Designer Time
จุดเริ่มต้นจากความชื่นชอบในงานศิลปะตั้งแต่เด็กทำให้วันนี้ชายหนุ่มผู้นี้ได้กลายเป็นนักออกแบบงานศิลปะระดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยเขาได้ออกแบบงานศิลปะไว้อย่างมากมาย อาทิเช่น งาน ABSOLUT ARTELIER , Tiger Translate
ฯลฯ นี่คือครั้งแรกที่เราจะเปิดเผยตัวตนและมุมมองในโลกงานศิลปะของเขาให้ทุกคนได้รู้จักกับชายคนนี้... “ชาย ลิมานนท์”
“ชีวิตของผมในโลกของงานศิลปะมันเริ่มต้นมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วแหละ ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกวิชานิเทศศิลป์ครับ จากนั้นผมก็ไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลียในด้านแอนิเมชั่น เรียนจบกลับมาเมืองไทยเริ่มจากการเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหา’ลัย สอนไปได้สักระยะหนึ่งก็มีรุ่นพี่มาชวนให้ไปเปิดบริษัททำงานในด้านที่ผมเรียนจบมาก็ทำไปได้ระยะหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยเป็นไปในทางที่ตัวเองต้องการสักเท่าไร จนสุดท้ายก็ลองออกมาทำบริษัทของตัวเองดูก็น่าจะประมาณ 7-8 ปีแล้วครับ
“ซึ่งสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการที่เราออกมาทำเองมันคือ การเรียนรู้ชีวิตคนในสังคมว่าทุกวันนี้มีผู้คนมากมายพยายามที่จะทำงานให้ออกมาเป็นรูปแบบของตัวเองมากขึ้นมีลายเซ็นในผลงานของตัวเอง ซึ่งมันก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยนะในการใช้ชีวิต แต่สำหรับผมกลับรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนชอบลองทำอะไรหลายๆ อย่างมากกว่า เพราะมันทำให้รู้สึกว่าได้เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีอีกทั้งมันเป็นการทดสอบตัวเองด้วยว่าจะทำมันให้เกิดขึ้นมาได้หรือไม่ได้อีกด้วย ช่วงอายุของคนทำงานมันมีเยอะนะ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าได้ทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดก่อนที่ตัวเราจะแก่ลงไปมันน่าจะดีกว่าการไม่ได้ลองทำอะไรเลยนะ”
Designer Time
จากประสบการณ์ในการทำงานด้านศิลปะมาอย่างยาวนาน สิ่งต่างๆ ที่พบเจอในโลกของการทำงานนั้นได้สอนให้เขาได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปก็คือ ความชื่นชอบในงานศิลปะที่เขามักจะบอกตัวเองอยู่เสมอว่า ศิลปะมันอยู่กับเราตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาแล้ว ...
“ศิลปะมันเป็นสิ่งที่น่าหลงใหลนะ นิยามของมันสำหรับผมคือการซ่อนทฤษฏีอยู่ในสิ่งที่มองไม่เห็น ผมรู้สึกว่า งานศิลปะมันมีประวัติความเป็นมามากพอกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์เลย ทุกสิ่งที่มองเห็นมันมีทฤษฏีซ่อนอยู่ในนั้นเสมอมันจะไม่เหมือนตัวเลขที่พอบวกแล้วเห็นภาพเลย เพราะฉะนั้นแล้วศิลปะและงานออกแบบมันสามารถไปผนวกกับงานทุกศาสตร์ได้ ผมมองว่า งานศิลปะหรืองานออกแบบนั้นมันทำให้คนดูอ่อนโยนนะ มันทำให้คนเราคุยกันรู้เรื่องพอสุดท้ายแล้วมาเจอกันศิลปะมันทำให้เราหล่อหลอมความคิดเข้าไว้ด้วยกันได้”
นอกจากความหลงใหลในการทำงานด้านศิลปะที่เขาชื่นชอบแล้ว ชาย ลิมานนท์มีขั้นตอนการทำงานที่น่าสนใจมากๆ เขาบอกกับเราว่า ทุกงานที่เขาได้รับมอบหมายให้มาทำ สิ่งที่ตัวเขาใส่ลงไปในผลงานของเขาตลอดมาก็คือ ความใส่ใจในรายละเอียดของงาน เขาจะใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนในการทำงานของเขาอยู่เสมอ
“เวลาผมได้รับงานมาเอาง่ายๆ สมมุติว่ามีเวลา 10 วันในการส่งแบบงาน ผมจะคิดงานไปแล้ว 9 วัน ไปใส่วันสุดท้ายก่อนส่งงานเลย คล้ายๆ กับเรารับโจทย์มาแล้วปล่อยตัวเองไปก่อนแล้วก็คิดงานไปเรื่อยๆ ให้มันผ่านหัว พอถึงวันที่มันมีกำหนดว่าจะต้องส่งแล้ว สุดท้ายมันก็จะเค้นงานออกมาได้เองแหละ สมัยก่อนตอนเริ่มทำงานใหม่ๆคือ ถ้าได้งานอะไรมาก็จะรีบทำเลยนะ แล้วรู้สึกว่าที่ทำมันเหมือนเราคิดเร็วไป เราไม่ได้รอบคอบกับมันเท่าไร
Designer Time
“อย่างงานล่าสุดกับการเป็น Art Director งานของ Arcadia Thailand ผมได้มีส่วนในการออกแบบดีไซน์เลเอาท์ของงานนี้ทั้งหมด ว่ารูปแบบของงานมันควรจะออกเป็นในลักษณะไหนจะทำอย่างไรให้คน 3 หมื่นคนเข้าไปอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ มันทำให้ผมต้องกลับมานั่งคิดและใส่ใจกับรายละเอียดทุกขั้นตอน ใส่ใจลงไปแม้กระทั่งการเดินทางของผู้มาชมงานนี้ว่าเขาจะขับรถเข้ามาทางไหน มีวิธีอย่างไรให้การจราจรของคนที่มางานเกิดความสะดวกสบายมากที่สุด เราใส่ใจตรงนี้หมดถ้าให้พูดง่ายๆ เลย งานนี้มันเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ครับ เพราะฉะนั้นแล้วมันจึงสะท้อนกลับมาให้เราคิดได้อีกว่ายิ่งโตก็ยิ่งคิดมากขึ้นนะ แต่ไอ้การคิดมากขึ้นมันก็ต้องมีวิธีคิดของมันว่าจะทำยังไงให้ผลงานของเรามันมีมูลค่ามากขึ้นตามไปด้วยนั้นแหละเป็นสิ่งที่เราต้องคิดและทำมันอยู่เสมอครับ”
โลกยิ่งหมุนไปมากเท่าใด ยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลงไปมากเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะบ้านเราก็เช่นกันในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ที่รักและทำงานในด้านงานศิลปะเกิดขึ้นมากมาย แต่ในมุมมองของเขากลับมองว่างานศิลปะในบ้านเรามันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่กับคำว่าพัฒนาขึ้นจากเดิมหรือหยุดอยู่กับที่
Designer Time
“ผมว่าสมัยนี้เด็กๆ เขาเก่งมาก การทำงานหรือแม้แต่ว่าการสร้างรูปแบบพวกเขาเก่งมากแต่ว่าพอมันเก่งมาก การพัฒนาในตัวงานของเขามันก็จะหยุดลงเร็ว การเดินหน้าไปทั้งเจเนอเรชั่นมันจะเกิดการสะดุด เพราะในยุคผมเองเป็นยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่ค่อยมีอิทธิพลในชีวิตสักเท่าไหร่ มันเป็นยุคที่คนต้องหาแสวงหาความรู้แล้วช่วยกันขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกัน ถ้าพูดถึงเรื่องสไตล์การทำงานใหม่ๆ ยังไงมันก็มีในทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายุคนี้สไตล์มันมีอยู่ไม่กี่ทางจริงๆ ทั้งๆ ที่เราเห็นว่าเยอะ แต่มันก็ไม่ได้เยอะอย่างที่มันควรจะเป็น ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เขาทำงาน เขาจะถือว่างานข้าแตะไม่ได้ ติไม่ได้เลย เขาจะค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งตรงนั้นมันก็ไม่ได้ผิดที่เขาหรอก แต่มันเป็นเรื่องที่ผิดในการวิเคราะห์ของตัวเขาเองมากกว่า เพราะจริงๆ แล้วระยะเวลาในการทำงานมันยังมีอีกไกล คือไม่ใช่ว่าคุณทำงานแค่สองปีแล้วก็จบกันไปคุณยังต้องทำงานอีกเป็นสิบปี วิธีพัฒนางานของคุณมันยังมีอีก เพราะฉะนั้นการที่เรียนจบมาทำงาน 2-3 ปีแรกมันยังไม่มีอะไรหรอก มันเป็นการเริ่มต้นมันมีน้อยคนนักที่จะโผล่ขึ้นมาดังได้เลยเพราะฉะนั้นแล้วจงมุ่งมั่นเปิดรับความคิดเห็นในงานที่ทำออกมาอยู่เสมอครับแล้วมันจะดีต่อตัวเราเอง”
“การเป็นนักออกแบบที่ดีอันดับแรกคือต้องมีความรู้ก่อนมีสตินะ ตั้งสติก่อนว่าสิ่งที่เราจะออกแบบเป็นการออกแบบอะไร มีความรู้ในสิ่งนั้นพอแล้วรึยัง มีการฝึกฝนมากพอแล้วรึเปล่า งานที่ดีมันต้องเกิดจากอะไร พูดง่ายๆ คือ ต้องลองทำบ่อยๆ ลองผิดลองถูก สุดท้ายต้องมีการนำเสนอที่ดี มีวาทะที่ดี อธิบายให้คนฟังได้ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เราต้องการจะออกแบบมันคืออะไร ผมอยากบอกถึงคนที่อ่านคอลัมน์นี้แล้วทำงานศิลปะหรือทำงานออกแบบด้วยว่าอยากให้ช่วยกันทำงานที่ดีที่สามารถส่งต่อความรู้สู่คนรุ่นต่อๆ ไปได้ ทำงานที่ดีทิ้งไว้ให้คนในอนาคตได้ดู แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกแง่ลบกับอะไรทั้งนั้นมองโลกในแง่บวกบ้างก็ดี มาช่วยกันผลักดันกันดีกว่า เพราะว่างานศิลปะในประเทศเรามันต้องโตอีกเยอะ ตอนนี้มันยังไม่โตมากเท่าไร ถ้าเราไม่ช่วยกันผลักดันพวกเรากันเอง มันก็ไม่มีใครช่วยหรอก มันก็ยังย่ำกันอยู่ที่เดิมเท่านั้นเองครับ”