เมืองปาน-แจ้ซ้อน

เมืองปาน-แจ้ซ้อน

ลมหนาวมาพร้อมกับหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งความเริงร่าแห่งผลิตผลหลังฝนพรำ หรือบางความทุกข์จากอากาศกดหนักที่มาพร้อมสายลมกรีดผิว ทุกอย่างล้วนเป็นจริงเป็นจัง ไม่ว่าวันเวลาจะพัดพาพวกเขาให้เปลี่ยนแปลงไปเช่นไรก็ตาม

ท่ามกลางชีวิตสงบนิ่ง อากาศสดในท้องทุ่งและป่าเขา ความรื่นเย็นของสายน้ำและรอยยิ้มอาทรระหว่างผู้คน

สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมให้พื้นที่ในหัวใจของผู้คนที่นี่ยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่ปักหลักหายใจอยู่ในภูเขาอันไพศาลเวิ้งว้าง

 

1.ทุกเช้าที่สายหมอกยังอาบคลุมหุบเขาและแอ่งที่ราบ อากาศเย็นชื่น ถนนสายหลักในตำบลแจ้ซ้อนสุขสงบ ความเคลื่อนไหวในตลาดเช้าคือชีวิตชีวาแรกๆ ที่ปลุกให้คนที่นี่ออกมาจากบ้าน

ตลาดแจ้ซ้อนดูเป็นตลาดในชนบทอย่างแท้จริง ไร้ความจอแจแบบนักท่องเที่ยวสะพายกล้องดิจิตอล นอกจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน เสียงหัวเราะไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบด้วยภาษาเมืองกลมกลืนไปกับภาพเรียบง่ายยามเช้าของพวกเขาอย่างน่าใส่ใจ

ด้วยเงินไม่ถึง 20 บาท ผมได้ข้าวเหนียว ไส้อั่ว และตับปิ้งอีกชิ้นโต เพียงพอจะอิ่มไปในมื้อเช้า “เห็ดกำลังบาน ปลาในน้ำแม่มอญยังเยอะ ไม่ค่อยมีใครซื้อกับข้าวสุกหรอก” แม่ค้าขายปลาบอกว่าทำไมในตลาดเช้าจึงไม่ค่อยมีกับข้าวสำเร็จให้เห็นนักแม่ค้าคือคนแจ้ซ้อนเองที่เต็มไปด้วยความเป็นตัวของตัวเองในสินค้าของพวกเขา ซึ่งต่างผูกโยงกับผืนแแผ่นดิน บางวันเห็ดบนภูเขาบาน บางวันหัวปลีดก ก็เอามาขาย เปลี่ยนเวียนกันไปเรื่อยๆ “วันไหนไม่มีอะไรก็ไม่มา” เธอว่าติดตลก แต่ชัดเจนในรูปแบบชีวิต

ผักพืชผลและแมลงตามฤดูกาลแทรกตัวอยู่ตรงท้ายตลาด ดอกฮังลาวกำลังบาน แม่ค้าเด็ดมันและจัดมาใส่จานสวยทั้งดอกและหน่อ “ลวกสุกหรือจิ้มน้ำพริกก็ลำแต๊” เธอบอกเมื่อเราสนใจรูปทรงและสีสัน มันคล้ายพืชตระกูลขิงข่า แต่ออกยอดสีชมพูอมเหลืองน่ามอง

น้ำพริกนานาและของปิ้งย่างดูจะคู่กับเด็กนักเรียน พวกเขาจอแจเพิ่มสีสันให้ตลาดก่อนที่จะขึ้นรถรับส่งที่จะพาไปเรียนถึงในตัวอำเภอ หรือบางคนก็ลงไปถึงตัวจังหวัด “กับข้าว” จากบ้านอร่อยและถูกเสมอเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ

ตลาดแจ้ซ้อนติดตัวเองอยู่ตามความเป็นไปในชีวิตของผู้คนที่นี่ การงานในไร่นารอยู่เมื่อยามสายกำลังมาเยือน พวกเขามาตลาดเหมือนเป็นชีวิตประจำวัน และเมื่อพระสงฆ์รูปสุดท้ายเดินกลับจากบิณฑบาตรอบนอกหมู่บ้าน แวะผ่านตลาดอีกครั้ง แม่อุ๊ยหลายคนทิ้งแผงชั่งคราว บรรจงใส่อาหารประดามีและรับพรจากสาธุเจ้า นาทีนั้นภาพตรงหน้าแช่มช้อย อบอุ่น สงบงาม

ชีวิตเรียบง่ายมีอยู่จริง พวกเขาหวงแหนและเก็บมันเอาไว้เงียบๆ ไม่ต้องแสดงออกหรือปรุงแต่งอย่างที่ใครหลายคนกำลังดำเนินอยู่

 

2.ในความเก่าแก่ที่ฝังรากปักฐาน พระพุทธศาสนานั้นแยกไม่ออกและล้วนทำให้เมืองในหุบเขาเปี่ยมด้วยสิ่งที่เรียกว่าศรัทธา

วันนี้พระสงฆ์จากวัดศรีหลวงแจ้ซ้อนไม่ได้ออกเดินบิณฑบาต งานกฐินทำให้ชาวบ้านมารวมกันที่วัดอันเก่าแก่กว่า 1,338 ปี เคียงคู่หุบเขาแห่งนี้

ยามเช้าในวัดล้วนคึกคักและอบอุ่น “มาช่วยตุ๊เจ้าท่านเตรียมงานก่อน” เฒ่าชราและหลานชายมาถึงก่อนตลาดหน้าวัดจะวาย เสื่อสาดถูกช่วยกันปูรอรับพิธีกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมง กับข้าวและดอกไม้อย่างดีถูกบรรจุมาในตะกร้าและขันเงินของเหล่าแม่อุ๊ยที่มุ่นมวยผมและห่มชุดขาวมิดชิด บางคนปักปิ่นและเสียบดอกไม้หลายชนิดไว้ด้วยกัน มันไม่ใช่แค่ความงาม แต่ด้วยความเชื่ออย่างเหนียวแน่นของคนที่นี่เกี่ยวกับเรื่อง “ขวัญ” ของคนเรา และขวัญสำคัญคือขวัญหลวงบนศีรษะ ซึ่งต้องบูชาด้วยดอกไม้เพื่อความเป็นมงคล

แดดสายฉายจับโบสถ์เก่าคร่ำของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน มันสะท้อนทุกความงามเอาไว้อย่างอ่อนช้อย แม้จะสร้างขึ้นใน พ.ศ.1215แต่กาลเวลานับพันปีไม่ได้พรากศิลปะของวัดท้องถิ่นนี้ไปไหน ด้วยผู้คนที่นี่ร่วมกันซ่อมแซมบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง “บ้านเรามีสล่าดั้งเดิมเยอะ สั่งสอนสืบทอดกันมา ตรงไหนพังก็ทำตามอย่างเดิม ไม่เปลี่ยน” เช่นนี้ไม้ก็ยังคงเป็นไม้ ปูนก็ยังปั้นด้วยคติความเชื่อเดิมๆ

ผมใช้เวลาอย่างฟุ่มเฟือยในการจมไปกับทุกส่วนของวัดศรีหลวงแจ้ซ้อน หลังคาไม้ซ้อนซ้อนกันถึง 4 ชั้น ประดับด้วยเครื่องไม้แกะสลักอย่างวิจิตร มองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกเช้าไม่รู้เบื่อ งานปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์รวมถึงทวยเทพยาดานั้นเรียบง่ายตามแบบฉบับท้องถิ่น ที่สำคัญโบสถ์หลังนี้ไม่ได้ปิดตาย ทว่ายังคงเกี่ยวเนื่องกับผู้คนในทุกงานบุญอย่างที่เคยเป็นมา

ยิ่งเมื่อยามเสียงสวดให้พรแว่วกังวาน ผู้คนหลากอายุล้วนนิ่งงันหลับตา อาหารดอกไม้เรียงราย ภาพตรงหน้าในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ล้วนน่าเคารพและหวงแหน

ภาพที่นำคำว่าศรัทธาของมวลมนุษย์มาบอกเล่าในเช้าอันแสนอบอุ่น

 

3.ย้อนกลับไปเนิ่นนานในหน้าประวัติศาสตร์ เมืองปานและพื้นที่ภูเขารายรอบล้วนคือชุมชนทางทิศเหนือของเขลางค์นคร (ลำปาง)ที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า “ทุ่งสามหมวก” หรือ “ทุ่งสามโค้ง” ป่าไม้ สายน้ำ และแผ่นดินคือความสมบูรณ์ของทรัพยากรที่เมืองอื่นอย่างพม่าและเงี้ยวต่างก็ต้องการยึดครองเพื่อเป็นแหล่งเพาะบ่มสะสมเสบียงอาหาร

หากแต่นายบ้านผู้หนึ่งได้รวบรวมไพร่พลและรบพุ่งป้องกันเมืองเล็กกลางหุบเขาแห่งนี้ไว้ยาวนาน ว่ากันว่าเขาทำเครื่องส่งสัญญาณแจ้งเหตุจากทองคำมาหลอม เรียกว่า “ปาน” มีลักษณะคล้ายฆ้องใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ปานคำ” ผู้คนแถบนี้จึงขนานนามท่านว่า “เจ้าขุนจเรปาน” หลังจากนั้นจึงเพี้ยนเรียกชื่อเมืองมาเป็น “เมืองปาน” สืบเนื่องต่อมา

กลางขุนเขาที่ห้อมล้อม เมืองปานและแจ้ซ้อนเคลื่อนไหวคืนวันไปตามแบบฉบับเมืองที่ดำรงอยู่ได้ด้วยเกษตรกรรม ที่ราบตามหุบเขาคือผืนนาที่เปลี่ยนสีทั้งเขียวชอุ่มและเหลืองทองไปตามฤดูกาล มันถูกใช้ไปในการเพาะปลูกเพื่อดำรงชีพอย่างคุ้มค่าที่สุด

ออกจากหย่อมเมืองไม่ถึง 500เมตร รายรอบล้วนเป็นที่นากว้างไกลลิบตา สายน้ำแม่มอญที่มีต้นธารจากน้ำตกแจ้ซ้อนหลั่งล้น“เราปลูกข้าวกิน เหลือโน่นถึงขาย” ลุงสีมูน อิ่มเอิบ บอกกับผมระหว่างเกี่ยวข้าวแปลงท้ายๆ ของฤดู เราพบกันตรงสะพานไม้ไผ่ข้ามลำน้ำ รอบด้านคือผืนนาของหลายคน ที่ยามนี้การลงแขกเป็นเรื่องจริงจัง ไร้เครื่องจักรเกี่ยวข้าว “มันก็ดี ไม่เหนื่อย แต่ยังไม่จำเป็น” แกว่ากับทิศทางการทำนาของคนที่นี่ ซึ่งไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนา หากแต่ชีวิตที่เป็นมาก็มีสุขอยู่ดีอย่างที่ควรจะเป็น

ทุกวันหากไม่ขึ้นไปบนภูเขา ผมมักแวะเวียนไปตามผืนนาในฤดูเก็บเกี่ยวรายรอบตำบลแจ้ซ้อน ซึ่งก็ไม่เคยไปได้ครบสักทีเนื่องจากมันแผ่ไพศาลไปตามกายภาพของที่ราบกลางหุบเขาลิบตา

บางคราวยามมองจากที่สูง นาข้าวสีสวยที่ตั้งท้องแก่มีคนตัวเล็กๆ เคลื่อนไหวไปมา แปลงโน้นที แปลงนี้ที พวกเขาตีข้าวกันตั้งแต่หมอกยังอ้อยอิ่งห่มคลุมที่นาในรุ่งเช้า ไปจนถึงแดดนุ่มจรรโลงฉายใกล้ค่ำเย็น

 บางวันผมเข้าตลาดแจ้ซ้อน แวะไปบ้านสุทธิพรมณีวัฒน์ ที่ตกทอดเชื้อสายเจ้าเมืองปานมาถึงรุ่นที่ 4 แต่ละช่วงอายุยาวนานร่วมร้อยปี ฉางข้าวโบราณสีน้ำตาลขรึมนั้นบ่งบอกว่าข้าวนั้นสำคัญกับคนที่นี่ เนื้อไม้สักแกร่งทนมาเป็นร้อยปี ภายในคือห้องข้าวต่างๆที่ยังใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ “ข้าวรีบกินก็แยกไว้ส่วน ต้องทำพิธีบูชา” แม่ศรีวัย สุทธิพรมณีวัฒน์ เล่าถึงความเชื่อเกี่ยวกับข้าวหลากหลายให้ผมฟัง แม่ว่าข้าวที่เพิ่งเกี่ยวและสีมาใหม่ๆ ต้องทำพิธี “ตานข้าวใหม่” เพื่อความเป็นมงคล “ต้องให้ตุ๊เจ้าท่านฉันก่อน” 

เช่นนี้ที่ราบกลางหุบเขาจึงไม่ได้มีเพียงนาข้าวสีสวยที่อาบคลุมด้วยไอหมอกยามรุ่งเช้า

แต่เต็มไปด้วยชีวิต ความเชื่อ และการสืบทอดของผู้คนที่หายใจและอยู่ร่วมบนผืนดินที่พวกเขาพร้อมจะเรียกมันว่าบ้านอย่างคงทน

 

4.จากเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนที่ผู้คนเนืองแน่นมาเยี่ยมชมบ่อน้ำร้อนและน้ำตก เราบ่ายหัวรถคันเก่าสวนทางชันอันเรียงรายด้วยขี้เหล็กเทศสีเหลืองสดสว่างพราวในฟ้าหน้าหนาว มุ่งขึ้นไปสู่อีกหมู่บ้านบนแดนดอยของเขตตำบลแจ้ซ้อน

ทางขึ้นลงหุบเผยให้เห็นบ้านเรือนโบราณมุงหลังคาไม้แป้นเกล็ดเป็นระยะ และเมื่อผ่านพ้น 16 กิโลเมตร บ้านป่าเหมี้ยงก็วางตัวเองอยู่อย่างสมถะ ไล่ระดับไปตามเนินเขา มีธารน้ำพึมพำเสียงคลอไปแทบทุกเวลา

ใบเมี่ยงคือสิ่งที่คนบ้านป่าเหมี้ยงรู้จักมันดีมาเป็นร้อยๆ ปี

“ลูกหลานที่นี่เป็นตำรวจ พยาบาล หมอ ครู ก็ด้วยเมี่ยงนี่ละ” กลางโรงเมี่ยงทึบทึม บุญทรัพย์ กำลังกล้า นึ่งใบเมี่ยงและปั้นมันเป็นก้อนกลมโต มัดด้วยตอกไผ่ มันนุ่มแฉะและหอมกลิ่นจาการนึ่งเกลืออันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อนร่วมทางว่าเขาเคยลองเคี้ยวมันตอนเด็กๆ กับถั่วลิสงและมะพร้าวคั่ว “อย่างนี้เมี่ยงเคี้ยว กินสด ถ้าเป็นแบบตากแห้งก็ทำเป็นใบชา” บุญทรัพย์ว่าถ้าไม่มีใบเมี่ยงและภูเขา คนบ้านป่าเหมี้ยงก็อยู่ไม่ได้ “เราไม่ได้ปลูกข้าว ต้องซื้อเขา แต่ก่อนก็เอาเมี่ยงเอาชานี่ล่ะไปแลกมา”

เช่นเดียวกับหมู่บ้านเกษตรกรรมอื่นๆ กลางหุบเขา ที่ชาวบ้านมักปล่อยให้บ้านเรือนไม้แสนสวยของเขาเหลือเพียงพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยนั่งผันผ่านคืนวันอยู่เงียบๆ การงานจากอดีตส่งต่อรุ่นมาสู่พวกเขาอย่างคงทน หญิงสาวเด็กหนุ่ม “เป๊อะ” ตะกร้าหวายใบโตขึ้นหลังหายเข้าในในสวนเมี่ยง ก่อนจะพูนเพียบกลับมาอีกทีก็ปลายบ่าย

บ้านป่าเหมี้ยงสุขสงบด้วยเกษตรกรรมและภาพเรียบง่าย กลางแดดใสของฤดูหนาว โรงเรียนเล็กๆ มีเสียงเด็กเจื้อยแจ้ว หลังโรงเรียนคือบ้านพักโฮมสเตย์น่านอน มันอยู่เหนือธารน้ำอันรื่นเย็น เช่นเดียวกับกลุ่มบ้านโอมสเตย์ของชาวบ้านที่หน้าหมู่บ้านที่พวกเขาสร้างไว้หากินและรองรับผู้คนที่ขึ้นมาเยือนทั้งจากฝั่งเชียงใหม่และลำปาง

“มาพักที่นี่เราพาเขาไปดูงานของเรา ใบเมี่ยงไม่ได้เป็นแค่กินสดหรือชานะคะ แต่เราพัฒนาไปเป็นไส้หมอน นอนแล้วได้กลิ่นหอม” ครูสาวจากชั้นเด็กเล็กเล่าอมยิ้ม หลังเด็กๆ ของเธอวิ่งวุ่น โรงเรียนบ้านป่าเหมี้ยงมีส่วนดูแลเด็กเล็กที่พ่อแม่เข้าไปทำงานในสวนเมี่ยงทั้งวัน เธอว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “ข้างหน้า” ของบ้านป่าเหมี้ยงนั้นน่าดีใจ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม

กลางขุนเขาเงียบสงบอันยิ่งใหญ่ ผู้คนและหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ร่วมกับมันอย่างกลมกลืนเข้าใจ สิ่งใดจะมีค่าเกินไปกว่าการได้เห็นชีวิตรุ่นต่อรุ่นเติบโตกล้าแกร่ง

และผืนแผ่นดินก็ล้วนคงทนอบอุ่น ราวกับคืนวันรอบด้านว่างไร้กาลเวลา

หลายวันที่เมืองปานและแจ้ซ้อน ผมยิ่งรู้สึกว่า ภูเขา แผ่นดิน และสายน้ำของเมืองกลางหุบเขาแห่งนี้ล้วนมีจังหวะอันเฉพาะตัวเป็นจังหวะอันยิ่งใหญ่ทั้งเสียงฝนอันฉ่ำชื้น ลมหนาวพลิ้วพัด หรือม่านภูเขาหนักแน่นคงทน

หากเพราะมันคือความหมายและครรลองของแผ่นดิน ที่ทำให้คนตัวเล็กๆ ยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองอยู่ได้ในสิ่งที่พวกเขาคิด เชื่อและเลือกที่จะไม่หันหน้าหนีหายไปจากสิ่งที่เรียกว่าความอบอุ่น

 

How to Go

อำเภอเมืองปานเป็นเมืองเล็กในหุบเขาที่สวยสงบงามแทบทุกฤดูกาล หากแต่ยามฤดูหนาวมาเยือน ที่นี่ล้วนสวยงามและแสนบริสุทธิ์ ทั้งธรรมชาติและวิถีชีวิตผู้คน

จากตัวเมืองลำปาง ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1329 และแยกขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1157 ขึ้นเขามุ่งสูอำเภอเมืองปาน เส้นทางสวย รายล้อมด้วยป่าและที่ราบที่ห่มคลุมด้วยนาข้าวกว้างไกล เมื่อถึงอำเภอเมืองปาน เลี้ยวขวาที่สามแยกเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1252 ไปสู่ตำบลแจ้ซ้อน เมืองแสนสงบงามที่น่าไปสัมผัสชีวิตวัฒนธรรมของพวกเขาจากนั้นใช้เส้นทางมุ่งสู่อุทยานฯ แจ้ซ้อน เที่ยวน้ำตกแจ้ซ้อน บ่อน้ำร้อน แล้วใช้ทางภูเขามุ่งสู่บ้านป่าเหมี้ยงอีกราว 16 กิโลเมตร รถยนต์ควรมีกำลังเครื่องดี

ณ ที่ราบเล็ก ๆ ที่ตำบลแจ้ซ้อน