Documentary
บรรยากาศความเปลี่ยวเหงา ความโดดเดี่ยว ของผู้สูงอายุที่ปรากฏใน นิทรรศการภาพถ่าย ‘นับเท้านับทาง (Distance by Steps)’ ของแก้วเก้า พงษ์ไพบูลย์ นั้นถูกถ่ายทอดผ่านผลงานถ่ายภาพเชิงสารคดี ที่กระตุ้นให้ผู้ชมได้ฉุกคิดว่า ทุกวันนี้เราดูแลพวกเขาเหล่านั้นดีพอแล้วหรือยัง
นั่นเป็นคำถามที่คุณแก้วเก้า ฝากให้ขบคิดระหว่างที่ได้ชมผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นล่าสุด ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตของผู้สูงวัยในบ้านพักคนชรา สภาพความเป็นอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ที่มีเพียงไม่กี่ชิ้นในห้องพักรวม หรือ ภาพกิจกรรมแต่ละอย่างที่ทำซ้ำๆ ในแต่ละวัน ทั้งหมดกว่า 100 ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์ม ไม่ใช่แค่การเข้าไปลั่นชัตเตอร์เพียงช็อตเดียวแล้วจากมา แต่เขาต้องเข้าไปคลุกคลีเพื่อซึมซับบรรยากาศและสัมผัสความรู้สึกเหล่านั้นในบ้านพักคนชรา 10 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปี ที่เขาตะเวนเก็บภาพความทรงจำ
Documentary
ส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ เขาเล่าถึงภาพถ่ายที่จัดแสดงว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือเรื่องเวลา นิยายซีไรต์ของ ชาติ กอบจิตติ และยังได้บทกวีนิพนธ์ จากคุณพ่อ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ มาช่วยเติมเต็มให้นิทรรศการสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยเขาหวังให้เกิดความรักและความเข้าใจกับผู้ที่อยู่ในวัยชราไม่มากก็น้อย
จากจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพเชิงสารคดี มาจากความชอบก่อนจะหัดถ่ายภาพตั้งแต่อายุ 12 ปี จนความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยมากระทั่งเขาได้ไปศึกษาต่อที่ Academy of Art University สหรัฐอเมริกา เรียนทางด้านการถ่ายภาพโดยตรง เมื่อกลับมาเมืองไทยเขาเริ่มจับงานถ่ายแบบ Commercial ทำเรื่อยมาจนเขาเริ่มมองเห็นความเป็นไปของสังคมมากขึ้น จึงได้จัดแสดงภาพถ่ายเดี่ยวครั้งแรก เกี่ยวกับการประท้วงเขื่อนปากมูล ด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาพวิถีความเป็นอยู่ของผู้ชุมนุม
“ผมว่างานถ่ายภาพเชิงสารคดีมันมีประโยชน์ แล้วงานที่ผมถ่ายทอดออกมาก็มีผลตอบรับกับตัวเองด้วย ผมได้คิดได้รับรู้ความรู้สึกขณะนั้น สังคมก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ว่าถ่าย Commercial เสร็จได้รับเงินก็จบ แยกย้ายกันไป ซึ่งมันได้แค่ผลงาน แม้ว่ามูลค่าที่เป็นตัวเลขอาจจะไม่มากมาย แต่ผมรู้สึกอิ่มเอมใจและท้าทายที่ได้ลงมือทำมากกว่า
“ผมได้มีโอกาสได้จัดแสดงงานที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากผลงานการประท้วงเขื่อนปากมูล ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นไฟแรง เลยอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แต่สุดท้ายแล้วก็เหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีบ้างที่รู้สึกท้อ แต่ถอยไม่ได้เพราะเรารักทางด้านนี้ ถ้าคิดที่จะลงมือทำอะไรบางอย่าง ก็ต้องดูด้วยว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมมากแค่ไหน ต้องรู้ความพอดีด้วยว่าเป็นยังไง ตรงนี้มันเลยทำให้เรารู้สึกดี มีกำลังใจที่ทำจะทำผลงาน”
Documentary
ผลงานของเขามักจะเป็นภาพที่อยู่ภายใต้แสงสลัว จึงเปรียบได้กับผู้ถ่ายทอดความมืดและความสว่างที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ภาพแต่ละภาพของเขาท้าทายให้ผู้คนได้มองแสงสลัวและรายละเอียดที่อยู่ภายใต้สภาพแสงนั้นๆ ทุกวันนี้เขายังคงเดินหน้าแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ พร้อมกับถ่ายภาพทำหนังสือประกอบบทกวีให้คุณพ่อ ที่สำนักพิมพ์ เกี้ยว-เกล้า พิมพการ ควบคู่กันไปด้วย
“ยังดีที่ผมมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ชอบ บางคนอยากจะทำอะไรบางอย่างที่ชอบก็ไม่ได้ทำ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง จะให้มาขับรถตะเวนไปทั่วประเทศเพื่อถ่ายภาพ มันจะต้องมีเวลามากแค่ไหน ผมเลยคิดว่าถ้าเจอจังหวะเวลาที่เหมาะสม เราลงมือทำเลยดีกว่า”
เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ชายผู้นี้ยังคงยึดแนวทางถ่ายภาพเชิงสารคดี โดยยึดหลักให้ภาพเล่าเรื่องสะท้อนความเรื่องราวบางอย่างให้สังคมเสมอ
Documentary