อุโมงค์ผาเมือง

อุโมงค์ผาเมือง

     “เพราะเหตุใด คนทั้งสามจึงไม่พูดความจริง?” คำถามที่น่าฉงนสำหรับเรื่องราวของการฆาตกรรมแห่งยุคใน อุโมงค์ผาเมือง ภาพยนตร์ฝีมือกำกับของ หม่อมน้อย-หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่ถูกดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่องเยี่ยม ราโชมอน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ในปี พ.ศ.2554 ถือเป็นวาระครบรอบ 100 ปีของท่าน) โดยต้นฉบับเดิมนั้นเป็นเรื่องสั้น 2 เรื่องคือ ประตูผี และ ในป่าละเมาะ ของนักประพันธ์ยอดฝีมือชาวญี่ปุ่น ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ซึ่ง อากิระ คุโรซาว่า จักรพรรดิแห่งวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น ได้เคยหยิบมากำกับเป็นผลงานลำดับที่ 11 ของเขาในชื่อ Rashomon เมื่อปี พ.ศ.2493

 

เรื่องราวของอุโมงค์ผาเมืองนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2110 หรือราวห้าร้อยปีก่อน ณ นครผาเมืองแห่งอาณาจักรเชียงแสน ซึ่งเกิดคดีฆาตกรรมปริศนาที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน และลึกลับเกินกว่าจะหาความจริงได้ เมื่อ โจรป่าสิงห์คำ (ดอม เหตระกูล) โจรที่อ้างว่าตัวเองเหี้ยมโหดที่สุดในแผ่นดินถูกจับในฐานะฆาตกรที่ปลิดชีวิต ขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า (อนันดา เอเวอริงแฮม) รวมทั้งเจ้าโจรป่ายังข่มขืน แม่หญิงคำแก้ว (พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ภรรยาของขุนศึก โดยคำให้การของโจรป่าสิงห์คำและแม่หญิงคำแก้ว สร้างความสับสนงงงวยให้กับ เจ้าผู้ครองนคร (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) รวมทั้งผู้คนที่มาฟังคำให้การเป็นอย่างยิ่ง เพราะทั้งคู่ต่างรับว่าตนเองเป็นผู้ฆ่าขุนศึกเจ้าหล้าฟ้า จนทำให้ท่านเจ้าหลวงเรียก ร่างทรง (รัดเกล้า อามระดิษ) มาเข้าทรงดวงวิญญาณของขุนศึกเพื่อหาความจริง แต่วิญญาณกลับบอกว่าตนเองนั้นฆ่าตัวตาย

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้พระหนุ่มอานนท์ (มาริโอ เมาเร่อ) ถึงขั้นตัดสินใจละทางธรรมกลับสู่ทางโลกเพราะรับไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าทำไมทั้งหมดจึงต้องทำเช่นนั้น รวมถึงถอดใจถึงเรื่องที่ไม่สามารถสั่งสอนคนให้เป็นคนดีได้ เพราะที่ผ่านมาสามารถทำได้ตลอด โดยมี คนตัดฟืน (หม่ำ-เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) วิ่งออกตามหาและรั้งไว้ไม่ให้จากไป จนกระทั่งฝนตก พายุเข้า ทำให้ทั้งคู่ต้องเข้าไปหลบในอุโมงค์ผาเมือง 

 

การพูดคุยของทั้งคู่ ทำให้ สัปเหร่อ (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง) ซึ่งหลับอยู่ในถ้ำ ตื่นขึ้นและอยากฟังเรื่องราวคำให้การทั้งสามคนอีกครั้ง สุดท้ายปมปริศนาที่ค้างคาใจเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมนี้ก็ค่อยๆ ถูกแง้มขึ้น และนำไปสู่บทเฉลยของคำให้การทั้งหมดว่า เหตุใดทั้งสามจึงไม่พูดความจริง ซึ่งกระทั่งในตอนท้ายที่คนตัดฟืนมาเล่าเรื่องใหม่แล้วอ้างว่าเป็นเรื่องจริงนั้น ก็ถูกแย้งด้วยมุมมองบางอย่างของสัปเหร่อ ทำให้เป็นหน้าที่ของคนดูต้องคิดต่อจากเรื่องว่า ตกลงแล้วเรื่องราวจริงๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเช่นไร

 

แต่แม้ความจริงของเรื่องจะไม่ได้ถูกเฉลยทั้งหมด เพราะแม้กระทั่งคนเขียนบทดั้งเดิมก็ไม่เคยเฉลยว่า เรื่องราวแห่งความจริงของคดีฆาตกรรมนี้เป็นเช่นไร แต่ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับรู้เรื่องราวสามารถสะท้อนความเป็นตัวตนของคนในเบื้องลึกออกมาได้อย่างหมดจด 

 

เหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการไม่พูดความจริงในเรื่อง ก็คงเพราะคนต่างมีศักดิ์ศรีเป็นของตัวเอง โจรป่าที่อวดอ้างว่าตนเองสามารถทำร้ายขุนศึก รวมทั้งข่มขืนภรรยาของขุนศึกได้นั้น ก็เป็นเพราะอยากให้ภาพสุดท้ายในชีวิตของตนเองดูมีอำนาจ เพราะแม้ตนเป็นเพียงแค่โจรป่าที่ต่ำต้อย แต่ก็สามารถทำร้ายขุนศึกได้

 

ส่วนแม่หญิงคำแก้วที่เล่าเรื่องว่าตนเองเป็นผู้ปลิดชีวิตสามีตนเองนั้น ก็คงมิอาจบอกความจริงได้ว่าตนเองนั้นแท้ที่จริงภายในก็มิได้สวยงามเหมือนภายนอกที่ผู้คนได้เห็นกัน

 

สำหรับขุนศึกที่ให้การผ่านร่างทรงนั้น เกียรติของนักรบผู้ออกศึกมานับร้อยและเป็นที่ยกย่องของผู้คน จะเปิดเผยได้อย่างไรว่ามีรอยแผลบางอย่างที่บาดลึกอยู่ภายใน ทำให้ต้องอ้างศักดิ์ศรีและตัดสินใจฆ่าตัวตาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจากบทเดิมนั้นคือซามูไร และซามูไรในสมัยนั้นก็ยอมที่จะฮาราคิรีตัวเองเสียดีกว่าที่จะให้ผู้อื่นมาเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของตน

 

สำหรับคนตัดฟืนที่อ้างตัวว่าเป็นผู้พบศพคนแรก และวิ่งไปหาตำรวจเพื่อแจ้งเหตุ ก็ไม่ได้พูดความจริงทั้งหมด เพราะไม่พูดถึงอาวุธที่หายไปในที่เกิดเหตุแม้แต่น้อย

 

สุดท้ายทุกคนในเรื่องล้วนแล้วแต่พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรกับสังคมปัจจุบันที่ผู้คนต่างใช้คำพูดอวดอ้าง และทำให้ตัวเองดูสูงส่ง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ภาพภายในจิตใจหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เชื่อว่าใครที่ดูจนจบ คงจะเข้าใจถึงความเป็นคนมากขึ้นไม่มากก็น้อย

 

และสำหรับคำพูดที่ว่า คนกำลังจะตายไม่พูดโกหก กับ คนตายไปแล้วพูดโกหกไม่ได้ คงใช้ไม่ได้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ 

ทุกคนในเรื่องล้วนแต่พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน