ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ต่อเติม และตกแต่งโลกใบนี้ให้น่าอยู่ และดูสวยงามมากขึ้นกว่าที่เป็น แต่ก็มีหลายๆ ครั้ง ที่คนต้นคิดสร้างสรรค์ถูกบดบัง เอาเปรียบ เพียงเพราะคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น เหมือนอย่างเรื่องของ ปุ๊บ
ปุ๊บ เป็นพนักงานประสานงาน ทำงานเกี่ยวกับทางด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็น โปรโมชั่น บทความ หรือหนังสือแปลใหม่ๆ ดังๆ เขาก็มักจะได้อ่านก่อนใคร เพราะบริษัทที่เขาอยู่นั้น มีเครดิตที่ดี ใครๆ ก็อยากที่จะร่วมงานด้วย หนึ่งในเครดิตที่ว่าก็คือ ความลับเป็นความลับเสมอ
ความลับที่กล่าวถึงก็คือ เรื่องของเนื้อหา หรือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะพิมพ์ ไม่เคยเล็ดลอดออกไปสู่ภายนอกสักครั้งเดียว
แต่เมื่อผลประโยชน์อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ทำให้ปุ๊บคิดหาวิธีรวยทางลัด ด้วยการนำเนื้อหางานนิพนธ์ซึ่งได้มาจากลูกค้า มาดัดแปลง และโพสต์ลงโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อหวังชื่อเสียง ที่จะสามารถมีสิ่งดีๆ ในชีวิตตามมา
หลังจากที่ปุ๊บทำไปได้ภายในเวลาไม่นานนักทางลูกค้าที่พบเห็นบทความดังกล่าว ก็ทราบทันทีว่าเป็นของตนเองที่ถูกทางปุ๊บดัดแปลงทำให้เขาตัดสินใจเข้ามาพบกับทางโรงพิมพ์
ลูกค้า : “นี่คุณปุ๊บ ทำไมคุณนำเนื้อหาจากการสร้างสรรค์ของเราที่กำลังจะตีพิมพ์มาดัดแปลงและโพสต์ลงในโซเชียล เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของคุณ คุณทำอย่างนี้ได้อย่างไร”
ปุ๊บ : “เหมือนที่ไหนกัน แค่คล้ายๆ เท่านั้นล่ะ แล้วไอ้ทฤษฏีที่ว่านี้นะ พวกฝรั่งเขาก็มีเขียนไว้เยอะแยะ ผมอ่านแล้วก็นำมาเขียนของผมเองไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือที่คุณจะตีพิมพ์สักนิด”
ลูกค้า : “เมื่อเห็นทางเราก็ทราบทันทีว่าเป็นงานของเราที่ถูกดัดแปลงโดยคุณ คุณไม่มีปัญญาสร้างสรรค์งานเองหรืออย่างไร จึงต้องมาขโมยความคิดของคนอื่น ทางเราจะแจ้งความดำเนินคดีกับคุณอย่างแน่นอน”
ปุ๊บ : “เชิญเลย ผมไม่กลัวอยู่แล้ว”
Q : เอาล่ะครับ จากกรณีที่เกิดขึ้น ปุ๊บ จะมีความผิดหรือไม่ เรามาติดตามกันครับ
A : ตามอุทาหรณ์ที่ลูกค้าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดงานเป็นที่มาของลิขสิทธิ์นั้น จึงเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเป็นงานที่มีรูปร่างปรากฏออกมาแล้วในรูปแบบของวรรณกรรม ซึ่งหมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิดได้รับการคุ้มครอง ดังนั้นงานดังกล่าวจึงถือเป็นลิขสิทธิ์ของลูกค้า
การที่ปุ๊บนำลิขสิทธิ์ของลูกค้ามาดัดแปลง และนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ปุ๊บจึงมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
การขโมยแม้จะไม่ใช่ทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองแต่เป็นการขโมยความคิดสร้างสรรค์ผู้อื่นก็มีความผิดได้เช่นกัน เหมือนกับอุทาหรณ์ของปุ๊บ
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
มาตรา (4) “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
“ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใดๆตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
“วรรณกรรม” หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
มาตรา 15 (5) ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา10 และมาตรา 14 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิ์แต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้
• ทำซ้ำหรือดัดแปลง
• เผยแพร่ตอสาธารณชน
• ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
• ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
• อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
• ทำซ้ำหรือดัดแปลง
• เผยแพร่ต่อสาธารณชน
มาตรา 69 ผู้ใดกระทำละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท