ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ประเทศไทยหากมีผู้ที่ได้การยอมรับว่าเป็นผู้มากความรู้ถึงขั้นนักปราชญ์ เป็นแกนสมองของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ต้องนับว่าอยู่ระดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแค่ดีกรีการศึกษาก็น้อยคนนักที่จะทำได้อย่างเขา
เริ่มตั้งแต่ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) มหาวิทยาลัยมอแนช (Monash University), ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, ปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขาวิสาหกิจเพื่อสังคมและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์, ปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอแนช (Monash University) และ ศึกษาหลังปริญญาเอก (Post Doctoral) มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด
นอกจากนี้ท่านสร้างงานเขียนในหลากหลายสาขา โดยมีหนังสือมากกว่า 200 เล่ม มีผลงานด้านวารสารที่ได้รับการตีพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศกว่า 500 เรื่อง อีกทั้งยังมีการแสดงทัศนะมากกว่า 4,000 เรื่อง เรียกได้ว่าถ้าคุยกัน
เรื่องใดก็ตามที่อยู่ในขอบข่ายวิชาการ เขาจะรู้ลึกรู้กว้างราวกับสารานุกรมเคลื่อนที่เลยทีเดียว
“ผมไม่เคยเชื่อว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่น แต่เป็นคนที่หิวโหยความรู้มากชอบรู้เรื่องที่ลึก ซึ่งเป็นบุคลิกส่วนตัวของผมที่ทำให้ต้องเขียนหนังสือเสนอความเห็นออกมา ผมต้องทำงานเยอะเพราะอยากจะนำประโยชน์ให้คนอื่นได้ใช้ไม่ว่าผมจะมีชีวิตอยู่หรือได้จากโลกนี้ไปแล้ว บางคนชอบพูดว่าผมสำเร็จแล้ว แต่ผมมีมุมมองที่ต่างกัน คือความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องตำแหน่งชื่อเสียงเงินทอง แต่มันคือการใช้ทุกส่วนในตัวเราให้เต็มที่จนวันสุดท้ายของชีวิต แบบนี้แหละคือคนที่สำเร็จในความรู้สึกของผม
“มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่มีความคิด แล้วความคิดเป็นรากฐานในการสร้างความรู้ ความรู้จากที่หนึ่งเอาไปโยงความรู้อื่นกลายเป็นองค์ความรู้ องค์ความรู้ที่สูงส่งเป็นศิลปวิทยาการ ศิลปวิทยาการขั้นสูงที่ยืนระยะมีอิทธิพลต่อมนุษย์กลายเป็นอารยธรรม มนุษย์จึงมีอารยธรรมที่สัตว์ไม่มี ดังนั้นถ้าเราไม่ใช้จุดเด่นของมนุษย์เราก็จะมีชีวิตที่ไม่คุ้มค่า
“ผมเป็นคนที่เชื่อว่าองค์ความรู้เป็นความเป็นเอกเป็นหนึ่ง คือโยงใยกันหมดทั้งกระบวนไม่ได้มีเพียงสาขาใดสาขาหนึ่ง ผมแปลตามหมายของผมเองคือสัจจะที่จริงเป็นเอกเป็นหนึ่ง เราจึงเห็นว่า University เป็น Uni แปลว่าเอก ไม่ใช่ Multiversity ที่แปลว่ามากกว่าสอง จึงไม่ใช่ว่าเอาความรู้มาแล้วลืมความเชื่อมโยงกับความรู้อื่น มันต้องรู้ลึกรู้กว้างแล้วโยงใยกันให้ได้ ตรงนี้เองทำให้เรารอบคอบ และไม่หยิ่งผยองในสิ่งที่รู้
“ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ เพราะว่าการอ่านหนังสือเหมือนเป็นการสนทนากับผู้มีปัญญา ตอนนี้ที่บ้านผมมีหนังสืออยู่ประมาณ 4 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยติดแอร์เพื่อให้คงสภาพดีที่สุดเอาไว้ แถมยังเคยจ้างบรรณารักษ์เพื่อมาขึ้นเลขหนังสือ สร้างระบบการค้นหาคือผมยังรู้สึกว่ามีเรื่องที่อยากรู้เต็มไปหมด อยากคุย อยากฟังอยากอ่านจากคนที่มีความรู้ตลอดเวลา”
ที่เป็นได้อย่างทุกวันนี้ท่านบอกว่าถูกหล่อหลอมด้วยอิทธิพลหลายอย่าง ตั้งแต่ครอบครัวเริ่มจากคุณพ่อที่เป็นคนขยันและรอบคอบ โดยได้สอนเรื่องของคำพูดว่าต้องมีน้ำหนักยิ่งกว่าสัญญาทางกฏหมาย คนต่อมาเป็นคุณแม่ซึ่งเป็นคนที่ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของหนังสือ ซึ่งสมัยนั้นท่านอ่านหนังสือแนวปรัชญาทั้งวันตกและตะวันออกเยอะ ทำให้มีแนวคิดว่าต้องทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ทำพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ จึงปรับปรุงตัวเองเสมอ เรียนรู้จากหนังสือและคนรอบข้าง เรียนรู้ความสำเร็จและความล้มเหลวตามสิ่งที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
การตั้งเป้าหมายนั้นท่านเป็นคนคิดใหญ่ตั้งแต่เด็กคืออยากทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่ให้ได้ แนวคิดนี้เกิดมาจากการเห็นคนมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาก เช่นคนพิการ คนยากจน อุดมการณ์จึงเกิดจากสิ่งเหล่านี้ ทำให้ตั้งใจเรียนอย่างหนักในหลายแขนง เพื่อให้ตัวเองมีความรู้มากที่สุด และหาโอกาสกลับมาแก้ไขปัญหาสังคมอีกครั้ง
“ความคิดของผมคือทำอย่างไรให้ประเทศไทยเจริญเป็นอารยะเสียที จึงต้องทำแผนงาน จัดเตรียมคนสร้างระบบ คิดทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็กอยู่ตลอดเวลา ที่ผมมีคนขับรถยนต์ส่วนตัวไม่ใช่เพื่อความโก้หรู แต่เพราะผมจะได้มีเวลาทำงานในรถยนต์ไปด้วย ผมมีคนช่วยเช็คอินที่สนามบินแทนไม่ใช่เพราะขี้เกียจ แต่ผมต้องทำงานตอนที่รอเครื่องบินออก งานไหนที่ผมคิดว่าฝึกให้คนทำได้ผมจะไม่ทำเอง ผมไปทำเรื่องที่คนอื่นทำแทนไม่ได้ เพราะผมคิดเสมอว่าเหลือเวลาอีกแค่ 2 หมื่นกว่าวันก็ตายแล้ว
“แต่ผมเข้าใจว่าการจะทำงานใหญ่ระดับชาติให้สำเร็จสิ่งสำคัญคือต้องมีเพื่อน ผมจึงมีเพื่อนฝูงหลายวงการ เพราะเราไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ทั้งหมด ผมไปงานสังคมแต่ไม่ได้สังสรรค์เพื่อความสนุก แต่ไปเพื่อขอความเห็นใจ เวลาที่ชวนเพื่อนมาทำคุณงามความดี เขาจะได้เต็มใจมา การทำงานที่เป็นเพื่อนกับคนต้องใช้เวลานะครับ
“ถ้าถามว่าประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน มีความทุกข์หรือไม่ ผมมีความทุกข์ครับ แต่ไม่ได้นั่งกลุ้มเหมือนคนอื่นที่ไม่ได้ทรัพย์สินตามที่ต้องการ แต่ทุกข์เพราะประเทศไทยควรเจริญด้วยอารยะแต่ไม่เป็นเสียที เพราะเราไม่ร่วมมือกันแต่หวังว่าก่อนตายผมจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างที่ใฝ่ฝัน ซึ่งความฝันตรงนี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อน การมีอุดมการณ์จึงสำคัญต่อชีวิตผม มันทำให้ชีวิตมีความหมาย”
เมื่อ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์มาพอสมควรจึงได้เดินทางตามเส้นทางการพัฒนาประเทศ โดยการเข้าไปเป็นนักการเมืองในสภาแต่หลังอยู่มาหลายปีท่านได้ลาออกจากพรรคการเมืองเพื่อจะมาสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยไม่สังกัดพรรค มีสโลแกนที่หลายคนจำได้คือ “Dr. Dan Can Do” แม้จะไม่ได้รับเลือกแต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ
“ผมจำใจแต่เต็มใจไปทำงานการเมือง จำใจเพราะรู้ว่าการเมืองไม่ใช่แบบที่เราคิด คนที่ไปทำงานการเมืองควรเป็นคนที่เสียสละและมีจิตใจที่ดีงาม หากมีคุณสมบัติแบบนี้ควรไปทำงานเพื่อส่วนรวมไม่ใช่เพื่อส่วนตัว พอผมเข้าไปในวงการการเมืองก็ได้รู้ว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ง่ายๆ เพราะคนส่วนใหญ่ที่เข้าไปไม่ใช่ไปด้วยอุดมการณ์แต่ไปเพราะเหตุอื่น ผมต้องลงการเมืองเพราะจะได้อำนาจในการบริหารประเทศเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ต้องการ
“ผมอยากให้คนที่หวังดีต่อประเทศจริงๆ ไปทำงานการเมืองให้มากขึ้นกว่าเดิม แล้วประเทศไทยก็จะดีขึ้นเมื่อผมเข้าไปกลับรู้สึกโดดเดี่ยวเกินไปซึ่งมันยังไม่ใช่เวลา การที่เราอยู่จุดนั้นทำให้ได้ตำแหน่งแน่นอน แต่ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ ผมอยากได้ตำแหน่งเพื่อไปทำอุดมคติความฝันพอผมเห็นว่าได้ตำแหน่งแต่ไม่ได้ตามที่ฝัน ผมขอถอยมาทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่กลับไป ตราบที่คนดีๆ ยังเป็นส่วนน้อย ผมก็คิดว่าคงไม่คุ้มกับเวลา แต่ถ้าเห็นว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงแน่ๆ เราต้องเสียสละไปด้วยกันและต้องมากันเยอะๆ ผมเองสำรวจมาแล้วว่าสถานการณ์ไม่เหมาะก็ต้องถอยออกมาก่อน
“การเมืองควรมีคราบน้ำตาเมื่อได้เห็นความทุกข์ของประชาชน หัวใจของการเมืองที่แท้จริงนั้นจะต้องมาเพื่อโอบอุ้มคนทั้งประเทศ การเมืองแบบผลประโยชน์อย่างเดียวผมคิดว่ามันไกลจากความจริงที่เป็นอุดมคติของผมเกินไป ความจริงใครที่ไม่เก่งและไม่ดีพออย่าลงมาเล่นการเมืองเลย เราต้องเป็นแมวมองคอยสอดส่องว่าใครมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้วก็ไปเชิญเขามา การเชิญหมายความว่าพวกเราจะช่วยหนุนไม่ปล่อยให้เขาหัวเดียวกระเทียมลีบ ให้สมรภูมิการเมืองเป็นสนามของคุณงามความดี ไม่ใช่เข้ามาก่อปัญหาทะเลาะกัน
“เรื่องของการโฆษณาตัวเอง ถามว่าคนดีที่ไหนจะมาโฆษณาตัวเอง เขาก็อายที่จะพูดเพราะมันเหมือนแอบอ้าง เราจึงมีหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี เสาะหาคนแล้วไปบอกให้เขามาช่วยสังคมหน่อย แต่คำเชิญของผมไม่ได้มาด้วยคำพูดนะแต่ผมจะรวบรวมกำลังพรรคพวกเพื่อนฝูงมาเกื้อหนุนทำให้เกิดประโยชน์จริง ถ้าประชาชนมาช่วยหนุนแบบนี้ ไปเชิญมาโดยที่เขาไม่ต้องสมัครเอง เพราะได้ทำคุณงามความดีจนคนเขารู้สึกแล้วว่าคุณควรจะเป็น แนวทางแบบนี้ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ผมเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยนะแต่บางส่วนต้องเปลี่ยนให้เหมาะสมเรียกว่าอารยาธิปไตย ประชาธิปไตยบนฐานธรรมมาธิปไตยที่แท้จริงจะสามารถเกิดขึ้นได้ถ้าทำแบบนี้
“สังคมไทยยังห่วงลูกหลานแทนที่จะบอกว่า ถ้าลูกเราเป็นคนที่เก่งและดีจริงๆ ก็ควรเสียสละไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ แต่ตอนนี้แม่จะบอกลูกว่าอย่าไปเลยเดี๋ยวเขาด่าเอา คือการเมืองของเรามักมีการกลั่นแกล้งสาดโคลนกันไปมา เพราะอยากได้อำนาจ แล้วประชาชนจำนวนหนึ่งก็หูเบาออกมาก่อความไม่สงบด้วยอคติ คนที่ดีจึงมีโอกาสรอดยากในสังคมแบบนี้ ผมอยากให้ประชาชนในสังคมเข้มแข็งอยากให้พลเมืองมีส่วนร่วมรับผิดชอบจนกลายเป็นสยามอารยะ
ทฤษฎีสยามอารยะนี่เองเป็นทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองที่ท่านคิดขึ้นโดยใช้หลักการข้างล่างมาเจอข้างบนและข้างบนลงมาเจอข้างล่าง ในระดับล่างคือต้องสร้างกลุ่มประชาชาคมที่มารวมตัวกันรับผิดชอบเรื่องเล็กๆ โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างความคิดและแนวทางการแก้ปัญหาสังคมเอง เมื่อตกผลึกก็ไปช่วยหนุนอำนาจรัฐที่เป็นฝ่ายการเมืองและนโยบายในระดับบน
“ตอนนี้ทิศทางที่สังคมทำกันมาหลายปีเป็นทางลบ คือประชาชนออกมาบ่นและประท้วงเมื่อมีปัญหา พวกเขามีสิทธิ์ประท้วงแต่ต้องช่วยแก้ไขปัญหาด้วย ถ้าประชาชนเริ่มแข็งแรงด้วยตัวของเขาเอง ประชาชนจะเห็นว่าคนใดดีพอ ก็ให้เชิญไปเป็นผู้แทนแบบที่กล่าวมาข้างต้น
“ตอนนี้มันกลับตาลปัตรเพราะฝ่ายการเมืองบางทีก็หากินกับงบประมาณแผ่นดิน ใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิดเอาเงินมาหาเสียงโดยแจกประชาชน หรือเอาไปทำฐานเสียงของตัวเองพอทำแบบนี้มันก็กลับไปสู่วงจรอุบาทว์แล้วเราก็ไปแก้ปัญหาปลายเหตุ ต้นเหตุจึงต้องทำครบวงจรตั้งแต่แรกโดยการส่งคนดีเข้าสภาไปเป็น ส.ส. ไปเป็นรัฐมนตรี ไปเป็นนายก เขาจะลงไปทำประโยชน์ที่ถูกทาง แล้วคราวนี้บนจะลงล่างไปเจอกับล่างขึ้นบนที่มาจากรากหญ้า ประชาชนจะเจริญเองได้โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร เพราะทุกคนนั้นได้มีส่วนร่วมใช้จิตสำนึกที่ถูกต้อง ซึ่งเราจะไม่มีทางชนะหากพลเมืองของประเทศไทยไม่ลุกขึ้นมาช่วยกัน
ยังมีเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ถือว่าท่านเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ คือเรื่องของเศรษฐกิจ เป็นที่ทราบกันว่าช่วงนี้เศรษฐกิจบ้านเรากำลังซบเซา จากประสบการณ์ของท่านให้ความเห็นแบบตรงๆอย่างน่าสนใจว่า สมัยก่อนที่เศรษฐกิจบ้านเราเติบโตมีคนที่ได้ประโยชน์จากตรงนี้เพียงกลุ่มเดียว โดยไม่ได้ใช้นาทีทองตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาโครงสร้างหลักของประเทศ เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีคนส่วนใหญ่ก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม
“สิ่งที่ผมมองเห็นเป้าใหญ่อย่างแรกก็คือรายได้ต่อหัวต่อปียังต่ำ ถ้าทำได้เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วผมจะดีใจมาก ข้อสองประชาชนราว 8 ล้านคนยังอยู่ใต้เส้นความจน เพราะว่าโครงสร้างของประเทศบีบให้เป็นแบบนั้นเราจึงต้องช่วยเขาออกมา ข้อสามคนรวยและคนจนมีช่องว่างห่างกันมากเกินไปต้องทำให้ห่างกันน้อยลงนี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็น
“ถามว่าวันนี้เราอยู่ที่ไหน เราติดอยู่ที่รายได้ปานกลางจะไปที่รายได้สูงแทบไม่ได้เลย เพราะคนจนยังอยู่ภายใต้เส้นความจนที่มีความเหลื่อมล้ำมหาศาล แล้วหลายปีนี้เศรษฐกิจไทยโตช้าที่สุดในอาเซียนแสดงว่าเรามีปัญหาเรื้อรัง คนรากหญ้าถูกอุ้มชูในทางที่ผิดจากหัวคะแนนฐานเสียงของนักการเมืองบางคน จึงต้องพึ่งพานักการเมืองอยู่ตลอด ฝังลึกจนประชาชนเชื่อว่าผู้ถืออำนาจรัฐสามารถดลบันดาลทุกอย่างได้ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรกลับกันถ้ารัฐใช้เงินมหาศาลช่วยคนเหล่านี้ ต่อไปรัฐจะถังแตกแล้วระบบจะอยู่ไม่ได้
“วันนี้ใกล้ถึงจุดวิกฤติเพราะคนไทยทั้งหมดทั้งประเทศกว่า 65 ล้านคน มี 22.5 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ การศึกษาน้อยไม่มีทักษะสูงพอจะแข่งขัน ส่วนคนชั้นกลางมีไม่เยอะ ดูได้จากการเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 9 ล้านคน
แต่เสียจริงประมาณ 6 ล้านคน ถ้าลดหย่อนเยอะๆ จะเหลือราว 3 ล้านคน แสดงว่าคนเสียภาษีทางตรงน้อยมากคนที่อยู่นอกระบบเยอะกว่าหลายเท่าแถมคนรวยหนีภาษีได้ง่าย
“การแก้ปัญหาคือต้องได้รับการผ่าตัดครั้งใหญ่โดยจะใช้โมเดลแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องใช้อำนาจจากผู้นำทางการเมืองที่มีปัญญามาทำเท่านั้น เหมือนกับประเทศไทยเป็นมะเร็ง แทนที่จะผ่าตัดเนื้อร้ายออกแต่เอายาแก้ปวดให้กินแทน เราจำเป็นต้องผ่าตัดระบบครั้งใหญ่เพื่อขยัประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง แต่ในภาพรวมแล้วเราต้องมีการจัดระบบระเบียบประเทศใหม่ทั้งหมด ผมไม่อยากบอกว่ามันสายเกินไป แต่ภาวนาให้มีใครสักคนเข้ามาเปลี่ยนแปลง”
Did you know?
• ในอดีตท่านเคยเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอแนช และเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยทำงานวิจัยในศูนย์วิจัยทางเศรษฐศาสตร์ อิมแพคท์รีเสิร์ช ของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และเคยทำงานที่องค์การโทรคมนาคม ออสเตรเลีย
• ผลงานหนังสือของ ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ กว่า 200 เล่ม นั้นมีหลายแขนงโดยมีหมวดหมู่หลักๆ คือ หนังสือชุด กุญแจผู้ชนะ, ครอบครัวแสนสุข, ชีวิต ความคิด และทัศนะ, ปรากฏการณ์วิพากษ์, เปิดโลกความคิด, มองอนาคต, วาทะคนแถวหน้า, ข้อคิด, ที่นี่อารยะ และผู้ชนะ 10 คิด