พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง

พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง

ไม่กี่ครั้งในชีวิตที่จะได้มีโอกาสร่วมอยู่ในช่วงเวลาแห่งพระราชพิธีสำคัญของสยามประเทศ ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสรับชมภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ หรือเฝ้ารับเสด็จอยู่ในบริเวณพื้นที่ เชื่อว่าต่างก็เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่สวยงามในพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งเมื่อความเงียบสงบของโค้งน้ำเจ้าพระยาเข้ามาเยือนเสียงเอื้อนเอ่ยของกาพย์เห่เรือก็ยิ่งขับกล่อมให้เหล่ากระบวนเรือพระราชพิธีพระยุหยาตราชลมารคในแต่ละครั้งนั้น สะกดอยู่ในใจทุกคนไม่เคยลืม

กว่าที่แต่ละขั้นตอนพระราชพิธีสำคัญต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการเตรียมตัวการฝึกซ้อมของเหล่าข้าราชบริพารและบรรดาข้าราชการต่างๆ ที่พร้อมใจกันอุทิศร่างกายและจิตใจเพื่อให้ได้ร่วมอยู่ในพิธีสำคัญอันถือเป็นโอกาสสำคัญ เป็นมงคล
แห่งชีวิต เฉกเช่นเดียวกับพลเรือตรีมงคล แสงสว่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ที่กว่าจะได้มาเป็นต้นเสียงเห่เรือในกระบวนเรือพระราชพิธีพระยุหยาตราชลมารคได้นั้น เรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นตัวบอกเล่าว่าเขาต้องผ่านบททดสอบจากกาลเวลา และทบทวนความพยายามที่จะไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งโอกาสมากแค่ไหน 

พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง
พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง

หนึ่งชีวิตจากครอบครัวชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี มุ่งหน้าสู่ใต้ร่มโพธิ์เมื่อวัยได้เพียง 5 ขวบเท่านั้น หลังจากที่พี่ชายได้เข้าบวชเรียนเป็นสามเณรที่วัดแห่งหนึ่งในอำเภอสองพี่น้อง จึงได้ชักชวนเขาผู้ซึ่งเป็นน้องชายให้มาอยู่อาศัยภายใต้การอุปถัมภ์ของพระคุณเจ้า เพื่อหวังว่าจะได้มีโอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น 

จนภายหลังจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนมัธยมอุทัยภาดาวิทยาลัย (อำเภอสองพี่น้อง) เมื่อพี่ชายได้เข้ามาเรียนต่อทางธรรมที่วัดพระเชตุพนวิมลมังลาราม (วัดโพธิ์) หลวงพ่อที่รับอุปถัมภ์ก็ต้องไปประจำที่ตัวจังหวัดสุพรรณบุรี ความรู้สึกเคว้งคว้างเกิดทางเลือกในชีวิตขึ้นอีกครั้ง

“ในขณะนั้นผมเองก็กำลังบวชเณรได้ 1 ปีหลังจากเรียนจบม.6 เมื่อเริ่มไม่มีใคร พี่ชายอีกท่านก็เขียนจดหมายมาชวนผมหากสนใจเข้ารับราชการก็ให้มาลาสมณะเพศแล้วมาที่กรุงเทพฯ ผมเองไม่เคยเข้ากรุงเทพมาก่อน จึงตัดสินใจที่จะมาในทันที จากนั้นก็มาสอบเข้านักเรียนจ่าทหารเรือ ในปี 2501 เมื่อสอบติดเข้าไปอยู่ในพรรคนาวินเหล่าสามัญ เรียนอยู่ 2 ปี เมื่อจบแล้วก็ต้องย้ายไปรับราชการในหน่วยต่างๆ ทางกองทัพเรือ ผมตั้งใจที่จะอยู่กองเรือยุทธการ ที่ตั้งใจอย่างนี้เพราะคิดว่าจะได้มีโอกาสได้อยู่เรือ ซึ่งเมื่ออยู่เรือเราจะมีโอกาสไปยังต่างประเทศบ้างทั้งรับเรือ หรือ การฝึกภาคทะเลต่างๆ แต่เมื่อเขาใช้วิธีจับฉลาก มันก็ต้องขึ้นอยู่กับดวงแล้วทีนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นกรมการขนส่งทหารเรือเองก็ไม่เคยมีการขอกำลังพลจากโรงเรียนจ่าทหารเรือ ในปีนั้นเป็นปีพิเศษพอดี ผมก็สมัครกองเรือยุทธการไป แต่ดันจับฉลากได้ไปอยู่กรมการขนส่งฯ แทน ประจำอยู่อาคารราชนาวิกสภาหลังเดิมที่อยู่ ณ ปัจจุบันนี้ 

“เมื่อมารายงานตัวก็ถูกบรรจุให้อยู่ที่กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับพระราชพิธี เพราะหลังจากนั้นหน้าที่ของกองเรือเล็กคือการบริการให้หน่วยงานต่างๆ จากกองทัพเรือ และหน่วยงานเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไป” 

พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง
พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง

การที่ได้มาประจำอยู่ที่นี่ ทำให้เขาได้พบกับเหตุการณ์หนึ่งในปี 2502 ซึ่งเขาได้เห็นการจัดกระบวนพระยุหยาตราชลมารคขึ้นมาอีกครั้งหลังจากที่ได้มีการจัดครั้งสุดท้ายในปี 2475 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิดสะพานประถมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพุทธ แต่หลังจากนั้นก็ได้ว่างเว้นไปนานหลายปี 

“จนกระทั่งเมื่อปี 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงเรือนพระราชพิธบางกอกน้อย ซึ่งเป็นที่เก็บเรือพระที่นั่ง และเรือราชพิธีบางส่วน พระองค์ทรงดูว่าเรือยังมีความสมบูรณ์อยู่หรือไม่ ซึ่งได้ทรงมีพระราชดำริว่าเรือต่างๆ มีความสำคัญในการจัดกระบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารคนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ใช้ ได้แต่เก็บ แถมยังผ่านช่วงสงครามโลกมาด้วยทำให้เรือบางส่วนได้รับความเสียหาย จึงมีพระราชดำริว่าจะทำอย่างไรจึงจะเป็นการฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้กลับมา หลังจากนั้นก็จะมีพิธีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนา และพิธีสำคัญเกี่ยวกับคนไทย ก็คือพิธีฉลองพุทธศตวรรษในปี 2500 จากนั้นก็เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อถวายผ้าพระกฐินต่างๆ 

“ทีนี้มันก็เกี่ยวเนื่องกับกองเรือเล็กโดยตรง เพราะเราต้องใช้เรือลากจูงในการจัดกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค (โดยส่วนมากจะจัดตั้งกระบวนที่ท่าวาสุกรี) เมื่อกองเรือเล็กเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ใช้เรือ ฝีพาย และกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ผมก็ได้เห็นการฝึกกำลังพล ในทุกครั้งที่ปฏิบัติภารกิจเรือเล็กเสร็จ เมื่อนำเรือมาเก็บ ก็จะผ่านพื้นที่การฝึกซ้อมฝีพายอยู่เสมอๆ (ระยะเวลาในการฝึกนั้นต่างกันเรือพระที่นั่งควรใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ส่วนเรือรูปสัตว์หรืออื่นก็ลดหลั่นกันไป) ทุกครั้งก็จะได้ฟังเสียงเห่ของครู รวมทั้งได้เห็นกระบวนการฝึกหัดทั้งหมด ประกอบกับนิสัยดั้งเดิมเป็นคนชอบร้องเพลง เมื่อได้ยินเพลงก็เลยสนใจ ชอบเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้เห็น จึงพยายามที่จะเลียบๆ เคียงนั่งฟังจดจำ ครูพักลักจำอะไรไปด้วยตัวเอง จากนั้นก็เริ่มคลอตามเหมือนเป็นลูกคู่ของครูไป เริ่มแรกเนื้อเพลงยังจำไม่ได้ก็คลอๆ เอาทำนองไปว่าเขาร้องยังไง เช่น ท่านร้องคำว่า “เห่เอ๋ยพระเสด็จ ...” ค่อยๆ คลอไปเรื่อย เริ่มทำมือทำไม้ตามจังหวะเขาไปเรื่อยๆ ทำอย่างนั้นอยู่หลายปี” 

แต่ด้วยภาระหน้าที่ที่เขาได้รับในตอนนั้นเป็นเพียงภารกิจการลากจูง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวน ดังนั้นแม้สนใจที่จะเข้าร่วมก็จริง แต่ก็ยังไม่มีโอกาส กระทั่งครั้งหนึ่งในปี 2508 หลังเสร็จสิ้นภารกิจ เขาได้มีโอกาสก็ไปฉลองสังสรรค์กับ  เพื่อนๆ ที่บ้านของข้าราชการในกองเรือเล็ก ... 

“เมื่อของเมาเข้าปาก ผมก็ได้ร้องเพลงเห่เรือให้เพื่อนๆ ฟัง ทีนี้มีนายทหารระดับหัวหน้าแผนกอยู่ที่นั่น ท่านได้ฟัง จนรุ่งเช้าท่านก็ถามหาว่าใครกันที่เป็นคนร้องเพลงเห่เรือเมื่อคืน พอได้ความว่าเป็นตัวผม ท่านก็เมตตาแนะนำให้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับครู (พันจ่าเอกเขียว ศุขภูมิ)เรียนให้เป็นเรื่องเป็นราวไป 

พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง
พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง

“จนช่วงปี 2508 นั้นจึงจะได้เป็นศิษย์มีครูอย่างเต็มตัว(ครูที่ถ่ายทอดวิชาเห่เรือ คือ พันจ่าเอกเขียว ศุขภูมิ) จนในปี 2510 ครูท่านได้ออกเห่เรือเป็นครั้งสุดท้ายและเกษียณออกจากราชการในปี 2511 หลังจากนั้นการแสดงกระบวนพระยุหยาตราฯ ก็ได้ว่างเว้นไปอีกหลายปี จากนั้นผมก็ได้เข้าสอบคัดเลือกเพื่อทำหน้าที่เป็นพนักงานเห่เรือต่อจากท่าน “จากนั้นในปี 2525 เป็นปีรัตนโกสินทร์สมโภช 200 ปีก็ได้มีการกระบวนเรือพระยุหยาตราฯ อีกครั้ง แบบเต็มกระบวนเป็นครั้งแรก เพื่อเสด็จพระราชดำเนินเพื่อบูชาสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามวรมหาวิหาร โดยเสด็จพระราชดำเนินจากท่าวาสุกรีมาขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ ซึ่งในครั้งนั้นเองก็ถือเป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำหน้าที่ออกเห่เรือเป็นครั้งแรก หลังจากที่เฝ้าคอยฝึกฝนมานานหลายปี มันเป็นความปิติมากในชีวิตที่มีโอกาสได้เข้าร่วมพิธีเห่เรือในปีนั้นถึง 3 ครั้ง ต่อมา 1 ครั้งในปี 2530แล้วเว้นว่างไปนานจนมีอีกครั้งในปี 2539 กระทั่งอีก 1 ครั้ง ในปี 2542  และครั้งสุดท้ายใน ปี 2546 เป็นการเห่ขบวนเรือพระราชพิธี ในการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปก 2003)

“ในปี 2525 ความรู้สึกแรกที่รู้ว่าจะได้รับหน้าที่เห่เรือมันปลื้มที่สุดเลยนะ แต่ความรู้สึกในวันนั้นมันแทบบรรยายไม่ถูก หัวใจมันพอง ความภูมิใจมันเกิด ถือว่ามันเป็นบุญของเราที่ได้มีโอกาสได้รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์” 

พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง
พลเรือตรีมงคล แสงสว่าง

แม้ว่าเขาจะเกษียณอายุราชการก่อนหน้านั้นไปแล้วในปี 2544 ก็ตาม แต่เขาเองก็ยังได้รับเกียรติเชิญกลับมาทำหน้าที่เห่เรืออีกครั้งในปี 2546 (เอเปก 2003) โดยทางกองทัพเรือได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษา เขามองว่าคุณค่าแห่งการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมานี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้รับประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) 

“ซึ่งหลังจากเกษียณแน่นอนว่ามีคนสืบทอดเพราะเราได้มีการรับคัดเลือกคนสำรองไว้ฝึกฝนเรียนรู้กันเป็นรุ่นๆ ไป แต่อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าการมาทำตรงนี้มันต้องเป็นคนที่รักในงานนี้จริงๆ ถึงจะอยู่ได้ เพราะมันต้องใช้ความพยายามอย่างมากใจรักแต่เสียงไม่ให้ก็ไม่ได้ มันต้องพร้อมด้วย และผมเองก็ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า เมื่อเกษียณราชการมันมีเวลา ผมจึงอยากจะใช้เวลานั้นเพื่อการอุทิศตนเป็นผู้ให้ความรู้แก่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ต่อไป ทุกวันนี้จึงมีทั้งเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามาขอพบเพื่อศึกษาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม หรือบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์และการทำงานที่ผมมาแทบจะตลอดทั้งชีวิตนี้ ‘ผมเป็นครู มันเป็นหน้าที่ของเรา เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องให้ความรู้กับเขา’

จากจุดหักเหหลายครั้งในชีวิตของเจ้าของเสียงแห่งท้องน้ำเจ้าพระยาในพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิ์คนนี้ เชื่อว่านั่นจะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ‘การเริ่มต้นใหม่ของชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ทางเลือกที่คุณได้กำหนดเองนั้นมันเป็นอย่างไร’ 

ต้นเสียงแห่งสายน้ำ