ฉะเชิงเทรา

ฉะเชิงเทรา

เพียง 70 กว่ากิโลเมตรนั้นไม่ห่างไกลเท่าไรนักจากเมืองหลวง ไม่ไกลเกินกว่าการมาถึงของสิ่งต่างๆ จากเมืองที่ถูกเรียกว่าศูนย์กลางแห่งความเจริญอย่างกรุงเทพฯ

กว่าห้าสิบปีที่ผ่านมานั้นเมืองหลวงก้าวกระโดดไปในเรื่องใด เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งก็ดูเหมือนจะพลอยรับเอา “ความเปลี่ยนแปลง” เหล่านั้นควบคู่กันเสมอมา 

หากบางห้วงยาม อดีตของเมืองอย่างฉะเชิงเทรายังฝังรากลึกอยู่ริมลำน้ำบางปะกง ซอกซอนเข้าไปอยู่ในเรือกสวนไร่นา เกี่ยวโยงศรัทธาอยู่ตามวัดวาอารามหรือความเป็นย่านเก่าในหลากหลายท้องที่ และที่ลึกละเอียดลงไปกว่านั้น คืออยู่ในสายเลือดของผู้คนแห่งเมืองเล็กๆ ที่อยู่ห่างเมืองหลวงเพียงเล็กน้อยผ่านย่านบ้านเรือนเก่า เรื่องเล่าเดิมๆ ใครสักคนอาจค้นพบเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ แห่งนี้ด้วยการนั่งรถไฟสายสั้นในห้วงวันธรรมดา

1…

อุ่นไอเรื่อรุ่งเช้าค่อยๆ เคล้ามากับเสียงกึงกังยามล้อเหล็กเบียดบดไปตามราง ขบวนรถดีเซลรางสายกรุงเทพฯ-บ้านพลูตาหลวงเพิ่งเคลื่อนขบวนออกจากความจอแจย่านมักกะสัน บางกะปิ ได้ไม่นานนัก ผู้คนเริ่มหนาตาต่างจับจองที่นั่งตามตู้ขบวน

พ้นเขตเมืองและเริ่มเข้าสู่ทุ่งลาดกระบัง นกยางนาฝูงย่อมฉวัดเฉวียนอยู่เหนือผืนนาเขียวนุ่มที่แผ่ราบไปตลอดริมรางเหล็ก มีจุดพักตาเป็นบ้านเรือนและคลองสายเล็กสายน้อย 

แต่เดิมชุมชนแถบพระโขนง ลาดกระบัง หัวตะเข้ ไล่เลยไปจดอำเภอบ้านโพธิ์ของฉะเชิงเทรา เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของชุมชนมุสลิมซึ่งตั้งรกรากมาแต่รัตนโกสินทร์ตอนต้น จากที่มีการกวาดต้อนเชลยศึกหรือการเข้ามาติดต่อค้าขายและทำมาหากิน ทางพระนครจึงจัดสรรพื้นที่แถบนอกตัวพระนครให้ผู้คนเหล่านั้นได้ใช้เป็นที่ทำกิน ในย่านทุ่งลาดกระบังนี้ บรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่เป็นแขกปาทาน ซึ่งต่างก็หาเลี้ยงชีพด้วยเกษตรกรรมเช่นเดียวกันกับชาวไทยในแถบถิ่นเดียวกัน

ผ่านบ้านเปรงเข้าสู่เขตฉะเชิงเทราที่อำเภอบ้านโพธิ์ ชื่อบ้านเปรงน่าจะเป็นคำเขมรโบราณ หากเทียบเคียงกับอดีตแต่ดั้งเดิมของพื้นที่ต่างๆ ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราและรอบข้างซึ่งต่างก็เคยอยู่ใต้การปกครองของแผ่นดินขอมมาในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์

จากสภาพภูมิศาสตร์แล้ว ชุมชนศูนย์กลางของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำบางปะกงน่าจะเป็นทางออกสู่ทะเล สามารถติดต่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับดินแดนโพ้นทะเล ขณะเดียวกับที่เป็นประตูนำพาสินค้าและวัฒนธรรมเหล่านั้นไปยังดินแดนอื่นภายในแผ่นดินใหญ่ 

บานประตูแห่งประวัติศาสตร์และรากเหง้าของผืนแผ่นดินแต่อดีตกาลนั้นอยู่ใกล้กับเมืองหลวงที่เราจ้องจะพัฒนาอย่างไร้ทิศไร้ทางเหลือเกินใกล้เสียจนบางคนอาจผ่านเลยไปโดยไม่ทันได้ใส่ใจ

2 …

เสียงจอแจของความเป็นเมืองดังกระชั้นขึ้นสลับกับบ้านอาคารบ้านเรือนที่ค่อนข้างถี่ตาตามความเร็วรถที่ชะลอลง สถานีฉะเชิงเทรากลางแดดสายร้อนเร่าความหนาแน่นทางสายตาเริ่มเพิ่มขึ้นตามการเคลื่อนไหวของผู้คนและรถราในเขตเมือง

ใครสักคนพาทวนย้อนรางรถไฟออกนอกตัวแปดริ้วไปยังตลาดแห่งหนึ่งที่ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จากแปดริ้วตามเส้นทางสาย 314 ประมาณ 15 กิโลเมตร และแยกขวา จากนั้นจึงเคลื่อนโขยกไปตามทางที่ค่อนข้างชำรุด เรียงราย
ไปด้วยหลุมบ่อ

เดินผ่านทางเล็กๆ สู่ตลาดคลองสวน  แดดก็ร่มลงด้วยถูกบดบังจากหลังคาของเรือนแถวไม้เก่ากว่ายี่สิบห้องที่เรียงรายหันหน้าลงลำคลอง เหลือเพียงแสงรำไรในมุมเฉียง ย้อมบรรยากาศทึมๆ ของร้านรวงและสินค้าจิปาถะให้เปี่ยมเสน่ห์และดูมีชีวิต

แต่เดิมตลาดคลองสวนนั้นมีทางขึ้นลงที่คลอง การซื้อขายราวร้อยกว่าปีที่ผ่านมาก่อนการมาถึงของถนนและทางรถไฟจึงต้องพึ่งเรือเท่านั้น โดยมีคลองที่สำคัญคือคลองสวน คลองประเวศบุรีรมย์และคลองพระยานาคราช เป็นเส้นทางทำมาค้าขายของชาวบ้านย่านลาดกระบัง หลวงแพ่ง เปร็ง บางพลี บางบ่อ หนามแดง แปดริ้ว เรียกว่าเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ สมุทรปราการ และฉะเชิงเทราเข้าด้วยกัน

ตลาดคลองสวนนั้นสร้างมาก่อน พ.ศ. 2444 โดยกลุ่มชาวจีน ใช้ชื่อว่าตลาดสามพี่น้อง และมาสร้างเป็นสองชั้นราวปี พ.ศ. 2477 เป็นศูนย์รวมของผู้คนทั้งไทย จีน พุทธ และมุสลิม

ลัดเลาะไปตามเรือนร้านต่างๆ อย่างเงียบๆ เด็กเล็กวิ่งถือขนมสวนไปมา ความรู้สึกหนึ่งที่ได้รับก็คืออดีตของตลาดในวันวานยังไหลเวียนอยู่ทั่วห้องแถวนี้อย่างจริง ผู้คนที่นี่พึ่งพาและค้าขายกันก็เพื่อทำกิน มิใช่เพื่อการจัดฉากรองรับการท่องเที่ยว

รูปแบบสถาปัตยกรรมของตึกแถวโบราณในย่านนี้ยังถูกเก็บรักษาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ตึกแถวโบราณสีทึมรูปทรงตะวันตกเช่นเดียวกับย่านเก่าแก่หลายๆแห่งในกรุงเทพฯ เช่น บางลำพู ปากคลองตลาด สามแพร่ง เป็นสิ่งบอกถึงการเปิดรับอิทธิพลตะวันตกในอีกด้านหนึ่งของสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ทั้งรูปแบบวัฒนธรรมและเทคโนโลยี

หากแต่สิ่งที่เป็นวิถีชีวิตนั้นย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ด้วยแปดริ้วมีแม่น้ำบางปะกงเป็นสายเลือดหลัก นอกจากย่านตลาดจะเป็นจุดรวมการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทั่วไปแล้ว ยังเป็นจุดค้าขายอุปกรณ์การทำประมงแห่งใหญ่ของชาวแปดริ้วมาแต่เดิม ทั้งยังเป็นจุดพักปลาและสัตว์น้ำที่หามาได้จากทางปากอ่าวไทยและลุ่มบางปะกง

ด้วยเมืองแปดริ้วมีลำน้ำบางปะกงเป็นชัยภูมิธรรมชาติอย่างดีในการป้องกันศึกศัตรู พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงพร้อมป้อมปราการเหล่านี้ขึ้นเพื่อรักษาพระนครทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ถึงแม้ปัจจุบันแนวกำแพงที่ทอดยาวนี้จะเหลือเพียงความเก่ากร่อน หากแต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งยืนยันความเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของแปดริ้วในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นได้อย่างชัดเจน

ที่วัดพยัคฆาอินทารามเข้าไป เจดีย์ใหญ่สีขาวเก็บงำความสำคัญของวัดไว้ ใกล้กันมีวิหารพระพุทธบาทและเจดีย์บริวาร 2 องค์ ที่ดูชำรุดเก่ากร่อน ก่อด้วยอิฐแดงสีทึมทึบตามวันเวลาที่ผ่านฝนมากว่าร้อยปี

ชาวบ้านคุ้นที่จะเรียกชื่อวัดนี้ว่าวัดเจดีย์มากกว่าชื่อเต็มของวัดที่ได้รับพระราชทานนามมาในปี พ.ศ. 2424

ความสำคัญอันเก่าแก่ของวัดเจดีย์อยู่ที่การค้นพบ   แผ่นเงินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หนัก 3 บาท 2 สลึง อันเป็นร่องรอยสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ของเมืองแปดริ้ว

แผ่นเงินที่วัดพยัคฆาอินทารามจึงเป็นเหมือนบานหน้าต่างหนึ่งให้เราเปิดไปดูอดีตได้อย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ไม่ต่างกันกับที่วัดสัมปทวนนอก ลมพัดผิวน้ำบางปะกงพลิ้วไหว เกิดเป็นคลื่นเล็กๆ ทอดตาตามความระยิบระยับของผืนน้ำยามต้องแดดบ่ายได้ยาวไกล

สิ่งสำคัญยิ่งของวัดที่สร้างขึ้นมาเมือปี พ.ศ. 2479 คืองานปูนปั้นประดับเชิงชายของพระอุโบสถซึ่งเล่าเรื่องวิถีชีวิตของชาวแปดริ้วในอดีตอันผูกพันอยู่กับลุ่มน้ำบางปะกงเป็นหลัก

หากเป็นทางเรือ เราสามารถล่องลำน้ำบางปะกงจากท่าน้ำวัดสัมปทวนนอกมาขึ้นที่ท่าวัดแหลมบนได้ไม่ไกลนักที่วัดแหลมบนนี้มีสิ่งสำคัญอยู่ที่อุโบสถหลังเก่าก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ภายในมีงานจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างลาวปัจจุบันกำลังบูรณะหลังจากที่ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมมากว่าร้อยปี

แนวเจดีย์โบราณปรักหักพังใกล้อุโบสถหลังเก่าไม่แปลกแยกแตกต่างกับหลากหลายวัดในพื้นที่เล็กๆ อย่างแปดริ้ว วัดโสธรวรารามวรวิหาร วัดเล่งฮกยี่ หรือ วัดซำปอกงที่ต่างเนืองแน่นไปด้วยผู้คนล้นหลาม นึกย้อนไปถึงอดีตอันเก่าแก่ของบ้านเมืองที่แทรกซ่อนอยู่ในวัดเล็กๆ ที่ได้ไปเยือนมาในบ่ายที่ผ่านมานั้น

3…

การตั้งถิ่นฐานของฉะเชิงเทราหยั่งรากลึกของคนกับแผ่นดินมาหลายช่วงประวัติศาสตร์ตลาดบางคล้ายังคงเปี่ยมไปด้วยลมหายใจ ใกล้กันเป็นโรงสีข้าวเก่าแก่เรียงรายไปด้วยเรือกระแชงร้างห้าหกลำ

ฝั่งตรงข้ามลำน้ำคือพื้นที่กว่า 18,000 ไร่ของเกาะลัดซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้าม เขียวครึ้มไปด้วยความอุดมของแมกไม้นานาพรรณ ทั้งพืชโกงกางอย่างลำพู ลำแพนที่เรียงรายสลับกับป่าจากอยู่ริมตลิ่ง ถัดขึ้นไปบนเกาะมีทั้งสวนมะพร้าวและสวนหมาก

ระหว่างล่องสวนนั้นประปรายไปด้วยภาพชีวิต ทั้งวางและเก็บข่ายที่ดักกุ้งเล็ก หรือ ตามภาษาชาวบ้านว่าเคย การทำกะปิเป็นอีกหนึ่งอาชีพเสริมของชาวบ้านริมสองฝั่งบางปะกงที่ยังไม่หันหลังให้สายน้ำ

ที่ปากน้ำโจ้โล้ เป็นจุดที่ลำน้ำบางปะกงเชื่อมต่อกับคลองท่าลาด คลองสายหลักที่แต่เดิมเป็นเส้นทางติดต่อไปมาหาสู่ของคนบางคล้าและพนมสารคาม

ขณะที่พักทัพอยู่ที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ท่านได้สั่งให้สร้างพระเจดีย์พระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสู้รบ หากแต่ต่อมาได้ถูกกระแสน้ำพังทลายลงเมื่อ พ.ศ. 2491 และมีการบูรณะใหม่ในอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2542 พื้นที่บริเวณนี้จึงร่มรื่นด้วยสวนสาธารณะและเป็นจุดพักผ่อนชมวิวทิวทัศน์ริมลำน้ำของผู้คนท้องถิ่น

แดดอ่อนนวลลงจนเริ่มที่จะปลุกให้ค้างคาวแม่ไก่หลายตัวอันเป็นสิ่งโดดเด่นของวัดโพธิ์บางคล้าเริ่มกระพือปีกสีดำมะเมื่อมออกหากิน 

มณฑปคร่ำคร่าดูจะเป็นสิ่งก่อสร้างเดียวที่ยังคงหลงเหลือคุณค่าทางประวัตศาสตร์ศิลป์อันบ่งบอกช่วงก่อสร้างของวัดโพธิ์ว่ามีมาแต่ครั้งอยุธยาตอนปลายจากรูปทรงจัตุรมุข ก่ออิฐถือปูน มุงด้วยหลังคาทรงจั่วที่ค่อนข้างทรุดโทรม

จากบ่ายคล้อยที่บางคล้า บรรยากาศคลาคล่ำขวักไขว่ปนเปื้อนด้วยภาพแห่งการเร่งร้อนและการรอคอยกลับคืนสู่สถานีรถไฟแปดริ้ว

บนรางเหล็กที่เรียงรายไปด้วยคลองสายเล็กสายน้อย ทุ่งนาผืนกว้างตลอดเส้นทางกว่าเจ็ดสิบกิโลเมตรสู่เมืองหลวงนั้น ความเปลี่ยนแปลงจากเมืองที่วิ่งสวนทางมาอาจทำให้ระยะห่างระหว่างรากเหง้าของผืนแผ่นดินกับผู้อยู่ค่อยๆ ทิ้งระยะมากขึ้นจนไกลลิบสุดสายตา 

How to get there

เที่ยวเมืองแปดริ้วด้วยรถไฟดูจะเป็นการท่องเที่ยวที่ให้ชีวิตชีวา สามารถแวะตามสถานีรายทางก่อนถึงตัวเมืองฉะชิงเทราได้ เช่น ลงที่สถานีบ้านโพธิ์ เหมารถสองแถวไปเที่ยวตลาดเก่าคลองสวน วัดผาณิตาราม โดยสามารถกลับมาขึ้นรถได้ตามช่วงเวลาที่สถานีรายทาง มีรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงไปฉะเชิงเทราทุกวัน วันละ 11 ขบวน เที่ยวแรกตั้งแต่เวลา 05.10 นาฬิกา เที่ยวสุดท้าย 18.05 นาฬิกา ค่าโดยสาร 13 บาท

หรืออาจใช้บริการทัวร์แบบไปเช้าเย็นกลับของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่คิดราคา 490 บาท / ท่าน โดยขึ้นรถที่หัวลำโพงและมาต่อรถบัสที่แปดริ้ว หลังจากนั้นลงเรือชมลำน้ำ นมัสการวัดวาอารามขึ้นชื่อหลายแห่ง สอบถามรายละเอียด 0-2223-7010 หรือ 1690 

Where to stay

เรือนลำพู รีสอร์ท เลขที่ 35/2 หมู่ 2 ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. 08-9769-8018 เว็บไซต์ www.ruanlumphu.blogspot.com

เกาะลัดรีสอร์ท บ้านพักแสนสบายริมน้ำที่เกาะลัด อำเภอบางคล้า โทร. 08-5399-5542 เว็บไซต์ www.kohladresort.com

 

ตลาดเก่า เรื่องเล่าริมรางรถไฟ