ดุษฎี พนมยงค์
ในวงการดนตรีสากล โดยเฉพาะการขับร้องเพลงคลาสสิกในประเทศไทย ครูดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล คือคนหนึ่งในยุคบุกเบิกที่พยายามพลักดันมานานหลายทศวรรษจากการเป็นครูสอนดนตรี และสอนขับร้อง รวมทั้งก่อตั้งคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู จนได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างจริงจัง เป็นผลให้ท่านได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ.2557 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เป็นรางวัลตอบแทน
“ครูเป็นคนดนตรีมาตลอดชีวิตตอนนี้ก็อายุใกล้ 80 ปีแล้วผ่านเหตุการณ์อะไรมาเยอะ ในเรื่องของดนตรีคนสมัยก่อนมักคิดว่าเป็นเรื่องบันเทิงต้องเต้นกินรำกิน แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ดนตรีมันมีอะไรมากกว่านั้นอย่างเช่นมันเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ การฟังดนตรีจะทำให้สมองหลั่งสารชนิดหนึ่งออกมาเรียกว่าเอ็นโดรฟิน มีผลทำให้เราคิดดี พูดดี ทำดี ฉะนั้นความยิ่งใหญ่ของดนตรีมันมีส่วนที่จะช่วยผลักดันให้คนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้
“สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แล้วฟังเพลงคลาสสิก ผลวิจัยบอกว่าเด็กที่เกิดมาจะมีสุขภาพจิตที่ค่อนข้างดี เดี๋ยวนี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลกถึงขนาดโรงพยาบาลระดับสากลเขาจะมีหลักสูตรสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยจะแนะนำให้ฟังเพลงคลาสสิก เพราะดนตรีคลาสสิก เป็นดนตรีที่มีตรรกะมีเหตุมีผล มีการสร้างแผนงานเป็นระบบระเบียบ มีเนื้อร้องส่วนใหญ่สร้างสรรค์
“หากเปรียบเทียบกับดนตรีสมัยนี้บางทีขาดตรรกะออกแนวที่ว่า “ไปไหนมาสามวาสองศอก” ไม่มีที่มาที่ไป มักมีความรุนแรง เนื้อหาบั่นทอนจิตใจ ดนตรีที่ดีเปรียบเสมือนการสนทนา ทำนองนั้นๆ ต้องมีทั้งประโยคถามและประโยคตอบ ทั่วโลกเขายอมรับกันมานานแล้วว่าดนตรีคลาสสิกมีประโยชน์กับสุขภาพจิตของมนุษย์มาก
“ในอดีตสมัยอยู่ประเทศจีนไปเที่ยวที่สวนพฤกษศาสตร์ แล้วบังเอิญไปได้ยินเขาเปิดเป็นเพลงคลาสสิกในสวน ก็ถามเขาว่าเปิดทำไมคำตอบคือเปิดให้ต้นไม้ฟัง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเลยว่าต้นไม้จะออกดอกออกใบสวยงามมาก ส่วนเรื่องของสัตว์ก็เหมือนกัน อย่างวัวนมถ้าฟังดนตรีคลาสสิกแล้วจะให้นมเยอะขึ้น เรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องของการค้นคว้าวิจัยของโลกตะวันตกที่พิสูจน์แล้วว่าเห็นผลจริง”
แต่การฟังเพลงคลาสสิกอาจไม่เข้าถึงคนไทยส่วนใหญ่ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมที่มาจากตะวันตก โดยเฉพาะการขับร้องประสานเสียงที่มาจากโบสถ์ฝรั่ง เราฟังไม่รู้เรื่องเพราะมันห่างจากวัฒนธรรมไทยต่างจากการฟังเพลงลูกทุ่งแล้วสนุกสนาน ก็เพราะมันอยู่ในรากเหง้าของชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ดนตรีคลาสสิกดูเหมือนฟังยากกว่าดนตรีสมัยใหม่
“ผู้ที่สร้างกระแสทางบริโภคนิยม คือผู้ที่กำหนดทิศทางของตลาด ดนตรีคลาสสิกนั้นขายไม่ดีเพราะผู้ที่สร้างกระแสบอกว่าต้องปีนบันไดฟัง แล้วบอกว่าต่อๆ กันว่าอย่าฟังเลยไม่รู้เรื่องหรอก ครูอยากจะแนะนำว่าการฟังดนตรีคลาสสิกมันไม่ได้ยากขนาดนั้น
“การฟังดนตรีคลาสสิกมีแค่ 3 ขั้นตอนคือ หนึ่งฟังให้ผ่านไปด้วยความเพลิดเพลินหรือผ่อนคลาย สองฟังแบบพิเคราะห์ เช่นเพลงนี้ทำนองเป็นอย่างนี้ เสียงไวโอลิน เสียงกีตาร์เป็นอย่างนี้ สามคือฟังอย่างวิจัยศึกษาลึกซึ้งสำหรับคนทั่วไป ครูอยากแนะนำให้ฟังแค่ถึงขั้นที่หนึ่งเพื่อความเพลิดเพลินทำใจให้ผ่อนคลายก็พอแล้วค่ะ
“คำว่าคลาสสิก คือดนตรีที่มีแบบแผน ดนตรีไทยเดิมคือไทยคลาสสิกนะ บางคนบอกว่าฟังแล้วง่วง แบบนี้ถูกแล้วแสดงว่ากำลังผ่อนคลายเพราะเพลงคลาสสิกตะวันตกก็ฟังแล้วง่วงไม่ต่างกัน ถ้าจะพูดให้ละเอียดคือเหมือนเรารับประทานอาหาร จำเป็นต้องทานให้ครบ 5 หมู่ อาหารนั้นจะต้องมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นคุณทานอาหารไม่ดีมันก็เป็นพิษ ดนตรีก็เหมือนกัน ดนตรีบางประเภทก็ส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ก้าวร้าว อย่างวัยรุ่นมักฟังดนตรีประเภทรุนแรงเขาจึงเกิดแรงผลักดันให้ต้องออกไปก่อปัญหาสังคม”
หลายคนมักสงสัยว่าครูดุษฎีมาเกี่ยวข้องอยู่ในสายดนตรีได้อย่างไร เป็นคำถามสั้นแต่ต้องตอบยาวที่มักมีคนถามอยู่เสมอ เพราะครูมาจากครอบครัวที่อยู่ในแวดวงการเมือง มีลักษณะดูเคร่งครึม และมีปัญหาด้านการเมืองในประเทศอยู่บ่อยครั้งในสมัยนั้น
“ต้องย้อนไปถึงรุ่นทวด ที่บ้านจังหวัดอยุธยามีวงมโหรีลูกหลานก็เล่นดนตรีไทยกัน พอมาถึงรุ่นคุณปู่ก็เล่นหีบเพลงชักลองคิดดูว่าผู้ชายคนหนึ่งเมื่อ 160 ปีก่อนมันเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากมาถึงรุ่นคุณพ่อ (นายปรีดี พนมยงค์) ท่านก็ชอบดนตรีแต่ไม่มีโอกาสได้เล่น เพราะหันชีวิตไปทางด้านการเมืองมากกว่า
“ส่วนด้านครอบครัว คุณแม่ คุณตา คุณยายก็มีดนตรีในหัวใจ ให้ลูกเรียนดนตรีเกือบทุกคน คุณแม่เรียนเปียโนคุณป้าเรียนซอ คุณลุงเรียนไวโอลิน คุณแม่เล่าว่าลูกๆ จะเล่นดนตรีให้คุณตาคุณยายฟังขณะรับประทานอาหาร พอมาถึงรุ่นปัจจุบันคือครูเอง ก็มีพี่น้องแท้ๆ 2 คนที่ยึดอาชีพด้วยการสอนดนตรี ถ้าสายญาติที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง รวมแล้วมี4-5 คนที่ยึดอาชีพด้านดนตรีอย่างจริงจัง
“ในวัยเด็กครูเคยเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ 1 ปี ก่อนจะย้ายมาโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ต้องขอบคุณแม่ชีที่ปลูกฝังการเล่นเปียโนตั้งแต่เด็กแม้จะไม่ชอบก็ตาม ท่านจะบอกว่าดุษฎีเธอเป็นคนที่ขี้เกียจที่สุดเลย แล้วท่านก็เอาไม้ตีนิ้วเพราะไม่ค่อยได้ซ้อม แต่ในภายหลังพอครูกลับมาจากต่างประเทศเปิดแสดงที่ประเทศไทย แล้วเชิญแม่ชีมาชม ท่านบอกว่าเด็กที่ขี้เกียจที่สุดของฉัน เดี๋ยวนี้มีผลงานแล้ว
“ความชอบเรื่องของเสียงเพลงในวัยเด็กมันเกิดจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์มีโบสถ์ เมื่อเราเป็นชาวพุทธก็ไม่ได้เข้าไป แต่ก็แอบฟังเพลงที่พวกเขาร้องก็ชอบมาก คิดว่านั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นที่ชอบร้องเพลงคลาสสิก แม้จะเรียนเปียโนอยู่ด้วยแต่ชอบร้องเพลงมากกว่าอย่างอื่น
“ในด้านครอบครัวเริ่มมีผลกระทบเรื่องการเมือง เพราะคุณพ่อ (นายปรีดี พนมยงค์) ลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน 5 ปีก่อนแล้วส่วนคุณแม่ก็ถูกจับข้อหากบฏถูกจำคุกอยู่ 84 วัน จนอัยการสั่งไม่ฟ้อง พอท่านเป็นอิสระก็คิดว่าประเทศไทยตอนนี้อยู่ไม่ได้แล้ว จึงพาครอบครัวไปประเทศฝรั่งเศสก็ไปสอบเข้าโรงเรียนประจำที่ปารีส คือเรามาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ที่คิดว่าภาษาฝรั่งเศสพอใช้ได้แล้วนะแต่ทำข้อสอบไม่ได้ก็เลยสอบไม่ผ่าน หลังจากนั้น “เราบินจากปารีสไปสตอกโฮล์ม สวีเดน เพื่อติดต่อสถานฑูตจีนที่นั่น เพราะเวลานั้นรัฐบาลไทยต่อต้านรัฐบาลจีน ที่สตอกโฮล์ม เราไม่รู้จักใครแล้วคุณแม่มีความจำเป็นต้องไปสถานฑูตจีนแต่เอาลูกไปด้วยไม่ได้ ใจหนึ่งก็กลัวลูกตกอยู่ในอันตรายจากคนแปลกหน้า ท่านจึงตัดสินใจล็อกกุญแจห้องจากด้านนอกมาคิดทีหลังว่าถ้าไฟไหม้โรงแรม ครูกับน้องสาวก็คงถูกไฟคลอกตาย
“จากสตอกโฮล์มเราบินไป เฮลซิงกิ ฟินแลนด์ จากนั้นไปต่อที่เลนินกราด (ปัจจุบันคือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ก่อนจะไปมอสโก หลังจากนั้นนั่งรถไฟไปปักกิ่งซึ่งมันทรหดมาก ผ่านไซบีเรีย อากาศหนาวติดลบ 30 องศา มองจากหน้าต่างรถไฟ
เห็นหิมะขาวโพลนหนามาก สูงเลยหัวเข่า ชีวิตเด็กอายุ 14ตอนนั้นไม่คิดอะไรมากแค่ดูวิวสวยงาม อาหารก็อร่อยดีคนรัสเซียสมัยนั้นเขาไม่พูดภาษาอังกฤษเราก็เลยต้องใช้ภาษาใบ้แทน แต่คุณแม่ย้ำเลยว่ารถไฟจอดสถานีไหนก็ไม่ให้ลง เพราะถ้าเขาประกาศให้ขึ้นรถไฟแล้วจะขึ้นไม่ทัน จึงต้องนั่งๆ นอนๆ บนรถไฟถึง 8 วัน 8 คืน ไปจนถึงปักกิ่ง”
เมื่อถึงปักกิ่งครูดุษฎีก็ได้ไปอยู่กับคุณพ่อ ซึ่งทางการจีนได้เตรียมที่พักและที่เรียนให้เรียบร้อย ได้ศึกษาในระดับมัธยมต้นอยู่ราว 1 ปีกว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ปักกิ่งหนาวมากจึงย้ายไปอยู่กวางโจวในเขตอากาศที่อุ่นกว่า เพื่อเรียนต่อและมาจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายที่นั่น
“ชีวิตมาเริ่มหักเหเข้าหาดนตรีจากการที่พี่สาว(สุดา พนมยงค์) ซึ่งอยู่ที่ฝรั่งเศสเรียนจบวิชาเปียโน เธอได้เดินทางมาเยี่ยมคุณพ่อ พอดีกับเวลาที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำรัฐประหาร แล้วพี่สาวมีรายชื่อบัญชีดำห้ามเข้าประเทศไทยคุณพ่อก็เลยบอกว่าให้พี่สาวไปเรียนดนตรีที่ปักกิ่ง แต่พี่สาวไม่รู้ภาษาจีนเลยสักคำเดียว ตัวครูก็เลยเสนอตัวไปเป็นล่ามให้
“ชีวิตก็เลยต้องกลับไปปักกิ่งอีกครั้ง ระหว่างนี้ก็ไปเรียนดนตรีกับพี่สาวด้วยกัน เดิมทีครูอยากเรียนแพทย์ คือเป็นคนเรียนหนังสือค่อนข้างดีทุกคนก็เชียร์ให้เรียนแพทย์แต่สายเลือดนักดนตรีกระตุ้นให้อยากเรียนดนตรี เรียนที่สถาบันดนตรีกลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นสถาบันดนตรีชั้นนำของโลกเรียน 6 ปี จนจบ ป.โท วิชาดนตรี เอกขับร้อง โทเปียโน
“จากนั้นก็กลับไปฝรั่งเศสอีกครั้ง ไปทำงานเป็นครูสอนเปียโนอยู่ที่สถาบันดนตรีของรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อมีความคิดว่าจะกลับประเทศไทย แต่ใบปริญญาที่ได้จากประเทศจีนใช้ในเมืองไทยไม่ได้ เพราะรัฐบาลไทยกับจีนขณะนั้นยังเป็นศัตรูต่อกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยข้ามไปเรียนขับร้องที่ประเทศอังกฤษอยู่ 1 ปีการศึกษา จนได้ใบเบิกทางเพื่อกลับมาอยู่ประเทศไทย”
เมื่อกลับมาเมืองไทยครูดุษฎีก็ได้ทำงานที่สถานฑูตฝรั่งเศส เพราะสมัยนั้นเรื่องของดนตรีเป็นสิ่งที่ไกลตัวคนไทยมาก นอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว มหาวิทยาลัยอื่นยังไม่เปิดสอนด้านดนตรี อีกทั้งยังไม่มีเวทีการประกวดเหมือนสมัยนี้ และเมื่อมีเวลาว่างจากงานประจำท่านจึงรับสอนเปียโนให้กับเด็กๆ ไปในตัว
“วันหนึ่งคณะกรรมการเยาวชนแห่งชาติตั้งคณะนักร้องประสานเสียงขึ้นมา เปิดรับสมัครทั่วประเทศแล้วสอบคัดเลือกคนเหลือเพียง 50 คน บังเอิญคนที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1 - 3 ล้วนเป็นลูกศิษย์ครูดุษฎีทั้งนั้น กรรมการจึงตามหาตัวแล้วเชิญครูมาปรึกษา ก็ทำให้คนเริ่มรู้จักว่ามีครูคนนี้อยู่ในเมืองไทย
“จนมาถึงยุคที่สยามกลการจัดการประกวดร้องเพลง ในปีที่เบิร์ด (ธงชัย แมคอินไตย์) ลงแข่ง แต่คนที่ชนะเลิศคือ สิทธิโชค แย้มดี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครู หลังจากรายการนั้นคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ก็ให้ครูช่วยดูแลนักร้องที่เข้ารอบในการประกวดถึง 20 กว่าปี จนมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประกวด KPN ซึ่งเป็นระบบโหวตนักร้องโดยประชาชนจากที่แต่ก่อนกรรมการเป็นคนให้คะแนน
“จุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้จึงทำให้ครูมีลูกศิษย์เยอะมากมีตั้งแต่เด็กอายุ 6 ขวบถึง 86 ปี ที่เป็นแบบนี้เพราะครูสอนแบบเป็นกัลยานิมิตรกับเด็ก สร้างความคุ้นเคยด้วยความจริงใจเราต้องไม่หวังผลตอบแทนทางธุรกิจ เมื่อเราไม่ได้หวังผลทางธุรกิจเด็กจะมีคุณภาพมากกว่า เพราะฉะนั้นตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะได้ดี ก็มีส่วนน้อยเท่านั้นที่เขาไม่สนใจ
“โดยปกติครูจะเป็นคนค่อนข้างเข้มงวด สำหรับลูกศิษย์ในมหาวิทยาลัยลงเรียนเป็นหน่วยกิต ถ้าน.ศ. ไม่มีผลงานตามหลักสูตรที่กำหนด ครูก็จำเป็นต้องกวดขันเป็นธรรมดา มีลูกศิษย์ถูกครูดุร้องไห้กันไปหลายคน
“คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อค่ะ ไม่ใช่ว่าลูกศิษย์ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์จะชอบครูนะ ก็มีบ้างที่ไม่เข้าใจกันบาดหมางกัน หรือบางคนก็ ‘มโนภาพ’ เอาเองว่า ครูจะคิดอย่างนั้นอย่างนี้ จนต้องลาจากกันไป ซึ่งมีส่วนน้อยมากค่ะ”
ความจริงแล้วครูดุษฎีมีลูกในวงการดนตรี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือลูกกลุ่มที่เรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักศึกษาทั่วไป กลุ่มที่สองคือลูกสวนพลูคอรัส ซึ่งทำงานหนักด้านดนตรีรับรางวัลจากต่างประเทศมากมาย ลูกกลุ่มสุดท้ายคือโครงการลมหายใจดนตรีชีวิต เป็นโครงการที่ใช้ดนตรีในการพัฒนาชีวิตการทำสมาธิโดยใช้ดนตรีมีการเดินสายทั่วประเทศ มีสมาชิกผ่านโครงการนี้เกือบสองหมื่นคนแล้ว
“ลูกในแต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกัน ลูกกลุ่มมหาวิทยาลัยเรียนตามหลักสูตรที่วางไว้ ขยัน ตั้งใจ เป็นใช้ได้ ในส่วนของลูกวงสวนพลูเราจะห่วงคุณภาพของงาน เรื่องสุขภาพ และเรื่องการหาทุนมากกว่า จุดเด่นของเราคือ ร้องเพลงไทย
แต่ใช้วิธีการเปล่งเสียงแบบสากล (คลาสสิก) จึงสามารถไปแข่งในระดับโลกได้ แม้แต่เพลงง่ายๆ อย่างรำวง หรือลอยกระทง เราก็ร้องได้ไพเราะและมีความเป็นสากล
“ส่วนกลุ่มที่ 3 โครงการลมหายใจ...ดนตรี...ชีวิต ครูห่วงว่าถ้าวันหนึ่งครูไม่อยู่แล้ว เกรงว่าลูกศิษย์กลุ่มนี้จะทอดทิ้งวิชานี้ไปครูได้ให้มรดกวิชานี้ไปแล้ว ก็หวังว่าเขาจะได้พัฒนาวิชานี้ และทำได้ดีกว่าครู ขออย่างเดียวอย่าให้โครงการนี้สูญสิ้น
ไปจากแผ่นดินไทย เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์จริงๆ
“สุดท้ายนี้อยากบอกว่า อย่าเพิ่งปฏิเสธความหลากหลายของดนตรี ให้ลองมาฟังเพลงคลาสสิกดูบ้างอาจทำให้จิตใจสงบมีสมาธิมากขึ้น ส่วนในด้านศิลปะ ความเป็นดนตรีนั้นไม่มีวันตาย ถึงแม้ว่าเราจะตายไปแล้วก็ตามแต่มันยังคงอยู่ครูถึงพยายามทิ้งมรดกทางดนตรีไว้ให้คนรุ่นหลังสืบต่อไป”