Lighting Design
หนึ่งในสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้นั่นก็คือเวลา ซึ่งเวลามันช่างผ่านไปเร็วอย่างเหลือเกิน และเวลาก็ได้เดินทางเข้ามาสู่ช่วงกลางปี ค.ศ. 2015 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งช่วงกลางปีนี้แหละครับท่านผู้อ่าน ทุกศาสตร์ทุกแขนงก็จะมีงานของตัวเองในแต่ละสาขา เสื้อผ้าลดราคา รถยนต์ออกโฉมใหม่ และในวงการงานออกแบบ ก็จะมีการคัดสรรผลงานอันเป็นสุดยอดออกมาให้ได้เผยแพร่กัน
ผมได้ติดตามงานประกาศรางวัลต่างๆ ของงานออกแบบมาอย่างมากมาย หลายๆ งานดูล้ำหน้าทันสมัย และหลายๆ งานดูมีความเป็นเอกลักษณ์ แต่สิ่งที่อยากมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับชมในครั้งนี้คือ อีกแขนงของงานออกแบบที่มีชื่อว่า Lighting Design ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งก่อสร้างหรืองานออกแบบดูมีความโดดเด่น และมีมูลค่า และน่าค้นหาเพิ่มมากขึ้น และงานที่ผมนำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านในครั้งนี้ ไม่ใช่ธรรมดาครับ เป็นงานระดับรางวัลชนะเลิศ International Project ของการออกแบบ Lighting Design เลยทีเดียว ลองติดตามดูครับ
ผลงานชิ้นแรกเป็น เจ้าของรางวัล International Project of the Year Exterior 2015 โดยพื้นที่ที่ใช้ในการออกแบบคืออาคาร Banco de Crédito building in Lima, Peru ซึ่งเราสามารถเรียกอาคารนี้อย่างย่อๆ ว่า อาคาร BCP โจทย์คือใช้การออกแบบ Lighting Design มาเป็นส่วนช่วยทำให้ภายนอกของอาคารแห่งนี้เป็นที่น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งผู้รับโจทย์ข้อนี้ไปทำหน้าที่ก็คือ Claudia Paz Lighting Studio and Nicholas Cheung Studio ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลอดไฟจาก Oldham Lighting และสิ่งที่เราได้หลังจากมีการนำเอา Lighting Design เข้ามาประยุกต์แล้วนั่นก็คือ อาคารระบบสัมผัสสามมิติ ที่มีลูกเล่นของไฟตอบโต้กับผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา
โดยบริเวณด้านหน้าของอาคารจะประกอบไปด้วย แผงวงจรหลอด LED ถึง 6 ชั้น ติดตั้งเต็มหน้าตึก ส่วนบริเวณชั้น 1 ของอาคารมีการติดตั้งแผงวงจรคล้ายกับจอ Touch Screen ซึ่งแท้จริงแล้วคือจอ Multi-Touch ซึ่งเมื่อคุณวางมือหรือวัตถุอื่นๆ ไปบนจอ Multi-Touch เมื่อใด ระบบวงจรก็จะสั่งการให้ไฟ LED ที่อยู่บนตึกแสดงผลเป็นรูปนั้นๆ เมื่อวางมือลงไปก็ไปปรากฏเป็นรูปมือขนาดใหญ่อยู่บนตัวตึกนั่นเอง นับเป็นไอเดียที่กล้าคิด กล้าทำ ที่สามารถทำให้อาคารแห่งนี้เป็นที่ดึงดูดน่าสนใจอย่างมากทีเดียว
เมื่อมี Exterior ก็ย่อมต้องมี Interior ตามมา ซึ่งงานอีกชิ้นก็ได้รับรางวัลระดับ International Project of the Year - Interior 2015 เช่นกัน โดยสถานที่ที่ใช้ในการออกแบบคือห้องสมุดแห่งชาติ La Ciudad de los Libros, Mexico โดยมีผู้ทำหน้าที่ออกแบบ Lighting Design คือ Luz en Arquitectura ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก LED Linear ห้องสมุดแห่งนี้นับเป็นงานยากอย่างหนึ่ง เนื่องจากห้องสมุดแห่งชาติของ Mexico นี้ ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของประเทศ นับเป็น
การยากหากจะนำเอาการออกแบบ Lighting Design มาทำให้มันดูหวือหวา หรือมีลูกเล่นที่ฉูดฉาด ดังนั้นนักออกแบบจึงเลือกการตกแต่งไฟที่มีสีออกไปในทางให้ความรู้สึกเย็น (Cool Light) ทำให้ภายในของอาคารนั้นดูโอ่โถง ลึกลับ และมีมิติมากขึ้น ผสานกับการออกแบบไฟใหม่ที่บริเวณทางเดินของห้องสมุดและห้องอ่านหนังสือที่มีลักษณะเป็นเป็น Warm Light และการตกแต่งแบบ Block ไม้กับพื้นและฝ้ากระจก ทำให้เกิดการแบ่งพื้นที่ และมีชั้นของความรู้สึกของผู้ใช้งานอย่างงดงามนั่นเอง นับเป็นงานออกแบบที่นอกจากจะทำให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังทำให้เกิดมิติอย่างเรียบง่ายอีกด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการออกแบบ Lighting Design ครับ การออกแบบไฟนั้น สามารถทำให้บ้านของเราน่าอยู่มากขึ้นได้อีกด้วย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปหาหลอดไฟราคาแพงๆ ลูกเล่น Technology สูงๆ มาไว้ในบ้านหรอกครับ เพียงแค่เราแต่งมุมๆ หนึ่ง จะเป็นห้องนอนหรือห้องนั่งเล่นก็ได้ จัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่สวยๆ ใส่เข้าไป หาโคมไฟสวยๆ หรือหาจุดทำ Downlight ดีๆ แค่นี้ก็เพียงพอทำให้บ้านเราน่าอยู่มากขึ้น สร้าง Oasis ทางความรู้สึกในบ้านได้เป็นอย่างดีทีเดียวครับ