สุนันทพัฒน์ เฉลิมพันธ์
หากเอ่ยถึงชื่อสถานที่เหล่านี้หลายคนอาจเคยผ่านหูผ่านตามาแล้ว เช่น โรงแรม 5 ดาวAsara Villa & Suite หัวหิน, รีสอร์ทสุดหรู Sheraton พัทยา, คอนโด Astro บนถนนแจ้งวัฒนะ, คฤหาสน์ของคนมีระดับอย่าง Grand Crystal หรือ The Crystal ซึ่งเป็น Shopping Mall ติดเลียบทางด่วนเอกมัย - รามอินทรา
โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับ Hi - End ราคาแพงเหล่านี้ ล้วนผ่านการออกแบบจากบริษัทสถาปนิกเคทีจีวาย แอสโซซิเอทส์ จำกัด โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานบริษัทคือ คุณแพท สุนันทพัฒน์ เฉลิมพันธ์ ที่สร้างสรรค์ผลงานออกแบบคุณภาพระดับสากลให้เราได้ชมกัน
ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศเท่านั้น เพราะบริษัท เคทีจีวาย ออกไปกวาดรางวัลเป็นหลักฐานมากมาย ติดอยู่บนผนังของออฟฟิศ แสดงให้เห็นว่า การทำงานด้านการออกแบบของคนไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างประเทศเลยสักนิด
“ความจริงผมเป็นคนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องของรางวัลมากนัก ซึ่งรางวัลที่ได้ก็มาจากประเทศสหรัฐอเมริกาล้วนๆ เราไม่ได้ต้องการมาประกวดหรือมาโชว์ว่าเราเก่ง แต่มันเป็นเหมือนตัวการันตีว่าคนไทยก็มีฝีมือ นี่ถึงเป็นสาเหตุที่เราจะเอางานส่วนใหญ่ไปแข่งขันในต่างประเทศ เพื่อแสดงว่าคนไทยก็มีมาตรฐานเหมือนกัน”
ในด้านชีวิตส่วนตัว คุณแพทเป็นคนจังหวัดเพชรบุรีโดยกำเนิด โดยมีคุณพ่อทำงานเป็นสถาปนิก เมื่อท่านได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทใหญ่จนต่างชาติยอมรับทำให้ฐานะดีขึ้นตามลำดับ ก็เล็งเห็นโอกาสทางการศึกษาที่จะทำให้ครอบครัวพัฒนาขึ้น จึงเก็บเงินส่งลูกชาย คือคุณแพทและพี่ชาย (ฐนิตพงศ์) ไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
“เมื่อไปถึงอเมริกาผมกับพี่ชายก็เข้าเรียนด้านสถาปัตย์ เพราะมีคุณพ่อเป็นแรงบัลดาลใจ และผมคิดว่าเรื่องราวของสถาปัตย์ มันเป็นส่วนผสมระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ แล้วผมโชคดีที่ได้มีโอกาสไปอยู่ในพื้นที่ของเมืองที่กำลังได้รับการพัฒนา มีโอกาสได้ไปใกล้ชิดในการวางผังเมือง สร้างที่อยู่อาศัยและสถานที่ต่างๆ ผมได้เห็นมาตลอด 12 ปี ผมก็เลยคิดไว้ว่าวันหนึ่งจะกลับมาพัฒนาพื้นที่ของเราบ้าง
“พอเรียนจบออกมาก็ทำงานที่นั่นอยู่พักหนึ่ง จนเราคิดว่าอยู่ในจุดที่สามารถสร้างบริษัทของตัวเองได้แล้ว แต่ยังลังเลว่าจะเปิดบริษัทที่อเมริกาหรือกลับมาประเทศไทยดี สุดท้ายแล้วก็ตัดสินใจกลับมาเมืองไทย เพราะคิดว่าเราน่าจะนำความรู้ความสามารถกลับมาใช้ได้มากกว่าจึงร่วมกันก่อตั้งบริษัทเคทีจีวายขึ้นมา บริษัทนี้โตได้ก็เพราะมีคุณพ่อ พี่ชาย และพาร์ทเนอร์คนอื่นมาร่วมกันสร้างมากว่า 20 ปี”
กว่าจะมาถึงจุดนี้ คุณแพทเล่าว่าผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เพราะในช่วงเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด เนื่องจากการเป็นมือใหม่ในวงการสถาปัตย์ จนมาถึงปี พ.ศ.2534 ตลาดด้านอสังหาริมทรัพย์กำลังเริ่มโอเวอร์ซัพพลาย ก็เป็นโอกาสให้มีงานทำมากมาย แต่สุดท้ายแล้วก็มาเจอกับวิกฤตทางเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 ที่ถือว่าลำบากมากที่สุด
“เนื่องจากบริษัทเรามีพนักงานเยอะจึงต้องลดบางอย่างเพื่อความอยู่รอด ถ้าเป็นเมืองนอก หัวหน้าก็จะแจกซองขาวปลดพนักงานทางใครทางมัน แต่คนไทยมันผูกพันจึงยากที่จะปลดพนักงานออกแบบง่ายๆ เราก็เลยมานั่งคุยนั่งปรึกษากัน ตอนนั้นมีพนักอยู่ 100 กว่าคน ก็ใช้วิธีลดเงินเดือนคนละครึ่ง แล้วก็มีข้าวเลี้ยงทุกมื้อกลางวัน ช่วยกันประหยัดในทุกด้าน
“เมื่อเศรษฐกิจพังลูกค้าก็งดจ่ายเงิน มันจึงทำให้ทุกอย่างกระทบกันไปหมด เราได้เรียนรู้กับปัญหาต่อไป เมื่อก่อนเรามีความเป็นศิลปินสูงมาก คืออยากจะลุย อยากจะทำทั้งหมดพอตอนหลังก็ต้องมาคิดวิเคราะห์ว่าทำยังไงให้อยู่รอดวิธีหนึ่งคือต้องไปเปิดตลาดให้มันกว้างขึ้น
“เราเลยใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส คือให้ทุกคนแยกย้ายกันออกไปเขียนจดหมาย เคาะประตู ติดต่องานต่างประเทศ หลังจากนั้นเราก็ได้ทำงานกับต่างประเทศมากกว่าในประเทศด้วยซ้ำไป จากจุดนั้นมาจึงเป็นสิ่งถ่วงดุลกันได้ เวลาต่างประเทศ
มีงานในเมืองไทยไม่มีงาน หรือช่วงที่เมืองไทยมีงานบ้างต่างประเทศก็ยังพอมีงานเหมือนกัน”
“หลังจากเริ่มผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ก็ต้องมาต่อสู้กับการทำงานโดยเฉพาะฝรั่งที่เป็นคู่แข่งสำคัญ ในยุคก่อนปี ค.ศ.2000 คนเอเชียมักนิยมฝรั่งผมทอง เพราะคิดว่าเขาเก่งกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เขาอาจจะมีโอกาสได้ทำอะไรมากกว่าแต่เขาไม่ได้เก่งเหนือเรา ยิ่งในสายงานด้านสถาปัตย์ผมคิดว่าตัวเองก็ไม่ได้เป็นรอง
“เราก็ใช้จุดเด่นตรงนี้ไปเสนองานที่มาเลเซียและจีนเพื่อไปบอกว่าเราสามารถทำงานได้ไม่ต่างจากฝรั่ง แต่เราเป็นเอเชียเหมือนกัน แถมเข้าใจวัฒนธรรมของเขามากกว่า เรามีความรู้เทคนิคแบบยุโรป แต่สามารถให้คุณได้มากกว่าฝรั่ง โดยมีค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยากว่า จากค่าตัวและค่าเดินทางสุดท้ายเมื่อเราทำผลงานออกมาดี มันกลายเป็นปากต่อปากในการทำงานชิ้นต่อไป”
คุณแพทให้ความเห็นว่า ความยากของการออกไปทำงานต่างประเทศ คือต้องใช้เวลาที่จะไปเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละประเทศ แต่ด้วยความเป็นคนไทยจะได้เปรียบตรงอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส จริงใจ จึงได้เปรียบที่จะเข้าไปใช้ชีวิต สัมผัสการใช้ชีวิตของลูกค้าต่างชาติได้จริง เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการมอบงานสำคัญ
“ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาปนิกที่เก่งเยอะครับ แล้วมีโอกาสไปทำงานที่ต่างประเทศมากมาย ตรงนี้เองเมื่อ AEC (Asean Economics Community) เปิดจะเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ แต่การจะไปให้ไกลได้ ผมมองว่าภาษาเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราก้าวข้ามพรมแดนไปคุยกับเขาได้ ถ้าเราไม่รู้ภาษาเราก็ขาดโอกาส ภาษาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ภาษาอังกฤษ แต่อาจจะเป็นภาษาจีน พม่า เวียดนาม
“เราเข้าไปทำงานในฐานะคนเอเชียที่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเขายังขาดคน เราก็ต้องเข้าไปช่วยเขา ในฐานะทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ในฐานะคนออกแบบหรือคนเขียนแบบ ว่าฉันเก่งกว่าเธอ เธอด้อยกว่าเราแบบนั้นไม่ใช่ เราต้องไม่มีอีโก้แต่จะมาให้ความรู้และประสบการณ์ท้องถิ่นกับประเทศนั้นๆ ในขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของท้องถิ่นประเทศเขากลับมาด้วย
“แต่ส่วนใหญ่คนไทยมักเชื่อถือฝรั่งมากกว่าจึงไม่ค่อยให้เกียรติคนไทยหรือคนเอเชียด้วยกัน เวลาที่มีการจ้างฝรั่งมาออกแบบอาคาร ถ้าคนไม่เข้าใจเขาก็คิดว่าคนไทยไม่เก่ง แต่ความจริงมันคือเรื่องของโอกาส เรามักจะให้โอกาสคนอื่น แล้วเรามาเรียนรู้ทีหลัง บางบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นของฝรั่งความจริงก็มีพนักงานคนไทยอยู่เยอะแยะ แต่ทั้งนี้บริษัทของคนไทยจริงๆ เราก็ต้องทำตัวเองให้มีมาตรฐานอย่าให้ใครมาดูถูกเราได้”
คุณแพทยอมรับว่างานด้านสถาปนิกเป็นงานที่เหนื่อยมาก เมื่อมองดูคนที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ก็ยังมีน้อย เมื่อเทียบกับการทำอาชีพอื่น ที่เป็นแบบนี้เพราะส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนบริษัทคือเรื่องของการจัดการด้านการเงิน บางครั้งผู้บริหารที่เก่งเรื่องการทำงานด้านสถาปนิกเพียงอย่างเดียวอาจช่วยอะไรไม่ได้มากนัก
“บริษัทสถาปนิกบางที่ในอเมริกาเขาจะจ้างบริษัทด้าน Business ต่างหากให้คอยดูแลเรื่องการเงินและการบริหารจัดการภายในออฟฟิศ เพื่อให้ได้ผลกำไรที่มากที่สุด ส่วนบ้านเราต้องพูดกันกันแบบตรงๆ ว่า อาชีพสถาปนิกไม่ใช่อาชีพที่ทำให้คุณรวยได้ แต่สามารถใช้ชีวิตให้อยู่ดีกินดีได้ สิ่งที่ได้มาคือเรื่องของความสุขในการออกแบบพรีเซ็นต์ และประสบการณ์จากการทำแต่ละโครงการ
“บริษัทเคทีจีวายจึงต้องคิดว่าเราจะบริการงานอย่างไรให้คนอยากมาทำงาน จึงต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกว่ามีความสุข ไม่ใช่ทำไปวันๆ เช่น งานดีไซน์ทั่วไปหลายคนชอบทำงาน 11 โมงถึงเที่ยงคืน แต่บริษัทของเรานั้น ผู้บริหารมาทำงานตั้งแต่ 6 – 7 โมงเช้า แล้ว 5 โมงเย็นทุกคนก็กลับบ้าน
“ทำงานแบบตั้งใจทำไปเลยทีเดียว วันละ 8 ชั่วโมง พอเย็นทุกคนจะได้กลับบ้าน แต่ผมจะไม่บังคับให้ใครอยู่ตอนเย็น เพราะผมรู้และได้เจอกับตัวเองว่าคนเราต้องมีสังคมมีเพื่อนฝูง ดูแลครอบครัว ผมโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนรู้ได้เดินทาง ได้พบเจอผู้คนมาหมดแล้ว เลยอยากให้ลูกน้องมีโอกาสนี้บ้าง เพราะผมว่าชีวิตมันมีมากกว่านั้น”
ส่วนในเรื่องของการทำงานแต่ละชิ้นในด้านสถาปัตย์ให้ออกมาอย่างที่ใจต้องการนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เพราะต้องผ่านแนวคิด การกลั่นกรอง วิธีการ ความเปลี่ยนแปลง ผ่านการประสานงานจากคนหลายกลุ่มหลายฝ่าย จุดสำคัญเลยคือจะมีเรื่องของงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ
“บางครั้งมันก็ยากที่เราจะเลี่ยงปัญหา เพราะมันมีเยอะ บางงานเรียกว่าอยากจะล้มเลิกกลางคันก็มี เช่นบริษัทที่ให้เราเข้าไปทำงานพยายามสร้างพาวเวอร์ภายในกลุ่ม เวลาประชุมก็เถียงกันเอง สุดท้ายเหมือนเราเป็นคนกลางที่ต้องมารับผิดชอบ บางทีเราก็ต้องพูดตรงๆ แต่ใช้คำพูดสุภาพต่อกัน ว่าเอาแบบนั้นแบบนี้ดีกว่าไหมครับ การที่คุณมาแก่งแย่งกันเพื่อเอาใจเจ้านายคุณ แต่กลายเป็นว่าผมเดือดร้อนไปด้วย ก็ขอให้กลับมาทำงานกันเถอะครับ
“หมดจากปัญหาเรื่องของคน ก็อาจมีปัญหาเรื่องเทคนิคการทำงานบ้างเรื่องความล่าช้าแต่ตอนนี้เทคโนโลยีช่วยได้เยอะ เพราะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์กันมากขึ้น ขณะที่เมื่อก่อนเราต้องเขียนแบบด้วยมือ แต่ปัจจุบันมันสามารถทำให้เราเห็นภาพได้หมด สามารถสร้างความแตกต่าง และพัฒนาไปในรูปลักษณ์ สถาปัตยกรรมที่มันแปลกๆ ได้เยอะขึ้น
“กว่าจะมาถึงวันนี้ผมอยากจะบอกกับรุ่นน้องทุกคนว่าควรหาโอกาสให้ตัวเองเยอะๆไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การเรียนรู้ในการพบปะผู้คนการศึกษาในกลุ่มเป้าหมายในหลายระดับ เรียกว่าการสัมผัสเขาและสัมผัสเรา สุดท้ายแล้วการจ้างสถาปนิกคือเขาต้องการคนที่รู้ใจเขา ถ้าเราไม่รู้ใจเขาเราก็จะไม่สามารถออกแบบให้เขาได้
“ในตอนเรียนอาจารย์อาจจะสอนให้เรามโนภาพ แต่ในชีวิตจริงเราต้องรอบรู้ในหลายๆ ด้าน ต้องเป็นนักการตลาดนักการทูต นักการเมือง เป็นทุกอย่าง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถึงคุณเป็นนักดีไซน์ที่เก่งที่สุดในโลก แต่ถ้าคุณพรีเซนต์งานไม่เป็น คุณพูดให้เขาเข้าใจไม่ได้ก็สอบตกเราต้องพูดในสิ่งที่เขาอยากได้ยิน ไม่ใช่พูดในสิ่งที่เราอยากได้ยิน”
จากวันที่เริ่มต้นจนถึงวันนี้กว่า 20 ปี ที่บริษัทเคทีจีวายโดยมีหนึ่งในผู้บริหารอย่างคุณแพท ได้ฝากผลงานระดับแนวหน้าไว้ทั้งในและต่างประเทศมากมาย ที่สำคัญก็ได้ถ่ายทอดเทคนิค และประสบการณ์ด้านงานออกแบบให้กับคนรุ่นใหม่ได้นำไปพัฒนาต่อยอดขึ้นไป
“ผมเริ่มอายุมากแล้ว จึงอยากจะสร้างบุคลากรที่เป็นทีมมืออาชีพขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ต่อ คนที่มีความสามารถด้านต่างๆ เราก็ควรมาร่วมกันทำงานน่าจะดีกว่า ซึ่งลูกค้าผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้ต้องการสถาปนิกที่ทำงานคนเดียว เพราะการทำงานใหญ่ๆ มันทำแบบนั้นไม่ได้ แต่พอเรามาอยู่ร่วมกันมันทำให้เรามีโอกาส ทำให้เราสามารถเรียนรู้ หาประสบการณ์ได้มากกว่า
“ตอนนี้อยากจะหาสถานที่เพื่อใช้ชีวิตแบบเอ็นจอย อยากจะหารีสอร์ทเล็กๆ ส่วนตัวเพื่อพาลูกค้ามานั่งคุย กลางวันก็ทำนั่นนี่กันไปเรื่อยเปื่อย พอตกเย็นก็เอาไว้มานั่งคุยกับลูกค้า อันนี้คือสิ่งที่คิดไว้ในยามบั้นปลายชีวิต อยากจะปล่อยวาง เมื่อเราโตขึ้นเราอยากผ่อนคลาย ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายขึ้น
“แต่สิ่งที่ผมอยากทำอีกอย่างหนึ่งคือการเข้าไปถวายงานโครงการของในหลวง อย่างมูลนิธิชัยพัฒนา คืออยากใช้ชีวิตที่เรารีไทร์แล้วไปช่วยเหลือประเทศมากกว่า เพราะในสมาคมสถาปนิกที่ผมอยู่มีคนช่วยเยอะแล้ว โดยที่การถวายงานอาจเป็นด้านอื่นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นด้านสถาปัตยกรรม
“แรงบันดาลใจอยากทำมาจากในสมัยเด็กๆ ตอนเวลาสองทุ่มผมจะต้องดูข่าวในพระราชสำนักเสมอ ผมจะเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกวัน ตลอดเวลาท่านทำอะไรหลายอย่าง ท่านสอนให้เราพยายามพัฒนาตัวเอง โดยการที่พยายามมองหาโอกาส เราก็เห็นแล้วเราก็รักและผูกพันกับสิ่งที่ท่านได้ทำ เมื่อเราเห็นแบบอย่างแล้ว เราก็ต้องช่วยกันพัฒนาเพื่อให้ชาติของเราเจริญต่อไป”
Did you know?
• คุณแพท จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก California Polytechnic มลรัฐแคลิฟอร์เนีย
• งานที่เริ่มสร้างชื่อช่วงแรกๆ คือการทำงานร่วมกับกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ การออกแบบบ้านราคา 10 ล้านขึ้นไป
• ปัจจุบันคุณแพทเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์