เจ็ดเสมียน

เจ็ดเสมียน

เสียงหัวเราะและสำเนียงเหน่อราชบุรีจมอยู่ในห้องแถวไม้ทั้งสองฟาก จะว่าไปมันไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่เมื่อคิดถึงวันเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมาของตลาดเล็กๆ แห่งนี้ ไม่มีอะไรน่าทึ่งเท่ากับว่ามันยังคงยืนหยัดเคียงข้างคนบ้านนี้มาทุกร้อนหนาว

 

มองผ่านบานประตูเข้าไปในแต่ละห้อง มันไม่ได้เรียงรายด้วยของเก่าแก่อย่างที่คนชอบเล่น “อดีต” เฝ้าเพียรหา ในถ้อยสนทนาของพวกเขานั่นหรือ ก็ไม่ได้ดึงเอาคืนวันอันผ่านเลยออกมาฟูมฟายระลึกถึงหรือรอให้ใครไถ่ถาม

 

มีแต่ชีวิตปัจจุบันที่กำลังก้าวไปข้างหน้า สิ่งใดตกทอดหลงเหลือก็พร้อมที่จะนำภาพอันเป็นจริงเป็นจังของพวกเขาในวันนี้ผสมผสานเข้าไป

 

แม้ตำบลริมแม่น้ำแห่งนี้จะอยู่ห่างออกมาจากเมืองเพียงราวชั่วโมงกว่าๆ แต่ก็เหมือนบางนาที มันราวกับที่นี่นั้นช่างอยู่ไกลแสนไกล

 

ใบหน้าแห่งวันวาน

 

เช้านี้ก็เหมือนทุกวัน หลังสามเณรรูปเดียวที่เข้ามารับบาตรข้างในตลาดคล้อยหลังเข้าประตูวัดไป รถไฟขบวนขึ้นกรุงเทพฯ เที่ยวแรกก็เทียบชานชาลาเจ็ดเสมียน ข้าวเหนียวหมูปิ้ง ก๋วยจั๊บเจ้าเก่า หรือผักพื้นบ้านประดามีที่ตั้งแผงตรงลานหน้าสถานีก็คึกคักครึกครื้นเท่าที่นาทีปัจจุบันจะดำเนิน มันอาจไม่มากมายเหมือนตลาดในโพธาราม ทว่าก็เพียงพอให้ “คนนอก” อย่างผมเพลินไปกับภาพตรงหน้า และคนแถบเจ็ดเสมียนพากลับไปเป็นมื้อเช้า

 

ว่ากันถึงเรื่องตลาดนัด หากเป็นเมื่อก่อน ย้อนไปสักหกเจ็ดสิบปี แม่น้ำแม่กลองหลังบ้านล้วนเนืองแน่นไปด้วยภาพ “การค้า” ทั้งจากคนตลาดเจ็ดเสมียนเอง หรือพ่อค้าแม่ค้าจากแดนไกล

 

“ล่องกันมาขึ้นที่ท่าล่ะ ติดตลาดกันทีตั้งแต่ตีสอง ตอนนั้นผมเด็กๆ รอแต่วันนัด” นัดทาง “เรือ” นั้นสำคัญสำหรับคนในตำบลริมน้ำเสมอ อาทร ชื่นณรงค์ ในวัยหนุ่มใหญ่ฉายบางภาพที่มีมาแต่รุ่นก๋งให้ฟังหน้าห้องแถวไม้ของเขา

 

“ของป่าพวกหวาย น้ำผึ้ง นี่ต้องจากเมืองกาญจน์ ของทะเลของสวน โน่น จากแม่กลอง บางคนที” คืนวันที่เรือเข้า ไม่เพียงผู้ใหญ่ที่คึกคักกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนริมฝั่งแม่น้ำ แต่ในสายน้ำก็เป็นที่สนุกสนานของเด็กๆ ยุคนั้น

 

“ถ้ามีเรือโยงแล่นมาติดสันทรายกลางแม่น้ำ เด็ก ๆ ก็จะพากันว่ายน้ำไปช่วยกันดุนเรือให้พ้นสันทราย จากนั้นก็จะเกาะเชือกเรือโยง ไม่คิดหรอกว่ามันอันตราย พอเล่นเสร็จก็จะขึ้นไปยังฝั่งตรงข้าม มีหาดทรายยาวมาก เราเรียกกันว่าภูเขาทราย” เรื่องเล่นในแม่น้ำของเขาราวกับไม่ได้เลือนหายไปไหน

 

“แต่ก่อนนะ ของกินนี่หาได้ง่ายๆ เลย หอยทราย หอยกาบ ลงไปหาเอาในแม่น้ำ ตัดต้นอ้อมาเล่นเป่าปี่กันสนุก เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้วมั้ง” คำท้ายๆ นั้นไม่ได้ตีโพยตีพาย แต่เหมือนคนเข้าใจคืนวัน

 

เขาพลางชี้ให้ดูห้องแถวเก่าแก่ที่นั่งอยู่ข้างหน้า “ก๋งผมล่องเรือมาจากเมืองจีน มาตั้งร้านกาแฟที่นี่ แต่ก่อนแน่นมาถึงรุ่นเตี่ย” เขาบอกกับผมอย่างนั้น ไล่เลี่ยกับชาวจีนคนอื่นๆ ที่หันหน้ามาสู่ย่านตลาดในเจ็ดเสมียน พวกเขามาทำการค้า เปิดร้านขายของชำร้านขายยาแผนโบราณ และอย่างถึงที่สุด ก็พร้อมจะเรียกที่ดินเล็กๆ อันเป็นที่ตั้งของห้องแถวไม้แคบๆ แห่งนี้ว่าบ้าน

 

เจ็ดเสมียนก็เหมือนกับย่านตลาดริมน้ำหลายๆ แห่ง ทว่าเป็นตลาดบก ไม่ได้หันหน้าให้แม่น้ำเหมือนแถบอัมพวา สินค้าต่างๆ เมื่อเดินทางทางเรือมาถึงก็จะ “ขึ้น” มาขายกันบนฝั่ง เป็นจุดเชื่อมระหว่างเรือกับรถไฟเพื่อเข้ากรุงเทพฯ หรือรอนแรมล่องลงใต้“ถนนน่ะหรือ อย่าไปนึกว่าดี แต่ก่อนเข้าไปเรียนในจังหวัด มีรถแค่รอบเดียวนั่นล่ะ แน่น เด็กนักเรียนที่ไปเรียนในจังหวัดจองบนหลังคากันโน่น”

 

“คนแต่ก่อนเขาชินนัดเช้า” มาถึงวันนี้ที่ตลาดนัดย้ายมาคึกคักยามเย็น ตามวิถีของผู้คนที่เปลี่ยนไปทำงานนอกบ้าน แต่หากเป็นตลาดในห้วงคำนึงของผู้เฒ่าผู้แก่ มันยังสู้ภาพนัดเช้าที่แสนมีชีวิตชีวาไม่ได้ “แต่ก่อนนัดคึกคักนี่ต้องวันพระใหญ่ อยากรู้เป็นอย่างไร รอเจอลุงเบิ้มโน่น” พี่อาทรหมายถึงพ่อค้าเก่าแก่ที่ปักหลักขายของมาคู่คนเจ็ดเสมียนแต่อดีต

 

ผมเองไม่ได้พบกับลุงเบิ้มในวันนั้น แต่สังเกตจากเรื่องเล่าของหลายคนในตลาดก็พอจะเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำอันสงบ สมบูรณ์ และผู้คนเปี่ยมไมตรีแห่งนี้จะ “ดึงดูด” ให้หลายชีวิตเข้ามาปักหลัก เติบโต และหยัดยืนอยู่เรียบง่าย

 

หากเพราะมันมากมายไปด้วยความสมบูรณ์อันมีอยู่ในผืนแผ่นดินและหัวใจผู้คน

 

ผู้คนในเจ็ดเสมียนปะปนอยู่ทั้งคนไทยพื้นถิ่น คนจีน ลาว และคนเขมร ด้วยเงื่อนไขทางการอพยพตั้งถิ่นฐานในอดีต ทั้งสงครามการกวาดต้อนไพร่พล หรือแม้แต่การติดต่อกันทางการค้า

 

ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองทั้งสองฟากในช่วงพาดผ่านพื้นที่ตำบลเจ็ดเสมียนคือบ้านหลังอุ่นของคนหลายที่มา บ้านสนามชัยและบ้านกุ่มคือถิ่นปักหลักของชาวเขมร ที่ว่ากันว่าเขมรที่นี่ไม่ใช่เขมรจากพระตะบองหรือเสียมราฐ หากแต่อพยพโยกย้ายกันมาจากสุรินทร์คนไทยเชื้อสายเขมรเชี่ยวชาญการเลี้ยงและทำศึกสงครามด้วยช้าง “พวกนี้ส่วนใหญ่ดั้งเดิมนามสกุลวงศ์ไอยรา ไปดูได้ งานบุญที่วัดสนามชัย ส่วนใหญ่พี่น้องพวกนี้ทั้งนั้น” เฒ่าชราคนหนึ่งบอกกับผมในวันหนึ่งเมื่อเราแวะเข้าไปเที่ยววัดสนามชัย

 

เช่นเดียวกับคนเชื้อสายลาว พวกเขามีบ้านเรือนระเรื่อยริมฝั่งแม่น้ำ กระจายกันอยู่ทั่วไปในเมืองไทยมาแต่ยุคกรุงธนบุรีตราบต่อกรุงรัตนโกสินทร์ คนลาวในราชบุรีรวมถึงเจ็ดเสมียนย้ายครัวกันมาจากเวียงจันทน์ พวกเขาถูกเรียกว่า “ลาวตี้” ด้วยมักพูดลงท้ายด้วยคำที่ออกเสียงตี้ เช่นกัน พวกเขานำมาซึ่งประเพณีวัฒนธรรมอันน่าศึกษาสัมผัส โดยเฉพาะประเพณีแห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์ที่ว่ากันว่างดงามยิ่งนัก

 

ภาพผสมกลมกลืนของผู้คนในอดีตตกทอดอยู่ในชีวิตและการงานจนดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้วันนี้เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ได้ใช้ภาษา “ดั้งเดิม” อย่างบรรพบุรุษ ทว่าก็เมื่อไถ่ถามย้อนความลงไป ไม่มีใครหลงลืมว่าตัวเองมาจากไหน

 

สายเข้าหน่อย ผู้คนกลับสู่การงาน หรือไม่ก็พักผ่อนกันในบ้านเรือน เราเดินเลาะถนนสายเล็กหน้าชุมชนเจ็ดเสมียน เลียบทางรถไฟสายโบราณที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสักเท่าใด “แต่ก่อนริมทางรถไฟมากไปด้วยการงาน อย่างว่า เราต้องอดทน” ป้าทองสุขพวงรอดยืนอยู่หน้ากองหัวไชโป๊วที่สูงเกือบเท่าขื่อหลังคาของบ้านชั้นเดียว เสียงรถไถ กลิ่นหมักเกลือฟุ้งกำจาย

 

“พูดถึงคนเจ็ดเสมียน ไม่มีใครไม่นึกถึงไชโป๊ว” แกว่าเช่นนั้น ยิ้มอย่างภูมิใจในวันคืนที่พ้นผ่าน

 

หากเข้ามาถึงเจ็ดเสมียน เสน่ห์ของตลาดเก่าและรอยยิ้มอันเรียบง่ายล้วนปะปนอยู่ในการงานอย่างแยกไม่ออก การงานที่หล่อหลอมให้พวกเขามีตัวตน ไม่ทิ้งร้างจากแผ่นดินอันอบอุ่น

 

“แต่ก่อนนะ ไม่สะดวกอย่างนี้ ใครนั่งรถไฟผ่านมา เห็นคนเจ็ดเสมียนปักเสียมปักดินเป็นวงกลม ยืนย่ำหัวไชโป๊วให้แน่นเป็นกลุ่มๆอ้อ ส่วนใหญ่มีแต่ผู้หญิงน่ะที่ทำ ผู้ชายเขาไปอยู่ในไร่ในนา” เราเข้ามาในโรงงานไชโป๊วขนาดใหญ่ที่เติบโตมาถึงรุ่นที่ 3 เกลือจากบ้านแหลม เพชรบุรี ถูกเคล้ากับไชโป๊วเป็นตันๆ ด้วยรถเกรดขนาดเล็ก เสียงเซ็งแซ่ของแรงงานและเครื่องจักร ปะปนกันไปอย่างมีเสน่ห์

 

จากการถนอมอาหารง่ายๆ ของคนจีน กลายเป็นผลผลิตให้เร่ขายไปตามลำเรือแต่ครั้งแม่น้ำคือเส้นทางสัญจร ทุกวันนี้อาชีพดั้งเดิมของคนเจ็ดเสมียนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้การกินอยู่ของคนบ้านนี้และรอบด้านมั่นคง ลืมตาอ้าปากหรือดูแลขับเคลื่อนครอบครัวไปข้างหน้า

 

ป้าทองสุขพาผมเข้าไปในโรงงานขนาดย่อมๆ หัวไชโป๊วจากอุทัยธานี นครสวรรค์ รวมทั้งเกลือ ที่แต่เดิมต้องขนถ่ายกันมาทางเรือ“ขนไปขายทั้งทางรถไฟ เรือ นั่นล่ะ ไปบ้านโป่ง แม่กลอง ตลาดพลูที่กรุงเทพฯ ก็ไป” สมัยนี้ที่อะไรๆ ก็ดู “ง่าย” ขึ้น ผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งแบบหวาน เค็ม หรือสามรส ขายเป็นชิ้นหรือซอยสไลซ์ หากทว่ารายละเอียด “ภายใน” ล้วนไม่เคยเปลี่ยน

 

“การงานและชีวิตมันรอเราอยู่หน้า อยู่ที่เราจะหันเข้าหามันหรือเปล่า” ป้าทองสุขพูดเบาๆ อยู่หลังบ้าน ดวงตามองออกไปยาวไกล

 

คล้ายกับชีวิตที่เห็นมันเป็นเช่นนั้น เป็นเช่นแม่น้ำตรงหน้าที่ไม่มีวันไหลกลับ เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม หากแต่ก็พร้อมเสมอที่จะให้ร่วมหลากไหลไปกับมันอย่างอาทร

 

รอยยิ้ม ณ ปัจจุบัน

 

ห้องแถวไม้สองฝั่งที่โอบล้อมตลาดเจ็ดเสมียนเรียงรายรวมกันราว 30 ห้อง ว่าไปในสายตาคนเกือบสามรุ่นที่ผ่านมันมา มันผ่านทั้งเรื่องราวรุ่งเรืองและซบเซา คนรุ่นหลังๆ บางคนโยกย้ายเข้าเมืองไปตามเงื่อนไขของชีวิตและวันเวลาที่ก้าวไปข้างหน้า

 

“ไม่มีอะไรเหมือนเดิมหรอก อยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับมันอย่างไร” ชัยวิทย์และณภัทรชนม์ อภิรัตน์อุดมชัย บอกกับผมเมื่อเราใช้ยามบ่ายกันห้องแถวไม้ท้ายๆ ตลาดก่อนถึงแม่น้ำ แวดล้อมด้วยภาพเขียน ประติมากรรม ผลงานของทั้งคู่ และอีกมากมายเป็นชิ้นงานของเด็กๆ ในชุมชน

 

คืนวันแห่งความปรับเปลี่ยนมาเยือนคนเจ็ดเสมียนพร้อมๆ กับพวกเขา

 

“เราเลือกศิลปะ มันสื่อกับคนได้ทุกที่” ชัยวิทย์ว่าไว้เช่นนี้ ชมรมศิลปะวันว่างของทั้งคู่จึงแทรกตัวอยู่ในตลาดเจ็ดเสมียนอย่างกลมกลืน เป็นที่รวมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสื่อสารกับโลกภายนอกถึงบ้านเกิดเล็กๆ ของเขาผ่าน “งาน” หลายรูปแบบ

 

ว่ากันตามตรง ภาพ “ร่วมสมัย” เช่นนี้เริ่มอยู่ในการรับรู้ของคนเจ็ดเสมียนมาราวปีกว่าๆ

 

“เริ่มจริง ๆ ก็จากครูเล็กกับครูนายนั่นล่ะค่ะ” ณภัทร์ชนม์หมายถึง ภัทราวดี มีชูธน กับ มานพ มีจำรัส สองศิลปินการแสดงร่วมสมัยที่ไม่ต้องการให้ตลาดเจ็ดเสมียนค่อยๆ จางคลายอดีตกว่า 119 ปี ลงไปกับการเปลี่ยนผ่านของวันเวลา

 

“แม่ครูนายแกเป็นคนที่นี่ค่ะ เลยเกิดการรวมตัวคนทำงานศิลปะหลากหลายแขนงเข้ามาที่เจ็ดเสมียน”

 

ฟังดูเหมือนเรื่องในนิทาน ที่การแสดง “สมัยใหม่” จะฟื้นฟูตลาดเก่า ทว่างาน all about arts ที่จัดทุกสิ้นเดือนก็ต่อเนื่องนาวนานมาได้เป็นปี ดึงคนให้เข้ามาเห็นหลายอย่างของเจ็ดเสมียนที่ซุกซ่อน และบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง

 

“วันที่เราตกลงกันว่าจะเริ่ม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ” สุทธิเดช ลิ้มธีระกุล ผู้ใหญ่บ้านหนุ่มผ่านยามบ่ายไปพร้อมกับภาพของเจ็ดเสมียนที่เขาและพี่ป้าน้าอาเลือกให้บ้านของพวกเขาเป็น

 

ว่าไปแล้ว ที่นี่มากมายด้วยศิลปวัฒนธรรมของผู้คนท้องถิ่นเดิม ทั้งเพลงพื้นบ้าน การเข้าทรง หรือแม้แต่การละเล่น เต็มอยู่ซึ่งความคิดความเชื่อแบบโบราณ แต่ไม่น่าเชื่อ ที่สิ่งเหล่านั้นมารวมอยู่ด้วยกันกลางโลกสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง

 

“ทุกสิ้นเดือนเราอาจเห็นละครเรื่องหนึ่งดำเนินไปในยามเย็น” ชัยวิทย์พูดถึงห้วงเวลาของงาน all about arts ตลาดมากมายด้วยของกินนานา รูปเขียน,การแสดงทางหัตถกรรม ที่ลานโพธิ์ เด็กๆ ตีขิม คุณยายสักคนร้องบทเชื้อเชิญ-นางด้ง เต้นรำไปราวกับโลกทั้งใบเป็นเรื่องของการสักการะ ขณะที่ริมน้ำ เวทีง่ายๆ ยกพื้นกลายเป็นที่ทางของศิลปะการแสดงเพอร์ฟอแมนซ์

 

โมงยามเช่นนั้น ด้วยเรี่ยวแรงใจของคนเจ็ดเสมียน ราวกับทุกการเคลื่อนไหวตรงหน้านั้นมีอยู่เพื่อตัวพวกเขาเอง

 

ต่อหน้าลานที่เป็นตลาดชุมชน ในยามบ่าย ตรอกซอยที่ติดรูปโบราณของเจ็ดเสมียนล้อไปกับภาพเขียนยุคใหม่อย่างมีมิติ ผมเดินเข้าไปในโรงละครเล็ก-ห้องแถวไม้ที่ภายในขรึมขลังด้วยเวที แสงบ่าย ผ้าม่าน และการตกแต่งที่ไม่หนีอดีตของตลาด

 

รูปถ่ายครูนายของเด็กๆ ในหน้ากากเขียนลายกลางแสงแบบ “ละคร” ประดับอยู่เต็มผนัง แม้เวทีเล็กๆ ท้ายเรือนแถวจะว่างเปล่าม่านผ้าสีขาวปลิวไหวในบ่ายอยู่เอื่อยๆ แต่ภาพบางภาพก็จินตนาการได้ไม่ยาก

 

“ละครและศิลปะทำให้คนมารวมกันได้ครับ” ชัยวิทย์เดินตามเข้ามา เราพูดคุยกันถึงบรรยากาศในโรงละครเล็กที่เวลาจัดแสดงจะมากด้วยความมีชีวิตชีวา

 

ร้านกาแฟสดด้านหน้าเนืองแน่นลูกค้า เด็กๆ รู้จักการทำงานเป็นทีม ดูฉาก เซ็ตไฟ ดูคิวการแสดง ขณะที่นักแสดงเลือดเจ็ดเสมียนอย่างครูนายและคนอื่นๆ จมหายและเปลี่ยนตัวตนไปกับท่วงท่าสะท้อนเรื่องราวที่กำหนด

 

จากห้องแถวไม้เล็กๆ หยาดเหงื่อและรอยยิ้มของใครหลายๆ คนที่นี่อาจทำให้คนมาเยือนได้เห็นถึงความตั้งใจของพวกเขา

 

ความมุ่งมั่นที่จะบอกว่าตำบลเล็กๆ ริมแม่น้ำแห่งหนึ่งมีเรื่องราวมากกว่าประตูไม้บานเฟี้ยม เสียงจอแจในตลาด หรือเรื่องเล่าที่ค่อยๆ จางคลายตามยุคสมัย

 

ว่ากันตามตรง เรื่องราวต่างๆ ของเจ็ดเสมียนอาจไม่ได้ถูกซุกซ่อนไว้ตามตู้โบราณ รอการมาค้นพบและอิ่มเอมกับอดีตของใครสักคนแต่เพียงครู่ แล้วจากไปเหมือนขบวนรถไฟสายด่วน

 

ทว่าสำหรับคนที่นี่ มันอบร่ำอยู่ในเนื้อไม้ มวลแม่น้ำ ผืนแผ่นดิน รวมไปถึงทุกฉากผ่านที่เคลื่อนเข้ามาในแววตา

ริมแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่านตำบลเจ็ดเสมียน