Moneyball
กีฬาเป็นเรื่องธุรกิจ ความจริงข้อนี้ใครๆ ก็น่าจะรู้ ยิ่งยุคนี้ที่ฟุตบอลบ้านเราบูมสุดขีดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เราได้เห็นข่าวทีมฟุตบอลทุ่มงบประมาณกว้านซื้อนักเตะดังๆ มาร่วมทีม ได้เห็นสนามอลังการงานสร้าง ได้เห็นสินค้าเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมโดยทุ่มเงินมากถึง 600-700 ล้านบาท
เห็นกันชัดๆ ขนาดนี้ถ้าไม่บอกว่ากีฬาคือธุรกิจก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
แต่ปัญหาที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Moneyball ไม่ได้รับความสนใจมากนักในบ้านเรา อาจเป็นเพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเบสบอล อันเป็นกีฬาที่เราไม่ค่อยถนัด ไม่ค่อยเข้าใจกติกา ถ้าเปลี่ยนเป็นฟุตบอล คงจะดังกว่านี้
เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่มันนำแสดงโดยดาราแม่เหล็กอย่าง แบรด พิตต์ แถมยังเข้าชิงออสการ์ถึง 6 รางวัล (2 ใน 6 นั้นคือรางวัลใหญ่อย่าง ดารานำชายยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) แต่ก็แทบจะหายไปกับสายธารหนังที่เข้าใหม่ทุกสัปดาห์
Moneyball ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันที่ตีพิมพ์ในปี 2003 เล่าเรื่องของ บิลลี่ บีน (นำแสดงโดย แบรด พิตต์) ผู้จัดการทั่วไป (General Manager : GM) ของทีมเบสบอลเล็กๆ อย่าง Oakland Athletics ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤต เนื่องด้วยทีมของเขานั้นมีงบประมาณอันน้อยนิดเพียง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่จะต้องไปต่อกรกับคู่แข่งซึ่งก็คือทีม New York Yankees ที่ “เงินหนา” กว่าเยอะ เพราะมีเงินทุ่มซื้อผู้เล่นได้มากถึง 120 ล้านเหรียญสหรัฐ
ผลก็คือนักกีฬาตัวเด่นๆ เล่นดีๆ ถึง 3 คนถูกซื้อตัวไป สภาพของทีม Oakland Athletics จึงง่อนแง่น เพราะต้องหานักกีฬาคนใหม่มาแทน ทั้งที่มีงบแค่นั้น และนั่นจึงเป็นที่มาของชื่อเต็มๆ ของหนังสือเล่มนี้ว่า Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game หรือ “ศิลปะของการเอาชนะเกมที่ไม่ยุติธรรมเอาซะเลย”
บิลลี่ บีน ต้องเสริมทัพทีมด้วยการออกไปหานักกีฬาฝีมือดี แต่ราคาไม่แพงเว่อร์ ทั้งหมดก็ด้วยความช่วยเหลือของ ปีเตอร์ แบรนด์ (นำแสดงโดย โจน่าห์ ฮิลล์) อัจฉริยะจอมเนิร์ดที่ฉลาดปราดเปรื่องเรื่องการคำนวณตัวเลข เขาสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเมินประสิทธิภาพของนักกีฬาเบสบอลแต่ละคนด้วยข้อมูลสถิติการลงเล่นที่ผ่านมา จึงทำให้ Oakland Athletics สามารถหานักกีฬาฝีมือดีที่ถูกมองข้ามไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าตามสูตรของหนังแนวนี้ คณะกรรมการรุ่นเก่าๆ ของทีมย่อมจะไม่เห็นด้วยกับการคัดสรรนักกีฬาด้วยวิธีการใหม่ๆ แบบนี้
เนื้อแท้ของ Moneyball นั้นไม่ใช่หนังกีฬาที่เราจะได้เห็นฉากเล่นหรือซ้อมกีฬาเยอะๆ ไม่เลย ไม่มีแอ็คชั่นแบบนั้น และมันก็ไม่ใช่หนังพล็อตซ้ำซากประมาณทีมอันเดอร์ด็อก มวยรองบ่อน ที่พลิกสถานการณ์กลับมาชนะได้ แต่มันเป็นการต่อสู้ของชายวัยสี่สิบกว่าๆ ที่กำลังสงสัยและตั้งคำถามกับชีวิตที่ผ่านมาของเขาว่า วันนั้นที่เขาตัดสินใจมายุ่งเกี่ยวกับวงการเบสบอลด้วยการเป็นผู้เล่นและกลายมาเป็นผู้จัดการและแมวมองในวันนี้ เขาทำถูกหรือไม่?
มีอยู่ประโยคนึงที่น่าสนใจและน่าจะเป็นบทสรุปของหนังเรื่องนี้ได้ดี เมื่อตัวละครหลักอย่าง บิลลี่ บีน กล่าวไว้หลังจากรู้ข่าวว่านักกีฬาฝีมือดีถึง 3 คนถูกซื้อตัวไป เขารีบไปหาเจ้าของทีมเพื่อต่อรองเรื่องงบประมาณเพิิ่ม เพราะเห็นๆ อยู่ว่ามวยมันคนละชั้นกับคู่ต่อสู้ที่มีเงินเป็นร้อยล้านเหรียญสหรัฐไว้ซื้อผู้เล่นเข้าทีม แต่ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่าทีมเราเป็นทีมเล็กๆ เราเล่นเกมเล็กๆ ของเรากันดีกว่า อย่าอาจหาญไปแข่งกับทีมใหญ่ๆ เลย
บิลลี่ตอบมาว่า “ที่เรามาอยู่รวมกันที่นี่ก็เพื่อเป็นแชมป์เท่านั้นไม่ใช่เหรอ”
นั่นสิ ถ้าแข่งแล้วไม่หวังชนะ เราจะแข่งไปทำไม?