ใครที่ชื่นชอบอาหารยอดนิยมในตอนเช้า คงต้องหยุดอ่านตรงนี้สักนิด เรื่องที่จะเล่าต่อจากนี้เกิดขึ้นใกล้ตัวมาก เพราะว่าหลายๆ คนมักตื่นมารับประทานกันอยู่เป็นประจำ

ต้มเลือดหมู อาหารยามเช้ายอดฮิตติดลมบนรวมถึงแกงต่างๆ ที่มีส่วนผสมของเลือด เป็นอาหารยอดฮิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกินต้มเลือดหมูตอนเช้าๆ ความเชื่อของหลายๆ คนคิดว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะว่าธาตุเหล็ก และคอลลาเจนในเลือดหมูเมื่อรับประทานคู่กับใบตำลึงซึ่งมีวิตามินซีเป็นจำนวนมากจะช่วยดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี

เฮียเหลา เจ้าของร้านต้มเลือดหมูรุ่นสองที่สืบทอดรสชาติความอร่อยมาแล้วหลายสิบปี ในยุคเริ่มต้นสมัยคุณพ่อของเฮียเหลานั้น ตำนานความอร่อยเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ผู้คนต่างเข้าคิวต่อแถวเพื่อให้ได้กินต้มเลือดหมูร้อนๆ สักชามก่อนที่จะไปทำงาน

คนเปลี่ยน รสชาติเปลี่ยน

แม้เฮียเหลาจะได้รับสูตรการทำต้มเลือดหมูมาอย่างครบถ้วนจากคุณพ่อที่จากไปแล้ว แต่ยอดขายกลับสวนทางกับตำนานที่เลื่องลือ นับวันคนก็ยิ่งน้อยลงๆ ก็เพราะความซื่อสัตย์ต่ออาชีพของเขาเองที่ทำให้รสชาติเปลี่ยนไป เพราะวัตถุดิบไม่เหมือนเดิมไม่เหมือนแม้กระทั่งเลือดที่ใช้ เพราะไม่ใช่เลือดหมู เขากลับใช้สิ่งเทียมเลียนแบบ มาหลอกขายว่าเป็นเลือดหมู รวมทั้งการปรุงแต่งอาหารที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานของวัตถุดิบส่วนอื่นๆ เพื่อปกปิดความด้อยคุณภาพของอาหาร เพื่อลดต้นทุนจะได้กำไรเยอะๆ จนกระทั่งเกิดเรื่องราวที่ไม่คาดคิดขึ้น

ลูกค้าท้องเสียกันเป็นร้อยๆ คนจากการกินต้มเลือดหมูร้านเฮียเหลา

ลูกค้า : เฮียเหลา อาหารร้านเฮียเป็นพิษแน่นอน ทำให้พวกเราปวดท้องแบบนี้ เฮียจะรับผิดชอบอย่างไร

เฮียเหลา : จะให้รับผิดชอบอะไร พวกลื้อพากันไปกินอย่างอื่นกันมาแล้วท้องเสีย อย่ามาโทษต้มเลือดหมูร้านอั๊วะนะ

ลูกค้า : จะไม่โทษได้อย่างไร พวกเราท้องเสียพร้อมๆ กัน หลังจากกินต้มเลือดหมูร้านเฮีย พวกเราจะไปแจ้งความเพื่อเอาผิดเฮีย

เฮียเหลา : เชิญเลย อยากจะไปแจ้งที่ไหนก็เชิญเลย

Q : เอาล่ะครับ เกิดเรื่องราวขึ้นอีกแล้ว เฮียเหลามีความผิดหรือไม่อย่างไร

A : จากข้อเท็จจริง การที่เฮียเหลาใช้สิ่งเทียมเลียนแบบหลอกขายผู้อื่นว่าเป็นเลือดหมู รวมทั้งปรุงแต่งอาหารที่มีคุณภาพต่ำในวัตถุดิบอื่นๆ นอกจากเลือดหมูเพื่อปกปิดความด้อยคุณภาพของอาหาร ซึ่งลักษณะของอาหารดังกล่าวถือว่าเป็นอาหารปลอม

ดังนั้นการกระทำของเฮียเหลาจึงมีความผิดฐานผลิต และจำหน่ายอาหารปลอม ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 59

ความเห็นแก่ตัวเพียงเพื่อจะลดต้นทุนและได้กำไรเยอะๆ โดยไม่คำนึงถึงผู้บริโภคของเฮียเหลา นอกจากจะเกิดหายนะของอาชีพแล้วยังอาจจะต้องเสียทรัพย์และอิสรภาพอีกด้วย 

กฎหมายพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

มาตรา 4 “อาหาร” หมายความว่า ของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต

มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่ายซึ่งอาหารดังต่อไปนี้

(2)  อาหารปลอม

มาตรา 27 อาหารที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นอาหารปลอม

(1) อาหารที่ได้สับเปลี่ยนใช้วัตถุดิบอื่นแทนบางส่วน หรือคัดแยกวัตถุที่มีค่าออกเสียทั้งหมด หรือบางส่วน และจำหน่ายเป็นอาหารแท้อย่างนั้น หรือใช้ชื่ออาหารแท้นั้น

(2) วัตถุ หรืออาหารที่ผลิตขึ้นเทียมอาหารอย่างหนึ่งอย่างใดและจำหน่ายเป็นอาหารเเท้อย่างนั้น

(3) อาหารที่ได้ผสมหรือปรุงแต่งด้วยวิธีใดๆ โดยประสงค์จะปกปิดซ่อนเร้นความชำรุดบกพร่อง หรือความด้อยคุณภาพของอาหารนั้น

(4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต

(5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทำให้เกิดโทษหรืออันตราย

มาตรา 59 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (2) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท

ปลอมแปลง เจือปน