Sputnik Tales
ทุกวันนี้การ์ตูนแอนิเมชั่นมีบทบาทมากกว่าเมื่อก่อน เป็นตัวกลางสื่อสารที่สามารถเข้าใจง่าย โดยเน้นความบันเทิงเพื่อมอบให้แก่คนดู หากแต่แอนิเมชั่นที่สะท้อนสังคมอย่างตรงไปตรงมากลับหาดูได้ยากขึ้นทุกที “Sputnik Tales” จึงถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตแอนิเมชั่นเพื่อสังคมโดยเฉพาะเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย ที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการสื่อสารทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
จากแรงบันดาลใจของคุณรัฐ จำปามูล ผู้ก่อตั้ง Sputnik Tales ที่เกิดการสูญเสียคนใกล้ชิดด้วยการฆ่าตัวตาย จึงได้รวบรวมความรู้สึกที่มีถ่ายทอดผ่านผลงานแอนิเมชั่น “เพลงพระอาทิตย์” (Sunset Love Song) โดยเนื้อหามีการสอดแทรกกำลังใจให้กับผู้ชมที่กำลังท้อแท้ในชีวิต
“ช่วงนั้นมีเรื่องการฆ่าตัวตายเรื่องหนึ่งที่มันสะเทือนใจผมมาก ผมจมอยู่กับความรู้สึกนั้นพักใหญ่ คือรู้สึกเลยว่าผมทำงานประจำที่ทำอยู่ก่อนหน้านั้นต่อไม่ได้แล้ว จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาอยู่นิ่งๆ ตั้งสติสักพัก จากนั้นก็รู้สึกว่าอยากนำความรู้สึกนี้มาทำเป็นแอนิเมชั่นสักเรื่องที่ให้กำลังใจคนอื่นดีกว่า อย่างน้อยการจากไปของน้องเขาก็น่าจะมีคุณค่าขึ้นมาบ้าง ถ้าไม่เจอกับคนที่เรารู้จัก เราก็ไม่รู้สึก อีกอย่างงานชิ้นนี้ผมทำเพื่อบำบัดจิตใจของผมเองด้วย ทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นในช่วงเวลานั้น”
เขาจึงใช้เวลานานถึง 3 ปีเพื่อทุ่มเททั้งแรงใจและแรงกาย ปล่อยความรู้สึกให้ไหลออกมาตามที่ควรจะเป็นไปกับผลงาน และเมื่อผลงานชิ้นนั้นได้ถูกเผยแพร่ออกสู่สังคมในวงกว้าง (โดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทนทางภาคธุรกิจ) กระแสตอบรับจากผู้คนมากมายที่ได้ชม ยิ่งกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาหันมาสนใจโมเดล ธุรกิจเพื่อสังคมอย่างจริงจัง ไม่เพียงเท่านั้นหนังแอนิเมชั่นเรื่องนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นหนังไทยแห่งปี 2553 จากนิตยสาร Bioscope และ ได้รับโล่เกียรติคุณสื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ประจำปี 2553 จาก รพ.ราชวิถี แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยตอกย้ำความมั่นใจในทางที่เขาเลือกเดินต่อจากนี้
“เมื่อหนังมันเข้าถึงอารมณ์ของใครมากๆ คนดูเขาก็ส่งอีเมล์มาหาเรา ขอบคุณเราว่างานของผมทำให้เขาไม่กรีดข้อมือตัวเอง เท่านี้สามปีที่ผมทำมาก็ไม่เสียเปล่าแล้ว ผมรู้สึกว่าต้นทุนชีวิตคนหนึ่งมันมีค่ามหาศาล เราช่วยชีวิตใครได้สักคนก็คุ้มแล้ว ในงานชิ้นนี้ได้สร้างชื่อทำให้ผมเป็นที่รู้จักมากขึ้น เริ่มถูกเชิญไปเป็นวิทยากรบ้าง เราเลยรู้สึกว่าเราอยากทำงานด้านแอนิเมชั่นเพื่อสังคมต่อไป”
หลังจากความคิดทั้งหมดได้ตกผลึก เขาจึงตัดสินใจก่อตั้ง Sputnik Tales กิจการเพื่อสังคมรูปแบบใหม่ เพื่อเป้าหมายที่จะสร้างแอนิเมชั่นเพื่อสังคมที่ก่อให้เกิด Social Impact ได้อย่างต่อเนื่องและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระบบทุนนิยม แม้ว่าจะดูเป็นนามธรรม แต่แผนกิจการเพื่อสังคมของพวกเขาก็ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 ของโครงการ Banpu Champion for Change และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก Change Fusion และองค์กรสาธารณะอื่นๆ อีกมากมาย
“ตอนแรกผมคิดว่าแค่จะทำ Sputnik Tales ให้เป็นแบบโปรดักชั่น ผลิตแค่แอนิเมชั่นเพียงอย่างเดียว แต่พอหลังๆ ผมว่าเป็นเพราะงานสอนทำให้ผมเปลี่ยนทัศนคติ ผมได้ตรวจผลงานของเด็กๆ เห็นการแข่งขันแล้วค้นพบว่ามีเด็กที่เก่งเยอะมาก เด็กบางคนก็ทำเรื่องประเด็นสังคมเหมือนที่ผมเคยทำ งานบางงานดีมากแต่แทบไม่มีคนรู้จัก มันสะกิดใจผมบางอย่าง ผมเลยเริ่มทำ Thailand Animator Festival เป็นครั้งแรกในประเทศไทยขึ้น เปิดโอกาสให้เด็กมีพื้นที่แจ้งเกิด ซึ่งตอนนี้ก็เติบโตมาเรื่อยๆ จนจัดงานนี้เป็นปีที่ 3 แล้วครับ ปีล่าสุดมี Animator จากต่างประเทศมาด้วย เพราะสมาคมผู้ประกอบการได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว ซึ่งผมมองเห็นปัญหาว่า แต่ละบริษัทไม่รู้หรอกว่าเด็กคนไหนเก่ง เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปดูตรงไหน ตัวเด็กเองก็ไม่รู้จักแม้แต่ชื่อบริษัทเองด้วยซ้ำ เราจึงเปรียบเสมือนเป็นตัวกลางที่ทำให้ทั้งสองได้มาเจอกันครับ
“วงการ Animation Commercial บ้านเรามีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เขายังมองว่าแอนิเมชั่นเป็นเรื่องของเด็ก ซึ่งจริงๆ งานแบบนี้ไม่ได้สื่อสารแค่เพียงกับเด็กเท่านั้น ผมเลยมอง Sputnik Tales ไปในแง่ของกิจการที่สร้าง Eco System ให้กับแอนิเมชั่นของสังคม เราเชื่อว่าแอนิเมชั่นเพื่อสังคมสามารถสั่นสะเทือนจิตใจของคนดูได้อย่างทรงพลัง ใช้สื่อสารในวงกว้างมากขึ้น เปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง พวกเราและหลายๆ คนจึงต้องช่วยกันสร้าง อย่างปีนี้ผมก็เพิ่งเริ่มเข้าไปช่วย Thai PBS ทำเวิร์คช็อป พัฒนาเด็กมหาลัยให้ทำรายการ ทำแอนิเมชั่น และหาคนที่จะมาสนับสนุนเรื่องการเผยแพร่ให้เราต่อไปได้ครับ”
มุมมองสำหรับคนทำงานภาพเคลื่อนไหว สิ่งที่ทรงพลังสูงสุดคือ Feature Film แอนิเมชั่นสเกลภาพยนตร์ ซึ่งมีพลังอย่างมากที่จะสะเทือนจิตใจคนดูได้พร้อมทั้งสามารถเปลี่ยนทัศนคติลึกๆ ของคนดูได้เช่นกัน นั่นเป็นอีกหนึ่งความใฝ่ฝันที่เขาจะผลักดันให้ Sputnik Tales เติบโตได้แบบนั้น เห็นได้จากความมุ่งมั่นตั้งใจของเขา เชื่อได้ว่าวงการแอนิเมชั่นเพื่อสังคมไทยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
Know Sputnik Tales
เวทีประกวดที่พวกเขาเป็นผู้จัดมีอยู่ 2 เวที คือ Thailand Animator Festival และ Social Animation Contest
Thailand Animator Festival มีสามองค์กรใหญ่ๆ ที่ช่วยกันสนับสนุน คือ สสส.กับมูลนิธิสยามกัมมาจล, องค์กรภาคธุรกิจ และภาคของการออกแบบ
Sputnik Tales เป็นชื่อที่มาจากความรู้สึกของการเป็น นักเดินทางที่โดดเดี่ยว หลุดออกมาจากโลก แล้วต้องโคจรดูคนอื่นอยู่อย่างนั้น เมื่อนำมารวมคำว่า Tales หมายความว่าเป็น ‘นิทานจากมุมมองของนักเดินทาง มองโลกแบบเป็นผู้สังเกตการณ์’
ติดตามได้ที่ www.facebook.com/sputniktales