คริสตัล

คริสตัล

ช่วงนี้ดาราดังแห่ถ่ายรูปสร้อยข้อมือหินสวยๆ ลงในอินสตราแกรม ทำให้เกิดการเป็นกระแสที่ผู้คนต้องเริ่มหามาใส่กันบ้าง เรื่องนี้หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าใส่ได้ผลจริงมากน้อยแค่ไหน ฉบับนี้หมอจึงขอเล่าเรื่องคริสตัลให้อ่านกัน

จริงๆ แล้วคริสตัล หรือ รัตนชาติ มีประวัติในการใช้ในการบำบัดรักษาโรคมาอย่างยาวนานหลายพันปีมาแล้ว โดยคริสตัลซึ่งมีที่มาจากการตกผลึกของแร่ธาตุต่างๆ นับล้านๆ ปี จะมีพลังอยู่ในตัวมันเอง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการเรียงตัวของแร่ธาตุที่มาประกอบกันนั้น เรียงตัวกันได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากๆ แถมยังถูกอัดแน่นอยู่ในเนื้อผลึก และส่งผลให้พลังในก้อนผลึกแผ่ออกมารอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลายแหลม จะเป็นส่วนที่มีพลังเปล่งออกมามากที่สุด

คริสตัลแต่ละก้อน แต่ละชนิดก็จะมีพลังไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ชนิดของสินแร่ ความบริสุทธิ์ของสินแร่ ขนาดของผลึกคริสตัล สี ตำแหน่ง รูปและลักษณะของผลึกคริสตัล รูปแบบของคริสตัลที่นำเอามาใช้งาน ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้คริสตัลแต่ละชนิด แต่ละก้อน มีคุณสมบัติ และพลังในการบำบัดรักษาแตกต่างกันออกไป

หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของคริสตัลก็คือ สามารถคลายเครียดได้ โดยคริสตัลที่มีคุณสมบัติในการคลายเครียดก็มีอยู่หลายอย่าง เช่น โอนิกซ์ดำ อะเมทิสต์ ทูมาลีนดำ มรกต ฟูลออไรด์ อะเวนทูรีนสีเขียว หยก มาลาไคน์ หินพระจันทร์ โอปอล์ ควอร์ทซสีชมพู อาเกตแดง ควอร์ทซสีควันไฟ แซฟไฟร์  เซเลไนต์ เทอร์ควอยซ์ ลาปิส เป็นต้น 

ตัวอย่างการใช้ เช่น อาจจะใช้จี้เทอร์ควอยซ์ร้อยใส่สร้อยเส้นยาว สวมคอไว้ สีฟ้าของเทอร์ควอยซ์จะทำให้จิตใจสงบ ทำให้ใจเย็นลง ใครที่มีนิสัยใจร้อน หรือมีความเครียดสะสม การสวมสร้อยเทอร์คอยซ์ไว้ก็จะช่วยลดความเครียดได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะใช้คริสตัลบำบัดให้ได้ผลดี ต้องใช้ควบคู่กับวิธีบำบัดอื่นๆ และนอกจากนี้ยังต้องหมั่นล้างคริสตัลด้วยน้ำเกลือเข้มข้นเพื่อให้คริสตัลคืนพลังในการบำบัด ใส่ทุกวันให้สม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถเผชิญกับความเครียดได้เป็นอย่างดี 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเอง การพักผ่อนที่เพียงพอ บริโภคอาหารที่ให้คุณค่าแก่ร่างกายก็ถือเป็นพื้นฐานของการป้องกันโรคภัยแล้วล่ะครับ 

นอนไม่พอทำให้อ้วน

ความอ้วนนอกจากเรื่องของการกิน การไม่ออกกำลังกายแล้ว การนอนยังส่งผลให้อ้วนได้อีกด้วย โดยนักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก ศาสตราจารย์ Eve Van Cauter ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยใน วารสารทางการแพทย์ 
“Annals of Internal Medicine” เมื่อ 7 ธ.ค. 2547 ได้ค้นพบว่า การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ มีผลต่อฮอร์โมนในร่างกายที่ควบคุมความอยากอาหารของร่างกาย

โดยนักวิจัยจะพบว่า ผลของการนอนน้อยที่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อคืน เป็นเวลาเพียงแค่ 2 คืนติดต่อกัน จะทำให้ฮอร์โมน lepin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะทำให้ร่างกายไม่รู้สึกอยากอาหารหลั่งลดลงมากถึง 18 % และฮอร์โมน Ghrelin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะกระตุ้นความหิวกลับเพิ่มมากขึ้นถึง 28 % 

ไม่เพียงแค่กระตุ้นความหิว แต่ลักษณะของอาหารที่ชอบก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่แย่อีกด้วย โดยผู้ที่อดนอนจะมีความอยากอาหารหวานๆ เช่น ลูกอม คุ้กกี้ รวมถึงอาหารเค็มๆ ที่เคี้ยวสนุก เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วอบหรือทอดชนิดต่างๆ รวมไปถึงอาหารประเภทแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ไม่หมดเพียงเท่านี้ ความต้องการอาหารซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างผัก และผลไม้กลับลดน้อยลงอีกด้วย

สรุปว่า ถ้าไม่อยากอ้วน นอกจากการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายแล้ว ก็ควรเข้านอนแต่หัวค่ำ และควรจะนอนให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวันครับ

บำบัดคลายเครียด