เมืองตรัง

เมืองตรัง

ในเมืองเก่าแก่ใกล้ทะเลอันดามัน หลายอย่างตกทอดอยู่ตามถนนเล็กๆ ที่ขีดแบ่งและจัดแจงให้การก่อเกิดนั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความงดงามไม่เว้นแม้แต่อาหารการกินที่ฉายชัดสะท้อนความเป็นคนเมืองไกลแห่งนั้น

อาหารที่สะท้อนภาพธรรมดาอันแสนเก่าแก่ของ “เมืองตรัง” ที่ซึ่งวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลได้ปักหลักเคียงคู่ผืนแผ่นดินอันดามันและนานาความเป็นอยู่ดั้งเดิม ก่อเกิดเป็นเสน่ห์ที่ใครสักคนเฝ้าเพียรทำความรู้จัก ผ่านรสชาติและแรงดาลดลใจ

โลกยามเช้าของการกินเมืองตรังตกทอดอยู่ในร้านกาแฟ ตามเหลี่ยมมุมของตึกเก่าชิโน - โปรตุกีส ไล่เลยไปถึงห้องแถวไม้คลาสสิก ที่ด้านฉายในภาพ แสงนวลลอดไล้เข้ามาในห้องแถวทึมๆ บนโต๊ะเก้าอี้เช็กโกมันวาวบ่งบอกอายุการใช้งานเต็มไปด้วยสัพเพเหระและสารทุกข์สุกดิบของคืนวัน

ร้านกาแฟในเมืองตรังอาจเล่าส่วนเสี้ยวหนึ่งในความเป็นอยู่ของคนที่นี่ตั้งแต่หัวรุ่ง บนโต๊ะตัวเก่าเรียงรายด้วยโกปี๊และ “แซ้ล้อง” หรือน้ำชา ซึ่งหากเป็นคนตรังดั้งเดิม พวกเขานิยมชาจากศรีลังกาที่มาถึงเมืองท่าริมอันดามันแห่งนี้ผ่านการค้าขายทางทะเลมาจากโบราณ

แซ้ล้องมาจากซีลอน ตามคำเรียกขานศรีลังกาของชาวจีนในตรังครั้งเก่าก่อน หากลึกลงไปในเครื่องดื่มร้อนเย็นที่หล่อหลอมคนที่นี่ตั้งแต่หัวรุ่งมันเต็มไปด้วยภาพชีวิตที่สะท้อนอยู่ต่อหน้าแก้วกาแฟ ร้านโกปี๊ผูกพันกับชีวิตคนตรังมาแทบทุกรุ่น กระจายกันเป็นที่พบปะ พูดคุยการงาน ติดต่อตกลงการค้าขาย เป็นแม้กระทั่งที่พึ่งพิงในยามเช้าหลังพ้านผ่านการกรำงานในสวนยางมาตลอดคืน

พูดให้ลึกลงไป วงพูดคุยในร้านโกปี๊ของคนตรังนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวฉายชัดชีวิต

คำเรียกขานชนิดกาแฟ หรือโกปี๊ก็เช่นกัน คนตรังมันบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ อย่าง “โกปี๊อ้อ” กาแฟดำร้อนใส่น้ำตาล แต่ถ้าใครสั่ง “โกปี๊ช้ำ” นั้นยิ่งบอกว่าเป็นคนตรัง เมนูพิเศษของพวกเขาคือการชงกาแฟร้อนผสมชาซีลอน และคำว่าช้ำนั้น คนตรังเข้าใจกันเสมอว่ามันหมายถึงผสม

ในร้านกาแฟดั้งเดิมอย่างร้านเขาช่อง ร้านยู่เชียง หรือตามซอกมุมต่าง  ของเมืองตรังดำเนินเคียงข้างไปกับร้านความเปลี่ยนแปลง บางร้านคงทนเคียงคู่การก่อกำเนิด  ยืนหยัดในบรรยากาศและสัมพันธภาพเดิมๆ ขณะที่ลูกหลานรุ่นใหม่ๆ ก็เก็บเกี่ยวนำพาร้านกาแฟของคนรุ่นอากงอาป๊า ให้มาอยู่ในบรรยากาศเก่าๆ แต่คล้ายสวมหัวใจดวงใหม่อย่างร้านสินโอชา ที่โดดเด่นด้วยการตกแต่งแบบจีนร่วมสมัย ทว่าเสิร์ฟทั้งกาแฟโบราณและกาแฟจากเอสเพรสโซแมชชีน

หากว่ายามเช้าของพวกเขาไม่ได้หมายถึงเฉพาะกาแฟวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลตกทอดอยู่ใน “ติ่มซำ” อันเลื่องลือถึงความหลากหลายและความอร่อยอันสั่งสม

จากการเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายทางแหลมมลายูผ่านทะเลอันดามันที่อำเภอกันตัง ตราบจนก่อร่างสร้างเมืองที่ทับเที่ยง หรือตัวเมืองตรังปัจจุบัน กว่า 200 ปีที่พื้นแผ่นดินได้เป็นที่ทางให้พี่น้องชาวจีนที่อพยพมาทำกินตั้งถิ่นฐาน พวกเขาพกพาทั้งรูปแบบชีวิตความเป็นอยู่ ความคิดความเชื่อ ตลอดจนศิลปะวิยาการต่างๆ นานาข้ามผ่านโพ้นทะเลมาอย่างยาวนาน

ติ่มซำเป็นมื้อเช้าสไตล์กวางตุ้งอันน่าตื่นตา คล้ายส่วนผสมอันผสานปนเข้ากับมื้อเช้าในหลากหลายร้านอย่างกลมกลืน ทั้งร้านโกปี๊ ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือแม้กระทั่งกลายเป็นจานหลักกระจัดกระจายกันตามห้องแถวทั้งเก่าใหม่

ที่ร้านจีบขาว หลังโบสถ์คริสตจักรตรังเนืองแน่นและเต็มไปด้วยภาพที่คล้ายคลึงกันเช่นเดิม จานสังกะสีใบเล็กๆ เรียงรายอยู่ด้วยติ่มซำนานาชนิด โดยเฉพาะจีบขาวหรือฮะเก๋า ที่ด้านในแผ่นแป้งบางนุ่มนั่นคือส่วนผสมอันลงตัวทั้งหมู กุ้ง มันแกว คนตรังที่นี่ไม่เรียกฮะเก๋า แต่เรียกจีบขาว จีบเหลือง

และติ่มซำตรังไม่เคยขาด “ค้อมเจือง” ซึ่งไม่ใช่น้ำส้มแบบคนใต้ทั่วไป หรือจิ๊กโฉ่วแบบคนกรุงเทพฯ ทว่าค้อมเจืองหรือน้ำส้มเจือง เป็นเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาเป็นร้อยปีคนตรังน่าจะพยายามเลียนแบบซอสมะเขือเทศของฝรั่ง ส่วนผสมของมันมาจากมันเทศ ถั่วลิสงต้มสุก ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำส้ม และเกลือ

บางจานคือปาท่องโก๋ ซึ่งอาจไม่ใช่ที่ใครจะเคยชิน หากคือแป้งนึ่งนุ่มๆ สีขาว รสละมุน ที่จิ้มกับค้อมเจืองแล้วได้รสอร่อยแปลกใหม่ 

จะว่าไปร้านติ่มซำของคนตรังก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย ร้านติ่มซำอีกหลายแห่งก็ปรับปรุงเลือกรับชนิดติ่มซำทั้งแบบฮ่องกง หรือเพิ่มความหลากหลายด้วยหมี่สั่ว กระดูกหมู โจ๊ก ซึ่งมันตรงกับคำกวางตุ้งดั้งเดิม ที่ “ติ่ม” แปลว่าแต้ม ส่วน “ซำ” แปลว่าใจ แปลกันตรงๆ ก็คือการกินย้อมใจ เป็นคำเล็กคำน้อยก่อนอาหารหลัก

จากริมฝั่งอันเคยเรืองโรจน์ด้วยการค้าทางทะเลและเป็นเมืองเก่าที่อำเภอกันตัง พี่น้องชาวจีนได้พกพาความหวังในการอยู่กินมาพร้อมกับการนำหมูสายพันธุ์เล็กจากไหหลำติดเรือสำเภามาด้วย

คนตรังเรียกหมูตัวเล็กเหล่านี้ว่าหมูขี้พร้า เปรียบกันว่าตัวเล็กเท่าลูกขี้พร้า หรือฟักเขียว และด้วยการเลี้ยงอย่างเอาใจใส่ ทั้งอาหารและที่หลับนอน เนื้อหมูสายพันธุ์นี้จึงเต็มไปด้วยเนื้อแดง มันน้อย เมื่อย่างแล้วหนังสีใส กรอบ

หมูย่างเมืองตรังมีที่มาจากหมูตัวเล็กๆ สายพันธุ์หนึ่ง รวมไปถึงเคล็ดลับเก่าแก่ในการปรุงที่ข้ามโพ้นทะเลมาสู่ที่นี่แต่ครั้งบรรพบุรุษ ตกทอดอยู่ในเครื่องเทศ ยาจีน และการส่งต่อหมูย่างที่ปะปนอยู่ในวิถีวัฒนธรรมของคนที่นี่ ทั้งงานบุญ
งานมงคล หรืองานศพ ที่อาจวัดฐานะและความใหญ่โตของเครือญาติได้จากปริมาณหมูย่าง หรือหมี่หน่ำเหลี่ยว อาหารโบราณอีกชนิดที่เคียงข้างคนตรัง

อาหารโบราณของคนตรังเต็มไปด้วยความพิถีพิถันในวัตถุดิบ คติความเชื่อ และเคล็ดลับอันตกทอด ที่อำเภอห้วยยอด ร้านโบราณอย่างร้านจีนดำเต็มไปด้วยภาพโบราณภายใต้ตึกเก่าแสนงดงาม 

เคาหยุก หมูสามชั้นอบเผือก เคี่ยวมาในน้ำที่ผสมเต้าหู้ยี้และค้อมเจืองเข้มข้น ที่มักปรุงกันในงานแต่งงาน งานไหว้บรรพบุรุษ หรืองานศาลเจ้าประจำปี ร้านจีนดำพามันมาเป็นอาหารจานเด่น เคียงข้างอาหารจีนสไตล์ถิ่นใต้ ที่เน้นเครื่องแกงถึงรส ผสานกับเมนูดั้งเดิมที่ปรับเปลี่ยนไปตามการปักหลักและก่อเกิดของคนปรุง อย่างแกงส้มปูนิ่ม หรือกุ้งราดซอสมะขาม

ไม่แตกต่างจากเมืองริมทะเลอย่างอำเภอ ที่ร้านโกเกี้ยวางตัวตนเคียงคู่เมืองเก่าและผืนทะเล ของสดเดินทางขึ้นมาสู่ครัวจีนอันตกทอดจากยุคของโกเกี้ยสู่ลูกชายกลายเป็น ซูเปอร์ราดหน้าที่ครบเครื่องทะเลทั้งกุ้งลาย กุ้งแชบ๊วย ก้ามปูดำ หมึกชิ้นโต กับน้ำราดหน้าขลุกขลิกข้นเหนียว ไม่เจิ่งนอง ขณะที่ความอร่อยสดแห่งผืนทะเลส่งต่อมาเป็นเต๋าเต้ยหม้อไฟ กุ้งทอดกระเทียม และอีกนานาเมนูที่ส่งต่อความเป็นร้านเก่าแก่มากว่า 50 ปี

เหลี่ยมมุมเล็กๆ อาจสะท้อนความละเอียดอ่อนในของกินคนตรังไว้อย่างน่าหลงใหล

ในนาทีหลากหลายตั้งแต่เช้าจรดค่ำในชีวิตคนตรัง สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้การกินเคียงคู่ชีวิตของคนที่นี่อย่างยากจะแยกมันออก

บางคราวอาจคล้ายการทำอาหารโบราณสักชนิด ที่มีแต่ผู้ลงมือทำและลิ้มรสมันเองเท่านั้น ที่จะซึมซับและถึงความเป็นไปเช่นนั้นได้อย่างถึงที่สุด 

How to get there ?

สะดวกที่สุดคือใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี อำเภอทุ่งสง แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 403 สู่อำเภอห้วยยอด จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงตัวเมืองตรัง รวมระยะทางประมาณ 828 กิโลเมตร

แนะนำที่พักเปิดใหม่ เคียงควน รีสอร์ท ห้องพักกว้างขวาง สะดวกสบาย เงียบสงบ ตกแต่งน่ารักด้วยบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง เลขที่ 76 หมู่ 5 ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองฯ จังหวัดตรัง โทรศัพท์ 0 – 7529 - 9801 ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kiengkuanresort.com และเพจเฟสบุ๊กเคียงควน รีสอร์ท KK-Resort

ระหว่างรสชาติและทางเดินชีวิต