“เอเชีย”

“เอเชีย”

เมื่อเดือนที่แล้วแฟนบอลชาวไทยคงได้ติดตามการเยือนเมืองไทยของสโมสรเรดดิ้ง ที่มาเก็บตัวอุ่นเครื่องกับทีมไทยแลนด์ ออลสตาร์ ซึ่งหลายๆ คนคงทราบกันดีว่าสโมสรเก่าแก่กว่า 144 ปีแห่งนี้ มีคนไทยเป็นเจ้าของแบบเต็มตัว 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เพียงแค่ถือหุ้นใหญ่ โดยมี คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์, คุณสัมฤทธิ์ กาญจนสุทธิ์ และ คุณนรินทร์ นิรุตตินานนท์ เป็นเจ้าของร่วมกัน

จริงๆ สโมสรจากอังกฤษยังมีอีก 2 สโมสรที่เจ้าของเป็นคนไทยคือ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่มีฉายาว่า Siam Foxจิ้งจอกสยามซึ่งโลดแล่นในพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่แล้วของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา แห่ง “คิงพาวเวอร์” กับ เชฟฟิลด์เว้นส์เดย์ของคุณเดชพล จันศิริ แห่ง “บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์”

เรียกว่า นักลงทุนจากเอเชียเองก็สนใจทีมจากเมืองผู้ดีไม่น้อย ไม่นับเศรษฐีเอเชียชาติอื่นเอาแค่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกก็มี คาร์สัน หยาง นักธุรกิจชาวฮ่องกงที่ซื้อ เบอร์มิงแฮม ในปี 2009  วินเซนต์ ตัน ชาวมาเลเซียที่เป็นเจ้าของคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ หรือ โทนี่ เฟอร์นานเดซ เจ้าของสายการบิน “แอร์ เอเชีย” ที่ซื้อหุ้นควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์สจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 

ขณะเดียวกัน ทีมจากอังกฤษเองก็ต้องการผู้สนับสนุนจากเอเชียเช่นกัน ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่หมายถึงฐานแฟนบอลในทวีปที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งถ้าไม่ซื้อทีมไปเลย ก็คงต้องมาทางสปอนเซอร์หรือเป็นผู้สนับสนุนไม่ว่าหลักหรือรอง เห็นได้จากเสื้อตัวอย่างของสโมสรที่ปักตั้งแต่สปอนเซอร์คาดอกไปจนถึงคาดแขนเป็นองค์กร บริษัท ห้างร้านของคนเอเชีย

ในส่วนของผู้สนับสนุนจากประเทศไทยจริงๆ ถ้าเห็นชัดหน่อยคงเป็น “คิงพาวเวอร์” ที่คาดอยู่บนหน้าอกเสื้อสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เป็นของคนไทยอยู่แล้ว หรือ “ช้าง” ที่อยู่บนอกนักเตะเอฟเวอร์ตันมาหลายปีถ้าสังเกตจะเห็นป้ายโฆษณาข้างสนามใน “โอลด์แทร็ฟฟอร์ด”ของแมนยูฯ กับ “สแตมฟอร์ด บริจด์” ของเชลซีที่มีแบรนด์เครื่องดื่มไทยแท้อย่าง “สิงห์” ซึ่งเป็น Partner Sponsor อีกด้วย

แน่นอนว่าตลาดฟุตบอลอังกฤษโดยเฉพาะพรีเมียร์ลีกมีเอเชียเป็นตลาดหลักและตลาดใหญ่นอกจากแฟนบอลท้องถิ่น ยิ่งบรรดาชาวเอเชียทั้งหลายที่หมายถึงตั้งแต่เอเชียตะวันออก (จีน, ฮ่องกง, เกาหลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย,สิงค์โปร์) ไปจนถึงพวกตะวันออกกลางซึ่งนับเป็นเอเชียเหมือนกัน ที่ถึงขั้นซื้อทีมแบบบ้าคลั่งอย่าง “ชีค มานซูร์” จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีแมนซิตี้เป็นทรัพย์สิน

ความนิยมฟุตบอลอังกฤษของชาวเอเชีย ทำให้ยุคนี้ทุกๆ สโมสรต่างมองตลาดแห่งนี้เป็นขุมสมบัติที่ทำรายได้มหาศาลให้กับสโมสร โดยเฉพาะผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์จากแดนไกล

ขณะที่ทางองค์กร บริษัทหรือเจ้าของสินค้าและบริการจากเอเชียเองก็มองทีมในอังกฤษว่า สามารถช่วยในเรื่องของการโฆษณา รวมทั้งยกระดับแบรนด์และตราสินค้าของตัวเองได้อย่างดีอีกด้วย

ในฤดูกาลที่แล้ว (2014 - 2015) จาก 20 ทีมในพรีเมียร์ลีกมีทีมที่มีสปอนเซอร์คาดอกมากจากเอเชียถึง 10 สโมสรด้วยกันคือ อาร์เซนอล, แอสตัน วิลล่า, เบิร์นลีย์, เชลซี, เอฟเวอร์ตัน,ฮัลล์ ซิตี้, เลสเตอร์ ซิตี้, แมนซิตี้, ควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส และ สวอนซี

ถ้าลองคิดถึงเม็ดเงินมหาศาลที่แต่ละสโมสรทำสัญญากับสปอนเซอร์เหล่านี้ ยังไงมูลค่ารวมกันก็เกินพันล้านปอนด์อย่างแน่นอน

อีกจุดที่น่าสนใจคือสมัยนี้ช่วงปิดฤดูกาล หลายทีมในอังกฤษยังไงก็ต้องเดินทางมาทัวร์ในทวีปเอเชียถึงแม้จะไกลแค่ไหนก็ตาม อย่างประเทศไทยเองช่วงปิดฤดูกาลนี้ก็มีถึง 3 ทีม คือ เชลซี, เรดดิ้ง และ ลิเวอร์พูล

หรือ “ทัวร์นาเม้นท์ บาร์เคลย์ เอเชีย โทรฟี่” ที่มีทุกๆ2 ปี จัดมาตั้งแต่ปี 2003 จวบจนปีที่เพิ่งจบลงไปนี้จัดขึ้นที่สิงค์โปร์ โดยมีทีมใหญ่อย่าง อาร์เซนอล เดินทางมากับเอฟเวอร์ตัน และ สโต๊ค ซิตี้

สุดท้ายต้องบอกว่า ความนิยมของชาวเอเชียที่มีต่อฟุตบอลอังกฤษ จนนำไปสู่การครอบครองสโมสรในอังกฤษของคนเอเชีย และการที่สปอนเซอร์จากเอเชียเข้าไปสนับสนุนทีมในอังกฤษ คงต้องพูดแบบเต็มปากว่า “เอเชีย” คือตลาดหลักของทีมจากอังกฤษครับ 

ตลาดหลักของทีมฟุตบอลอังกฤษ