อรุณ ชัยเสรี

อรุณ ชัยเสรี

บริเวณล็อบบี้ด้านล่างของตึกช้างโซน A คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ลิฟต์นำพาชีวิตก้าวขึ้นมาสู่ห้องสูทชั้นที่ 24 อันเสมือนเท้าคู่หน้าของช้างอันทรงพลัง เมื่อเมียงมองออกไปนอกหน้าต่างของคลังสมองแห่งนี้ แลเห็นรถราคันกระจ้อย ห้องดังกล่าวอยู่บริเวณงาช้างสีทองของตึกพอดิบพอดี ภายในตกแต่งหรูหราด้วยงานศิลปะภาพเขียนสีน้ำมันของศิลปินชื่อดัง โขลงช้างป่ากำลังข้ามห้วยกลางหุบเขาใหญ่ทางภาคเหนือ รอบๆ ห้องละมุนตาด้วยไม้แกะสลัก รูปหล่อ อากัปกิริยาของช้างน้อย ช้างใหญ่นับร้อยๆ ชิ้นอยู่ที่พื้นและภายในตู้โชว์ โดยมีองค์พระพิฆเนศวรเป็นประธานอยู่ด้านบน ด้านหลังเป็นห้องพระประธานองค์ใหญ่ อาทิ หลวงปู่ทวดพระโพธิสัตว์กวนอิมอวโลกิเตศวร พ่อจตุคามรามเทพ บูรพมหากษัตริย์ ฯลฯ สร้างความขลังแก่ผู้มาเยือน

 

ศาสตราจารย์อรุณ ชัยเสรี คือผู้บริหารสูงสุดของที่นี่ ในฐานะประธานกรรมการบริษัทอรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัดผู้สร้างตำนานตึกสูงระฟ้าชื่อก้องของเมืองไทย เขาสามารถไต่ระดับสู่จุดสุดยอดได้อย่างไร และเมื่อประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ เขากำลังจะคืนสู่สามัญโดยการวางมือจากการบริหาร ความสุขสดใสตามสไตล์ปัจฉิมวัย อยู่ท่ามกลางสวนป่าหิมพานต์วิมานบนดินได้สมปรารถนา นั่นคือปุจฉา!

 

แก่นแท้พ่อพิมพ์

“เมื่อก่อนผมจะออกแบบด้านวิศวกรรมที่ผมถนัด ตอนนี้ก็ให้บุตรชายเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน เพราะเขาเรียนมามากกว่าผม เขาจบดอกเตอร์มาจากต่างประเทศ เวลาเขามีปัญหาก็จะมาปรึกษากับผม ตอนนี้ผมวางมือเกือบหมดแล้ว เหลือแต่ให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาต่างๆ แต่ผมนั่งเป็นประธานกรรมการอยู่ ส่วนลูกชายดำรงตำแหน่งผู้จัดการ ดำเนินงานไปได้ดีโดยตลอด

 

“ปัจจุบันนี้ผมกำลังทำพจนานุกรมด้านวิศวกรรมโยธาให้กับราชบัณฑิตยสถาน สำนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีหลายสาขาวิชา เช่นประมง ป่าไม้ การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ทางวิศวกรรมศาสตร์ก็มีโยธา ไฟฟ้า เครื่องกล เมื่อราว พ.ศ.2538 เผอิญผมได้พบกับนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ ตอนนั้นท่านเป็นราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ท่านเป็นสถาปนิก ท่านได้แนะนำให้ผมลองสมัครดู

 

คงเห็นว่าผมมีความรู้และประสบการณ์เพียงพอในด้านวิศวกรรมโครงสร้าง ผมจึงได้สมัครและได้เป็นภาคีสมาชิก ซึ่งผมเป็นอยู่ 6ปีเศษ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ปัจจุบันผมเริ่มทำพจนานุกรมมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว กว่าจะเสร็จสมบูรณ์คงอีกหลายปี

 

 “ตั้งแต่เด็กๆ ผมก็เรียนหนังสือเหมือนกับเด็กอื่นๆ ทั่วไป ผมเรียนโรงเรียนสตรีทัศสิงหเสนีย์ 2 ย่านยศเส จบประถมศึกษาปีที่ 3ไปต่อประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนกระทั่งจบ ม.8 อักษรศาสตร์ ตอนแรกที่ผมเลือกเรียน ม.8 อักษรศาสตร์ 
เพราะวิชาคำนวณของผมได้คะแนนไม่ค่อยจะดี ตอนที่อยู่ ม.2 ถึง ม.3 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี ผมเล่นแบดมินตันแทบทุกวัน ตอนขึ้น ม.4 ก็เล่นหนักขึ้น บางครั้งในวันหยุดผมเล่นตั้งแต่เช้าถึงเย็น หนังสือไม่ค่อยได้ท่อง เวลาทั้งหมดก็เอามาแบ่งให้กับแบดมินตันเกือบหมดเพื่อแข่งขันในรุ่นจิ๋วของโรงเรียน ส่วนการบ้านก็ให้พี่ชายเป็นคนทำให้ ผมจึงเรียนไม่รู้เรื่อง

 

“พอตอนจะจบชั้น ม.4 ผมก็ชนะเลิศแบดมินตัน ได้เหรียญรางวัลมาครอง แต่สำหรับคะแนนสอบคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ผมสอบได้50.3 เปอร์เซ็นต์ จนคุณแม่ผมถามว่าเหรียญรางวัลนั่นน่ะ เอาไปขายกินได้มั้ย มันก็เลยทำให้เราได้คิดว่า เราเอาแต่เล่น ความรู้จึงไม่มี ผมเลยปรับตัวเองใหม่ โดยหยุดเล่นและเริ่มศึกษาทฤษฎีวิชาเรขาคณิต วิชาคณิตศาสตร์ ตั้งแต่บทแรกๆ จนเข้าใจ รู้สึกว่าพอเข้าใจแล้วมันไม่ยากเลย พอขึ้น ม.5 เริ่มดีขึ้น พอถึง ม.7-ม.8 ผมก็สอบได้ที่ 1 มันมาจากความมุมานะ เมื่อเรียนดีขึ้นมา ก็รู้สึกสนุก อย่างอื่นมันก็เลยดูง่ายไปหมด คุณพ่อจึงมอบนาฬิกาให้ผมเป็นรางวัล 1 เรือน ก่อนนั้นไม่เคยมี ตอนที่ได้มาใหม่ๆ ผมก็เอามาใส่ด้วยความภูมิใจ ต่อมามันหล่นหายไป ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมไม่เคยสวมใส่นาฬิกาอีกเลย ผมอาศัยดูนาฬิกาจากโทรศัพท์มือถือบ้าง หรือถามจากคนอื่นบ้าง ผมเองเป็นคนตรงต่อเวลา แม้ผมจะไม่มีนาฬิกาข้อมือใช้ แต่ผมก็ถือสัจจะ ยึดเรื่องการตรงต่อเวลาอย่างมาก เวลานัดหมายใคร ผมจะพยายามให้ผิดเวลาไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ

 

“ตอนนั้นผมชอบวาดเขียน ผมจึงไปสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ปรากฏว่าสอบไม่ติด เพราะปีนั้นเป็นปีแรกที่การสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เขาไม่มีการสอบวาดเขียน แต่ไปสอบวิชาเคมี ชีวะ และพีชคณิตแทน ซึ่งผมไม่เคยเรียนมาเลย จึงทำข้อสอบไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ท้อ ปีต่อไปจึงกลับไปเรียนที่อัสสัมชัญอีก เพื่อเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ ตอนเย็นก็ไปเรียนพิเศษด้านเคมี พีชคณิต ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตอนเรียนอยู่ชั้น ม.8 อักษรศาสตร์ ผมสอบได้อันดับที่ 34 จากทั่วประเทศ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นที่ 1 ของโรงเรียน

 

“หลังจากนั้นเมื่อจบ ม.8 วิทยาศาสตร์ ผมก็ไม่ไปสอบเข้าที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว ตัดสินใจเปลี่ยนมาสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ เรียนจนกระทั่งจบทางสาขาโยธา เพื่อนๆ คนอื่นๆ เขาหางานได้หมด แต่ผมยังไม่ได้ไปหางานที่ไหนเลย ทางหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา ท่านก็เรียกผมไปพบ แล้วชวนให้ผมมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธาด้วยกัน ทั้งๆที่ผมไม่เคยคิดว่าจะมีอาชีพครูเลย ที่จริงแล้วที่ผมหันมาเรียนทางวิศวฯ ก็เพราะกลัวว่าจะต้องเป็นครู แต่เมื่อมาสอบสัมภาษณ์ก็ผ่าน ผมก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สอนประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่บัดนั้น และก็ได้สอนมาทั้งหมด 20 กว่าปี

 

“สอนไปได้ 2 ปี สอบได้ทุนค่าเดินทางของฟุลไบรท์ จึงตัดสินใจขอลาไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจนจบการศึกษาM.S. (Master of Science) จาก University of Illinois ในปี 2503 จากนั้นจึงกลับมาสอนหนังสือต่อ ขณะที่สอนหนังสือ ก็ได้ใช้เวลาในช่วงเวลากลางคืนเพื่อหาประสบการณ์ในการปฏิบัติงานมากกว่าที่จะสอนเฉพาะในตำรา จนได้รับงานออกแบบด้านโครงสร้างของอาคารหลายโครงการ ในระหว่างเรียนปริญญาโทอยู่นั้น ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงราชการแนะนำว่าผมไม่ควรเรียนต่อปริญญาเอก เพราะถ้าทำดอกเตอร์กว่าจะจบออกมา เราจะเสียโอกาสในตำแหน่งหน้าที่การงาน เราจะต้องกลับมาเป็นลูกน้องของลูกน้องรุ่นหลังของเรา เพราะเงินเดือนเขาจะขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนของเราหยุดนิ่ง ผมจึงตัดสินใจไม่เรียนต่อปริญญาเอก

 

“แต่เมื่อผมกลับมาเป็นครูแล้ว ก็รู้สึกรักพวกเด็กๆ นิสิตวิศวฯ แม้บุคลิกจะออกแข็งๆ หน่อย ผมมีความรู้สึกภูมิใจว่าเราได้ปั้นนิสิตให้จบออกมามีความรู้ความสามารถ เป็นใหญ่เป็นโต เวลาผมสอน ผมจะให้เขาหมด ไม่มีกั๊กเอาไว้ ว่ากันว่าในสมัยโบราณ ครูบางคนจะกั๊กเอาไว้หน่อย กลัวลูกศิษย์ที่เขาเรียกว่า ศิษย์คิดล้างครู (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นครูที่สอนในสมัยนั้นเขาจะเก็บไม้ตายเอาไว้ไม้หนึ่ง เพื่อสามารถปราบลูกศิษย์ได้ พอลูกศิษย์คนนั้นเรียนกับเขา ก็จะได้วิชาไปไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไปสอนลูกศิษย์ขั้นต่อไป ก็จะต้องเก็บเอาไว้อีก 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลัวลูกศิษย์คนต่อไปจะคิดล้างครู

 

“ฉะนั้น บางประเทศในสมัยก่อนจึงมีความเจริญน้อยกว่าอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเขามีวิชาการอะไรเขาจะสอนให้หมด แล้วเขาก็จะเขียนตำราไว้ให้กับคนรุ่นต่อไปไว้ได้อ่านว่ารุ่นนั้นเขาคิดค้นอะไรไว้บ้าง รุ่นต่อมาจะต่อยอดไปเรื่อยๆ แต่ประเทศที่กล่าวถึงตอนแรกจะต้องเริ่มต้นกันใหม่และเริ่มต้นไปเรื่อยๆ ความรู้ที่เป็นสุดยอดจึงยังอยู่กับครูคนแรกไม่มีใครได้รู้ เพราะมันตายไปกับครู 
แต่ผมไม่กลัวคำพูดเหล่านี้ ผมคิดว่าอย่างไรลูกศิษย์ของผมก็ต้องได้วิชาความรู้เต็มที่เหมือนกันหมด เพราะเราล้ำหน้าเลยกว่าเขาไปหลายปี และถือว่าลูกศิษย์ที่ดีจะต้องเก่งกว่าครู ชาติจึงจะเจริญ”

 

หันสู่ธุรกิจขนาดยักษ์

“ผมมักจะสอนลูกศิษย์เสมอว่า คนเรามันต้องลับมีดอยู่ตลอดเวลา นั่นคือการฝึกฝน เพราะถ้าเราสอนตามหนังสืออย่างเดียวหนังสือว่าอย่างไร เราก็นำไปสอนแค่นั้น นักเรียนก็จะรู้แค่อยู่ในหนังสือ ผมจึงต้องไปหาประสบการณ์จริงๆ ทางด้านวิชาชีพด้วยเราต้องมีประสบการณ์พอสมควร ลองคิดดูง่ายๆ ถ้าอาจารย์สอนวิชาออกแบบโครงสร้าง แต่ตนเองไม่เคยออกแบบโครงสร้างเลยนักเรียนที่ไหนจะเชื่อ แต่จะไม่ทำอะไรมากมาย ทำพอให้เราได้รู้ ได้พบปัญหา ได้แก้ปัญหา ผมสอนที่จุฬาฯ อยู่ถึงปี พ.ศ.2521ก็ตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์ เพราะมีปัญหาเรื่องเสียง คืออยู่ดีๆ ก็เกิดเสียงแหบหายไปเฉยๆ มันเป็นอุปสรรคต่อการสอนหนังสือ ก็เลยตัดสินใจลาออก

 

“ตอนนั้นหมอบอกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ผมเป็นมะเร็งที่กล่องเสียง ผมก็ไม่ได้ตกใจอะไร เป็นมะเร็งก็เป็นไป ไม่เห็นจะเป็นอะไร เหตุที่เป็นมะเร็ง คุณหมออธิบายว่าเพราะ หนึ่ง เสียงผมหายไป สอง ผู้ชายนั้นมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้หญิง สาม อาชีพของผมต้องใช้เสียง ต้องพูดตลอดเวลา เมื่อหมอส่องกล้องลงไปดูที่กล่องเสียง ก็พบอะไรนูนๆ ออกมาที่กล่องเสียงนั้น จึงแนะนำให้ผ่าตัด หลังจากตัดเนื้อตรงนั้นออกไปแล้ว เอาไปพิสูจน์ พบว่าไม่ใช่มะเร็ง หมออธิบายว่า ผมเป็นคนพูดเสียงเบา พอตะเบ็งเสียงออกไป คอมันแตก เป็นแผล แล้วร่างกายก็สร้างพังผืดมาหุ้ม ก็เลยทำให้กล่องเสียงปิดไม่สนิท เวลาพูดเปล่งเสียงมันจะฟี้ออกไปหมด มันก็เลยไม่มีเสียง หลังจากผ่าตัดแล้วต้องใช้เสียงเบาๆ ขึ้นเสียงสูงไม่ได้

 

“ผมก็มานั่งคิดว่าจะมีอาชีพอะไรที่ไม่ต้องใช้เสียง เพราะตอนนั้นผมคิดว่าคงจะต้องลาออกจากราชการแน่ๆ ถึงแม้ผมจะผ่าตัดกลับมา พูดได้แล้ว แต่เราต้องไม่ประมาท เพราะถ้าใช้เสียงดังมากมันอาจจะเป็นอีกก็ได้ เลยตัดสินใจลาออกและริเริ่มทำธุรกิจของตัวเองด้วยการออกแบบอาคารโดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมามีเพื่อนและคนรู้จักนับถือกันมาชวนไปเสนองาน ซึ่งจะต้องเป็นนิติบุคคล จึงได้ตั้งบริษัทเพื่อการออกแบบและให้คำปรึกษาขึ้น โดยใช้ชื่อบริษัทเป็นชื่อของตัวเองว่า บริษัท อรุณ ชัยเสรีคอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด เป็นนิติบุคคล สามารถยื่นเสนองานโครงการต่างๆ ได้ โดยเริ่มไต่เต้ามาจากการมีงานไม่มาก แต่มักเป็นงานใหญ่ๆ ได้เงินมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่ได้เลยก็เคย

 

“ตอนแรกผมมีสำนักงานอยู่ที่สยามสแควร์โดยจดทะเบียนรูปแบบบริษัท ประมาณปลายปี พ.ศ.2521 เมื่อเริ่มเป็นบริษัทแล้วก็เริ่มได้งานมากขึ้นและใหญ่ขึ้น จึงขยายธุรกิจ หาที่อยู่ใหม่ที่ใหญ่ขึ้นในย่านราชดำริ มันเหมือนกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาเริ่มต้นด้วยความบังเอิญทั้งนั้น จำได้ว่างานแรก เริ่มรับงานสร้างอาคารเรียนที่เทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ กับที่ลาดกระบัง หลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ อาคารที่ผมออกแบบแล้วผมจะภาคภูมิใจทุกตึก เพราะแต่ละตึกนั้น ผมจะใส่ความคิด โครงสร้างแปลกๆ ใหม่ๆ เข้าไปในนั้นด้วย แม้กระทั่งงานที่ไม่ใหญ่เท่าไร แต่พอออกแบบแล้ว มันได้ความรู้จากการออกแบบอันนั้นเยอะ

 

“ผมชอบทำอะไรที่ใหญ่ๆ แปลกๆ เพราะมันท้าทายดี เช่น โครงสร้างที่มีหลังคาโค้งหรือที่เรียกว่าหลังคาเปลือกบาง อันนั้นผมชอบมาก ส่วนอุปสรรคในการสร้างสรรค์งานมันจะยากทุกอัน ยกตัวอย่างเช่น ผลงานสร้างหลังคาอาคารรัฐสภา เป็นหลังคาเปลือกบางๆ ขนาด 33 เมตร คูณ 33 เมตร ตอนนั้นมีโปรเฟสเซอร์ S.L.Lee มาจากประเทศสิงคโปร์ มาบรรยายที่ SEATOผมก็เข้าไปเรียนด้วย คอร์สนั้นค่าเรียนเพียง 120 บาท พอจบคอร์สนั้น ผมก็นำความรู้มาทำหลังคาอาคารรัฐสภาเลย มันเป็นงานที่ยากที่สุด สมัยนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ เราต้องคำนวณกันด้วยมือ แต่ก็ทำสำเร็จเรียบร้อย มันเป็นของที่เราไม่เคยรู้ เพราะหลังคาเปลือกบางมีหลายรูปแบบ แต่ที่รัฐสภามันเป็นหลังคาเปลือกบางช่วงกว้างที่มีความหนาตรงกลางแค่ 10 เซนติเมตรเท่านั้นมันเป็นงานแรกๆ ที่ทำขนาดใหญ่ขนาดนั้น ปัจจุบันนี้เขาไม่ค่อยทำกันแล้ว คงเพราะก่อสร้างยาก”

 

องอาจผงาดท้าทาย

 “ที่จริงผมไม่ใช่ชอบแต่จะสร้างตึกสูง สมัยก่อนตึกสูงๆ จะอยู่ที่ประมาณ 20-25 ชั้น เพราะเรายังใช้เสาเข็มแบบเก่า ซึ่งรับน้ำหนักไม่ได้มากนัก จึงอยู่เพียง 20 กว่าชั้นเท่านั้น แต่ไปอีกงานหนึ่งที่โรงแรมรอยัลออร์คิด เราได้บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างมาทำเสาเข็มขุดเจาะ เรียกว่าเสาเข็มเจาะครั้งแรก ลึกแค่ 32 เมตร ก็ถือว่าลึกที่สุดในขณะนั้น แล้วงานต่อไปผมทำที่ไทปิงทาวเวอร์ สูง 30 ชั้น ต่อมาก็ทำตึกซิโน-ไทยทาวเวอร์ ถนนอโศก สูง 30 ชั้น อีกเหมือนกัน ตอนนั้นใช้เสาเข็ม 32เมตร ลิมิตมันจะอยู่เพียงแค่ 30 ชั้น

 

“ทีนี้บังเอิญผมได้มีโอกาสพบคุณพันธุ์เลิศ ใบหยก ท่านอยากจะสร้างตึกใบหยกให้สูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น ผมก็ไปประกวดแบบร่วมกับบริษัท แปลน อาคิเต็ค ตึกที่สูงที่สุด สูงได้ 43 ชั้นในขณะนั้น แต่เมื่อทำไปไม่ทันไร ก็มีคนทำตึกสูง 50 ชั้นแล้ว บางตึกสูง 62 ชั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นคุณพันธุ์เลิศก็เลยบอกว่าให้ทำอีกตึก สูง 100 ชั้นไปเลยดีกว่า (หัวเราะ) แต่ท่านพอใจผลงานตึกใบหยก 1 ที่สูง 43 ชั้น ท่านจึงบอกกับผมว่า จะไม่ประกวดแบบแล้ว จะให้ทำเลย ตอนนั้นสำหรับผม เงินไม่สำคัญแล้ว แต่อยู่ที่ความไว้วางใจของเจ้าของ ส่วนผู้ออกแบบต้องการผลงาน เพราะเห็นว่าท้าทายดี และอยากได้ชื่อเสียงที่จะได้ทำตึกสูงเกือบ 100 ชั้นมากกว่า

 

“จากนั้นก็เริ่มทำการทดสอบหุ่นจำลองในอุโมงค์ลม เมื่อขุดเจาะเสาเข็มเสร็จเรียบร้อย วางรากฐานตามมาตรฐาน จนสร้างเสร็จเป็นตึกใบหยกทาวเวอร์โครงการ 2 สูง 86 ชั้น เพราะมันสูงกว่านั้นไม่ได้ ตอนนั้นเสาเข็มมันเจาะลงไปเต็มที่ของมันแล้ว เพราะสถานที่แคบ ไม่สามารถจะขยายฐานรากได้มากกว่านั้น หากสูงเกินกว่านั้น เสาเข็มจะรับน้ำหนักไม่ไหว และโครงสร้างจะโยกตัวด้วย การขอรับใบอนุญาตใช้เวลานานมาก รองผู้ว่าราชการฝ่ายโยธา กรุงเทพมหานคร สมัยนั้น ท่านบอกว่าให้ผมไปทำการคำนวณวิธีป้องกันอันตรายจากแผ่นดินไหว เราก็กลับไปจัดการคำนวณ โดยสมมุติว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นที่ประเทศพม่า ห่างประเทศไทยไป 200 กิโลเมตร มีความรุนแรง 6.3 ริคเตอร์ ผลการคำนวณออกมาปรากฎว่ามีผลกระทบน้อยกว่าแรงลมเสียอีก คือแรงลมมีผลมากกว่าแผ่นดินไหว เราจึงนำผลของการคำนวณไปเสนอต่อท่านรองผู้ว่าฯ ท่านจึงอนุมัติให้สร้างได้

 

“พูดถึงเรื่องแผ่นดินไหว ผมเชื่อมั่นอยู่ว่ามันยังไม่เกิดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมืองไทย เพราะไทยไม่ได้อยู่ใน fiery ring และไม่ได้อยู่ในโซนที่คาดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวด้วย แต่ถ้าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในประเทศใกล้เคียง คลื่นความสั่นสะเทือนจะมาถึงแต่อย่างที่กล่าวแล้ว ผมเชื่อว่าตึกใบหยกจะไม่เป็นอะไร เพราะได้ออกแบบเผื่อไว้หมดแล้ว

 

“ฉะนั้นตึกที่ไม่ได้เตรียมมาตรการรองรับในเรื่องของแผ่นดินไหว โดยเฉพาะตึกเล็กๆ เตี้ยๆ และตึกที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดสภาพคล่อง ปล่อยให้รกร้างเป็นจำนวนมากทั่วไปในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะมีผลกระทบมาก เรื่องตึกร้างนี้ผมเคยพูดไว้เป็นเวลานานแล้ว โดยผมเคยเขียนจดหมายถึงสภาวิศวกรเพื่อพิจารณาทำเรื่องเสนอไปยังหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้องให้หาทางออกที่จะทำให้อาคารเหล่านั้นได้สร้างต่อ เพราะผ่านมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ตึกพวกนี้โดนแดด โดนฝน จนเหล็กเสริมคอนกรีตอาจจะผุกร่อนไปแล้ว แล้วเศรษฐกิจย่ำแย่อยู่อย่างนี้ ทำไมไม่ให้อาคารพวกนี้สร้างให้จบ คนจะได้มีงานทำเศรษฐกิจมันจะได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องไปหามาตรการอื่น”

 

คืนผืนป่าให้กับแผ่นผืนโลก

“ตึกทั้งหมดที่สร้างมา เราไม่ได้ไปแข่งขันกับใคร แต่สร้างเพราะความจำเป็น ไม่ได้สร้างเพราะต้องการเอาชนะ ถ้าสร้างเพื่อการเอาชนะ ตอนนี้คงต้องไปแข่งที่ประเทศดูไบ มันก็ไม่มีวันจบ ในมุมมองของผม ที่เขาสร้างอาคารที่สูงที่สุดในโลก ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ในฐานะของวิศวกร ผมมองคล้ายๆ ว่าจะเป็นการท้าทายที่ทำตึกที่สูงที่สุดในโลก สูงเกือบถึงกิโลเมตร ในส่วนของชั้นบนแทบไม่ได้ใช้งานอะไร แล้วทำไมถึงต้องสูงขนาดนั้น ซึ่งที่จริงเราก็อยู่แบบธรรมดาก็ได้ มันก็สบายดีอยู่แล้ว และประหยัดด้วย แต่มันก็น่าจะมีองค์ประกอบหลายอย่าง เมื่อมีคนมาทำตึกสูง 40 ชั้น ก็จะมีคนมาทำ 50 ชั้น 80 ชั้น 100 ชั้นแข่งกันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่มันจะมีลิมิตอยู่ที่ลักษณะดินที่ทำฐาน

 

“สมมุติว่าจะสร้างตึกสูงๆ ที่กรุงเทพฯ แบบที่ประเทศดูไบได้ไหม ผมว่าเราทำได้ แต่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการทำฐานรากเพราะชั้นหินในกรุงเทพฯ อยู่ลึกลงไปหลายกิโลเมตร ทำแล้วไม่คุ้ม แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร ถ้าเราทำได้ เมื่อทำแล้วมี
ชื่อเสียง มันอาจจะเป็นชื่อเสีย เราทำไปโดยไม่มีเหตุผล เอาเงินงบประมาณทั้งหมดไปจมอยู่บนฐานรากโดย
ไม่ได้เกิดประโยชน์เลย

 

“ตอนนี้ผมไม่ค่อยได้ทำอะไรแล้วในด้านวิชาชีพวิศวกรรม เพียงแต่ทำงานอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า อย่างที่ผมทำพจนานุกรม อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เมื่อทำพจนานุกรมฉบับนี้สำเร็จแล้วก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก เพราะไม่ใช่เพียงแค่บัญญัติศัพท์เท่านั้น แต่มีคำอธิบายด้วย เหมือนกับตำราฉบับน้อยๆ เราจะอธิบายสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าคำนั้นๆ คืออะไร มาจากไหน มีความสำคัญอย่างไร เป็นต้น

 

“อีกสิ่งหนึ่งที่กำลังทำเพื่อสนองความฝันของตัวเองก็คือ การปลูกต้นไม้ ขณะนี้ผมกำลังปลูกป่าเพื่อลดอุณหภูมิของโลก แม้น้อยนิดก็ยังดี โดยผมสร้างเป็นสวนป่าหิมพานต์ ที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่กว่า 700 ไร่ แต่เดิมเป็นป่าหญ้าคา ได้ดัดแปลงเป็นสวน เป็นป่า ตอนนี้สร้างไปได้เยอะแล้ว ผมจะสรรหาต้นไม้ทุกชนิดที่หามาได้ นำมาปลูกไม่ว่าจะเป็นไม้แถบปักษ์ใต้ไม้ทางภาคเหนือ และภาคอีสาน มีทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ เรียกว่าไม่จำกัด สวนป่านี้ไม่ใช่สวนพฤกษศาสตร์ แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้พื้นที่ 700 กว่าไร่ไม่มีการเผาทำลายป่าไม้ เพราะฉะนั้นจึงมีแต่ต้นไม้และความชุ่มชื้นตลอดปี มีสระน้ำเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง จำนวนกว่า 40 สระ เวลาฝนตกลงมาน้ำก็จะเต็มสระ เราก็ใช้แหล่งน้ำนี้รดต้นไม้

 

“ผมทำสวนป่าหิมพานต์นี้ ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน มันเกิดจากนิสัยของผมที่ชอบต้นไม้อยู่แล้วเป็นทุนในการเริ่มต้น ที่มาของสวนป่านี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 เมื่อผมนั่งเครื่องบินไปจังหวัดสุโขทัย เพื่อไปดูของเก่า เพราะผมชอบสะสมของเก่าด้วย บังเอิญคนที่นั่งเครื่องบินติดกับผม คือ คุณชินชัย มหาแสน เป็นลูกศิษย์เก่าที่ผมเคยสอน เราจึงพูดคุยกัน เขาบอกว่าเขามีที่อยู่ติดถนนใหญ่
หน้าเขาผาซ่อนแก้ว ก็เลยชวนให้ผมไปซื้อที่อยู่ใกล้ๆ กัน และยังมีที่สวยๆ อีกเยอะ เป็นที่ราบด้วย เป็นที่รกร้างว่างเปล่า แต่มีเจ้าของ มีหญ้าคาเต็มไปหมด ทุกปีจะเกิดไฟไหม้ สุดท้ายเขาก็ชวนผมไปดูที่ ผมจึงตกลงไปกับเขาที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องบุกฝ่าดงหญ้าคาสูงท่วมหัวขึ้นไปดู เมื่อแหวกทางเดินออกไปขึ้นมาจนถึงจุดหนึ่ง โอ้โห ทำไมมันสวยอย่างนี้ เหมือนอีกโลกหนึ่งเลย แม้ต้นไม้ไม่มีสักต้น เมื่อมองจากข้างบนลงมาข้างล่าง มันสวยจริงๆ ได้เห็นภูมิประเทศและได้สัมผัสกับบรรยากาศแล้วรู้สึกประทับใจมาก ก็ตอบตกลงใจทันที

 

“ผมเช็คก่อนว่าเป็นที่ป่าสงวนหรือเปล่า เมื่อไม่ใช่ป่าสงวนจึงตัดสินใจซื้อมา จากนั้นก็ค่อยๆ ซื้อเพิ่มเติมทีละน้อยจนเป็น 700กว่าไร่ ปีแรกไปขอพันธุ์ไม้สนที่แม่สะเรียง เป็นสนเกี๊ยะมาปลูก 200 ต้น แต่พอถึงหน้าแล้งโดนไฟป่าไหม้จนเหลือเพียง 4 ต้น(หัวเราะ) ก็ไม่ได้ท้อ ลงมือปลูกใหม่ มันไหม้เพราะหญ้าคา เราก็ถางและขุดหญ้าคาออกไป และขุดสระน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าสระอโนดาดในปัจจุบัน เพื่อนำน้ำมารดต้นไม้และดับไฟป่าซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปี เราได้ขจัดหญ้าขจรจบและหญ้าคา ซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดีโดยปลูกหญ้ามาเลเซียทดแทน และปลูกต้นไม้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

“ผมเพิ่งสร้างบ้านให้คนเข้ามาพักมีอยู่ 3 ห้อง เผื่อว่าผู้ใหญ่ที่มาเที่ยวที่นี่จะได้เข้ามาพักผ่อน ส่วนพวกหนุ่มๆ สาวๆ ก็ไปนอนเต็นท์ ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง เราจึงใช้พลังไฟจากกังหันลมเป็นการคืนสู่ธรรมชาติ นอกจากนั้นแล้วรอบๆ บริเวณยังมีสัตว์ป่าหิมพานต์อาทิ เหมราช กรินทร์ปักษา ทักทอ และยังมีต้นมักกะลีผล มีใบมีลูก ผมกำลังคิดว่า อาจจะทำเป็นสำนักปฏิบัติธรรม เพราะผมได้ต้นศรีมหาโพธิ์มา 3 ต้น โดยเพาะจากเมล็ดที่นำมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งพระอาจารย์อริยวังโสได้กรุณาให้มา และขณะนี้กำลังสร้างเจดีย์อยู่ เคยมีคนขึ้นมาแล้วอุทานออกมาว่า เหมือนสวรรค์เลย เราได้ยินแล้วก็ดีใจที่ทำให้คนมีความสุขได้ อากาศตอนเช้าที่นี่จะดีมาก กลางคืนก็จะนอนดูดาวกัน ดาวที่นี่จะใสกว่าที่อื่นเวลาเดือนมืด”

 

สูงสุดคืนสู่สามัญ

“เรื่องความผูกพันกับช้าง อันนี้เกิดจากความบังเอิญที่ไม่ได้แปลนเอาไว้ ผมชอบสัตว์ ชอบต้นไม้ ชอบธรรมชาติ และ ชื่นชอบมานานแล้ว ตอนนั้นผมเป็นกรรมการอำนวยการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้พาสมาชิกราว 40-50 คน ไป ทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ขากลับแวะฮ่องกง บังเอิญบริษัททัวร์ไม่ได้ประสานงานเรื่องตั๋วเครื่องบินกลับให้ดี ผมเลยให้ลูกทัวร์กลับไปก่อนส่วนผมจะกลับเป็นคนสุดท้าย ผมต้องอยู่ที่นั่นอีก 2-3 วัน ก็ไม่รู้จะทำอะไร ได้แต่เดินไปที่ร้านต่างๆ ผมเห็นช้าง เห็นเต่าและสัตว์ต่างๆ ที่ช่างศิลป์เขาแกะสลักวางขาย แต่มีช้างมากกว่าเพื่อน เมื่อเดินไปร้านอื่นๆ ก็มีช้างหินแกะสลักสวยๆ ทั้งนั้น ก็เลยซื้อมาจำนวนมาก เมื่อนำมาจัดวางตั้งไว้ที่บ้านมันก็ลงตัว สวยงามมาก ช้างของเราไม่เคยมีช้างแกะสลักจากหินสีต่างๆ ในลักษณะเช่นนี้ ของบ้านเราจะมีแต่ไม้สักแกะท่ายืนและจะทำซ้ำๆ กันอยู่อย่างนั้นจนเป็นเอกลักษณ์ของช้างไทย

 

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมพาสมาชิกที่เหลือไปเที่ยวงานเอ็กซ์โปของประเทศต่างๆไปเจอทุกประเทศที่ทำช้างแกะสลักแต่ละตัวอากัปกิริยาทั้งหมอบทั้งคลาน ทั้งการเดินที่แตกต่างกัน ผมเห็นแล้วรู้สึกแปลกดี จึงซื้อสะสมมาเรื่อยๆ มันเลยกลายเป็นการสะสมช้างไปเลย ทีนี้เมื่อไปที่ไหนก็จะเดินดูแต่ช้างอย่างเดียว

 

“สำหรับตึกช้าง ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาก็เพื่อขายเป็นออฟฟิศขนาดใหญ่ เดิมทีเดียวหลังจากย้ายออฟฟิศมาจากราชดำริ ก็เลยคิดว่าน่าจะสร้างตึกมาเป็นของตัวเองที่ย่านรัชโยธิน ก็เลยนำที่ดินตรงนี้ที่คุณพ่อซื้อไว้ให้ ที่มันยาว ผมก็ให้สถาปนิก คือคุณองอาจสาตรพันธุ์ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน ออกแบบให้มีประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด เขาก็ออกแบบเป็นรูปตัวเอ็ม 3 ขา ทีนี้ด้านหน้ามันติดถนนพหลโยธิน ต้องมีการร่น เมื่อมองขึ้นไปมันเข้าเค้า ดูเหมือนเป็นช้าง ผมจึงขอให้คุณองอาจใส่งา ใส่หู ใส่ปากให้ผมหน่อย เขาเลยใส่ให้ จนกระทั่งออกมาเป็นตึกช้างในที่สุด ตรงที่ผมนั่งทำงานอยู่นี้คือบริเวณงาสีทอง

 

“ปัจจุบันนี้เรื่องงานออกแบบอาคารสูงผมไม่ได้ทำแล้ว ปล่อยให้ลูกชาย คือ ดร.ปิยวัชร ชัยเสรี สานงานต่อ ส่วนผมก็จะพัฒนาสวนป่าหิมพานต์ให้ดีขึ้น ก็จะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว ตอนนี้ผมปลูกสวนป่าไปเกือบเต็มพื้นที่แล้ว ยังขาดอยู่นิดหน่อยเมื่อเปิดให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมก็จะมีข้อติชม ผมก็จะนำข้อติมาใช้ในการปรับปรุงให้ดีขึ้น ส่วนใหญ่คนกรุงเทพฯ น่าเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะพวกที่ไม่ค่อยชอบเดิน พอไปถึงสวนป่าหิมพานต์แล้วจะไม่เดินชมสวน จะอยู่แต่ที่พักจะไม่ไปไหนแล้ว หากนั่งรถวนรอบๆ สวนป่าจะไม่ได้เห็นความงาม เพราะต้นไม้มันบดบังทัศนียภาพหมด แต่หากเดินดูเราจะเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่ได้เห็น

 

&n

ศาสตราจารย์อรุณ ชัยเสรี เจ้าของตึกช้าง