Physical Therapy
อาชีพนักฟุตบอลสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือเรื่องของอาการบาดเจ็บ มีตั้งแต่ฟกช้ำทายาไม่กี่วันก็หายเป็นปกติ แต่ถ้าบาดเจ็บหนักถึงขั้นกระดูกหักกระดูกแตก กล้ามเนื้อฉีก เส้นเอ็นขาด แบบนี้ต้องทำการผ่าตัดสถานเดียว ถ้าเป็นสมัยก่อนนักฟุตบอลมักแขวนสตั๊ดกันตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้นักฟุตบอลกลับมาลงสนามได้อย่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง!
การบาดเจ็บของนักฟุตบอลนอกจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้ที่รับผิดชอบเป็นหลักก็คือนักกายภาพบำบัด ซึ่งมีหน้าที่หลักคือป้องกันไม่ให้นักเตะบาดเจ็บ ดูแลนักฟุตบอลตั้งแต่เริ่มมีอาการบาดเจ็บ การบรรเทารักษาตามความรู้ความสามารถ และการฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่นักฟุตบอล
ในกรณีที่การบาดเจ็บเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลในสนาม ขั้นตอนแรกคือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้มีการประคบเย็น พันผ้ายืดแล้วยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูง หลังจากการบาดเจ็บ 72 ชั่วโมงผ่านไปร่างกายมีการซ่อมแซมตัวเองโดยการสร้างคอลลาเจน Proteoglycan ช่วยเร่งการสมานแผล การทำกายภาพจึงเน้นที่การลดบวมกระตุ้นออกซิเจน และให้สารอาหารไปเลี้ยงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุด
นักกายภาพบำบัดมืออาชีพจะใช้ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ เพื่อประกอบการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างถูกวิธี แล้วนำมาประเมินอาการบาดเจ็บ เพื่อหาคอร์สที่เหมาะสมในการทำกายภาพบำบัด โดยจะจัดตารางเอาไว้ให้นักฟุตบอลฟื้นฟูร่างกายตามแต่สภาพของนักเตะคนนั้น
เริ่มตั้งแต่เบสิกพื้นฐานอย่างการออกกำลังกาย การนวด ดัด และการยืดกล้ามเนื้อ เป็นการกระตุ้นเพื่อแก้ปัญหาของนักกีฬา ซึ่งอาจมีการใช้เครื่องมือทางการแพทย์เข้ามาช่วยอย่าง ไฟฟ้า ความร้อน หรือรังสี ในบางครั้งอาจมีการใช้น้ำเข้ามาช่วยรักษาเพิ่มเรียกว่าวารีบำบัดอีกทางหนึ่งได้
นอกจากนี้ยังมีการทำกายภาพบำบัดอาการบาดเจ็บด้วยออกซิเจนแรงดันสูง อย่างเครื่องไฮเปอร์บาริค ออกซิเจน เทอราพี โดยใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ ที่มีแรงดันอากาศสูงกว่าปกติ ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นบาดแผล
ให้หายเร็วขึ้น ซึ่งในส่วนนี้มักมีนักฟุตบอลค่าตัวแพงใช้กัน
เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดว่านักกีฬาบาดเจ็บ แล้วจะได้รับการผักผ่อนนอนหลับอยู่บ้านอย่างสบายใจ อาจต้องคิดใหม่ เพราะนอกจากนักกายภาพชั้นดีจะจัดตารางฟื้นฟูอาการบาดเจ็บอย่างเคร่งครัดแล้ว พวกเขาจะคอยเฝ้าดูนักฟุตบอลทุกฝีก้าวราวกับว่ามีกล้องวงจรปิดตามติดเลยล่ะ