สุรชัย จันทิมาธร

สุรชัย จันทิมาธร

“เพื่อชีวิต เพื่อสังคม ... บางคนก็ทำเพื่อตนเอง” นี่คือคำบอกเล่าของชายผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายช่วงเหตุการณ์สำคัญของสังคมไทย บางคนบอกว่าเขาคือศิลปิน บ้างก็บอกว่าเขาคือแรงบันดาลใจ และบ้างก็บอกว่าเขาคือผู้ขับเคลื่อนความคิดทางสังคมและการเมือง แต่ถ้าถามตัวเขาเอง เขากลับบอกว่า “ผมก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ชัดเจนในความคิดของตัวเอง” หงา คาราวาน ... สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 

ซอกหลืบความทรงจำ

กว่า 66 ปีที่ผ่านมาของ หงา คาราวาน บนเส้นทางสายดนตรีและชีวิต มีหลากหลายตัวอักษรที่พยายามจะถ่ายทอดเรื่องราวของเขาไว้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายในคำว่า “ความเป็นจริงนั้น” มีเพียงแต่เขาเท่านั้นที่รู้ดี 

“ผมก็แค่เด็กบ้านนอก ที่อยากจะเข้ามากรุงเทพฯ ตอนแรกก็หวังว่าจะมาเรียน แต่จนแล้วจนรอดมันก็ไม่จบอะไรสักอย่าง” 

น้าหงากล่าวพร้อมกับมวนยาสูบไปอย่างอารมณ์ดี ... เราเริ่มคำถามที่พกมาในใจ กับอีกมากมายข้อมูลที่ลอยอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต ชายอยู่เบื้องหน้าเราในขณะนี้ที่ได้พูดคุย แม้จะพ่วงท้ายด้วยรางวัลทางสังคมมากมาย แต่อย่างไรชีวิตของเขาก็ย่อมเป็นของเขา ยังคงสมถะเฉกเช่นที่เคยเป็นมาและเป็นไป

“ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก อยู่กับมันได้เป็นวันๆ เลย ทีนี้พอเป็นนักอ่าน มันก็เลยมีแรงบันดาลใจที่จะเขียน สมัยอยู่บ้านนอกผมก็เริ่มทำหนังสืออะไรไปตามเรื่องตามราวแบบเด็กๆ ตอนนั้นผมไม่เอาอะไรเลย คณิตศาสตร์อะไรก็ไม่เอา แต่ก็ยังอุตส่าห์จบม.3 มาได้

สุรชัย จันทิมาธร
สุรชัย จันทิมาธร

“เข้ามากรุงเทพฯ ก็หวังว่าจะมาเรียนต่อนั่นแหละ ผมมาสอบเพาะช่างสมัยนั้นก็สอบเข้าไม่ได้ ก็วนเวียนกับการสอบอยู่ 4 ปี สอบเข้าเพาะช่างอยู่สองครั้งก็ไม่ได้เรียน เพราะผมไม่สนใจการเรียนเท่าไรตอนนั้น อย่างที่บอกพวกคณิตศาสตร์ พวกวิชาการผมไม่สนใจเลย เวลาส่งกระดาษข้อสอบ ผมก็ส่งกระดาษเปล่า ทั้งแผ่นไม่มีอะไรเลย คล้ายๆ ต่อต้านวิชา จากสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ จากวิชาจากห้องเรียนอะไรต่างๆ ไม่เรียนไม่เอาเลย จะเอาด้านศิลปะอย่างเดียว 

“แล้วผมมาสอบเข้าช่างศิลป์ได้ (ช.ศ. วังหน้า) เข้าเรียนได้ก็เรียนไม่จบ การช่างนนท์ฯ ก็เคยเรียน เรียนปี 1 จะขึ้นปีสองก็เดินหนีออกมา มาเรียนผดุงศิษย์ ก็ออก มันหลายปัจจัยนะ ทั้งเรื่องทุนรอนทางการเรียนที่มันไม่พอด้วย เพราะผมต้องส่งตัวเองเรียน ถือเป็นช่วงที่เคว้งคว้างอยู่เหมือนกัน แต่ช่วงที่อยู่ผดุงศิษย์นี่ผมก็เป็นบรรณาธิการประจำห้อง เขียนหนังสือเหมือนขายหัวเราะอะไรประมาณนั้น เห็นเพื่อนอ่านแล้ว
นั่งหัวเราะ เราก็ภูมิใจ

“พอถึงตรงนี้หลายคนก็มักจะถามว่า ‘เพราะผมติสท์ใช่ไหม’ คือมันไม่ใช่หรอก ผมนะจริงๆ เป็นคนอุตสาหะที่จะเรียนแต่มันเรียนไม่ได้ มันไม่มีทุนรอน ผมดิ้นรนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่ได้อยากจะติสท์หรอก (หัวเราะ) สมัยนั้นผมใส่กางเกงขายาวยังไม่เป็นเลย ขาสั้นผมเกรียนเลย ไม่มีความเป็นติสท์อะไรที่เขาว่ากันเลย มีแต่ความลำบากนั่นแหละปากกัดตีนถีบต่อสู้กับชีวิต ตอนแรกเข้ามากรุงเทพฯ นี่อินโนเซ้นส์มากไม่รู้เรื่องเลย  เป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุงเลย มีเงินก็ดูหนังแค่นั้นเอง ก็มาติสท์แตกเอาทีหลัง (หัวเราะ)”

ดนตรี สังคม ตัวตน

ในชั่วขณะหนึ่งของวัยเด็ก เขาเคยขึ้นเวทีชกมวยมาแล้วด้วยสภาพสังคมรอบบ้าน ซึ่งเป็นเพียงเวทีชิมลางทางอาชีพเท่านั้น แต่สำหรับการร้องเพลงแล้ว เขาเริ่มมันจากความชอบ แม้จะไม่เคยคิดว่าจะต้องก้าวไปอยู่ ณ จุดไหน ของอาชีพนี้ แต่พอรู้ตัวอีกที ณ วันนี้ คำว่า ‘ศิลปินนักร้อง นักดนตรี’ ก็ได้กลายเป็นคำนิยามพ่วงท้ายต่อชื่อของเขาไปแล้ว

“ตอนเด็กๆ ก็ร้องไปตามเรื่องตามราว สมัยนั้นก็ร้องเพลงลูกทุ่งครับ ร้องพวกทูล ทองใจ, ชัยชนะ บุญนะโชติ พอโตมาสมัยวัยรุ่นก็เริ่มฟังเพลงฝรั่ง ยุคก่อน The Beatles Johnny Horton, Johnny Tillotson, Cliff Richard, Elvis Presley ตามกระแสในช่วงนั้นที่ใครๆ ก็รู้จัก เปิดวิทยุฟังทุกวัน ก็ร้องได้ตามเขา แต่ก็ไม่ได้เข้าใจเนื้อเพลงอะไรหรอกนะ ชีวิตมันก็เดินทางไปตามเรื่องของมันจนมาร้องเพลงอย่างจริงจังก็อายุ 20 กว่านั่นแหละ (ช่วงที่ได้เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง)

“ผมเริ่มมาเป็นนักเคลื่อนไหว ช่วงนั้นผมทิ้งหมดแล้วความเป็นนักเขียน ผมรู้สึกว่าผมต้องทำ เรื่องนี้มันสำคัญ ก็เข้าร่วมขบวน ผมก็คิดว่าทำหน้าที่เท่าที่ทำได้ ไม่ได้คิดว่าจะมารบเอง แค่ชอบดนตรี ได้อยู่ในหมู่เพื่อนนักเคลื่อนไหว 
ตอนนั้นก็เลี้ยงชีพด้วยการเขียนหนังสือได้ค่าเรื่อง เรื่องละ 300 บาท บางวันเขียนสองเรื่องสามเรื่องก็มี ช่วงนั้นไฟแรง สมัยนั้นมันยุคฮิปปี้ ไว้ผมยาวฟูเลย สมัยนี้เขาเรียกอะไรล่ะ ทรง Afro ใช่ไหม นุ่งเดฟขาลีบเลย ซื้อกางเกงมาขาไม่เข้าทรงผมตัดเองเลยแล้วก็เย็บ แล้วก็สะพายย่ามมีหนังสืออยู่ กินเหล้าเสร็จไม่รู้จะไปไหนก็นอนสนามหลวง ไม่มีบ้าน ตอนนั้นติสท์แตก มีเงินเข้าร้านอาหาร แต่นอนข้างถนน 
ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้

“สำหรับคำว่า ‘นักแสวงหา’ มีความหมายมากในยุคนั้น เหมือนที่ วิทยากร เชียงกูล เขียนว่า ‘ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหาความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว’ อันนี้เป็นเหมือนคาถาเลย เขาเรียนธรรมศาสตร์ด้วย แต่เมื่อเรียนจบกลับไม่ไปรับปริญญา เขาเป็นตำนานเลยในเรื่องนี้

สุรชัย จันทิมาธร
สุรชัย จันทิมาธร

“ช่วงที่เคลื่อนไหวนี่แหละที่เริ่มจะหัดกีตาร์ คอร์ดยังตีไม่ถูกเลย ใครมาเห็นเราจับกีตาร์ก็คิดว่าน่าจะเล่นได้ มาดเท่ดีมากเลย แต่ที่ไหนได้เล่นไม่เป็น (หัวเราะ) และที่หัดเพื่อจะได้ร้องเพลงกับเพื่อน ทีนี้พอหุ่นมันให้ ก็มีคนเชียร์ให้ขึ้นไปเล่นบนเวทีในม็อบ ซึ่งขณะนั้นหน้าที่ผมเป็นสมาชิกในศูนย์บัญชาการ เป็นคนออกตระเวนหาข่าวรอบนอกมารายงาน มีแต่นักศึกษาทั้งนั้น ผมมีพื้นฐานเขียนกลอน ก็จะเขียนกลอนเหน็บรัฐบาลให้เขาอ่านบนเวที คนฟังก็เฮกัน 

“ม็อบสมัยนั้นมีแค่ตลกเสียดสีการเมืองและกลอน ผมได้เป็นหนึ่งในนั้น ก็แอบปลื้มอยู่ในใจ ก่อนจะมาเป็นคาราวานนั้นก็เริ่มเล่นเล่นดนตรีอยู่ในกลุ่มก้าวหน้าที่เคลื่อนไหว พวกเหล่านักกิจกรรมทั้งหลาย มีแต่งเพลงอยู่สองสามเพลง คือ เพลงกุลา ข้าวคอยฝน ... เพลงกุลานี้พี่คนหนึ่งเขาให้เขียน ส่วนข้าวคอยฝนก็จำลองเมโลดี้มาจากเพลงพื้นบ้านเขมร ขึ้นต้นก็เอากาพย์ยานีของจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วก็ใส่ทำนอง ใส่คอร์ด เล่นอยู่สองสามเพลงตอนนั้น เล่นไปคนก็ชอบ

“แต่ก่อนเราทำเพลงกันเองหมด พวกแผ่นเสียงก็ทำขายกันเล่นๆ แผ่นละ 25 บาท เอาไว้ขายก่อนจะไปเล่นเท่านั้น แต่พอหลังจากที่เราเข้าป่าไปแล้วมันก็ธุรกิจเพลงเข้ามา มีเทปมีอะไร แผ่นเสียงตลาดมันไม่กว้าง มันทำเพื่อจะโปรโมทออกวิทยุ แล้วช่วงนั้นกรมประชาสัมพันธ์ออกอากาศเพลงเรายากมาก เพราะเขาห้ามเพลงพวกนี้อยู่แล้ว ในที่สุดก็เกิดตลาดเพลงคลาสสิก เกิดบริษัทค่ายเพลงต่างๆ ตามมา 

“ช่วงนั้นผมเข้าป่าแล้ว มีคนเขาเอาผลงานเราไปทำเป็นเทปขายดีมาก ใครเอาไปก็ยังไม่รู้ แต่ผมไม่ได้รับผลตรงนั้นจนบริษัทต่างชาติให้เซ็นสัญญาธุรกิจ มีจดหมายไปถึงในป่าให้เราเซ็น อยู่ป่ามาได้ 5-6 ปีก็ออกมา พอมีคอนเสิร์ตคาราวานจึงมาดังอีกครั้งหนึ่ง ดังมากเลยมีบริษัทสนใจมาเป็นตัวแทน มันก็เลยกลายเป็นยุคเฟื่องฟู หลังจากนั้นก็มีคาราบาว เพลงเขาก็โดนมาก เกิดเป็นกระแสอีก เพลงเพื่อชีวิตก็งอกงามขึ้น

“พูดถึงตอนนั้นคาราวานเกิดก่อนคาราบาวสัก 5 ปี ยังจำแอ๊ดได้อยู่เลย ตอนนั้นเขาก็เป็นเด็กหนุ่ม และก็มีวงแฮมเมอร์วงนี้ก็ไม่เบานะ แฟมิลี่แบนด์อีก ความเป็นมาก็เป็นแบบนี้ คาราวานก็ยังอยู่ ดำรงอยู่ด้วยกระแสตรงนั้นแล้วเราก็พยายามทำเพลงคุณภาพ ไม่ต้องขายได้ก็ได้ อะไรที่เป็นคุณภาพมันไม่ค่อยได้ตังค์หรอก”

ชีวิตในยุคแสวงหา

‘หงา คาราวาน’ กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเคลื่อนไหวทางสังคมไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่เรารู้และเห็นก็คือทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว เขาคนนี้จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคน ไม่ว่าจะด้วยงานวรรณกรรม เสียงเพลง และท่าที 

“คือเรื่องการเมืองมันน่าจะเป็นอะไรที่อยู่ในตัวมาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะว่าท้องถิ่นของผมมันเข้มข้นทางการเมืองพอสมควร แล้วก็มีนักสู้เราเรียกว่าเป็นนักสู้ประชาชน บ้านผมมีดังอยู่สองคนตอนนั้นเรียนธรรมศาสตร์ ชื่อ เปลื้อง วรรณศรี กับ สุธี ภูวพันธ์ แกเป็นคนหนุ่มไฟแรงได้ไปปราศรัยสมัยนั้น เขาพูดกันเรื่องกฎหมาย เรื่องนักศึกษา พอได้ฟังแล้วมันโดนใจ ซึ่งผมฟังตอนหกเจ็ดขวบเอง คือตอนนั้นมันซึมซับมาทางสังคม 

“แต่พ่อผมก็เป็นพวกอนุรักษ์ จะเน้นอ่านหนังสือมากกว่า ซึ่งท่านอ่านพวกสยามสมัย สยามรัฐ ทำให้ผมได้อ่านตาม ผมชอบอ่านหนังสือขนาดที่ว่าหนีงานบ้านไปอ่านหนังสืออยู่บนเพดานเลยนะ ผมว่าส่วนหนึ่งของการเป็นนักอ่าน นักเขียนมันส่งผลทำให้เป็นศิลปินเป็นนักร้องด้วย เพราะมันทำให้โลกของเรากว้างขึ้น 

สุรชัย จันทิมาธร
สุรชัย จันทิมาธร

“สมัยนั้นหนังสือพวกชัยพฤกษ์ วิทยาสาร ฯลฯ หนังสือพวกนี้มีความคิดใหญ่หลวงมากกับความคิดของเด็กในถิ่นกันดารอย่างพวกผม เหมือนว่ากระทรวงศึกษายุคนั้นบังคับให้มีหนังสือเหล่านี้ในห้องสมุด ออกเป็นรายปักษ์ ผมได้อ่านหมดเลยพวกนี้ พอจบจากบ้านนอกมาเข้ากรุงเทพฯ ผมก็เขียนงานส่งเลย พอเขาตอบรับตีพิมพ์ นี่เป็นจุดแรกเลยที่ทำให้อยากเป็นนักเขียน คิดว่า ‘เออ ...งานมันขายได้นี่หว่า’ สมัยนั้นได้ 25 บาท ถือว่าเยอะเหมือนกัน สยามรัฐ สยามสมัย ผมก็มีโอกาสได้ลงนะยุคนั้น 

“ตอนนั้นเขามีให้ลงเรื่องสั้นหนึ่งเรื่อง ใครได้ลงก็เหมือนได้แจ้งเกิดในช่วงนั้นมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นมาตรฐานเลยว่าใครได้ลงเรื่องสั้นยุคนั้นนี่ถือว่าเก่ง ผมก็เป็นเด็กน้อยนุ่งขาสั้นพอเขียนส่งไป ได้เข้าพบ บก. (ประมูล อุณหธูป) เลย เขาให้ไปคุย แล้วก็แนะนำงานเราว่าควรจะเขียนยังไง แนะนำให้ไปแก้ไข ผมก็เอางานไปแก้ไขตามคำแนะนำ ปรากฏว่าพอส่งไปใหม่แกก็พอใจและตีพิมพ์ให้ แต่ก็ไม่วายโดนติงว่ามันสั้นไป คือสยามรัฐเรื่องสั้นมันมีสองหน้า เรื่องของผมมันได้แค่หน้าหน่อยๆ ปกติคนอื่นเขาเต็มสองหน้าหรือล้นไปอ่านต่อหน้าอื่นก็มี ความจริงตอนนั้นถ้าแกบอกว่าให้วาดภาพประกอบใหญ่มันก็จะเต็มสองหน้า แต่ไม่เอา บอกให้ผมไปเขียนมาใหม่อีกเรื่องหนึ่งแกจะลงให้ จะได้เต็มสองหน้า ผมก็เลยเป็นคนแรกที่ได้ลงสองหน้าสองเรื่อง ตอนนั้นเขียนเรื่องแล้งเข็ญ เกี่ยวกับวิถีชีวิตพื้นถิ่นคนอีสาน กับ เรื่องคนและคนบ้า เป็นเรื่องในชนบท”

สนใจและสังเกต (สังคม) 

หงา คาราวาน ใช้ความเป็นนักคิด นักเขียน และศิลปิน มองสังคมผ่านดวงตา วิเคราะห์ด้วยสมอง และถ่ายทอดงานด้วยหัวใจ แต่แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน สิ่งที่เขายังคงมองเห็นอยู่เสมอนั่นก็คือความ ‘แตกต่างทางสังคมและการเอารัดเอาปรียบ’ 

“ผมเข้ามากรุงเทพฯ ผมก็เห็นแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังมี เอาจริงๆ นะ การเมืองมันเป็นเรื่องที่พูดยาก บางทีมันก็เหมือนย่ำอยู่กับที่ไม่มีอะไรดีขึ้น สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือเวลา สิ่งที่มันเจริญขึ้นก็เรื่องวัตถุ สิ่งที่ดีก็คงเป็นเรื่องความคิดที่เราคิดอยู่ คิดมานานกับเพื่อนฝูง ที่วันนี้มันเกิดการยอมรับ แต่มันเป็นคนกลุ่มน้อยไง ถ้าโหวตกันผมก็แพ้ทุกที ฉะนั้นสิ่งที่มันดำรงอยู่คือการเมืองแบบผลประโยชน์ ซึ่งมันไม่ดีและแก้ไขไม่ได้ 

“ส่วนท่าทีทางการเมืองของศิลปินนั้น คนอื่นผมไม่รู้นะ แต่ผมก็ชัดเจนแบบนี้ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมือง บางทีมันบอกไม่ถูก เวทีทางการเมืองก็มีเยอะขึ้นผิดเวทีก็ยุ่งกันเลยทีเดียว (หัวเราะ) มันก็เป็นอย่างนั้น 
การตัดสินใจขึ้นเวทีแต่ละครั้งมันก็มีเหตุของมัน อาจเพราะเพื่อนด้วย และเราก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกด้วย เราเห็นอยู่ว่าเพื่อนเป็นคนดี ทำไมต้องถูกด่าถูกหยามเกียรติเราก็ทนไม่ไหว ตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ ที่เพื่อนถูกจับแล้ว เห็นกันอยู่ว่าเขาไม่ใช่คนเลว เราก็เลยเอาเลย กูเอาด้วย!

“แต่ถ้าจะให้ผมไปเล่นการเมืองเอง ไม่เอาแน่นอน ผมไม่ยุ่งเลยตรงนี้ ผมเป็นศิลปินดีกว่า และผมก็คงไม่มีฐานะดีพอหรอก เพราะการจะไปเล่นการเมืองต้องมีองค์ประกอบเรื่องฐานะด้วย มีเครือข่าย มีเพื่อนฝูง ลงไปเยี่ยมพื้นที่ ไปแจกของ ผมไม่เคยมี ผมแจกแต่เพลง  

“สังคมเขาเรียกว่า ‘เพื่อชีวิตเพื่อสังคม’ อันนี้เขาเรียกกันนะ จริงๆ ผมก็ไม่อยากจะเรียก มันกำหนดตัวเองเกินไป อยากทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเท่านั้น เพลงทุกเพลงไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับจิตใจหรือการอนุรักษ์เราต้องมีหลักยึดตรงนี้ให้มันดี สิ่งเหล่านี้ใครก็คิด แต่ว่าจะทำออกมาหรือเปล่าเท่านั้นเอง ส่วนมากก็จะตกหลุมซะก่อน ไม่มีเวลา ไม่เห็นความสำคัญ ก็ว่ากันไป ...”

ป่าสอนบทเรียนชีวิต

การเข้าป่าในช่วงหนึ่งของชีวิต ทำให้เขาได้ค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่มีค่าในชีวิต ได้ทบทวนตัวเอง หลายคนอาจตราหน้าว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นคือความล้มเหลว แต่สำหรับเขาแล้ว เขาเลือกที่จะมองหาความสวยงามในขณะนั้น เพราะ ‘เขาได้เรียนรู้ชีวิต’

สุรชัย จันทิมาธร
สุรชัย จันทิมาธร

“ผมได้เรียนรู้อะไรมาอย่างมหาศาล เป็นคุณูปการให้กับชีวิตเลย แพ้ชนะก็เหมือนกีฬา ไม่ตายก็บุญแล้ว แต่สิ่งที่ได้มาเป็นเรื่องอื่นไม่ใช่การปฏิวัติ ผมได้ประสบการณ์การเรียนรู้คน ชาวเขา ชาวถิ่น ผมไม่เสียใจเป็นการเข้าใจป่า ป่าจริงๆ ที่เราได้เห็นเขาสอนเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราจะใช้ชีวิตยังไง ธรรมชาติเป็นยังไง เรารู้ 

“และในช่วงที่อยู่ป่าผมไม่ได้มองอนาคตอะไรเลยนะ มันเพลินจนไม่อยากออกจากป่าเลยด้วย มันสงบสบายใจ ถึงวันนี้ก็คิดอยากกลับไปอยู่ในชีวิตสงบๆ อย่างนั้นอีก คือในที่สุดอดีตมันก็เรียกร้อง ก็คิดนะว่าตอนนี้อายุก็มากแล้วจะเล่นดนตรีได้อีกนานแค่ไหน สุดท้ายก็ขออยู่สงบๆ เขียนหนังสือดีกว่า ถ้าจะตายขอตายอย่างนั้น 

“ชีวิตผมมันไม่ได้หลงอะไรกับลาภยศนัก รางวัลที่ได้มาต่างๆ มันก็นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ แต่มันจะเชิดให้เราเป็นไปแบบนั้นแบบนี้ไหม ก็ไม่ ‘เพราะผมคือตัวผม’ หลังจากที่ได้ศิลปินแห่งชาติ ก็ทำงานไปเหมือนเดิม 

“จริงๆ แล้ว ผมเองก็ไม่อยากให้ไปกำหนดอะไรนักหรอก ว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิต วงดนตรีเพื่อชีวิต แต่เอาล่ะ เมื่อมันได้ถูกกำหนดคำว่า ‘เพื่อสังคม’ ขึ้นมาแล้ว มันคือภาระหน้าที่ที่สังคมโยนมาให้วงดนตรี ‘เพื่อชีวิต’ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องแบกรับกันต่อไป จะแบกหนักแค่ไหนก็อยู่ที่แต่ละวงว่าได้รับมาขนาดไหน บางทีว่ากันจริงๆ ที่ทำไปทั้งหมดก็ไม่ได้เพื่อสังคมหรอก บางทีเขาก็ทำเพื่อตนเองบ้าง อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ ผมก็ไม่ได้ตำหนิอะไรนะ เพียงแต่ทำยังไงให้มันมีแนวโน้มให้มันดีขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองที่ต้องทำให้ดีขึ้น เรื่องสังคมเรื่องธรรมชาติ เรื่องอื่นๆ ด้วย มันก็ต้องช่วยกัน จะมาเขียนเพลงรักอกหักด่ากันมันก็ไม่ใช่ มันไม่ค่อยสร้างสรรค์เท่าไหร่ 

“ผมเองก็ผ่านวันเวลามานาน สิ่งที่ทำให้ตั้งมั่นเพื่อสังคมอยู่ได้ก็คือบทคำนึงที่มันพาดพิงไปถึงสังคม ไม่ได้เป็นผู้ชี้นำอะไรทั้งนั้น เพราะไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าที่เราคิดสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้องหรือเปล่า มันก็มีคำถามเหมือนกัน แต่เปอร์เซ็นส่วนมากคือใช่ ไม่ใช่ก็คงไม่ทำ”  

วิถีแห่งศรัทธา