ลูกค้าใหม่
โลกมีแหล่งหนังสือจีนหลักๆ อยู่ 3 แหล่ง คือ จีนแผ่นดินใหญ่, ไต้หวัน และฮ่องกง หนังสือภาษาจีนที่พิมพ์ในจีนแผ่นดินใหญ่ใช้ตัวอักษรจีนแบบ “ตัวย่อ” (เจี๋ยนถี่จื้อ 简体字), ที่พิมพ์จำหน่ายในไต้หวันใช้ตัวอักษรจีนแบบ “ตัวเต็ม” (ฝานถี่จื้อ 繁體字), หนังสือจีนที่ฮ่องกงพิมพ์ด้วยตัวอักษรจีนแบบ “ตัวเต็ม” (ฝานถี่จื้อ 繁體字), และหนังสือภาษาจีนที่พิมพ์ก่อนปี ค.ศ.1949 ทั้งหมดพิมพ์ด้วยอักษรจีนแบบตัวเต็ม ตลาดหนังสือภาษาจีนนั้นลูกค้าหลักๆ คือประชาชนที่ใช้ชีวิตในจีน, ไต้หวัน และฮ่องกง พื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นตลาดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
ในสิงคโปร์และมาเลเซียก็มีผู้ซื้อหนังสือจีนสม่ำเสมออยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็เป็นตลาดที่ไม่ใหญ่เท่า 3 แห่งแรก แต่ร้านหนังสือจีนในสิงคโปร์และมาเลเซียก็ยังน่าสนใจกว่าร้านหนังสือจีนในกรุงเทพฯ ในประเทศไทยมีเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีร้านขายหนังสือจีน และปัจจุบันมีแหล่งซื้อหนังสือภาษาจีนเพียง 3 แห่งคือ 1.แผนกหนังสือภาษาจีนที่ร้านคิโนะคุนิยะสยามพารากอน 2.ร้านหนังสือนานมีถนนเจริญกรุง (ร้านที่สุรศักดิ์กับสุขุมวิทหนังสือซ้ำกัน) 3.ร้านหนังสือมือสองที่ถนนเจริญกรุง
ตลาดหนังสือจีนนอกจากประเทศ 3 แหล่งใหญ่ เป็นตลาดขนาดย่อยซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก เพราะนับวันก็จะมีคนรู้ภาษาจีนเพิ่มขึ้นจากกระแสความตื่นตัวเรียนภาษาจีนของคนชาติต่างๆ แต่สำนักพิมพ์หลักๆ ที่ผลิตหนังสือภาษาจีนป้อนผู้อ่านทั่วโลกคือสำนักพิมพ์ในจีนแผ่นดินใหญ่, ไต้หวัน และฮ่องกง แน่นอนว่าเป้าหมายหลักของสำนักพิมพ์เหล่านี้คือลูกค้าในร้านหนังสือพื้นที่ของตัวเอง แต่ลูกค้ารองลงมาคือร้านหนังสือในต่างประเทศก็มีส่วนสร้างรายรับกลับสู่สำนักพิมพ์
สาขาวิชาภาษาจีนเป็นสาขาวิชายอดนิยมสาขาหนึ่งในโลกปัจจุบัน แต่ละปีมีคนไปเรียนภาษาจีนที่ประเทศจีนเป็นจำนวนมาก จะพูดว่าเป็นกระแสหลักด้านการเรียนภาษาก็ได้ นอกจากในประเทศจีนแล้ว ในสถาบันการศึกษาประเทศต่างๆ ก็เปิดสอนภาษาจีนอย่างกว้างขวาง จากระดับพื้นฐานจนถึงขั้นสูงระดับหลังปริญญา คนเหล่านี้เองที่กลายมาเป็นลูกค้าที่ซื้อหนังสือจีน ทำให้ร้านหนังสือแฟรนไชส์ที่มีแผนกหนังสือภาษาจีนมีลูกค้าประจำ มองโดยผิวเผินเหมือนว่านี่จะเป็นยุคเฟื่องฟูของร้านหนังสือจีน แต่ข้อมูลเชิงลึกแสดงให้เห็นว่ากำลังมีปัญหาบางอย่าง
ร้านหนังสืออิสระในไต้หวันกำลังประสบปัญหาทางธุรกิจเช่นเดียวกับร้านหนังสือขนาดเล็กของไทย นั่นคือหาหนังสือใหม่ๆ เข้าร้านได้น้อย เพราะสำนักพิมพ์กระแสหลักให้ส่วนลดกับร้านหนังสือแฟรนไชส์มากกว่า อีกทั้งยังยอมใช้ระบบฝากขาย แต่กลับให้ร้านหนังสือเล็กซื้อด้วยเงินสดด้วยส่วนลดน้อยกว่าที่ให้กับร้านหนังสือกระแสหลัก ร้านหนังสือในประเทศอื่นๆ ก็อยู่ในวงจรปัญหาคล้ายคลึงกัน นี่คือทุนนิยม มือที่ยาวกว่า ทุนที่ใหญ่กว่า ได้เปรียบในการแข่งขันเสมอ
การปรับตัวของร้านหนังสือขนาดเล็กนั้นน่าสนใจ แนวคิดหลักของร้านหนังสือกระแสรองทั่วโลกคือสร้างความแตกต่าง นอกจากการหาหนังสือเฉพาะแนวมาเสนอลูกค้าแล้ว การมีหนังสือเก่าจำหน่ายก็เป็นแรงดึงดูดลูกค้าที่ได้ผลไม่น้อย "หนังสือเก่า" มีบางอย่างแตกต่างจาก "หนังสือมือสอง" มันไม่ได้เป็นเพียงหนังสือยุคปัจจุบันที่ตกจากแผงแล้ว มันไม่เพียงมีลูกค้าเป็นพวก "นักอ่าน" แต่ยังมี "นักสะสม" เป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญด้วย
ในปี ค.ศ.1949 ประธานเหมาประกาศสถาปนาประเทศจีนใหม่ นโยบายของประเทศจีนใหม่คือปฏิวัติโครงสร้างประเทศในทุกด้าน ในด้านภาษาได้มีคณะกรรมการวิชาการทำการประชุมวิชาการจนได้ข้อสรุปให้ใช้ตัวอักษรแบบ "ตัวย่อ" (เจี๋ยนถี่จื้อ 简体字) เป็นมาตรฐานในสิ่งพิมพ์ยุคใหม่ และได้กำหนดแบบแผนอื่นๆ ในด้านการพิมพ์ของสิ่งพิมพ์ในประเทศจีนที่จะออกต่อมา รูปแบบที่กำหนดชัดเจนหลังการสถาปนาประเทศจีนใหม่นี้เองที่ทำให้สามารถ "แบ่งยุค" หนังสือจีนในประเทศจีนได้ง่าย หนังสือก่อน ค.ศ.1949 ถือเป็น "หนังสือเก่า" ย้อนขึ้นไปมากๆ ก็กลายเป็น "หนังสือโบราณ" หนังสือเก่าที่ตลาดต้องการนั้นมีราคา หนังสือโบราณก็ยิ่งทำราคาได้สูงขึ้นไปอีก คนจีนคิดเช่นนี้ คนเล่นหนังสืออื่นๆ ก็คิดเช่นกัน
สำหรับนักอ่าน หนังสือมือสองหาซื้อได้ในราคาถูกกว่าหนังสือใหม่ บางคนชอบร่องรอยการจดการขีดเส้นเน้นข้อความที่คนอ่านก่อนหน้าทำไว้ บางคนตามเก็บให้เข้าชุดกับหนังสือที่ตนมีอยู่แล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นและเป็นนักอ่าน แต่พวกนักสะสมจะมองหนังสือเก่าแตกต่างออกไป พวกเขาแสวงหาหนังสือด้วยเหตุผลว่าเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก, เป็นหนังสือต้องห้าม, เป็นวัตถุโบราณ, เป็นของสะสม, เป็นสินค้าที่กำลังทำราคาได้ดีในตลาด ฯลฯ
การที่จีนแผ่นดินใหญ่เปิดกว้างให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศได้ง่ายในปัจจุบัน ทำให้คนจำนวนหนึ่งกลายเป็น "นักล่า" หนังสือเก่า และอย่างที่ร่ำลือกันนักช้อปจีนนั้นเป็นพวกมือหนัก โหด และเร็ว ตลาดภายในประเทศของจีนกำลังพุ่งไปข้างหน้าในทุกด้าน ร้านหนังสือเก่านอกประเทศจีนจึงเป็นแหล่งล่าขุมทรัพย์อีกแหล่งของนักท่องเที่ยวจีนจำนวนหนึ่ง เราไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขาซื้อหนังสือไปอ่าน, ซื้อไปสะสม หรือซื้อไปทำกำไร นี่คือลูกค้าหน้าใหม่ๆ ในร้านหนังสือเก่า เป็นลูกค้ากลุ่มที่เตรียมเงินมาเพื่อการนี้อย่างตั้งใจ