วิมล กิจบำรุง
หากเปรียบชีวิตได้ดั่งละครสักเรื่อง ชายผู้นี้คงผ่านบทพิสูจน์มาแล้วหลายบท มีทั้งสุข เศร้า ผิดหวัง สมหวัง คละเคล้าปะปนกันไป ใครจะไปเชื่อจากความมุ่งมั่นและอุดมการณ์อันแรงกล้าผลักดันให้เขาลงมือทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้
ด้วยพละกำลังอันเปี่ยมล้น แม้ว่าสุดท้ายเขาจะไม่สามารถเก็บภาพความสวยงามเหล่านั้นไว้ด้วยสายตา ทว่าเขาจดจำทุกรายละเอียดนั้นไว้ด้วยหัวใจ
ชีวิตคือการผจญภัย
เชื่อได้เลยว่าในประเทศลาว โดยเฉพาะลาวใต้ ไม่มีใครไม่รู้จักชายผู้นี้ ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งอุทยานบาเจียง น้ำตกผาส้วม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญในแขวงจำปาสัก ประเทศลาว ผู้ซึ่งเป็นคนไทยแท้ๆ แต่กลับกลายมาเป็นนักธุรกิจที่อาศัยอยู่ในลาว ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วชีวิตเขาต้องผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมานับไม่ถ้วน
“ก่อนที่ผมจะมาที่นี่ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมกับภรรยาได้เปิดร้านอาหารไทยอยู่ที่ประเทศเยอรมัน พร้อมส่งลูกชายทั้งสองไปเรียนที่นั่น ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่งจนลูกๆ เรียนจบ พวกผมจึงย้ายกลับมาประเทศไทย ต่อมากลางปีพ.ศ. 2539 ผมได้รับคำชวนจากเพื่อนนักธุรกิจให้มาลงทุนเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นโรงแรมในเมืองปากเซ มาวันแรกท่านเจ้าแขวงกับภรรยาและเจ้าของโรงแรมรวมทั้งผมคุยกันสนุกมาก เกิดเป็นความประทับใจ รุ่งเช้าผมเลยขอเดินสำรวจตลาด พร้อมกับสำรวจสถานที่ต่างๆ ในแขวงจำปาสัก
วิมล กิจบำรุง
“ผมจ้างรถสำรวจท้องถิ่น สำรวจทุกที่แต่ก็ยังไม่เจอสถานที่ที่ถูกใจ จนวันสุดท้ายของการสำรวจคนขับรถพาผมออกไปนอกเมืองประมาณ 60 กม. ไปดูน้ำตกแห่งหนึ่งแต่ผมก็ยังรู้สึกเฉยๆ ขับมาได้ครึ่งทาง คนขับรถบอกผมว่ามีอีกที่หนึ่งจะพาไปดู ผมจำได้ตอนเดินเข้ามา เป็นน้ำตกเล็กๆ แห้งแล้งมาก แต่ในใจผมกลับคิดว่า ‘เข้าท่าดี’ ผมจึงหยิบกล้องถ่ายรูปออกมาถ่ายบรรยากาศรอบลำห้วย แล้วจำทางไว้ เมื่อกลับมาไทย เอารูปไปล้าง ผมบอกกับภรรยาทันทีว่า สงสัยเราจะเจอที่ที่จะอยู่ตอนแก่แล้ว
“ตอนนั้นผมมีความรู้สึกว่าที่นี่น่าอยู่แค่นั้นเอง มันน่าจะมีธุรกิจอย่างหนึ่งที่ทำแล้วไม่ขาดทุนและอยู่ได้อย่างสบาย เป็นการทำธุรกิจที่เราสามารถทำร่วมกับมันได้ จากนั้นผมตัดสินใจเดินทางกลับมาที่นี่อีกครั้ง เพื่อเริ่มดำเนินการสำรวจพื้นที่อุทยานอย่างละเอียดทุกจุด ทุกตารางเมตร สมัยนั้นลำบากมาก ถนนยังเป็นลูกรังไม่มีสะพานเชื่อม แต่ผมก็สำรวจจนผมมาครบทุกฤดู รู้หมดหน้าฝน หนาว ร้อนเป็นแบบไหน
“จึงชวนเพื่อนสถาปนิกมาช่วยออกแบบ หลอกล่อกันสารพัด (หัวเราะ) พอเขามาถึงเห็นสถานที่จริง บอกว่าเป็นไปไม่ได้ ผมไม่ยอม ชวนเพื่อนวิศวกรมาดูอีก เขาก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม ผมก็ยังสู้ต่อนะ ก่อนที่ผมจะมาที่นี่ เรียกได้ว่าผมข้ามน้ำข้ามทะเลมาเยอะมาก ไปนู่นไปนี่มาครบหมด เห็นอะไรมาก็เยอะ นึกว่าเป็นสวรรค์แต่ที่ไหนได้คือนรกทั้งนั้น พอมาเจอสถานที่นี้ ตอนแก่ผมขออยู่ที่นี่ดีกว่า
“ผมพกไดอารี่มาเขียนที่นี่ทุกครั้ง ลองคิดภาพว่าถ้าเราทำรีสอร์ทให้นักท่องเที่ยว เรามีกิจกรรมอะไรให้พวกเขาบ้าง นักท่องเที่ยวมีกี่ประเภทเรารู้นี่ เราอยากได้นักท่องเที่ยวแบบไหน เราก็ต้องทำแบบนั้น ฉะนั้นคุณไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมที่นี่ไม่ขายเหล้า บุหรี่ ห้ามพาสาวบริการมานอน คนอื่นเขาก็แปลกใจว่านี่ผมสร้างวัดหรือสร้างรีสอร์ทกันแน่ (หัวเราะ)”
ละครบทใหม่
จากผืนป่าเสื่อมโทรม เขากลับพลิกฟื้นป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ราวกับว่าเขาได้เอาชีวิตทั้งชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน ต้องแลกมาด้วยโลกที่มืดมิดทันทีที่ผลงานของตนเองนั้นสร้างเสร็จ
“หลังจากผมสำรวจพื้นที่เก็บรายละเอียดทุกขั้นตอน 1 ปีต่อมา ผมก็เข้าไปพรีเซ้นต์ผลงานให้ท่านเจ้าแขวงฟัง บอกว่าโรงแรมนี่ผมไม่เอาแล้วนะ แล้วผมก็เอาแผนร่างของอุทยานที่เป็น Perspective มาให้ดูครบเลย แล้วอธิบายว่าจะทำสถานที่ท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมเก่าแก่ของชนเผ่าต่างๆ ไว้ จนได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลลาวให้ก่อสร้างด้วยเนื้อที่ 1,300 ไร่
“ผมวางแผน ลงมือทำเองหมดทุกอย่าง กู้ธนาคารก็ไม่ผ่านเพราะเขาบอกว่าลงทุนที่นี่มีแต่เสี่ยงกับเสี่ยง ผมเลยเบิกเงินที่มีในธนาคารทั้งหมด ขายรถหรูๆ ขายที่ดิน คำที่ว่า ‘เขาหาว่าข้อยบ้า’ จากชื่อหนังสือที่ผมเขียน มันก็เริ่มมาจากตรงนี้แหละ ผมขับรถมาคนเดียวจากกรุงเทพฯ มาเรื่อยๆ จนถึงลำตะคลอง ยางแท่นเครื่องรถยนต์มันขาด รถก็สั่น เสียงเทปคาสเซ็ทยังไม่ได้ยิน ผมขับมาคนเดียว เอามือตบพวงมาลัยดังปึ้ก แล้วพูดกับตัวเองว่า ‘ทำอะไรอยู่ บ้ารึเปล่าวะ’ พอผมผ่านถนนเส้นนี้มาทีไร ผมก็จะคิดถึงช่วงเวลานั้นทุกที”
ด้วยสภาพป่าอันเสื่อมโทรมในสมัยนั้น ทางเข้าเป็นเพียงทางเกวียนเล็กๆ คดเคี้ยว รถเข้าถึงยาก หากวันใดฝนตกยิ่งทำให้ไม่สามารถเข้าออกได้เลย เขาจึงต้องใช้แรงงานในท้องถิ่นปรับปรุงพื้นที่ใหม่เกือบทั้งหมด ทั้งยังปลูกต้นไม้เพิ่มเติมประมาณ 25,000 ต้น เพื่อทดแทนส่วนที่ถูกลักลอบตัดไป
วิมล กิจบำรุง
“ต้นไม้ที่ใหญ่ที่สุดผมจำได้ว่า ขุดล้อมมาจากข้างนอก ใช้แรงงานคนกว่า 25 คน ช่วยกันหามมาปลูกที่นี่ แต่เดิมบริเวณหมู่บ้านชนเผ่าเป็นทุ่งหนามไมยราบ ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลยนะ แต่เราก็ช่วยกันปลูกและขุดล้อมไม้กันเยอะ จนอุดมสมบูรณ์อย่างปัจจุบัน ที่สำคัญเรานำช้างมาช่วยลากไม้ที่ล้มตายหรือไหลมาตามแม่น้ำลำห้วย เพื่อมาสร้างเป็นร้านอาหาร
“เมื่อเปิดอุทยานคนก็มากันเต็ม แต่เปิดได้เพียงไม่กี่วัน ผมก็กลับไปเช็คร่างกายที่กรุงเทพฯ เจอเชื้อมาลาเรียขึ้นสมอง ผมนอนป่วยไป 8 วัน หมดสติโคม่า พอฟื้นขึ้นมาผมอยู่ในห้อง CCU เลยนะ ตื่นมาก็ต้องฟอกไต ล้างไต ผมคิดในใจว่า ‘นี่เราต้องรับบทใหม่ในละครชีวิตอีกแล้วเหรอ บทที่มองไม่เห็น’
“หมอที่รักษาผมบอกว่าอีก 2 อาทิตย์ ผมจะมองเห็น ผมก็นับวันรอ รู้ไหมผมนับวันยังไง ทุกวันจะมีพยาบาลมาเจาะเลือดที่นิ้ววันละครั้ง ผมก็นับไปวันละนิ้ว ครบ 10 นิ้วก็แล้ว ครบสองอาทิตย์ก็แล้ว เออ ไม่เห็นก็ไม่เห็น หมอเขากลัวผมจะฆ่าตัวตาย บอกให้พยาบาลล็อคหน้าต่างไว้ให้ดี แล้วหมอก็เดินมาจับมือผม บอกว่ามีอะไรให้หมอช่วยไหม ผมบอกหมอว่า หมอต้องรีบไปหาวิธีทำให้ผมหายมาสิ ไม่ใช่มาถามผม ผมจบเพาะช่าง (หัวเราะ) ผมหมดไปหลายล้านแล้ว ผมเป็นคนที่อยากอยู่ ไม่อยากตายไม่ต้องกลัว ผมคิดว่ามองไม่เห็นก็ไม่เป็นอะไรนะ ทุกวันนี้บริหารงานมาโดยมองไม่เห็น 10 กว่าปีมาแล้ว ทุกอย่างก็ราบรื่นดี
“สองสามปีแรกนี่มืดสนิทเลย ผมมองไม่เห็นอะไร ปัจจุบันนี้ผมเริ่มมองเห็นในที่สลัว ที่ผมใส่แว่นเพราะต้องสลัวๆ ไว้ สมมติว่าหกโมงเย็นผมถอดแว่นแล้วเดินเข้าไปในห้องผมจะเห็นจานข้าว เห็นช้อน แต่เป็นขาวดำ รับรู้ได้ อย่างถ้านั่งตรงร้านอาหารเจอลูกค้านั่งหันหลังให้ใส่เสื้อลายทางสีขาวดำ ผมก็จะมองเห็นแบบลางๆ แต่ถ้าเป็นเสื้อสีส้ม แดง ผมก็จะไม่เห็น ต้องใช้ไม้เท้าคอยพยุง ไม่ให้ตกหลุมก็พอแล้ว”
เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ภายในอุทยานบาเจียง นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในแบบที่สวยงามแล้ว ยังได้รวบรวมหมู่บ้านโบราณของหลายชนเผ่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ให้ได้ชื่นชม อย่างโครงสร้างของบ้านพักในอุทยานจะถูกดัดแปลงมาจากบ้านต้นแบบของชนเผ่า พร้อมทั้งจัดทำพิพิธภัณฑ์ชนเผ่าไว้ด้วย
“พนักงานผมเป็นชนเผ่าหมดนะ มีพนักงานทั้งหมดอยู่ 70 ชีวิต ผมรวบรวมชนเผ่าทางลาวใต้มาได้ 13 เผ่า มีประมาณ 20 กว่าคน ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มี 11 คน เป็นคนพิการ ซึ่งแต่ละคนมีทั้งมือเดียว ขาเดียว หูหนวก ง่อย บ้า ปัญญาอ่อนมีครบ แต่ทุกคนที่อยู่ที่นี่มีความสุข
วิมล กิจบำรุง
“กว่าผมจะเรียนจบเพาะช่าง ผมฝ่าฟันอุปสรรคมาเยอะ มีคนช่วยเหลือผมก็แยะ ผมเลยคิดว่า ตัวเราเองเป็นเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง แต่ก็ยังมีคนคอยช่วยเหลือมาตลอด พอมาถึงจุดที่เราสามารถเลี้ยงตัวองได้ ทำธุรกิจได้โดยไม่ขาดทุน อยู่ได้อย่างมีความสุข นี่คือที่สุดแล้ว ผมเลยเลือกคนที่สามารถทำงานได้ แม้เขาจะพิการแต่เราก็สามารถดึงจุดเด่นที่เขาทำได้ออกมาสิ เป็นการช่วยเหลือ ผมก็เป็นคนพิการเหมือนกันนะ ผมเชื่อว่าทุกคนมีส่วนดีอยู่ในตัวเองอยู่เสมอ อย่างคนหนึ่งเขามีมือเดียวที่ใช้การได้แต่ก็พาคุณเดินชมสถานที่ได้นะ วาทศิลป์เขาก็ดี ตรงนี้เราต้องรู้จักมองคนให้เป็น
“เมื่อผมมองไม่เห็น แต่งานทุกอย่างจะต้องมีการพัฒนา ด้านการบริหารงาน ที่นี่ผมเปรียบเสมือนนายพล ปกครองในแบบกระจายอำนาจ มีนายพัน นายร้อย จ่า เรียงกันไป เวลาประชุมผมก็จะเรียกนายร้อยมาประชุมบ้าง เรียกนายพันมาถามปัญหาบ้าง แบ่งกันดูแลกันไป
“เวลาเกิดปัญหาอย่างต้นไม้ล้ม ผมก็จะถามคนงานว่าล้มตรงไหน หน้าบ้านหลังที่เท่าไหร่ บอกพิกัดมา อย่างในช่วงฤดูฝนผมก็จะซื้อต้นไม้ ดอกไม้ไปปลูก ผมจะให้คนขายเอาเมจิกเขียนไว้ที่ใบ พอมาถึงที่อุทยานก็เรียกคนสวนมาให้อ่านว่าชื่อต้นอะไร จะให้ปลูกตรงไหน ผมสามารถบอกได้เลยว่า เอ็งเดินไปบ้านหลังนี้นะ หันหน้าไปทางด้านหน้าน้ำตก เดินไป 10 ก้าว เลี้ยวขวา 5 ก้าว แล้วปลูกเลย เพราะทุกอย่างเราเป็นคนออกแบบหมด ผมรู้ว่าจะต้องวางไว้ตรงไหน ลงล็อคหมดทุกจุด มันเป็นเรื่องที่แปลกมาก ตอนที่สายตาผมยังดี ตอนเช้าทานข้าวกับอะไร ตอนเที่ยงผมลืมแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ผมกลับจำเบอร์มือถือคนรอบข้างผมได้ 52 รายการ ผมจำได้หมด ผมว่าเป็นการทดแทนในสิ่งที่ขาดหายไปนะ”
ชีวิตคิดบวก
เพราะชีวิตไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยขวากหนามให้ฝ่าฟันตั้งแต่วัยเด็กหนุ่ม พบทางแยกให้เลือกเดินหลากหลายเส้นทาง หากแม้เขาเลือกก้าวเดินในอีกเส้นทาง ปัจจุบันคงไม่มีอุทยานบาเจียงให้พวกเราเชยชม
“ทำไมคุณไม่ไปสร้างแบบนี้ที่บ้านเรา ทุกคนมักถามผมแบบนี้ เมืองไทยหากไม่มีเชื้อเจ้าเราไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของน้ำตกได้เลย เราอย่าไปคิดอะไรให้มาก ผมคิดว่าผมอายุมากแล้ว เกษียณแล้ว อยากทำงานที่มีความสุข พวกเด็กๆ อาจคิดไม่เหมือนผม คือรุ่นผม ถ้าได้ลงมือเรียนหรือทำธุรกิจสักอย่างหนึ่งแล้ว ต้องทำอย่างที่เราชอบมันถึงจะมีความสุข ผมรู้จักคนจำนวนมากที่มียศสูงศักดิ์ แต่ไม่มีความสุข มันแปลกดีนะ มันทำให้ชีวิตผมมีความสุข เพราะผมรู้จักตัวเองตั้งแต่อายุ 16 ปี
“ผมเรียนมศ.3 อยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ผมจะต้องบวชเรียนเป็นเณร เมื่อก่อนมีสามเทอม เทอมกลางผมทำคะแนนวิชาวาดเขียนได้เต็ม ผมแฮปปี้มาก ครูสอนวาดเขียนก็เรียกผมไปพบ บอกว่าเธอเป็นคนที่มีพรสวรรค์ ครูเสียดายเธอเหลือเกิน เพราะเดี๋ยวเธอก็ต้องบวชแล้ว เธอน่าจะได้เรียนศิลปะ ด้วยความที่เราก็เป็นเด็กบ้านนอก ถามครูว่าโรงเรียนศิลปะมีด้วยหรือครับ ครูบอกมีสิ ครูจบเพาะช่างมา คืนนั้นผมนอนไม่หลับ วันต่อมาผมไปพบอธิการบดีบอกว่าผมขอลาออกไปเรียนศิลปะ อธิการบดีบอกให้เวลาสองอาทิตย์ไปคิดดูดีๆ แต่หากคุณตัดสินใจแล้วอธิการก็จะช่วยเธอนะ เพราะอธิการเป็นคนฝรั่งเศส มีพื้นฐานการวาดรูปดีมาก เอากระดาษ ดินสอให้ผม สอนพื้นฐานให้ผม จนผมได้เรียนเพาะช่าง
“คิดว่าจะได้เรียนอย่างราบรื่น แต่ที่บ้านผมเป็นคนจีน พ่อผมไม่ยอมให้เรียนบอกว่าจบมาจะทำอะไรกิน แต่ผมก็ดิ้นรนทั้งเรียนและทำงานทำควบคู่กันไป ไม่ว่าจะแต่งหน้าร้านขายผ้าไหม รับจ้างเขียนใบประกาศนียบัตรให้โรงเรียนกวดวิชา ขายของทุกอย่างที่สามารถขายได้ ผมเรียนเพาะช่างห้าปี มีเงินฝากแปดหมื่นบาท ในสมัยนั้นถือว่าเยอะมากเลยนะ อย่างน้อยเราก็สามารถหาเงินจากน้ำพักน้ำแรงเราได้
วิมล กิจบำรุง
“สมัยที่ลงมือทำอุทยานแรกๆ นอกจากมีความเหนื่อยแล้ว ยังมีเรื่องของภาษาด้วยนะ อย่าลืมว่าผมทำงานกับคนลาว เราฟังเขาไม่รู้เรื่อง โดนหลอกเละเลย แต่เราก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป ผมผ่านธุรกิจที่เกาะล้านมาแล้ว ผมรู้ว่านักท่องเที่ยวอยากได้อะไร ผมไปเมืองนอก ก็ไปดูการใช้ชีวิตต่างๆ ที่นี่ผมออกแบบเอง ปัญหามันก็มีทุกที่แหละครับ อยู่ที่เรารับมือกับมันยังไง
“ทุกวันนี้ ผมนอนหกโมงเย็น แล้วผมจะตื่นประมาณตีหนึ่ง ตีสอง ออกกำลังกายบ้าง สวดมนต์บ้าง ฟังวิทยุที่เมืองไทยบ้าง เจ็ดโมงครึ่งเด็กก็จะจูงมือผมไปนั่งตรงร้านอาหาร ผมจะทานข้าวตอนเช้าแล้วก็จะคุยกับเด็กบ้าง ถามสารทุกข์สุขดิบ แล้วผมก็จะอยู่อย่างนั้น ลูกค้าก็จะเข้ามาประมาณสิบเอ็ดโมง คุยกับแขกบ้าง เซ็นหนังสือบ้าง ถ่ายรูปบ้าง บ่ายสองผมก็กลับมาอยู่ที่บ้าน ชีวิตผมก็เป็นอย่างนี้แหละ แต่บางครั้งก็โกรธ ที่ลูกค้ามาถามว่า ผมทำไปทำไม แล้วใครดูบัญชีให้คุณ เขาจะโกงคุณไหม ผมตอบไปว่า ‘ผมได้กำไรทุกปี’ ผมเชื่อว่าคนโกงมีอยู่สองอย่าง หนึ่งคือโกงเพราะเงินไม่พอกิน เราก็สอนให้เขาพอกินสิ พ่อเป็นกรรมกร ลูกเป็นเด็กเสิร์ฟ ยายอยู่เฉยๆ ก็มานั่งขายถั่ว ทุกคนมีรายได้หมด แต่ถ้าพอกินแล้วยังโกงนั้นก็เรียกว่าสันดาน อย่างนี้ต้องประหาร มันเป็นระบบ ถ้าผมเป็นคนงกนะ ผมจะให้คนเก็บเงินค่าเข้าห้องน้ำแล้ว ได้เดือนละแสน แต่ผมไม่เอาหรอก”
“ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งแต่มาอาศัยอยู่ในประเทศลาว ผมสัมผัสได้ว่า คนลาวมีอคติกับคนไทยอยู่เยอะนะ ตั้งแต่สมัยทำสงครามเวียดนาม แต่ผมทำให้รัฐบาลลาวรู้ว่า คนไทยเขามีคนดีอีกเยอะ อย่างน้อยก็มีผมคนหนึ่ง เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ลาวเป็นเมืองที่มีมนต์เสน่ห์ ผมต้องขอบคุณสถานที่แห่งนี้จริงๆ ขอบคุณเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา ที่ทำให้ผมมาเจอสถานที่แห่งนี้ ผมขอบคุณที่เขาบรรจุความคิดดีๆ ให้ผม แล้วให้ผมประสบความสำเร็จ รอดพ้น เจอคนดี ให้ได้ลูกค้าดีๆ ได้รับแต่สิ่งดีๆ จนผมมีชื่อเสียง ทุกวันนี้ผมมีความสุข”
จากพื้นที่เล็กๆ ในอดีตที่ไม่มีใครรู้จัก ได้กลับกลายมาเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆ ของประเทศลาว ความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ ถูกปรับแต่งขึ้น แน่นนอนว่าล้วนเกิดจากการร่างภาพในฝันให้เกิดขึ้นจริงจากชายเพียงหนึ่งคน แต่สามารถเกิดประโยชน์ต่อคนอีกมากมาย แล้วอย่างนี้แล้วใครจะหาว่าเขาบ้า ... อยู่อีกหรือ