ทั้งหมด
ในวันที่ชีวิตคุณมีทางเลือก คุณจะยังอยู่ ณ จุดเดิมที่รู้อยู่แล้วว่าปลายทางเป็นอย่างไรนั้น ... ทำไม? เช่นเดียวกับ ‘วินทร์ เลียววาริณ’ ในวันที่ยังห่างไกลกับการเป็นศิลปินแห่งชาติ ในวันที่ต้องเลือกเส้นทางชีวิตใหม่อีกครั้ง เขากลับเลือกที่จะก้าวไปยังสิ่งใหม่ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจุดหมายนั้นจะจบลงที่ใด ...
“ไหนๆ มันก็ต้องเริ่มใหม่หมดอยู่แล้ว เราจะไม่ลองหน่อยหรือ?” นี่คือคำตอบในเวลานั้นที่ทำให้เรายังคงเห็นเขาเดินอยู่ในเส้นทางที่เลือกเองจนถึงทุกวันนี้ จากนักโฆษณามาทำหนังสือ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีทักษะทางด้านการตลาดที่แยบคาย แต่เขาก็ยังยืนยันว่า ‘ไม่เคยนำมาใช้กับการทำหนังสือเลย’
ทั้งหมด
“แม้ว่าผมเองเรียนด้านการตลาดมาก็เพื่อใช้มันในสายงานโฆษณาซึ่งเป็นอาชีพที่ผมทำมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเป็นนักเขียน ผมไม่เคยเอาการตลาดมาเป็นตัวนำเลยสักครั้ง มีแต่ใช้การตลาดมารองรับการทำหนังสือ เช่น หนังสือเล่มนี้มีต้นทุนเท่าไหร่ เราก็บวกราคาที่เราอยู่ได้เข้าไป ออกมาเป็นราคาหนังสือ ไม่ใช้การตลาดเป็นตัวนำที่จะต้องนำเอาชื่อเสียงของนักเขียนมาเป็นหลักในการตั้งราคา มันเป็นนโยบายส่วนตัวของผม เพราะการที่จะซื้อหนังสืออ่านเล่มหนึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายของทุกคน ถ้าเราอยู่ได้แล้ว ทำไมเราต้องไปคิดราคาสูงกว่านั้น
“การทำหนังสือทุกวันนี้ ผมจะคิดเสมอว่าหนังสือจะหนาไปหรือเปล่า เพราะถ้าหนาก็จะมีราคาสูงขึ้นทันที ก็จะพยายามบีบให้มันอยู่ในขนาดที่พอดี หนังสือดีๆ ราคาไม่แพง คนสามารถซื้อหามาอ่านได้ นี่คือความหวังของผมที่คิดว่าในระยะยาวมันจะช่วยเพิ่มคนอ่านให้มากขึ้นในประเทศไทย”
.................
หากย้อนเวลากลับไป เขาบอกกับเราเพียงว่าในงานเขียนชิ้นแรกๆ ตัวเองนั้นเริ่มจากเขียนอะไรบางอย่างที่เขาเรียกว่ามันคือ “การระบาย” แต่ไม่ว่าเนื้อหาและเรื่องราวในบทความเหล่านั้นจะเป็นรูปเป็นร่างหรือเกี่ยวข้องกับอะไรแค่ไหน มันก็ทำหน้าที่เพียงซ่อนตัวอยู่ในลิ้นชักส่วนตัวของเขาเท่านั้น ... ยังมีเพียงไม่กี่คนที่ได้อ่าน ...
แต่จุดเปลี่ยนมันก็ได้เริ่มขึ้นเมื่อเขาได้ส่งผลงานเขียนของตัวเองไปให้นิตยสารเล่มหนึ่ง และได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด ความรู้สึกถึง ‘อีโก้’ ในตัว เริ่มลุกโชนไปพร้อมกับงานเขียนที่เริ่มถูกปล่อยของไปเรื่อยๆ อีกครั้ง และอีกครั้งจนถึงวันนี้เขาก็ยังดำเนินอยู่บนเส้นทาง ‘นักเขียน’
เราได้ลองถามคุณวินทร์ถึงตัวตนและเรื่องราวในงานเขียน ณ ช่วงเวลานั้น ถึงสิ่งที่ฉุดดึงทั้งคนอ่านและตัวเขาให้ผูกติดกันจนเป็นผลเรื่อยมายังทุกวันนี้ เขาได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจในแง่ของความเป็นจริงที่ว่า “งานเขียนทุกประเภท มักจะมีกลุ่มคนอ่านของตัวเองเสมอ” หากทำงานอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนอ่านก็จะไม่หายไปไหน
ทั้งหมด
สิ่งที่น่าสนใจอีกมุมหนึ่งก็คือ เขาเป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลายและแตกต่าง แม้จะออกตัวว่ามันเป็นเพียงการสะท้อนความสนใจของตัวเองในช่วงเวลานั้นๆ หรือจะเป็นงานเขียนทดลองในแง่มุมของเขาก็ตาม แต่เชื่อว่าผู้อ่านเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานเขียนของเขาล้วนแล้วแต่เป็นงานที่มีเอกลักษณ์ ตัวตน และชีวิตที่ชัดเจน
“เรื่องที่ผมเขียนระบายไปในช่วงแรกๆ ส่วนมากมันก็จะเป็นเกี่ยวกับปัญหาสังคม การเมืองอะไรต่างๆ ที่พอเราอ่านข่าว หรือพบเจอแล้วเรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ในเมื่อเราไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในฐานะที่จะออกไปแสดงออกอะไรมากมาย ก็ได้แต่เขียนๆ แล้วก็เก็บไว้ในลิ้นชักเท่านั้น ผมสนใจเรื่องการเมือง เรื่องสังคม แต่ก็เลือกที่จะระบายในรูปแบบของนิยายเสียมากกว่า งานในช่วงแรกๆ จึงค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ค่อยซับซ้อนเท่าไหร่ มองโลกค่อนข้างจะสุดโต่ง เรียกว่าถ้าไม่ชอบอะไรก็จะว่าตรงๆ
“ทีนี้เมื่อเราผ่านเวลา ผ่านอะไรไปสักระยะหนึ่ง เราโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราก็จะพบว่าชีวิตมันก็มีขาวกับดำอยู่แค่นี้ มันคือความเป็นจริง แต่ผมก็ยังมีอุดมคติในเรื่องสังคมนะ ผมยังคาดหวังว่าสังคมเราจะมีคุณภาพขึ้นมาได้ และประชาชนต้องมีคุณภาพทางปัญญา ผมพูดเรื่องพวกนี้มาตลอด แต่กระบวนการที่จะไปสู่จุดนั้นมันต้องอาศัยความร่วมมือกันในหลายๆ ฝ่าย จุดเริ่มต้นมันสำคัญตรงที่เราจะต้องทำอย่างไรให้คนมองเห็นความสำคัญที่จะต้องไปให้ถึงจุดนั้น หรือทำอย่างไรให้คนเชื่อว่าเรายังต้องการสังคมในอุดมคติอยู่ ใช่ มันยาก คนส่วนใหญ่อาจจะล้มเลิกแนวความคิดนี้ไปกลางทาง แต่ผมก็ยังเชื่อเราสามารถที่จะไปถึงจุดนั้นได้จริง แม้การเป็นนักเขียนของผมจะเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองชิ้นเดียวก็ตาม
“แต่เราก็ทำได้ในทางของเรา ไม่ว่าจะสื่อสารในรูปบทความหรือนิยาย สื่อสารไปว่าท้ายที่สุดแล้วเรายังต้องการสังคมที่มีปัญญา ไม่ใช่สังคมที่เต็มไปด้วยความเชื่ออย่างในปัจจุบัน ถ้าเราเลิกคิดเรื่องความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมที่อุดมปัญญาไปแล้วล่ะก็ ผมว่านั่นเป็นจุดสุดท้ายของสังคมแล้ว ผมว่ามันก็ยังคงไม่แย่ขนาดนั้น แม้ว่าเราจะได้พบได้เห็นเรื่องราวแย่ๆ ของสังคมมามากมายก็ตาม ก็ผมก็ยังเชื่อว่ามันทำได้นะ”
ใครที่ได้เคยอ่านงานเขียนของคุณวินทร์ อาจสังเกตได้ว่านอกจากจะเป็นการสะท้อนสังคมผ่านมุมมองของเขาแล้ว เขายังหยิกเพื่อให้เจ็บแล้วคิดกับมัน การเสียดสี ประชดประชันที่เขาได้แฝงมันลงไปนั้นถูกปรุงแต่งหลากหลายรูปแบบแล้วแต่เรื่องราว ทำให้นอกจากการกระแทกใจที่คนอ่านจะได้รับแล้ว งานเขียนของเขายังทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้เราควรเชื่อในสังคมที่เป็นอุดมคติ สังคมคุณภาพ และเราควรมีความหวังว่ายังสามารถที่จะสร้างสังคมที่มีปัญญาได้มากกว่านี้ ไม่ใช่ใช้ไสยศาสตร์นำทาง ...
ทั้งหมด
“เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนได้ตระหนักถึงจริยธรรม เพราะถ้าเรามีทั้งสองอย่าง ทั้งปัญญาและจริยธรรมสังคมจะเดินทางไปสู่ความเป็นสังคมในอุดมคติแน่นอน เพราะคนจะฉลาดพอที่จะรู้ว่า ‘อะไรใช่ อะไรไม่ใช่’ แล้วคนก็จะมีคุณภาพทางจิตสูงพอที่จะรู้ได้ว่า ‘ควรทำ หรือ ไม่ควรทำ’ แต่ว่าการจะไปถึงจุดนั้น มันต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก เฉพาะในเรื่องการศึกษามันก็ต้องรื้อระบบใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้จบในระยะเวลาสี่ปีของรัฐบาลได้ มันต้องเป็นนโยบายต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลาถึงสิบๆ ปี แต่นักการเมืองส่วนหนึ่งเขารอไม่ได้หรอก เขามักจะต้องการให้ทุกอย่างมันจบในสี่ปีเท่านั้น
“การเป็นนักเขียนของเรานั้นแม้จะมีส่วนในการเดินทางไปสู่สังคมอุดมคติได้ก็จริง แต่มันก็ยังมีพลังไม่มากพอ เพราะข้อเท็จจริงก็คือคนอ่านหนังสือแนวนี้มีน้อยมาก พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราถือว่าคนอ่านหนังสือวรรณกรรมเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนที่รู้จักคิด มันก็มีเพียงกลุ่มเดียวกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นต่อจำนวนประชากรที่เรามีทั้งหมด ยังถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมากนะ ยิ่งในกลุ่มคนที่รู้จัดคิดแล้ววิเคราะห์ด้วยนี่มีสักหมื่นคนก็ยังถือว่าน้อยเช่นกัน แต่มันก็เป็นเรื่องที่ท้อหรือปล่อยไปก็ไม่ได้ ก็ต้องทำให้ทุกภาคส่วนเขาเห็นความสำคัญแล้วร่วมมือกันลงมือทำ นักเขียนนั้นมีบทบาทแค่ส่วนเดียว อย่างที่บอกว่างานเขียนแบบนี้มันไม่ใช่หนังสือที่มีความนิยมในวงกว้าง เมื่อคนอ่านมีน้อย คนที่รับรู้ก็มีน้อยตามไปด้วย”
ในเมื่อพูดถึงหน่วยงานที่สำคัญอย่างทางรัฐบาล ที่เราอาจจำเป็นต้องฝากความหวังไว้ในที่สุด แต่เมื่อเราถามถึงความคาดหวังหรือท่าทีใดๆ ที่ผ่านมา เขาตอบได้แต่เพียงสั้นๆ ว่า “ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนทำได้ มีแต่พูด แต่ไม่มีใครทำ” แน่นอนว่าในเมื่อปัญหาที่เราพูดถึงกันอยู่มันคือระดับมหภาค ดังนั้นระยะเวลาและวิธีการจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญ แต่ในเมื่อทัศนคติทางการเมืองและบุคคลที่อยู่ในระดับขับเคลื่อนนั้นยังมองทุกอย่างเป็นเพียงเพื่อ ‘ฐานเสียง’ แล้วล่ะก็ นโยบายจึงทำหน้าที่ของมันอย่างจำกัดด้วยเวลา
“ต้องยอมรับว่า ‘มันเป็นเรื่องยากที่เราจะปลุกคนให้มีจิตสำนึก’ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้อุดมด้วยปัญญาขึ้นมา เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้นั้นมีทั้งปัญญาและจริยธรรม ให้เขาเป็นคนที่ทำอะไรไม่ดีแล้วรู้สึกผิด หรือคนที่รู้สึกอายมากๆ ถ้าพ่อเขาไปโกงใคร นี่เป็นงานหนัก เพราะระบบวิธีคิดแบบโกงไม่เป็นไรมันฝังรากลึกจนกลายเป็นค่านิยมของสังคมไปแล้ว อย่างเราจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ใครจะทำอะไรก็ได้ขอให้มีชื่อเสียงจะแก้ผ้าหรืออะไรที่มากกว่านี้ก็ไม่สนใจ วิธีคิดแบบนี้มันฉาบฉวยแล้วมันก็ระยะสั้น ระยะยาวมันก็จะทำลายทั้งระบบ ส่วนคนยุคเก่าที่เป็นไดโนเสาร์นั้นไม่ต้องพูดถึงมีทางเดียวก็คือ ‘ปล่อยให้เขาตายไปตามเวลา ให้สูญพันธุ์ไป’
“สังคมที่ไม่ได้จรรโลงอะไรมันจึงสะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้ความปวกเปียกพวกนี้ทำให้คนส่วนใหญ่คิดแต่เพียงว่า ‘ทำอย่างไรจึงจะรวย’ จิตสำนึกรู้ ผิด ชอบ ชั่ว ดี นี้มันสร้างยาก มันต้องมีตัวอย่างให้เห็น ผมมักจะเทียบสังคมสมัยที่ผมเป็นเด็กกับสังคมสมัยนี้ ตอนนั้นถึงจะมีโกงอะไรกันแต่มันก็ไม่ถึงกับกินบ้านกินเมืองอย่างทุกวันนี้ คือมันยังมีอะไรบางอย่างที่เป็นคุณธรรมอยู่บ้าง แต่ทุกวันนี้มันไม่ใช่แล้ว
“สำหรับในวงการวรรณกรรม นักเขียนเองเราก็พูดเรื่องพวกนี้กันมาตั้งแต่ที่ผมเริ่มงานเขียนสามสิบปีมาแล้วทุกวันนี้ก็ยังพูดกันแบบนี้ คนอ่านก็น้อยลง วงการวรรณกรรมกำลังจะตายหรืออะไรก็แล้วแต่ มันยังเหมือนเดิม เพราะงั้นเราไม่ต้องคุยเรื่องนี้กันแล้ว เราก็ทำได้ในฐานะนักเขียนให้ดีที่สุด คือ ‘อย่าให้ยาพิษแก่คนอ่าน’ อย่าไปสร้างสติปัญญาปลอมๆ ให้คนอ่าน อันนั้นผมถือว่ามันเป็นบาปกรรมอย่างมาก เวลาผมเขียนหนังสือก็จะมีความคิดอยู่เสมอว่าหนังสือเล่มนี้ผมเขียนให้ลูกอ่าน คือถ้าหากว่าผมให้ลูกผมอ่านได้ ลูกคนอื่นก็ต้องอ่านได้ เราต้องคิดเสมอว่าคนอ่านคือลูกหลานของเรา เราต้องเชื่อว่าเราไม่มีทางให้ยาพิษไปในงานเขียนของเรา เราเชื่อว่านักเขียนส่วนใหญ่ก็ต้องการงานเขียนที่ดี มีคุณค่า แต่บางครั้งนักเขียนก็ต้องมีการสำรวจตัวเราเองด้วยว่า ความเชื่อของตัวเองนั้นมันถูกหรือเปล่า หรือว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นมันเกิดจากมิจฉาทิฐิหรือไม่”
เขาให้หลักตรรกะและหลักการทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสำรวจความเชื่อของตัวเองอยู่เสมอ เขามักตั้งคำถามหรือฉุกคิดพร้อมค้นหาคำตอบด้วยการวิเคราะห์หาข้อมูลกับมัน จะเห็นได้ว่าเขามักจะมีความคิดเห็นในทางตรงกันข้ามกับเรื่องราวของความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้อย่างไสยศาสตร์ ซึ่งการเขียนบอกเรื่องราวที่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่างๆ มารองรับได้อย่างแท้จริงนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเขา ‘หน้าที่ของนักเขียน’ ที่จะทำให้คนได้ฉุกคิด ให้คนได้มีปัญญา
ทั้งหมด
“เราต้องคิดเสมอว่าความเชื่อที่เรามีมานั้น มันมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มันจะผิดหรือคลาดเคลื่อน ซึ่งหากว่าเราไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันถูกต้องก็อย่าไปฟันธงกับนักอ่าน คือเราไม่ควรที่จะเขียนว่า นักอ่านต้องใช้วิจารณญาณเอาเอง เพราะเราต้องตระหนักว่านักอ่านบางคนเขาอาจไม่มีวิจารณญาณก็ได้ เพราะส่วนหนึ่งเขาจะเชื่อนักเขียนหรือสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ‘เรามีค่านิยมที่ผิดๆ มาตลอดว่าหนังสือคือสิ่งที่ดี’ ดังนั้นในบางอย่าง เช่น การฉีกหนังสือเป็นการกระทำที่ผิดมากๆ มันไม่ใช่ ผมเห็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะหนังสือก็เหมือนอาหาร คนมีอาหารที่ดีร่างกายคุณก็จะดี บางคนชีวิตอาจตกต่ำเพราะหนังสืออันตรายมันก็มีมาแล้ว อันนี้ต้องคิด อย่างหนังสือในห้องสมุดก็เหมือนกัน มันต้องมีการคัดสรรนะไม่ใช่มีอะไรก็ใส่ลงไปในนั้น เพราะบางทีเราอาจโยนยาพิษลงไปในนั้นไม่รู้ตัว เพราะอย่างนั้นความคิดที่ว่าหนังสือเป็นสิ่งที่ดีนั้นไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง หนังสือจะดีหรือไม่นั้นมันต้องผ่านการพิจารณา ไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นหนังสือนั้นจะดี
และถูกต้องไปหมด”
“ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับความจริงที่ว่าหนังสือเลวนั้นมีมาก มีวางขายกันอยู่เต็มท้องตลาดไปหมด ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม ปรับปรุงทัศนคติค่านิยมของคนในสังคมอย่างมหาศาล”
ทุกครั้งที่เดินเข้าร้านหนังสือ กวาดตามองในอันดับหนังสือขายดีส่วนใหญ่มักจะมีหนังสือที่ถูกแนะนำคละกันอยู่ไม่กี่ประเภท ซึ่งนั่นเราอาจมองว่านอกจากเป็นเรื่องของผลทางการตลาดแล้ว มันยังเกี่ยวเนื่องไปถึงภาพสะท้อนค่านิยมของคนในสังคมอีกด้วย แน่นอนนี่เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ชี้นำให้คนที่เข้าร้านหนังสือหันมาหยิบจับและนำไปใช้เป็นเซียมซีเสี่ยงทายชีวิตที่ตนเองมุ่งหวัง ส่วนจะได้ผลกี่มากน้อยมันก็แล้วแต่จุดประสงค์ของผู้อ่าน รู้เท่าทันมาก ก็ได้ประโยชน์มากจากอาหารที่กิน ... อาหารแห่งความรู้
ในแง่มุมนี้คุณวินทร์ก็ได้ให้ทัศนะว่าหนังสือขายดีส่วนใหญ่นั้นมักจะสะท้อนค่านิยมคนในสังคม นักการเมืองเองก็สะท้อนสังคมว่าเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากหนังสือที่แย่งชิงความเชื่อ ตอบโจทย์ทุกความอยากรวยของคนในสังคมทุกวันนี้แล้ว แม้แต่หนังสือที่ได้รางวัลผู้อ่านก็ไม่อาจนิ่งนอนใจว่าเป็นอาหารคุณภาพได้ เพราะนั่นเป็นเพียงความเห็นของกรรมการชุดหนึ่งเพียงเท่านั้น และไม่ได้แปลว่านั่นเป็นความเห็นที่ประกาศิตจนทุกคนต้องมองเห็นข้อดีนั้นตามไปหมด นี่คือความเป็นจริง ผู้อ่านต้องรู้เท่าทัน ในที่สุดมันจึงวนกลับมา ณ จุดเริ่มต้นก็คือ ผู้อ่านต้องมีภูมิของตัวเอง มันคือ ‘ภูมิปัญญา’ ที่จะแยกแยะสรรหาด้วยตัวเองได้ว่า สิ่งไหนดีและมีประโยชน์ที่แท้จริง
หากเราฉุกคิด ก็จะพบว่ายังมีอีกข้อหนึ่งที่สำคัญและหลายคนอาจลืมเลือนกันไปก็คือ ‘บริบทของเวลา’ เพราะหนังสือเล่มหนึ่งอาจเหมาะสมกับบางช่วงเวลา ณ ขณะนั้นเท่านั้น ยิ่งในปัจจุบันที่การตีพิมพ์หนังสือสักเล่มนั้นทำได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ เราจึงมีหนังสือถูกผลิตออกมาวางขายมากมาย วงการหนังสือไม่ซบเซา แต่งานวรรณกรรมคุณภาพต่างหากที่กำลังจะตาย
และในขณะเรากำลังสร้างภาพว่าประเทศไทยกำลังจะวิ่งไล่ตามสังคมโลก เราทำตัวกันเหมือนม้าแข่ง ที่มุ่งไปเพื่อมองหาเส้นชัยทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงแค่ปลายหางของม้าตัวข้างหน้า เพราะเมื่อเทียบกับศักยภาพภาพแล้ว เราก็เป็นเพียงม้าแก่ที่ขาดวิตามินตัวหนึ่งเท่านั้น ..
“หน้าที่นักเขียนมันคือต้องวิเคราะห์ตัวเอง แต่อย่างเรื่องนิสัยใจคอผมก็ไม่ได้จะขวางโลกหรืออะไร สำหรับตัวผมเองในช่วงแรกๆ ของการเขียนงานแล้วได้รับรางวัลมันก็เป็นเรื่องที่ทำให้เราเกิดความท้าทายในตัวเอง แต่ในช่วงหลังๆ ผมกลับเฉยๆ กับการได้รับรางวัลนะ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ตัวเราที่แท้จริง เพราะว่าเราวิเคราะห์ตัวเราเองอยู่เสมอว่าเรายืนอยู่จุดไหน สามสิบปีที่ผ่านมาเราได้พัฒนามาไกลถึงขนาดไหน ความคิดความอ่านเราเป็นอย่างไร แล้วเราพร้อมจะพัฒนาในด้านใดได้อีกต่อไป นั่นคือความเป็นจริงมากกว่า
“งานหนังสือวรรณกรรมเป็นหนังสือที่ต้องอ่านแล้วคิด คนก็จะไม่ค่อยอยากอ่านอะไรที่มันเครียดมากเกินไป ความนิยมในหนังสือประเภทนี้มันเลยน้อย มันก็เป็นกันทั่วโลกนะ แต่ทุกวันนี้คนที่อยากเป็นนักเขียนมันยังมีอยู่ มากด้วย เพียงแต่ต้องตั้งใจจริง ต้องอย่าให้ยาพิษแก่คนอ่าน ตรงนี้ผมถือว่ามันเป็นจรรยาบรรณของนักเขียนที่ต้องมี แม้จะมุ่งมั่นเขียนงานจนได้รับรางวัลแล้ว ก็ต้องไม่หยุดสร้างงาน เพราะรางวัลมันส่งผลให้เราในระยะสั้น คุณภาพและความต่อเนื่องในการทำงานนั้นจะทำให้เราอยู่ได้นานกว่า
“สำหรับผมรางวัลที่มีความหมายมากที่สุดก็คือรางวัลจากผู้อ่าน เช่น จากงานเขียนเรื่อง ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน’ หรือหนังสือให้กำลังใจในบางเล่มนั้นมีผู้อ่านได้เขียนจดหมายกลับมาหาผมว่า เขาเคยคิดจะฆ่าตัวตาย แล้วเขาได้อ่านหนังสือผมทำให้เขาล้มเลิกความคิดนั้น ผมว่านั่นมีดีกว่ารางวัลไหนๆ บนโลกนี้เสียอีก เพราะถือว่าหนังสือมันได้จุดประกาย และทำให้คนได้คิดว่าชีวิตตัวเองมีค่า ถือว่ามันได้ทำหน้าที่ของมัน เช่นกันกับหนังสือบางเล่มที่อาจขายไม่ได้ แต่มันก็มีคุณค่าของมันอยู่ในจุดหนึ่ง”
ทั้งหมด
คุณค่าชีวิตของคุณวินทร์นั้นไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ในช่วงเริ่มแรก เขามักค้นหาความหมายของชีวิตอยู่เสมอ แต่เมื่อกาลเวลาได้ล่วงเลย ชีวิตได้ดำเนินมาจนถึงจุดที่เรียกได้ว่าผ่านอะไรมามากมาย ความหมายที่ได้ในแต่ละช่วงชีวิตจึงเป็นคำตอบที่ทำให้เขามองทุกอย่างเป็นไปอย่างธรรมชาติที่มันควรจะเป็น และในเมื่อทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติจึงเปล่าประโยชน์ที่จะถามถึงความหมายอีกต่อไป
แต่ในทุกวันนี้ของเขา ยังคงมุ่งมั่นที่จะเขียนหนังสือเพื่อสร้างประโยชน์ให้คนอ่าน และอีกหนึ่งสิ่งที่เขาเพียรทำมาเกือบสิบปีนั่นก็คือการทำโครงการ ‘เติมหัวใจใส่ห้องสมุด’ ภายใต้ความคิด ‘ยาพิษต้องไม่อยู่ในห้องสมุด ในแหล่งความรู้ของเด็กๆ’ เขาจึงไม่ท้อที่จะเสียสละงบประมาณส่วนตัวจำนวนมหาศาลในการปรุงยาดี หรือ วิตามินทางปัญญาให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหนังสือเหล่านี้จะเป็นหนังสือใหม่ที่ถูกพิมพ์เพิ่มจากการพิมพ์หนังสือแต่ละครั้ง ดังนั้นไม่ว่ากี่ครั้งที่ได้รับจดหมายจากที่ไกลๆ ว่าได้อ่านหนังสือของเขา มันก็ถือว่าเป็นผลตอบแทนครั้งยิ่งใหญ่อยู่เสมอ
“การพิมพ์เพิ่มจากยอดพิมพ์ที่ต้องพิมพ์อยู่แล้วในครั้งเดียวกัน มันจะช่วยลดต้นทุนในส่วนของการบริจาคหนังสือดีๆ ได้มาก ซึ่งกว่าสิบปีที่ผ่านมามีคนช่วยสนับสนุนมากน้อยตามกำลังมาโดยตลอด เราทำกันเองแบบเงียบๆ ผมคิดว่าด้วยวิธีนี้หากหน่วยงานภาครัฐมาช่วยกันในส่วนนี้ให้มันกระจายไปได้มากกว่านี้มันก็ได้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเด็กๆ และคนต่างจังหวัดก็จะได้มีโอกาสอ่านหนังสือดีๆ ใหม่ๆ จากห้องสมุด นักเขียนเองก็จะมีรายได้จากการที่ปัจจุบันหนังสือดีๆ ขายยาก แล้วหนังสือเหล่านี้ก็จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้มีปัญญามากขึ้น เพราะการคัดเลือกหนังสือเข้าห้องสมุดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ นะ เพราะมันไม่ใช่การเอาหนังสืออะไรก็ได้มาไว้ในนั้น มันต้องคนหรือหน่วยงานคัดกรองอย่างจริงจัง เพราะส่วนนี้นี่แหล่ะที่จะเป็นตัวสร้างให้เด็กไทยรุ่นใหม่เป็นแบบไหน
“เราต้องสร้างเด็กๆ ด้วยของดีทางปัญญา แม้หลายคนจะมองว่าทุกวันนี้มันเป็นสังคมวัตถุนิยม แต่ก็ปฏิเสธมันไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นวิวัฒนาการของมนุษย์ เราไม่ควรถึงกับจะต้องห้ามมัน เพียงแต่เราจะต้องมีวิจารณญาณว่าอะไรควรไม่ควรมากน้อยแค่ไหน ต้องรู้จักที่จะใช้มันมากกว่าให้มันมาใช้เรา ผมมักจะพูดเสมอว่า คุณอยากจะได้สังคมแบบไหนให้ลูก เอาตัวรอดด้วยการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น หรือ โกงชาติโกงเมืองอย่างนั้นหรือ ถ้าคุณรักลูก คุณต้องคิดว่าจะสร้างสังคมแบบไหนให้เขาตั้งแต่วันนี้ มันเป็นเรื่องที่ฟ้าประทานให้มาเองไม่ได้”
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เขาคิดแบบนี้ ทำทั้งหมดนี้เพื่ออะไร แล้วสิ่งที่ได้มันคุ้มค่ากับโอกาสที่เขาเมินหน้าให้กับมันในขณะที่ยังสามารถสร้างปัจจุบันและอนาคตที่มั่งคั่งได้ในเส้นทางเดิมๆ นั้นได้หรือไม่ จากการพูดคุยครั้งนี้เราบอกได้แต่เพียงว่า ‘เขาคุ้มค่าแล้วที่ได้ลอง’