ชาตรี คงสุวรรณ

ชาตรี คงสุวรรณ

1.Intro

บ่ายสองของวันอังคาร เรามีนัดกับ โอม ชาตรี คงสุวรรณ ที่ออฟฟิศของเขา มิสเตอร์มิวสิค แถวๆ ย่านประชานิเวศน์ เมื่อเราไปถึงก็ดูเหมือนเขาเตรียมตัวพร้อมที่จะให้สัมภาษณ์อยู่แล้ว

 

บรรยากาศภายในโฮมออฟฟิศหลังนี้อบอวลไปด้วยความเป็นดนตรี เปียโนไฟฟ้าวางอยู่มุมนั้น กีตาร์มากมายหลายตัวทั้งตั้งพื้น ทั้งแขวนอยู่ บนผนังเต็มไปด้วยรูปภาพของวงดนตรีระดับโลกมากมาย ห้องอัดขนาดย่อมๆ ภายในดูสะอาดและมีระเบียบเรียบร้อย ขึ้นมาชั้นสอง ตู้หนังสือติดผนังสูงจรดเพดาน ห้องทำงานโล่งโปร่งตา มองออกไปเห็นสนามหญ้าภายนอก

 

เขาต้อนรับเราด้วยท่าทีเป็นมิตร และบอกว่าอย่าถือเป็นการสัมภาษณ์เลย พูดคุยกันสบายๆ ดีกว่า เราเปิดประเด็นด้วยการถามไถ่ถึงผลงานล่าสุดที่เขาทำอยู่

 

“ช่วงนี้ผมจะค่อนข้างทำงานหลายอย่างครับ ผมมีบริษัทของตัวเองชื่อ มิสเตอร์มิวสิค ก่อตั้งมาประมาณ 4 ปีแล้ว ก็จะทำกิจกรรมเกี่ยวกับงานดนตรีของตัวผมเองโดยเฉพาะ แล้วก็ใช้ค็อนเน็กชั่นต่างๆ ที่เรามีกับองค์กรต่างๆ เช่น สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ผมจะร่วมงานกับสิงห์มาตลอดทุกปี มีโพรเจ็กต์อะไรก็ทำในนาม มิสเตอร์มิวสิค นี่แหละครับ หรืออย่างทรู คอร์ปอเรชั่น ผมก็จะร่วมงานกับ อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ในส่วนที่เป็นโชว์ เป็นคอนเสิร์ต

 

“รวมๆ แล้วนี่เป็นเรื่องปัจจุบันที่ทำอยู่ ส่วนเรื่องใหม่ๆ ก็จะมีเรื่องที่มีโอกาสได้ร่วมทำบริษัทเพลงชื่อ สหภาพดนตรี กับพี่ป้อม-อัสนี โชติกุล และ พี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ก็มีแถลงข่าวไปสักพักนึงแล้ว แต่คงจะดำเนินการจริงๆ ก็ช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไปครับ เพราะในส่วนของผมยังไม่ได้เริ่มโพรเจ็กต์อะไร เป็นช่วงเปิดตัวไปก่อน คงต้องเรียกว่าสหภาพดนตรีเป็นธุรกิจใหม่สำหรับผม เพราะการที่ได้ไปร่วมงานกับพี่ๆ ที่เป็นมือโปร และมี สิงห์ คอร์ปอเรชั่น สนับสนุน ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำเรื่องใหม่ที่โตๆ ขึ้น เพราะผมตั้งใจว่าจะกลับมาเดินในสายของศิลปินอย่างจริงจังมากขึ้น”

 

พูดมาถึงตรงนี้ คงต้องเท้าความไปถึง Into The Light อัลบั้มเดี่ยวชิ้นสำคัญในชีวิตของเขาที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ซึ่งถือเป็นงานที่บ่งบอกตัวตนคนดนตรีของเขาได้อย่างชัดเจน และมันก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับ 3 รางวัลจากสีสันอวอร์ดส์ คือ อัลบั้มยอดเยี่ยม ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม และเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม ทั้งหมดจึงนับได้ว่าอัลบั้มนี้เป็นหมุดหมายคั้งสำคัญของการกลับมาสู่เบื้องหน้าอีกครั้ง

 

“จริงๆ ช่วงหลังๆ ผมก็วางตัวเองในส่วนที่เป็นศิลปินค่อนข้างเยอะนะ ผมคงต้องเล่าย้อนกลับไปในช่วงตอนที่ออกจากแกรมมี่ อาจจะเป็นเพราะด้วยความรู้สึกที่เราเริ่มล้ากับการทำงานที่อยู่ในระบบ เพราะผมอยู่มาตั้งแต่เป็นโพรดิ๊วเซ่อร์ นั่งอยู่ในห้องอัด จนขึ้นมาเป็นผู้บริหารที่มีค่ายย่อยเป็นของตัวเอง มันเดินมาจนรู้สึกว่าไกลจากคำว่าศิลปินมาก เราไม่เคยคิดว่าจะต้องเดินมาในสายที่เป็นนักธุรกิจ เป็นผู้บริหารเต็มตัวแบบนี้ ช่วงนั้นก็เลยมีความคิดที่แยกออกมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองแล้วก็เริ่มเพิ่มความเป็นศิลปินให้ตัวเอง ต้องเรียกว่าเพิ่มขึ้นทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้ แต่พอถึงวันนี้มันอาจจะเป็นเพราะวัยเรา เพราะคอนเน็กชั่นต่างๆ ก็เลยอาจจะกลายมาเป็นคนที่ต้องทำธุรกิจจริงจังอีกครั้ง แต่การทำครั้งนี้ผมคิดว่าผมจะทำควบคู่ไปกับการเป็นศิลปิน นี่คือความตั้งใจของผม

 

“ผมผ่านยุคที่เพลงเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ คนดนตรีที่เป็นตัวจริงหรือคนที่เป็นนักผลิตต่างๆ ไปอยู่เบื้องหลังกันเยอะ เหตุผลหลักๆ ก็เพราะในยุคเริ่มต้นมันเป็นงานที่ดีมาก แต่มันก็มีการพลิกไปพลิกมาหลายๆ ครั้ง อย่างในยุคที่ผมเป็นวัยรุ่น มันก็เป็นยุคของคนที่อยู่เบื้องหน้า ดารา นักร้องเยอะ ตอนผมเข้าไปอยู่กับดิ อินโนเซ้นท์ คนทำงานเบื้องหลังไม่มีเลย เพราะไม่มีคำว่าโพรดิ๊วเซ่อร์ ไม่มีคำว่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์เพลง แทบทุกอย่างเป็นการว่าจ้างทำงาน คนที่ได้ผลประโยชน์เป็นกอบเป็นกำก็จะเป็นตัวนักร้อง แล้วก็ตัวเถ้าแก่ที่เป็นเจ้าของ

 

“พอยุคต่อมาซึ่งต้องยกเครดิตให้พี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่เป็นผู้ให้กำเนิดระบบที่พาศิลปินเข้ามาสู่ระบบที่ใหญ่ขึ้น จริงจังมากขึ้น ผมก็มีโอกาสได้เริ่มต้นระบบตรงนั้นมาด้วยกันกับทีมงานของพี่เต๋อ ที่ต้องเล่ามุมนี้ก็เพราะบางคนในสมัยนี้อาจจะนึกว่า การเปลี่ยนจากเบื้องหน้ามาทำงานเบื้องหลังมันดูไม่ดี แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการก้าวไปหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า”

 

2.Verse

เชื่อได้ว่าทุกคนรู้จักผู้ชายคนนี้จากการที่เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของวงดนตรีวัยรุ่นชื่อดังในยุคเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว อย่าง ดิ อินโนเซ้นท์ เดิมทีนั้น โอม ชาตรี เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียงอยู่พอตัว แต่นั่นก็แค่ในระดับจังหวัดราชบุรีบ้านเกิดของเขา จนกระทั่งปี พ.ศ 2525 ดิ อินโนเซ้นท์ วงดนตรีรุ่นน้องโรงเรียนเดียวกันที่เริ่มมีผลงานเป็นที่รู้จักระดับประเทศ กำลังต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบของวง จากโฟล์คซองมาเป็นวงสตริง เขาจึงได้รับการชักชวนให้มาร่วมงาน แล้วทั้งหมดหลังจากนั้นก็คือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการดนตรี เขาถูกจับตามองในฐานะนักกีตาร์และนักแต่งเพลงฝีมือดี หลายต่อหลายเพลงของกลายเป็นเพลงฮิต แต่ก็อย่างที่รู้ ในเวลาต่อมาเขากลายมาเป็นคนเบื้องหลังที่สร้างงานดีๆ ออกมามากมาย

 

“ดิ อินโนเซ้นท์ ซึ่งมันก็เป็นแค่วงวัยรุ่นวงหนึ่ง เราก็เป็นวงดนตรีที่มีอายุของมัน แล้วก็ด้วยเหตุผลมาตรฐานทั่วๆ ไปคือวงดนตรีมันจะมีแรงกดดัน มีสิ่งที่เดินกันมาระยะนึงแล้วรู้สึกไม่ค่อยโอเคกับธุรกิจ กับบริษัทเพลงอะไรต่างๆ แต่ผมคิดว่าช่วงที่เลิกวงไปเป็นช่วงที่เหมาะสม แล้วก็ในช่วงนั้นวงก็ไม่ได้มีความสอดคล้องกับต้นสังกัดเดิมแล้ว ส่วนตัวผมเองก็มีความสนใจที่จะเดินไปหาอีกอาชีพ นั่นคือคนทำงานเบื้องหลัง

 

“ต้องบอกว่าวิธีการชวนของพี่เต๋อ เขาไม่ได้ชวนมาอยู่เลย แล้วก็ให้เลิกสิ่งต่างๆ แต่เหมือนกับให้โอกาสเราได้ปรับตัวด้วย พี่เต๋อเองก็คงอยากจะทดสอบงานเราด้วย เพราะจริงๆ ทำกันมาหลายปีกว่าที่จะตัดสินใจมาอยู่ในทีม คือในยุค ดิ อินโนเซ้นท์ ปลายๆ พี่เต๋อเคยออกปากว่ามาทำงานด้วยกันเลยไหม ผมก็ด้วยความเป็นเด็กก็ยังสองจิตสองใจ จะยุติตรงนี้หรือจะเปลี่ยนบริษัท ย้ายมาอยู่ที่แกรมมี่เลย มันก็ลังเลๆ นั่นเป็นช่วงแรกที่ผมถือว่าเป็นโอกาสได้ทบทวน

 

หลายๆ ครั้งโอกาสก็หล่นมาจากฟ้าอย่างที่เราไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง ใครจะรู้ว่าที่ โอม ชาตรี ได้มาร่วมงานกับ เต๋อ เรวัต ในครั้งแรกนั้น ด้วยเหตุผลก็เพราะมือกีตาร์เบอร์หนึ่งของเมืองไทยเวลานั้นอย่าง อัสนี โชติกุล ไม่ว่างมาอัดกีตาร์ โอกาสจึงตกเป็นของเขาผู้นี้

 

“เหตุผลง่ายๆ ก็คือผมเคยรู้จักพี่เต๋อ แล้วก็เคยเจอพี่ป้อมมาก่อน พอเขาอยากจะหามือกีต้าร์มาเล่น เขาก็เลยนึกถึงผม พี่เต๋อก็โทรมา ผมก็โอเคครับ รับทันทีเลย (หัวเราะ)

 

“จนถึงทุกวันนี้ ผมยังจำเรื่องราวได้หมดทุกอย่าง เวลาผมทำงานเบื้องหลังให้ศิลปินต่างๆ ผมจะเป็นคนที่ลงรายละเอียดเยอะมาก บางทียังแปลกใจตัวเองว่าให้รายละเอียดกับมันมากกว่างานของ ดิ อินโนเซ้นท์ ด้วยซ้ำ แล้วเวลาผมโพรดิ๊วซ์ก็จะทำแบบนี้ตลอดจนติดเป็นนิสัยเลย

 

“เพราะฉะนั้นอย่างงานแรกที่ผมโพรดิ๊วซ์ก็คืองานของติ๊นา (คริสติน่า อากีล่าร์ อัลบั้มนินจา พ.ศ.2533) ด้วยจังหวะที่ว่ามันเป็นงานที่เราต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย ในยุคนั้นคำว่าโพรดิ๊วเซ่อร์เริ่มเป็นที่พูดถึงกันแล้ว ผมเองตอนนั้นก็ยังไม่ได้ถูกยอมรับในการทำงานเป็นโพรดิ๊วเซ่อร์ จำได้เลยว่าผมทำงานนั้นเหมือนกับทำงานตัวเองเลย ทุกเพลง เหมือนเรารับติ๊นามาเป็นนักร้องนำของวง และวงนี้ก็มีผมเป็นคนดูแลวงอยู่

 

21 ธันวาคม พ.ศ.2533 อัลบั้ม นินจา ของ คริสติน่า อากีล่าร์ นักร้องสาวลูกครึ่งฟิลิปปินส์-ฝรั่งเศส สัญชาติไทย ที่เพิ่งเข้าวงการเป็นครั้งแรก วางแผงได้ไม่นาน เพลงแล้วเพลงเล่ากลายมาเป็นเพลงฮิตของคนทั้งประเทศ ถือเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ทำยอดขายได้สูงขนาดนั้น นับเป็นเรื่องแปลกที่คนกีตาร์ที่มาทางสายพ็อพร็อกอย่างเขากลับต้องไปดูแลงานเพลงแด๊นซ์

 

“ผมเคยนั่งคุยกับพี่เต๋อ พี่เต๋อจะบอกว่าเวลาจะเลือกคนเข้ามาทำงาน จะเลือกคนที่ทำได้หลายๆ อย่าง ผมก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่ถูกเลือกมาด้วยเหตุผลนี้ คือทำอะไรได้รอบๆ ตัว ฉะนั้นพี่เต๋อเลยไม่ลังเล เพราะคิดว่าผมจะได้ทำอะไรที่ท้าทาย แต่อยู่ในขอบเขตของความเป็นไปได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องถนัดร้อยเปอร์เซนต์ ตัวผมก็ได้ทดลองงานใหม่ๆ พี่เต๋อก็ได้ทดสอบผมด้วย แล้วในเวลานั้นผมก็ทำไปด้วยความรู้สึกว่ามันไม่ง่าย แต่มันสนุก มันไม่ง่ายเลย เพราะคนเรามักจะถนัดในสิ่งที่ทำอยู่ประจำ ผมเป็นนักดนตรีก็จะมีหลักในการฝึกดนตรีที่บอกว่าคุณซ้อมอะไรคุณก็จะเล่นอย่างนั้น ฉะนั้นความถนัดมันก็จะมาจากสิ่งที่เราสะสม ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเจอสิ่งที่ยังทำไม่ได้ มันอาจจะไม่ใช่ความไม่ถนัดก็ได้ แต่อาจจะเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าไปหามัน พอผ่านไป มันก็จะกลายเป็นความถนัดในสิ่งใหม่

 

“ถ้าพูดกันจริงๆ ผมก็ไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนั้น ตอนที่ทำ ผมรู้อย่างเดียวว่างานนี้มันถูกใจเราตั้งแต่ทำเสร็จ ผมรู้สึกว่าไม่เคยพอใจงานไหนเท่างานนี้เลย งานนี้มันประสบความสำเร็จเร็วมาก พอออกไปปุ๊บก็สำเร็จเลย แล้วงานนี้ก็แปลกเพราะเป็นงานที่ทางต้นสังกัด โดยเฉพาะทีมมาร์เก็ตติ้งจะไม่ค่อยมั่นใจ พูดง่ายๆ คือกลัวเจ๊ง ไม่รู้ว่าเพราะผมเป็นโพรดิ๊วเซ่อร์หน้าใหม่หรือว่าตอนนั้นเพลงแด๊นซ์ไม่น่าจะขายได้ก็ไม่รู้ แต่กลายเป็นว่าอัลบั้มนี้เป็นเพลงแด๊นซ์ชุดแรกที่ขายได้

 

“เวลา 20 ปีเราผ่านอะไรมามาก มีศิลปินที่หลากหลาย เรื่องราวมันเยอะมาก ผมมองว่าศิลปินที่ผมทำงานมาด้วยทุกคนก็ยังอยู่ในวงการ อย่างเช่นผมเห็นติ๊นามีฉลอง 20 ปีผมก็ยังรู้สึกว่า อ้าว ฉลองแล้วหรอ ถ้าอย่างนั้นจะต้องมีอะไรใหม่ๆ ตามมาอีกสินะ หรืออย่างพี่เบิร์ด ธงไชย ผมแต่งเพลงให้ตั้งแต่ชุดแรกๆ เล่นกีต้าร์ให้ตั้งแต่อัลบั้มแรกเลย ก็ชุดที่พี่ป้อมไม่ว่างนั่นแหละ (หัวเราะ)

 

“ถามว่าเคยมีความรู้สึกแบบนี้ไหมว่าศิลปินที่ปั้นมาเขาได้ดิบได้ดีกว่าเราเยอะ ผมตอบว่าไม่เคยรู้สึกเลยครับ เพราะมันเป็นคนละอาชีพ มันคนละแบบ มันเป็นความสำเร็จคนละแบบ ผมกล้าพูดได้เลยว่างานโพรดิ๊วเซ่อร์ก็มีความสำเร็จและความมั่นคงไม่น้อยไปกว่าศิลปิน

 

“ผมถูกสอนมาว่าศิลปินจะมีอายุงาน แต่งานเบื้องหลังอายุงานมันจะยาวมาก ผมว่าในหนทางนี้พอเราผ่านช่วงทดสอบตัวเองมาได้แล้ว มันก็จะมีรันเวย์เป็นของตัวเอง ผมมองว่าทางสายนี้มันไปได้เรื่อยๆ วันนี้ถ้าผมเป็นนักร้อง ผมอาจจะต้องพยายามไขว่คว้า แต่ทุกวันนี้ผมมองว่างานของผม มองไปข้างหน้ามันยังมีอีกเยอะ เยอะมากตราบที่เรายังมีแรง”

 

3.Pre Chorus

ภายหลังจาก เต๋อ เรวัต เสียชีวิตลงในปี พ.ศ.2539 ไม่นาน บริษัทแกรมมี่เอนเตอร์เทนเมนต์ในขณะนั้น (ปัจจุบัน บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)) ก็เกิดปรับปรุงโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ มีการแตกเป็นบริษัทย่อยต่างๆ มากมาย และหนึ่งในค่ายย่อยที่ถือเป็นค่ายเพลงคุณภาพและได้รับการยอมรับจากผู้ฟังก็คือค่าย RPG Records โดยมี โอม ชาตรี เป็นผู้บริหาร

 

“ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่พี่เต๋อจากไปพักหนึ่งแล้ว แกรมมี่ก็เปลี่ยนระบบ ความคิดเห็นของผู้คนต่างๆ ก็แตกต่างกันไปตามรสนิยม ช่วงนั้นผมว่าด้วยความบังเอิญ ก็เกิดการแยกระบบแกรมมี่ออกเป็นค่ายย่อยๆ ต่างๆ ตอนนั้นผมก็ดูภาพรวม เพราะแกรมมี่ก็จะมีแผนกการเงินอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นค่ายเพลงต่างๆ ก็มีหน้าที่ดูแลการผลิต ส่วนพวกเรื่องตัวเลขต่างๆ ก็จะมีส่วนกลาง

 

“สำหรับผมนั่นเป็นช่วงแรกในชีวิตเลยที่เราได้เรียนรู้ โดยเฉพาะคนที่มาจากสายนักดนตรีอย่างผม ดิ อินโนเซ้นท์ ก็เหมือนกับโรงเรียนหนึ่ง งานโพรดิ๊วเซ่อร์กับพี่เต๋อก็อีกโรงเรียนหนึ่ง อาร์พีจีนี่ก็อีกโรงเรียนหนึ่ง เค้าเรียกย้ายหลักสูตรเลยล่ะ เรียกว่าเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการบริหารธุรกิจเพลง ทุกอย่างมันก็หลั่งไหลเข้ามาหมด คือผมไม่ต้องทำตัวเลข แต่ก็ต้องอยู่กับตัวเลขทุกวัน หมายถึงว่าเราต้องรับรู้ตัวเลขตลอดเวลา แล้วก็ต้องรับรู้ว่าการบริหารต่างๆ มันมีขั้นมีตอนเยอะแยะมากมายในการที่จะควบคุมดูแลคนให้อยู่ในแบบแผน โดยเฉพาะงานในสายที่ต้องขึ้นกับอารมณ์ มันต้องใช้การควบคุมอารมณ์สูงมาก อีกอย่างก็ไม่มีใครเรียนเรื่องการบริหารงานเพลงกันมา แต่ทุกคนเรียนเรื่องการบริหารธุรกิจ เรื่องตัวเลขกันมา ผมยังมีหนังสืออ่านเป็นตู้ๆ เลย ทุกวันนี้ยังเต็มตู้ที่บ้าน แฟนผมยังขำ (หัวเราะ)

 

“ส่วนค่ายเพลงที่ชื่อ คราฟท์แมน นั้นมันเป็นช่วงสั้นๆ ที่ต่อจากช่วงที่ผมออกจากอาร์พีจี จริงๆ ต้องเรียกเป็นควันหลงมากกว่า เพราะพอเราเริ่มที่อยากจะย้ายจากค่ายใหญ่ ซึ่งแน่นอนขั้นต้นเราก็ต้องมีบ้านอยู่ ก็เลยมาเซ็ตอัพบริษัทในขณะที่เราก็ยังไม่รู้หรอกว่ามันจะลงตัวตรงไหน มันก็ต้องผ่านช่วงนึงที่มันลองผิดลองถูก พอมาระยะหนึ่ง ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันยังคงเหมือนที่เดิม คือบรรยากาศต่างๆ มันยังไม่ไปไหนเลย มันยังอยู่รอบตัวเราหมด ศิลปินที่เราพบปะก็ยังคงคาดหวังให้เป็นเหมือนบริษัทใหญ่อย่างเดิม สักพักนึงก็เริ่มพูดคุยกับเพื่อนฝูง ก็เลยตัดสินใจแยกย้าย

 

“บางคนอาจจะมองว่าคนที่เป็นนักดนตรี พอมาบริหารธุรกิจก็มักจะทำไม่สำเร็จ อันนี้น่าสนใจ เพราะผมกลับมองต่างเลย จริงๆ มันก็เหมือนกับคนที่ไม่รู้ดนตรีแล้วจะบริหารงานดนตรีได้อย่างไร ผมว่ามันเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับบ้านเรา และก็เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนดนตรีเหล่านั้นด้วย ผมว่าบริษัทใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแกรมมี่หรืออาร์เอส เขาร่วมงานกับกลุ่มคนดนตรีมาเป็นระยะเวลานานจนผ่านเส้นของความสำเร็จไปแล้ว แต่เส้นความสำเร็จนั้น ความแข็งแรงก็ตกอยู่กับตัวองค์กร หน่วยงานธุรกิจหรือคนที่จัดธุรกิจองค์กรก็ได้เรียนรู้บางอย่างจากคนดนตรีและก็ใช้ประโยชน์ไปแล้ว ในขณะเดียวกันคนดนตรีก็กำลังเรียนรู้เรื่องธุรกิจด้วย ซึ่งก็อาจจะต้องใช้เวลา

 

“ผมดีใจแทนทุกคนที่ได้ทำธุรกิจเอง เพราะอย่างที่เมืองนอก คนดนตรีเยอะแยะมากมายที่โตขึ้นมาเป็นนักธุรกิจเล็กๆ แล้วโตขึ้นไป วงดนตรีระดับโลกต่างๆ บางทีก็เริ่มจากการจับธุรกิจของตัวเอง ผมเชื่อว่านักดนตรีทุกคนมีกุญแจดอกที่ไขเพื่อเข้าหาธุรกิจ ผมว่าประตูของผมก็เยอะบานมาก ผมเชื่อว่าประตูทุกบานอาจได้มาจากการที่มีคนยื่นบางอย่างให้เราได้เรียนรู้ ได้ปรับตัว”

 

4.Chorus

ทุกวันนี้ ปัญหาเทปผีซีดีเถื่อนเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ถ้าใครจะมัวมารณรงค์และพูดถึง เพราะแม้แต่ของปลอมก็ยังขายไม่ได้ กลายเป็นว่าผู้คนสมัยนี้นึกอยากได้เพลงอะไร ก็เพียงแต่พรมนิ้วไปบนคีย์บอร์ดเพื่อค้นหาเพลงที่ต้องการ แล้วเพลงนั้นก็จะมาปรากฏตรงหน้ารอให้ดาวน์โหลด (อย่างผิดกฏหมาย)

 

คำถามที่น่าเบื่อแต่ก็ต้องถามอย่างทุกวันนี้วงการเพลงเจอทางออกหรือยังจึงเป็นสิ่งที่เราอดไม่ได้ที่จะต้องถามเขา

 

“ผมว่าเจอแล้ว จริงๆ คำถามนี้ยิ่งถามช้าขึ้นเท่าไร มันก็จะยิ่งเจอคำตอบขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคำถามนี้ย้อนกลับไปปีที่แล้ว ผมจะตอบว่ามันเริ่มมีหนทาง พอผ่านมาอีกปี วันนี้ผมตอบได้เต็มปากเลยว่าเจอแล้ว มันก็คือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามา ย้อนกลับไปสัก 2-3 ปี ยุคนั้นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ เรื่อง mp3 เป็นเรื่องหายนะเลย ทุกคนพูดกันแต่เรื่องนี้ แรกๆ มันดูย่ำแย่กันไปหมด ถึงขนาดมีคนว่าถ้าคุณอยากให้คนซื้อของจริง คุณก็ทำเพลงดีๆ สิ กลายเป็นเรื่องถกเถียงกัน แต่ทุกวันนี้ผมว่ามันคลี่คลายไปเรื่อยๆ ยิ่งนานวันมันยิ่งชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ มันเข้ามาแทรกซึม วันแรกที่การดาวน์โหลดดอกจันมันมาอยู่ในมือถือ ผมก็ยังงงไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร วันนึงก็เริ่มมีโอเปอร์เรเตอร์ต่างๆ เข้ามา มีระบบ มันก็เริ่มชัด จนมันกลายมาเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เป็นระบบต่างๆ ที่การซื้อขายเปลี่ยนไปแล้ว คนที่อยู่ในโลกของไอทีเนี่ยจะเห็นเลยว่าทุกอย่างมันมีระบบมากขึ้น มีการซื้อขายที่ถูกต้อง เดี๋ยวนี้พวกเราทุกคนมีโทรศัพท์มือถือดีๆ กันทั้งนั้น แล้วก็เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นอินเตอร์เน็ตสั่งซื้อของอะไรก็ได้ มันก็เลยเกิดเป็นช่องทางใหม่ๆ

 

“ผมมีความเชื่ออยู่ตลอดว่าตราบใดก็ตามที่คนยังชอบฟังเพลง เม็ดเงินก็ยังอยู่เท่าเดิม เพียงแต่มันเปลี่ยนที่ เหมือนกับเด็กที่ไม่ซื้อแผ่นซีดี แต่ซื้อโทรศัพท์ เปลี่ยนโทรศัพท์กันเป็นว่าเล่น ดาวน์โหลดเพลง กดโหลดเพลงตั้งหลายสิบบาท ก็ยังกดๆๆ แต่เรามัวแต่ไปเถียงกันว่าทำไมคุณไม่ซื้อซีดีเสียงมันดีกว่าเยอะ แล้วยุคนี้ผมว่ามันไม่ใช่แค่การดาวน์โหลดเพลง หลายๆ ปีมานี้ภาพตรงนี้ชัดเจนมากว่าวงการเพลงถูกสนับสนุนด้วยแหล่งเงินทุนที่เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ๆ ทั่วประเทศ สปอนเซอร์ต่างๆ นั่นแหละคือคนที่เข้ามาทำให้เกิดเม็ดเงินในธุรกิจเพลงชัดขึ้นเรื่อยๆ

 

“เมื่อก่อน เจ้าของค่ายเพลงก็เป็นเหมือนสปอนเซอร์คนหนึ่ง คือมันเหมือนกัน แต่เงื่อนไขมันก็ต่างกันไป สปอนเซอร์ก็คาดหวังสิ่งที่เป็นความพึงพอใจของผู้ฟัง ผู้บริโภคสมัยก่อนตอบรับด้วยการซื้อ แต่ผู้บริโภคสมัยนี้ตอบด้วยการซื้อบริการจากสปอนเซอร์เหล่านั้น อาจะไม่ได้ซื้อเพลงโดยตรง เพราะฉะนั้นสปอนเซอร์ก็จะได้ผลตอบแทนจากผู้บริโภค แล้วเขาก็มาตอบแทนให้ศิลปิน รูปแบบการขายมันก็เลยเปลี่ยนไป จากการขายแผ่นมาเป็นการขายความพึงพอใจ แล้วก็แปรมาเป็นผลประโยชน์ผ่านทางสปอนเซอร์”

 

นอกจากเรื่องของกีตาร์แล้ว เทคโนโลยีและการติดตามข่าวสารใหม่ๆ ในวงการเพลงยังเป็นอีกเรื่องที่เขาจับตาดูอยู่ตลอด และดูเหมือนว่ายุคนี้วงการเพลงจะแยกไม่ออกจากเรื่องของไอทีไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เราสามารถวัดความดังของเพลงได้จากจำนวนวิวที่คนเข้าไปชมมิวสิควิดีโอในยูทูบ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม เพลงดังๆ ระดับโลกมีคนคลิ๊กเข้าไปชมถึงหลายร้อยล้านครั้ง ใช่! คุณอ่านไม่ผิด หลายร้อยล้านครั้ง!

 

“ผมเห็นยูทูบตั้งแต่แรกๆ เพราะผมก็ชอบเล่นเทคโนโลยี ผมตื่นเต้นกับมันมาก เพราะอาวุธของยูทูบคือการที่ทุกคนมีอิสระในการที่จะเผยแพร่สื่อของตัวเอง ทุกวันนี้มันเลยกลายเป็นสื่อเสรี เพราะจุดเริ่มต้นมันถูกต้องตั้งแต่แรกเลย

 

“ผมว่าคำว่า ตาดูหูฟัง อธิบายการเสพเพลงได้ดีที่สุด เพราะเพลงมันฟังอย่างเดียวก็ไม่ดีนะ ผมกล้าพูดเพราะโตมากับความเป็นนักดนตรี ที่ๆ คุณจะฟังดนตรีได้ดีที่สุดก็คือคุณต้องไปนั่งดูวงดนตรีเล่น นั่นคือดีที่สุด นั่งดูใกล้ๆ เลย ย้อนกลับไปในยุคที่ไม่มียูทูบ ทุกอย่างก็ต้องดูจากทีวีหรือฟังจากวิทยุอย่างเดียว คือตาดูหูฟังมันก็มีเงื่อนไขเยอะไปหมด แต่
ยูทูบมันพังกำแพงตรงนี้ทิ้งไป

 

“การติดตามฟังเพลงใหม่ๆ มันเป็นไลฟ์สไตล์ผมเลย เมื่อก่อนผมมีความตั้งใจตั้งแต่เด็กว่าจะต้องเก็บเพลงทุกเพลงที่ผมฟังแล้วชอบไว้ให้หมด ที่บ้านผมจะมีตู้ซีดีเต็มไปหมดเลยครับ เทปก็ยังเก็บไว้ แล้วด้วยความที่เป็นคนชอบอัพเดทเพลงอยู่ตลอด การตามชาร์ตเพลงทุกปี มันก็จะต้องมีคอลเล็กชั่น ว่ามีเพลงอะไรบ้าง หลังๆ นี่เพิ่มคอลเล็กชั่นเพลงเกาหลีด้วย ต้องฟังเพราะลูกสาวชอบมาก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่งานครับ มันเป็นไลฟ์สไตล์ผม หรืออย่างพวกประกาศผลรางวัลต่างๆ ของฝรั่ง ผมมองว่ามันเป็นหัวใจของการอัพเดทวงการเพลงในโลกนี้เลย

 

“ผมจะเป็นคนฟังเพลงหลายแนว บางทีเราก็ไปชอบวงใหม่ๆ วงวัยรุ่น ลูกชายลูกสาวยังแปลกใจว่าผมฟังด้วยอย่างวง Paramore นี่ก็เป็นวงพังก์ ผมฟังแล้วก็รู้สึกว่าวงนี้ร้องเพลงดี ก็เลยไปหาอัลบั้มของพวกเขามาฟัง ไปหาโชว์มาดู ก็ยิ่งชอบไปใหญ่ ทำไมเล่นสดได้ดีขนาดนี้

 

ไม่บ่อยที่เราจะได้เห็นเขาพูดถึงเรื่องของครอบครัวตามสื่อต่างๆ เพราะใครๆ ก็ชวนเขาคุยแต่ในเรื่องของดนตรีและกีตาร์ เมื่อสบโอกาส เราจึงชวนคุยเรื่องลูกสาวและลูกชายของเขาซึ่งกำลังอยู่ในวัยรุ่น เราอยากรู้ว่าเขากับลูกคุยกันเรื่องเพลงบ้างไหม และเป็นแฟนเพลง ดิ อินโนเซ้นท์ ด้วยหรือเปล่า?

 

“ผมมองว่าตั้งแต่ลูกๆ โตขึ้นมา มันเป็นคำตอบที่สุดยอดของชีวิตเลย เพราะผมยิ่งสนใจเรื่องใหม่ๆ ยิ่งมีเรื่องคุยกับลูกมากขึ้น แล้วลูกผมทั้งสองคนก็ชอบฟังเพลง ทุกวันนี้เวลาได้ยินเพลงอะไรก็จะถามลูกว่าเพลงของใคร โดยเฉพาะวงเกาหลี แค่ถามว่าวงอะไร ลูกสาวผมจะตอบได้ถึงขนาดว่าอยู่ค่ายอะไร

 

“อีกเรื่องที่ภูมิใจมากๆ ก็คือ ย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ดิ อินโนเซ้นท์ มีคอนเสิร์ตรียูเนี่ยน ผมพูดเล่นๆ กับผู้จัดว่าเราต้องทำให้คอนเสิร์ตนี้ไม่แพ้พวกศิลปินเกาหลีที่มาเล่นบ้านเรา พูดไปด้วยความรู้สึกไม่มีอะไรต้องเสีย แต่ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้จริง คอนเสิร์ตนั้นเราทำด้วยบรรยากาศแบบปัจจุบัน หลังจากนั้นผมได้ลูกสองคนมาเป็นแฟน ดิ อินโนเซ้นท์ ลูกผมบอกว่าคอนเสิร์ตของพ่อไม่แพ้ ดงบังชินกิ (หัวเราะ)

 

“ถามผมว่าเลี้ยงลูกแบบไหน แบบเป็นเพื่อนหรือแบบพ่อ ผมว่าทั้งสองอย่างเลย ผมอาจจะไม่ได้มีหน้าที่คอยดูแลลูกอยู่ตลอดเวลา แต่เขาก็รู้สึกกับผมเหมือนเพื่อน เพราะเรื่องที่เราพูดคุยกันมันเหมือนเรื่องที่เพื่อนคุย ส่วนความเป็นพ่อคือเราไม่ต้องเลี้ยงเขาถึงขนาดให้รู้ว่าเราเป็นพ่อ เพราะเราเป็นพ่อจริงๆ อยู่แล้ว ถึงเวลาจะดุก็ต้องดุ เวลาที่ผมต้องดุ ผมก็ไม่เป็นเพื่อนนะครับ อันไหนเราไม่โอเคก็ต้องไม่โอเค ส่วนแฟนผมเขาจะเป็นทุกๆ อย่าง ดูแลลูกๆ ใกล้ชิดตลอด ซึ่งก็ทำให้เราอุ่นใจ ครอบครัวมันต้องอย่างนี้ มันต้องเป็นทีมเวิร์คที่ดี”

 

5. Outro

ใครที่มีโอกาสได้คุยกับ โอม ชาตรี จะพบว่าเขาเป็นคนถ่อมตัว ในหลายประโยคแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้รู้สึกเลยว่า เขาคือโพรดิ๊วเซ่อร์ลำดับต้นๆ ของประเทศ ที่ใครๆ ก็อยากทำงานด้วย เขายังคงเป็นนักดนตรีคนเดิมคนนั้นที่มาจากภูธร แม้ว่าวันเวลาเหล่านั้นจะผ่านมาร่วม 30 ปีแล้วก็ตาม

 

“มีคนเยอะแยะที่ช่วยส่งเสริมชีวิตผม ผมนับทุกคน ตั้งแต่ถ้าวง ดิ อินโนเซ้นท์ ไม่ชวนผมเข้าวง ผมก็ยังคงอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้มากรุงเทพฯ ส่วนพี่เต๋อก็ชวนผมมา คือเป็นคนที่ทั้งสอนงาน ทั้งป้อนงานให้ ทั้งส่งเราขึ้นมาอยู่ในองค์กรใหญ่ๆ ที่เป็นความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงผมมีครอบครัวตัดสินใจแต่งงาน พี่เต๋อคือผู้ใหญ่ที่เราปรึกษา ยังจำได้เลยว่าผมจะซื้อบ้านสักหลัง ยังถามอยู่เลยว่าจะไหวไหม พี่เต๋อก็เป็นคนให้ความมั่นใจ รวมๆ แล้วทุกๆ คนที่ผมทำงานด้วย ผมว่าอยู่เบื้องหลังผมทั้งนั้น

 

“มองย้อนกลับไปผมว่าชีวิตผมที่ผ่านมาถือว่าใช้ได้ครับ มาถึงวันนี้ผมว่ามันค่อนข้างโอเค ยอดเยี่ยมมั้ยผมว่า ผมคิดเข้าข้างตัวเองนะว่าวันหน้าต้องยอดเยี่ยมกว่านี้ ผมว่ามันยังไม่ยอดเยี่ยมหรอก เพราะถ้ายอดเยี่ยมแล้วก็เหมือนเราจะรีไทร์ ยังมีคนที่ประสบความสำเร็จกว่าผมเยอะแยะมากมาย ผมว่าผมทำให้ได้อย่างเขาแล้วค่อยรู้สึกอย่างนั้นดีกว่า ผมให้เวลาตัวเองไปถึง 60 หรือ 60 กว่าๆ อีกเป็นสิบปีที่ผมจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองอายุเยอะแล้ว ผมว่าตอนนี้คำว่าใช้ได้ลงตัวที่สุด เพราะแปลว่าที่ผ่านมาก็ไม่เลว ข้างหน้าก็ยังสดใสอยู่

 

“ดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่ผมใช้ เรียกว่าถ้าจากวัยเด็ก แล้วเราเดินมา ถือของอะไรสักอย่าง ผมก็ถือดนตรีและกีต้าร์มาตลอดชีวิต ผมจำได้ว่าไม่มีอะไรที่ผมทำแล้วได้ความสำเร็จโดยไม่ใช้ดนตรีเลย ไม่มีเลย ไม่มีสักก้าวเดียว พยายามนึกกลับไปแม้แต่ตอนเพิ่งเป็นวัยรุ่น สิ่งแรกที่ผมใช้ในการดำรงชีวิตก็คือเล่นดนตรีตั้งแต่ยังเรียนหนังสือไม่จบเลย ผมต้องเล่นดนตรีเพื่อเอาเงินมาเป็นค่าเล่าเรียน ผมอยู่กับดนตรีมาตลอด ดนตรีให้ทุกอย่างกับชีวิตผมครับ”

 

วันนั้นถ้าคุณอยู่กับเรา คุณจะเชื่ออย่างที่เราเชื่อ เขาหมายความตามนั้นจริงๆ

 

Things You Need to Know About Him

>> โอม ชาตรี คงสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2505 ที่จังหวัดราชบุรี มีพี่น้องสามคน โดยเขาเป็นลูกคนกลาง

>> เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เขาหัดเล่นไม่ใช่กีตาร์ แต่เป็นแซ็กโซโฟนที่ต้องหัดเล่นเพื่อที่จะเป็นนักดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียนดรุณาราชบุรีที่เขาเรียนอยู่

>> หลายคนคิดว่าเขาจบวิชาดนตรีมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังหรือไปร่ำเรียนดนตรีมา แต่จริงๆ แล้ว บุคคลที่เสมือนเป็นดั่งอาจารย์วิชาการประพันธ์ดนตรีให้กับเขาก็คือ สันติ ลุนเผ่ ที่ได้ร่วมงานกันครั้งที่เขาเล่นอยู่ในวงโรแมนติก วงดนตรีชื่อดังของจังหวัดราชบุรี 

>> นอกจากวงโรแมนติกแล้ว วง โฟร์ซิงเกิ้ลส์ คืออีกหนึ่งวงที่เขาเล่นอยู่ก่อนที่จะมาร่วมงานกับ ดิ อินโนเซ้นท์ นักร้องนำของวงนี้ชื่อว่า สมชาย หรือที่ในเวลาต่อมาคนทั้งประเทศรู้จักเขาในชื่อ บุญโทน พระไม่ทำ

>> เขาได้พบกับ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ครั้งแรกที่ห้องบันทึกเสียงศรีสยาม ย่านดินแดง ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ระหว่างเข้ามาบันทีกเสียงอัลบั้มชุด อยู่หอ ของ ดิ อินโนเซ้นท์

>> ค่ายย่อยภายใต้ชื่อ RPG Records ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2541 โดยมีเขาเป็นผู้บริหารนั้น RPG ย่อมาจาก Rewat’s Producer Group ซึ่งในความหมายก็คือการรวมตัวกันทำงานของทีมโพรดิ๊วเซ่อร์ที่เคยร่วมทำงานกับ เต๋อ เรวัต มาก่อน

>> อัลบั้ม Into The Light อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขาได้แนวคิดมาจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของเขา จากคนอยู่เบื้องหลังศิลปิน เหมือนคนที่เคยอยู่ในเงามืด มีสิ่งที่เป็นแสงสว่างที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า จนถึงเวลาที่ตัดสินใจออกไปสู่แสงสว่างที่สาดส่องเข้ามา เหมือนศิลปินบนเวทีที่มีแสงไฟจ้องจับอยู่ 

>> อัลบั้ม Into The Light ได้เพื่อนร่วมวงการมาร่วมงานหลายคน อาทิ บอยด์ โกสิยพงษ์ แต่งเนื้อเพลง Into The Light, อนุสาร คุณะดิลก จากวงพลอย ช่วยเล่นเบส, จั๊ก ชวิน เล่นอคูสติกกีตาร์ในเพลง Friends

>> ผลงานการแต่งทำนองเพลงและเรียบเรียงที่โด่งดังของเขานั้นมีมากมาย ตัวอย่างเช่น ลงเอย (อัสนี-วสันต์) หมอกหรือควัน (เบิร์ด ธงไชย) เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม (บิลลี่) เอาไปเลย (ไมโคร) พลิกล็อก (คริสติน่า) หมากเกมนี้ (อินคา) ทิ้งรักลงแม่น้ำ (วายน็อตเซเว่น) Stay (ปาล์มมี่) 

>> ที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ เขาเป็นคนที่แต่งทำนองเพลง นิดนึงพอ ของ แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์  

จากนักดนตรีในวงดังของจังหวัดราชบุรี