแบบไม่มีเงินเดือนได้ไหม คนก็หายไปครึ่งหนึ่งใครอยู่ไม่ไหวก็ไป แต่เราก็เข้าใจ เพราะเขาต้องมีค่าใช้จ่ายมีเงินเดือน เราถูกปลูกฝังมาจากคนยุคเก่า ผมมีที่ทางต่างจังหวัดแล้วผมเห็นคนที่มาดูแลสวนให้ พอช่วงพักเที่ยงเขามีกับข้าวเต็มวง ผมสงสัยว่าพวกเขาไปซื้อมาจากไหน คำตอบที่ได้รับคือเขาเอามาจากที่ดินของเรา โดยการเก็บผัก หาแมลงต่างๆ ที่อยู่ในสวนเรานั่นแหละมาทำเป็นกับข้าว เราตกใจมากเพราะมันเป็นความรู้ใหม่ที่ไม่มีใครสอน เราจึงค่อยๆ ได้เรียนรู้และซึมซับว่าคนต่างจังหวัดแทบไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย ผมทึ่งมากกับวิถีชีวิตแบบนี้ 

“ด้วยความที่ผมเป็นนักเรียนนอก เรื่องแบบนี้จึงไม่มีอยู่ในตำราและเราไม่เคยรู้มาก่อน ผมว่าประเทศไทยรวย แต่คนในประเทศนั่นแหละที่จน สรุปได้ว่าไม่มีคำว่าอดตายในประเทศไทย ตอนนั้นตัดสินใจเดินเข้าสวนเด็ดอะไรได้ก็เอามากินเป็นมื้อต่อไป เจอตำลึงก็เด็ดตำลึง สิบกว่าคนใครเจออะไรก็เด็ดมารวมๆ กัน ผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเรามีอาหารกินสามมื้อ โดยการหาวัตถุดิบเพียงแค่มื้อเดียว ‘อัตตา หิ อัตตโน นาโถ’ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ในขณะที่เราถูกตั้งโปรแกรมให้ช่วยเหลือตัวเองแทบจะไม่ได้เลยถูกโปรแกรมให้เอาเงินจากอนาคตมาใช้ โดยมีระบบบัตรพลาสติกคอยรองรับ ถูกโปรแกรมวางไว้ให้ยิ่งกู้ยิ่งดี สมัยก่อนไม่ต้องมีของพวกนี้ ทุกคนต่างรู้จักปัจจัย 4 แต่ปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนไป อีกทั้งสิ่งดีๆ ในอดีตกลับไม่มีสอนบอกว่าเราต้องมีปัจจัย 4 แต่ไม่สอนว่าปัจจัย 4 คืออะไร หาได้จากที่ไหน”  

จุดเริ่มต้นบ้านเรียนละครมรดกใหม่ 

“ตอนนี้สิ่งที่เป็นปัญหากับประเทศไทยมากที่สุดคือ เด็กในเจนเนอเรชั่นนี้คิดไม่เป็น การคิดเป็นคือต้องเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ได้หมด จนถึงความละอายต่อบาป การศึกษาไทยมี 8 กลุ่มสาระก็จริง แต่อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ผมจึงไม่แบ่งการศึกษาที่นี่ออกเป็น 8 กลุ่มสาระ การสอนของผมจะสอนแบบองค์รวมเป็นเรื่องเดียว เวลาสอนละครก็จะสอนให้ทำเรื่องเดียว เพราะการสอนละครเพียงเรื่องเดียวมันได้มากกว่า 8 กลุ่มสาระด้วยซ้ำไป เช่น ผมสอนเรื่องรามเกียรติ์ เด็กต้องไปศึกษาประวัติที่มาที่ไป เด็กจะได้รู้ประวัติศาสตร์ต่างๆ นานา พร้อมทั้งยังได้เรียนรู้เรื่องวรรณกรรมอีกด้วย บทกลอนต่างๆ เด็กก็ได้ท่องจำไปในตัว ทั้งยังเข้าใจถึงศิลปะ เช่น สีเขียวจะหมายถึงยักษ์ตัวนี้ หนุมานต้องสีขาว ฯลฯพวกนี้จะซึมซับเข้าหัวเด็กเอง โดยที่เราไม่ต้องยัดเยียด เด็กจะเข้าใจไปถึงว่าจิตรกรรมมันคืออะไร สอนให้คนรู้จักหน้าที่ 

“ฉะนั้นเราจึงเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าไปได้ เชื่อมโยงกับเนื้อหาและประสบการณ์ครบทุก 8 กลุ่มสาระ เด็กได้รู้ทั้งเรื่องภาษาบาลีและสันสกฤต เราอยากเอาเรื่องนี้ไปเล่นต่างประเทศ เด็กก็จะต้องแปลบทเป็นภาษาอังกฤษอีก เพราะฉะนั้นเด็กของผมจะได้ทุกอย่างครบหมดเลย ทั้งที่เราสอนเรื่องเดียว คือเรื่องการทำละคร แต่พอไปดูที่โรงเรียนกลับไม่มีสอนเรื่องการละคร ในขณะที่วรรณคดีทุกเรื่องเป็นละครแทบทั้งสิ้น 

“เดือนที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปแสดงที่ประเทศเยอรมัน พร้อมกับเด็กอีก 9 คน งบประมาณจะได้จากการร่วมมือกันคนละครึ่งระหว่างเรากับเขา เด็กของเราจะได้ไปเข้าคอร์สอบรม สร้างโปรดักชั่นขึ้นมา 1 งาน เอาละครไปเล่น และเปิดคอนเสิร์ตแสดงดนตรีอีก 4 คอนเสิร์ต คนไทยไม่ค่อยรู้จักมรดกใหม่ พวกนักการศึกษาก็มาแบบวูบวาบไม่จริงจัง ทั้งเรายังไม่สามารถพึ่งราชการและนักการเมืองได้เอาง่ายๆ คือเยอรมันเขามาเห็นวิถีของเราแบบนี้ เขากลับไปประเทศเขาเพื่อขอทุนมาให้เราไปที่ประเทศเขาเลย หรือประเทศโรมาเนียรู้จักเราผ่านทางเว็บไซต์ ได้เข้ามาพูดคุยเยี่ยมเยียนเราที่นี่ เขารีบไปบอกสถานทูตเขาว่ามีแบบนี้อยู่ในโลกด้วย ทางสถานทูตเขาจึงมาเยี่ยมเราเองพร้อมทั้งมอบทุนให้เรา 2 ทุน ตอนนี้มีเด็กของผมที่เรียนอยู่ประเทศโรมาเนีย 2 คน จากจุดเริ่มต้นตรงนี้ ประเทศฮังการีก็ได้รู้ว่าเรามีการเรียนการสอนกันอย่างไร เขาทึ่งและตกใจมาก เขาขอวีซ่าให้เด็กเราได้ไปเรียนวิชาดนตรีที่ฮังการีอีก 6 คน 

“เด็กทุกคนต้องการต้นแบบไม่ใช่คำสั่งสอน ต่อให้เราสั่งสอนให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่สามารถเป็นต้นแบบที่ดีได้ก็เปล่าประโยชน์ เด็กจะซึมซับสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ทำให้เราไม่ท้อคือการได้เห็นเด็กที่เราดูแลประสบความสำเร็จเด็กทุกคนได้ไปต่างประเทศ เราก็มีชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยียนแบบไม่ขาดสาย เราจะมีการแลกเปลี่ยนโดยการที่เด็กต่างชาติมาฝึกงานกับเรา”   

ระบบการเรียนการสอน

“เราจะมีกฎว่าต้องตื่นตีสี่ทุกวัน เพื่อมาฝึกซ้อมการแสดงต่างๆ เพราะเราเป็นชาวพุทธ ตื่นตีสี่เพื่อมาทำวัตรเช้าเราต้องรีบตื่นขึ้นมาก่อนพระออกบิณฑบาต นักระนาดจะตื่นขึ้นมาไล่ระนาดตั้งแต่ตีสี่จนเห็นลายมือตัวเอง พอเห็นลายมือตัวเองเมื่อไหร่จะต้องหยุด เพราะพระกำลังจะมาอันนี้เป็นวิถีที่มีมาแต่โบราณ ตามหลักทฤษฎีคือช่วงตีสี่ครึ่งจะเป็นช่วงที่มืดที่สุดก่อนที่ฟ้าจะสางเสมอ เป็นการเตือนสติว่าเราตื่นมาในช่วงที่มืดที่สุดคือเราโง่เขลา นั่นแปลว่าเราต้องจุดเทียน แล้วเราจะฝึกซ้อมจนกว่ามันจะสว่างด้วยตนเอง เมื่อเราทำแล้วทำเล่าฝึกซ้อมอย่างเต็มที่แล้วแสงสว่างมันจะมาเอง พระพุทธเจ้าเข้าใจธรรมชาติจึงต้องจำวัตรเช้าเพื่อสืบสานองค์ความรู้เอาไว้ 

“ผมจะบังคับให้เด็กนอนกลางวัน เพราะเมื่อตื่นขึ้นมาร่างกายจะสดชื่น แล้วจะนอนอีกทีไม่เกิน 3 ทุ่ม ที่นี่ไม่มีทีวีให้ดู ไม่มีโทรศัพท์มือถือให้ใช้ ถ้าพ่อแม่จะโทรมาให้โทรหาครูเท่านั้น เด็กๆ จะไม่มีโทรศัพท์ เราจะไม่ให้เด็กมีโลกส่วนตัวเพราะมันอันตราย พระพุทธเจ้าสอนให้เราออกไปธุดงค์ถือศีลปลีกวิเวก แต่ต้องทำเมื่อเราพร้อม มิฉะนั้นจะมีแต่อันตราย เราจะมีการคัดเลือกหนังที่ดีมีคุณภาพให้เด็กได้ดู ก่อนนอนก็จะมีการสวดมนต์ 

“ที่บ้านเรียนละครมรดกใหม่รับเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 7 ขวบเพราะเรารณรงค์ให้เด็กอยู่กับแม่ เมล็ดพันธุ์ที่หนึ่งคืออยู่ในท้องแม่ ซึ่งสำคัญมาก เด็กจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสภาวะของแม่ มันมีผลต่อลูกที่จะเกิดมาอย่างชัดเจนที่สุด จากนั้นเมล็ดพันธุ์ที่สองคือ 1 – 7 ขวบ ช่วงนี้สิ่งที่เราปลูกฝังจะยังไม่เห็นผล แต่มันคือสันดานที่จะเอาออกมาใช้ในอนาคตเพราะฉะนั้นมันคือการสร้างสันดานเด็กว่าจะให้เด็กเป็นคนชนิดไหน แต่เด็กจะยังไม่แสดงออกมาเท่านั้นเอง จึงเป็นช่วงสำคัญที่แม่และเด็กจะต้องอยู่ด้วยกัน ตอนนี้เราเริ่มจำกัดอายุแล้ว เพราะเมื่อก่อนเรารับนิสิตมาฝึกสอน แต่ปรากฏว่านิสิตนักศึกษาฝึกงานมีเรื่องในชีวิตเยอะ แล้วคนในรุ่นนี้สอนได้ยาก ต้องทุ่มเทอย่างมาก ผมจึงจำกัดอยู่แค่ไม่เกิน ม.4 

“ผมเชื่อว่าการอ่านมีผลกับชีวิตมาก และศิลปินทุกคนจะต้องอาศัยการฝึกฝน มันไม่ได้มาเองเพราะฉะนั้นพรสวรรค์จึงไม่ใช่ประเด็น ผมว่าคนมีพรสวรรค์โชคร้ายนะเพราะฝึกยากแต่คนที่ไม่มีพรสวรรค์ต่างหากที่จะฝึกฝนพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงในทางประณีตขึ้นไป”

เป้าหมายและความคาดหวัง 

“ความต้องการของคนเรามีไม่สิ้นสุด เมื่อเรามีเป้าหมายขึ้นมา ความต้องการในรายละเอียดปลีกย่อยก็จะตามมาเรื่อยๆตอนนี้เรามีบริษัท ทิปโก้ฟูดส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนอยู่ เมื่อเรามีโปรเจ็กต์เกิดขึ้น เราจะร่วมกันปรึกษาเพื่อหาช่องทางทำโปรเจ็กต์นี้ให้สำเร็จ เช่น เราจะสร้างห้องครัว เมื่อได้คุยปรึกษากันแล้ว เราก็อาจจะเล่นละครเพื่อขายบัตรให้คนเข้าชม เพื่อระดมทุนมาสร้างในส่วนนี้เป็นต้น ฉะนั้นตอนนี้เราจะทำอะไรจึงง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก 

“ตอนนี้เรามีโรงเรียนอยู่ 2 แห่ง คือที่คลองหก ปทุมธานี เป็นโรงเรียนมัธยม และที่จังหวัดเลย เป็นมหาวิทยาลัย สำหรับมหาวิทยาลัยผมจะไม่รับคนทั่วไป ต้องเป็นเด็กที่จบจากโรงเรียนเราเท่านั้น เพราะการเรียนการสอนเราจะสืบเนื่องต่อกันไป กลับกันถ้าเด็กที่จบชั้นมัธยมที่นี่สามารถไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยอื่นก็ได้ โดยเรามีโควตาไว้อยู่แล้ว 

“ผมคาดหวังให้เด็กๆ ไปได้ไกลกว่านี้ แม้จะยังไม่ถึงจุดที่คาดหวังไว้แต่ก็มาถึงจุดที่ผมพึงพอใจได้แล้ว ตอนนี้ผมเอาละครไปเล่นที่ไหน เด็กๆ สามารถจัดการเองได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการติดต่อ หรือประสานงานต่างๆ เด็กผมได้ทักษะทั้งทางด้านดนตรีไทยและดนตรีสากล ภาษาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งเด็กทุกคนจะได้ไปแสดงและทัศนศึกษายังต่างประเทศทั้งหมด และพวกเขาก็เริ่มมีฝันที่สอดคล้องไปกับผมแล้ว คือมีฝันที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นและมีกระบวนการต่างๆ ที่จะพาฝันนั้นให้สำเร็จได้ ฉะนั้นจึงอยากให้ดูที่เด็กมากกว่าตัวอาจารย์ 

“คำว่าละคร เป็นคำแขก ที่แปลว่า ทำให้ดู การศึกษาเรื่องละครเป็นการศึกษาเพื่อให้ทำ ทำคือการกระทำ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องของกฎแห่งกรรม พ้องกับคำว่าดราม่า ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า To Do แปลว่าการกระทำ ผมจึงอยากให้คนเข้าใจในส่วนนี้ ซึ่งทุกอย่างมันตรงกันข้ามกับมหรสพ มหรสพไม่มีการกระทำ เช่น การเดินแฟชั่นโชว์ การประกวดแฟนซี การประกวดเทพีต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่มีการกระทำ ฉะนั้นเวลาที่เราได้ดูละครเห็นการกระทำต่างๆ ของตัวละคร เราจะรู้สึกไปกับมัน เพราะเราอาจจะเคยกระทำเหมือนอย่างที่ตัวละครเคยกระทำ แล้วสุดท้ายเราก็จะเอาสิ่งนั้นมาปรับปรุงตัวเอง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถเอาละครออกจากศิลปกรรมอย่างอื่นได้เลย” 

THE SHOW MUST GO ON ละครคือชีวิต ชีวิตคือละคร