Street Art with Alex Face
ศิลปะไม่ได้ตีกรอบอยู่แค่บนผืนผ้าใบหรือหน้ากระดาษ หากแต่ศิลปะโลดแล่นอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ไม่ว่าจะบนท้องถนน บนกำแพง ป้ายรถเมล์ หรือสถานีรถไฟฟ้า เราใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับศิลปะจนหลงลืมไปว่ามันคือศิลปะ ศิลปะที่คอยแต่งแต้มให้ท้องถนน หรือตรอกซอกซอยมีสีสัน
พัชรพล แตงรื่น หรือที่รู้จักกันในนาม Alex Face ศิลปินชื่อดังของเมืองไทย ผู้ที่ทำให้ศิลปะแนว Street Art มีเรื่องราวและเป็นที่จดจำ กับคาแร็กเตอร์เด็กน้อยหน้าบึ้งในชุดกระต่ายที่โด่งดังไปทั่วโลก!
“คาแร็กเตอร์หลักๆ ของผมก็เป็นเด็กหน้าบึ้งในชุดกระต่าย มันเกิดมาจากลูกสาวของผม ชื่อว่าน้องมาร์ดี ตอนแรกผมก็ขีดๆ เขียนๆ หน้าลูกเล่นไปเรื่อยเปื่อย แล้วก็รู้สึกว่าเด็กนั้นชอบทำหน้าบู้บี้ บึ้งตึง ผมเลยเกิดความคิดที่ว่า อนาคตของคนรุ่นต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะเรามีลูก เราก็ต้องคิดถึงอนาคตของลูก แล้วเราก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม เมื่อก่อนกับตอนนี้มันต่างกันมากนะ ผมเลยออกแบบคาแร็กเตอร์เด็กหน้าบึ้งไว้สำหรับมองอนาคต หรือสภาพสังคม ณ ปัจจุบัน เหมือนเป็นการบอกว่าตอนนี้พวกคุณกำลังทำอะไรอยู่ มันดีต่อคนรุ่นต่อๆ ไปจริงหรือเปล่า ให้คนดูงานได้กลับมาคิดทบทวนอะไรบางอย่าง
“ส่วนชุดกระต่ายมันเกิดจากความรู้สึกที่ว่า กระต่ายเป็นสัตว์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเหยื่อ เหมือนกับเด็ก มีสารพัดข่าวที่เด็กถูกทำร้าย ถูกข่มขืน กระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องเพศ เรื่องของความน่ารัก เรื่องของการถูกจับกิน เลยทำเป็นชุดกระต่ายขึ้นมา ส่วนมากคนอื่นจะเข้าใจว่าตัวนี้เป็นกระต่าย แต่ความจริงเป็นเด็กนะ เด็กในชุดต่างๆ ที่เป็นคอนเซ็ปต์แต่ละชิ้นงานไป แต่ช่วงหลังๆ เหมือนจะพ่นกระต่ายเยอะหน่อย เพราะดูมันซอฟต์ๆ เข้ากับทุกพื้นที่ได้ดี”
ก่อนที่เขาจะมีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนขนาดนี้ เขาได้เรียนรู้ลองงานหลากหลายแบบมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย คณะวิจิตศิลป์ที่ลาดกระบัง บวกกับสมัยนั้นวัฒนธรรม Hip Hop และ Graffiti กำลังมา เขาและผองเพื่อนจึงได้รู้จักกับศิลปะแนว Street Art
“ตอนนั้นพวกผมเลยไปซื้อสีสเปรย์ ไปพ่นตามที่ของเราก่อน แต่พอพ่นไปเรื่อยๆ แล้วมันสนุก เหมือนเปิดโลกใบใหม่ ได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง แรกๆ ก็พ่นชื่อตัวเองบ้าง แต่หลังๆ ผมก็พ่นหน้าตัวเองเป็น Graffiti เหมือนกับการประกาศตัวตน เราก็ประกาศตัวตนด้วยการเสนอหน้าตัวเองสิ ผมรู้สึกว่าการพ่นเป็นหน้าคนแล้วจะจำง่ายกว่าตัวหนังสือ ช่วงนั้นประมาณปี ค.ศ.2002 พอเราพ่นมาสักพักก็รู้สึกอีกว่าน่าจะเปลี่ยนให้มันเข้ากับบริบทของบ้านเมืองเรา ไหนๆ ก็เรียนศิลปะมาแล้ว ทำไมเราไม่ทำให้มันเป็นงานศิลปะให้คนอื่นดูล่ะ ประจวบกับผมมีลูกพอดี สไตล์งานเลยเปลี่ยนไป
“ผมว่าการออกไปพ่นข้างนอกคือการเอางานไปให้คนข้างนอกได้เห็น ไม่ใช่ทำแล้วเก็บไว้คนเดียว ทำแล้วก็ต้องให้คนอื่นได้เห็นมากที่สุดสิ ผมก็คิดว่าตรงนี้มันเป็นการทำงานศิลปะของเราอีกแบบหนึ่งนะ ก็เลยออกไปพ่นตามที่ต่างๆ ให้คนอื่นได้เห็นผลงานเราด้วย หลังๆ ผมก็เดินทางเยอะขึ้น พยายามกระจายงานให้ได้มากที่สุด ออกต่างจังหวัด ต่างประเทศก็ไป ยิ่งไกลยิ่งรู้สึกดี ล่าสุดนี่ก็ไปญี่ปุ่นกับปีนังมา”
ผลงานแต่ละชิ้นของเขาไม่ได้สื่อสารกับผู้ชมไปแบบตรงๆ แต่เขาปล่อยช่องว่างไว้ให้คนดูตีความหมายออกไป เพราะทุกคนล้วนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน บางครั้งการเห็นอะไรอย่างเดียวก็สามารถตีความได้หลายอย่าง ฉะนั้นผลงานของเขาจึงกลายเป็นพื้นที่ของอิสระแห่งความคิด มีบ้างที่เขาคิดงานไม่ออก แต่เขาก็ไม่ยอมอยู่นิ่ง ปล่อยเวลาให้ลอยไปอย่างเปล่าประโยชน์
“งานศิลปะคือเราก็ต้องทำงานตลอด ไม่มีวันหยุด เหมือนงานประจำ ดังนั้นเราก็ต้องทำงานยันดึก จัดระบบให้กับตัวเองให้ได้ ถ้าคิดงานไม่ออกก็ต้องหาข้อมูล ไม่ใช่เป็นศิลปินแล้วจะต้องนั่งรอให้อารมณ์มา มันไม่ใช่เลย (หัวเราะ) งานศิลปะมันฟ้องได้ถ้าเราไม่เต็มที่กับมัน อย่างน้อยเราก็คิดว่าโชคดีที่ได้ทำงานที่ตัวเองรัก ถึงจะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข ก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว เพราะต้องอยู่กับสารเคมีตลอด ตอนนี้ก็ต้องใส่หน้ากากทำงาน ไม่อย่างนั้นสารเคมีจะสะสมในร่างกาย
“ศิลปะแนว Street Art บ้านเราปัจจุบันเริ่มมีเยอะมากขึ้นตามยุคสมัย ทุกคนให้การยอมรับมากขึ้น เมื่อก่อนผู้คนอ่านจะมองว่าไม่ใช่ศิลปะ แต่ตอนนี้มีมากมายตามสื่อโฆษณา หรือภาพยนตร์ อาจเป็นเพราะทุกคนโตขึ้น ศิลปินมีประสบการณ์มากขึ้น ฝีมือก็ดีมากขึ้นตามลำดับ เลยทำให้กลายเป็นที่ยอมรับ”
ล่าสุดเขาได้ร่วมงานกับนาฬิกา G-Shock และได้จัดงานแสดงผลงานตามต่างประเทศ เรียกได้ว่าผลงานแต่ละชิ้นของเขาไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ส่วนอนาคตเขามองว่าการทำงานศิลปะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เป็นเรื่องที่จะเกิดประโยชน์อย่างมาก จึงวางเป้าไว้ว่าถ้าตอนอายุมากขึ้น เขาจะสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่แสวงหาผลกำไรนั่นเอง!