อดุล จันทรศักดิ์

อดุล จันทรศักดิ์

อดุล จันทรศักดิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์ บทความ) ปีพุทธศักราช 2551 ก้าวข้ามขั้นบันไดของขุนพลอักษรทะยานสยบภูผาวรรณกรรม กวีศิลป์ จากต้นธารสู่ปลายสายธารา เขามักจะถ่อมตนเองเป็นดั่ง “แพไม้ไผ่” อาจารย์อดุล อดีตข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 9 สังกัดสำนักงาน ก.พ. ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวินัยและรักษาระบบคุณธรรมปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง อันถือว่าเป็น “หน้าที่” ส่วนนามปากกา อัคนี หฤทัย เป็น “ปัญญา”ธารี ถือเสมือนเป็น “อารมณ์”จากสามบทบาท เมื่อรวมความ เขารู้ตัวเองว่า “ต้อง” ทำอะไร “ควร” ทำอะไร และ “อยาก” ทำอะไร 

ตุลาการกลั่นกรองกวีศิลป์ เขาเป็นนิติกรที่ไม่ใช่เนติบริกร เขาเป็นคนเรียนนิติศาสตร์ที่ใช้ความเป็นนักกฎหมายอย่างคุ้มค่า เขาเป็นตุลาการผู้ตัดสินคดีมนุษย์กับความสัมพันธ์ต่อสังคม เขาซื่อตรงและเดินตามข้อบทกฎหมายราวไม้บรรทัด เขาเป็น “ท่าน”ของแวดวงกฎหมาย และเป็นพ่อและสามีของครอบครัวที่อบอุ่นสมบูรณ์ครอบครัวหนึ่ง 

แต่เขาไม่ได้มีภาพเดียว เบื้องหลังภาพและเบื้องหน้าอันเด่นชัดนี้ยังมีกลิ่นอายหลังกรอบภาพอันลุ่มลึก เป็นกวีผู้มีจินตนาการเป็นเลิศ ดุจกวีผู้อุทิศตนเป็นแพไม้ไผ่ล่องไปในสายธารกระแสสังคมและเป็นคนเขียนหนังสือที่มีใจมุ่งมั่นคนหนึ่ง

ภาพภาคขยายของตุลาการหัวหน้า คณะศาลปกครองกลาง ผู้ถือตำรากฎหมายและปากกากวีไว้ในมือข้างเดียวกัน โดยภาพลักษณ์ เขาเป็นนักกฎหมายที่ใครหลายคนในแวดวงวรรณกรรมสงสัยว่าทำไมถึงจึงกล้าก้าวจากบัลลังก์ตุลาการมาเป็นกรรมการตัดสินงานวรรณกรรมได้ การที่เคยเคยตัดสินกวีซีไรต์ในรอบกวีนิพนธ์ 2 สมัย อีกภารกิจคนของแผ่นดิน เขาได้สร้างสรรค์กวีนิพนธ์ เพื่อสื่อสารแก่สังคมให้ผู้อ่านได้ร่วมรับรู้ ร่วมรู้สึก ร่วมคิด ทั้งคิดย้อนและคิดแย้ง ทำให้เกิดพลังทางปัญญาและได้รับความสะเทือนอารมณ์อย่างลุ่มลึกไปพร้อมกัน 

กว่า 40 ปีของการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจุดยืนอันแน่วแน่ในการรักษาความจริง ความถูกต้อง และความเที่ยงธรรม พร้อมกับยืนหยัดในการปกป้องเสรีภาพทางความคิด และการกระทำ กวีนิพนธ์ของท่านจึงมีความโดดเด่นในด้านพัฒนาการทางความคิด ทางอารมณ์ เปี่ยมด้วยพลังทางวรรณศิลป์ จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์พุทธศักราช 2551

มองย้อนไปในปลายปี 2510 ได้สร้างผลงานกลอนชื่อ “บทเพลงเหนือสุสาน” โดยใช้นามปากกา “ธารี” กวีบทนี้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมวรรณกรรมของชมรมวรรณศิลป์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทกวีนี้มีเนื้อหาต่อต้านการที่รัฐบาลไทยส่งทหารไปช่วยสหรัฐอเมริกาทำสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะจดหมายจากเวียดนาม “กราบเท้าแม่” และ “คิดแบบเหี้ย” ตอกย้ำสภาพสังคมในยุคนั้นได้อย่างถึงแก่นกระพี้ ในนามปากกา “อัคนี หฤทัย” คอลัมน์ “ ณ กาลเวลา” ของหนังสือพิมพ์ข่าวสดประจำฉบับวันอาทิตย์ ต่อมาถูกรวบรวมเป็นหนังสือบทกวีของเขาที่มิตรรักนักกลอนกวีศิลป์ไม่ควรพลาดในการหามาอ่าน

คมความคิด จิบเดียวก็จับใจ

อดุล จันทรศักดิ์ เกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่มาเติบโตที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดารับราชการ โรงงานสุรา (สังกัดกรมอุตสาหกรรม ปัจจุบันย้ายมาสังกัดกรมสรรพสามิต) ช่วงที่ย้ายมาอยู่พระนครศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ.2502 เมื่ออายุ 13 ปีครอบครัวจึงตั้งรกรากที่นั่นจนถึงปัจจุบัน มีพี่สาว 1 คน เขาเป็นคนที่ 2 เริ่มเรียนที่ปราจีนบุรีได้ข้ามขั้นหนึ่งปีและเมื่อปีพ.ศ.2500 เรียนอยู่ ม.4 (เทียบเท่าม.1 ในสมัยปัจจุบัน) ต่อมาได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ เรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ จบ ม.8แต่ละจังหวะย่างก้าวของการศึกษาแลดูมั่นคงถาวร

ด้วยการมองเห็นความไม่เป็นธรรมบางอย่างในสังคมและมุ่งหวังที่จะมีส่วนทำให้เกิดความเป็นธรรมและความยุติธรรมขึ้นในสังคมนี้อาจารย์อดุลจึงตัดสินใจเรียนกฎหมายแล้วสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต ที่แผนกนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม มาถึงตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เขาสามารถแยกแยะความรู้สึกส่วนตัวออกจากหน้าที่การงานได้อย่างสนิท เสมือนรูปธรรมของความเป็นสถาบันตุลาการ ซึ่งแยกห่างจากเส้นทางของ “อัคนี หฤทัย” และยิ่งไกลห่างสุดขอบฟ้าจาก “ธารี” มิติแห่งกาลเวลาจะเป็นเยี่ยงใด เรามาเต้นตามลมหายใจของตัวตัวอักษรพร้อมๆ กัน

“จุดเริ่มต้นของการเขียนกลอน เริ่มจากที่บ้านสมัยเด็กๆ ผมและพ่อเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านมีหนังสือเยอะ เล่มที่ชอบอ่านมากที่สุดคือ รามเกียรติ์ เพราะเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบมาก เราก็จะดูรูปก่อน แล้วอ่านเรื่องที่เป็นเรื่องเล่า แบบร้อยแก้ว 

ส่วนร้อยกรองจะมีอยู่แต่เฉพาะการบรรยายภาพเท่านั้น จุดเริ่มต้นนั้นมาจากตรงนี้ ส่วนวรรณคดีอีกเล่มหนึ่งที่ชอบอ่านคือ ลิลิตนิทราชาคริต ยังท่องได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ แรงบันดาลใจในการเขียนของผมน่าจะมาจากรายการสับแหลกกลอนสด ที่คุณจำนงรังสิกุล เป็นคนริเริ่ม ราวๆ พ.ศ.2504-2505 ตอนเรียนอยู่โรงเรียนเทพศิรินทร์ 

“คนที่เล่นสับแหลกกลอนสดนั่นคือพี่ประยอม ซองทอง, พี่มะเนาะ ยูเด็น, พี่จินตนา ปิ่นเฉลียว คนที่ผมจำได้แม่นที่สุดก็คือนภาลัย ฤกษ์ชนะ เราก็ประทับใจว่ากลอนพวกพี่ๆ เขาคม อยากเป็นอย่างเขาบ้าง สมัยนั้นมีกิจกรรมบ้านเยาวชน เวลาปิดเทอมใหญ่ เขาก็ไปจัดแข่งขันกลอนสดระหว่างโรงเรียนต่างๆ ที่สนามเสือป่า เราก็ไปแข่งกับเขา นอกจากแข่งขันกลอนสดแล้ว ยังมีโต้วาที ตอนนั้นผมไปเอง ไม่ใช่โรงเรียนส่งไป ผมเป็นมือปืนพเนจรที่อยากได้รางวัล เขาแข่งขันกันกี่ประเภท ผมก็ไปสมัครหมดไม่ว่าจะเป็นกลอนดอกสร้อยหรือสักวา พอผมไปสมัครครั้งที่ 3 อาจารย์เจือ สตะเวทิน ท่านเป็นกรรมการ ท่านพูดออกไมโครโฟนเลยว่า เทพศิรินทร์ ให้คนอื่นเขาบ้าง (หัวเราะ) 

“มีอยู่กระทู้หนึ่ง จำได้เขาให้เขียนบรรยายถึงความงามของวัดเบญจมบพิตร ซึ่งอยู่ตรงข้ามสนามเสือป่าพอดี จำได้ตอนท้ายๆ ว่า‘งามระเบียงงามโบสถ์อยู่เบื้องหน้า งามช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ กรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ท่านทรงออกแบบสร้างอย่างไทยเอย’

“เรียกว่า 15 นาที เราเขียนออกมาได้ ก็ได้รับรางวัลเป็นปากกากับพจนานุกรม มีรูปลงในหนังสือสกุลไทย โดยได้รับรางวัลจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดของเด็ก พอเข้าจุฬาฯ ผมก็เข้าชมรมวรรณศิลป์ ตอนนั้นคุณนภาลัยฤกษ์ชนะ เป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ 

กำเนิด อัคนี หฤทัย

เมื่อความเหงากลายเป็นเพื่อนที่อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ คอยจุดประกายไฟให้ เพื่อนามปากกา “ธารี” จะได้แตกแขนง ความหวานระคนเศร้าในหัวใจได้หลากหลายต่อไปตามแรงฝัน ในเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองและกระแสสังคมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย หลัง 14 ตุลาคม 2516 ผลักดันกระแสธารวรรณกรรมเปลี่ยนทางเรียกว่า “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ความฝันถูกเก็บใส่กุญแจห้องเก็บของ แขวนป้ายว่า “เรื่องเพ้อฝัน” “กลอนหาผัวหาเมีย “ น้ำเน่า” “ธารี” จึงกลายเป็นอดีต ความเหงาถูกลั่นดาลไว้มิดชิด “อัคนี หฤทัย” จึงเกิดขึ้น 

“ผมจำได้ว่าก่อนหน้านั้นเคยเขียนเรื่องการต่อต้านสงครามเวียดนามชื่อ บทเพลงเหนือสุสาน ผมจำได้ขึ้นใจว่า ‘ฆาตกรนิรนามสงครามเถื่อน เพื่อนกับเพื่อนก็ถึงวันฆ่ากันได้ ชนละทิ้งคุณธรรมประจำใจ เพียงเพื่อใช้นามว่าวีรชน ประวัติศาสตร์คงจารเหตุการณ์นี้ เหตุการณ์ที่ทุเรศ ไร้เหตุผล ภาพการบุกรุกรานการดิ้นรน ของกลุ่มคนโฉดเขลาน่าเศร้าใจ’

“บทกวีนี้ได้รับรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ของจุฬาฯ ในปี พ.ศ.2510 ในนามปากกา ธารี และอีกบทหนึ่งชื่อ จดหมายจากเวียดนาม 8/1/69 “กราบเท้าแม่” ‘พิษบาดแผลวันก่อนสั่งสอนฉัน ให้เหี้ยมโหดเมื่อโหมเข้าโรมรัน ให้ฆ่าฟันให้ใจดำให้ทำลายฉันมีความชำนาญการเดินป่า หลบการล่าดุดันเมื่อวันพ่าย กับระเบิดม่านดำภาพความตาย ความกระหายสาหัสเลือดศัตรู ฉันลืมความเมตตาไว้หน้าค่าย ดวงตาฉายสัญชาตญาณการต่อสู้ สนามรบสอนให้ฉันได้รู้ การเป็นผู้ฆ่าและกร้านการพิชิต ฉันโชนไฟในตาพยาบาท และมิอาจดับไฟได้สนิท หอมคาวเลือด การรบ ศพ ชีวิต ใช้ตีนปิดปากของเสียงร้องคราง วีรชนแห่งวงการทหารกล้าฉันหวังว่าจะถึงวันของฉันบ้าง เสียงปรบมือช่อดอกไม้จากรายทางอยู่ท่ามกลางวีรกรรมคำอวยชัย กับเหรียญตรากล้าหาญวันพรุ่งนี้ ฉันคงมีโอกาสสัมผัสได้ แม่อย่าเป็นกังวลจนเกินไป ฉันปลอดภัยกราบเท้าด้วยความเคารพ’

ในปีพ.ศ.2532 อาจารย์ อดุล จันทรศักดิ์ ได้รับเชิญจาก สุภาพ คลี่กระจาย อดีตประธานชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เขียนกลอนประจำหน้า 3 หนังสือพิมพ์แนวหน้าประจำวันอาทิตย์ ใช้นามปากกา “อัคนี หฤทัย” เขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างคมคาย ต่อมาสามารถรวมเล่มใช้ชื่อว่า “ดอกไม้ไฟ” ได้รับรางวัลหนังสือเด่นประเภทกวีนิพนธ์ จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2535 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี 

“บทกวีที่ชื่อ ‘จุมพิตและเพลงลา’ ‘ตำนานถนนราชดำเนิน’ ได้รับยกย่องให้เป็นบทกวีดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2534-2535 ต่อมาปี 2543 ผมได้รับเชิญจากคุณขรรค์ชัย บุนปาน ให้เขียนกลอนประจำในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ โดยใช้ชื่อคอลัมน์ว่า ‘ณ กาลเวลา’ ใช้นามปากกา อัคนี หฤทัยตลอดระยะเวลา 5ปีในคอลัมน์ดังกล่าว ผมได้แสดงทัศนะวิพากษ์บุคคลและสังคมด้วยความอิสระและลีลาวรรณศิลป์ คณะกรรมการกองทุนหม่อมราชวงศ์อายุมงคลโสณกุล จึงมีมติให้ได้รับรางวัลนักเขียนคอลัมน์ดีเด่น ประจำปี 2548

“ผมยังจำรำลึกถึงร่มเงาของคุณขรรค์ชัย บุนปาน และหนังสือพิมพ์ข่าวสด มาจนถึงนาทีนี้ แม้ผมจะมีผลงานกลอนจำนวนมากพอสมควรในช่วงห้าปี แต่ผมก็ไม่เคยมีความคิดที่จะนำเอาผลงานเหล่านั้นมาตีพิมพ์รวมเล่มเลยแม้แต่น้อย คงด้วยเหตุผลสองประการคือหนึ่ง ผมได้บรรลุความฝันไปแล้วตั้งแต่มีหนังสือชื่อ ‘ดอกไม้ไฟ’ รวมกลอนของตัวเองเป็นเล่มเมื่อ 6 ปีก่อน และสอง ผมรู้อยู่ว่าหนังสือรวมกลอนนั้นเป็นหนังสือที่ขายยากไปจนถึงขายไม่ได้ในตลาดหนังสือ 

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณไม่ได้มีผลงานอันเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงการกวีนิพนธ์ในระดับ ประยอม ซองทอง, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ขรรค์ชัย บุนปาน, สุจิตต์ วงศ์เทศ หรือไม่มีขาประจำที่ติดตามอ่านงานกลอนของคุณในระดับ วาณิช จรุงกิจอนันต์, 

ไพวรินทร์ ขาวงาม, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ประกาย ปรัชญา ไปจนถึงรุ่น เรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์หรือใครต่อใครที่เขียนกลอนได้จับใจ และเห็นหนังสือของคนเหล่านี้เมื่อไร ก็ยินดีที่จะซื้อเมื่อนั้น ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในระดับที่เอ่ยออกนามด้วยความคารวะมาแล้วนั้น อย่าคิดพิมพ์หนังสือรวบรวมกลอนขายให้เจ็บตัวเลย

“เพราะฉะนั้นอะไรๆ ก็ได้มาจากเพื่อนทั้งนั้น ได้เขียนหนังสือก็เพราะสุภาพ คลี่กระจาย มีสนามให้เขียน จากสุภาพก็มา ปิยะพันธ์จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บมจ. ท่าอากาศยานไทย คนที่เอ่ยปากบอกกับคุณขรรค์ชัย บุนปาน คุณจัตวา ปิ่นสุนทร บรรณาธิการสยามรัฐ เมื่อเร็วๆ นี้ผมไปกินข้าวกับปิยะพันธ์ คุณกิเลน ประลองเชิง หน้า 3 ไทยรัฐก็นั่งอยู่ด้วย ผมลืมบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ เราไม่มีวันนี้ได้เลย ถ้าไม่มีคนเหล่านี้ 

“ผมไปเขียนคอลัมน์การเมือง พรางอยู่ในหลายนามปากกา ที่สยามรัฐและที่หนังสือมาตุภูมิ ที่คุณจัตวาเขาให้เขียน แต่ผมเปิดตัวไม่ได้ เพราะเราเป็นข้าราชการ เขียนอะไรก็ตามมันต้องแตะรัฐบาลทั้งนั้น แต่ทุกวันนี้พอเขียนบทกวีจะแตะรัฐบาลเลย (หัวเราะ)เพราะว่าหนึ่งเราไม่ได้เขียนด้วยความเป็นตุลาการ แต่เราเขียนด้วยความเป็นกวี สอง เราไม่ได้อยู่ในราชการแล้ว เราไม่ใช้ราชการที่อยู่ภายใต้อำนาจของเขาแล้ว เราเป็นตุลาการ”

ตุลาการร่ายกวีศรีอักษร

“การที่ผมก้าวมาสู่ตุลาการ ต้องสอบเข้ามาหมด คนที่จะมาเป็นตุลาการ ต้องผ่านกระบวนการสอบๆ ข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ ส่งผลงาน ที่ตัดสินใจเข้ามาเป็นตุลาการศาลปกครอง ส่วนหนึ่งมันคือวิถีของนักกฎหมาย นักกฎหมายมันต้องทำอะไรก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ข้อที่สองมันเป็นทางเลือก ของชีวิตราชการและเพื่อจะลบคำสบประมาทของใครบางคน โดยทีแรกกะว่าเกษียณแล้ว อายุ 60 ปีก็ยังมาสอบได้ เพราะมันอยู่ได้อีก 10 ปี 

“ผมทำคดีทุจริตใหญ่ๆ เช่น ซื้อคอมพิวเตอร์ กระทรวงศึกษาธิการ คดีทุจริตจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ และวัสดุการแพทย์ การเมืองสั่งผมไม่ได้ ในที่สุดก็ได้มาเป็นตุลาการศาล ตั้งแต่รุ่นแรก มันเป็นงานที่รับไม้ต่อมาจาก ก.พ. เพราะที่นี่เขาแบ่งองค์คณะตามถนัดผมก็มาทำเรื่องบริหารงานบุคคล เพราะมาจาก ก.พ. มาทำบริหารงานบุคคล คือสิ่งที่เราทำมา แล้วมาต่อยอดตรงนี้

“การเป็นตุลาทำให้มีแรงบันดาลใจในการเขียนบทกวีขึ้นมาอีก เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนรากฐานของความเที่ยงธรรม ผมจะแตะรัฐบาล ผมไม่ได้แตะด้วยความเกลียดชัง แต่ก็ไม่ได้แตะด้วยความรัก แต่แตะด้วยความเที่ยงธรรม เช่น พ่อมหาจำเริญพ่อรูปหล่อน้ำท่วมถึงคอพ่ออุตส่าห์มาช่วยเหลือ ลุยไม่ไหวพ่อก็อุตส่าห์มาทางเรือ มาจุนมาเจือด้วยน้ำใจ ก็เขียนไปเรื่อยๆ แต่ตอนจบ ผมก็เขียนว่า คุณยายครับ ผมมาจากครอบครัวข่าว รู้ว่าหิวรู้ว่าหนาวก็มาหา ผมชื่อสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี(หัวเราะ)

“ฉะนั้นผู้ที่จะเดินเข้ามาสู่เส้นทางของวรรณศิลป์ พวกบทกลอน บทกวี อย่างแรกต้องมีใจรักก่อน เพราะว่าไม่มีใครสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการเขียนบทกวี นอกจาก เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับ จิระนันท์ พิตรปรีชา เช่น เขียนปฏิทิน เขียนแผ่นดิน ออกรายการทีวีศิลปวัฒนธรรม เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่จิระนันท์เขาไม่ได้ดำรงชีวิตด้วยบทกวีอย่างเดียว เขามีอย่างอื่นเยอะแยะทั้งเขียนบทหนัง แปลบทภาพยนตร์ เขามีหนังสือแปล”

หยาดน้ำผึ้งในทะเลเพลิง

“ผมมองว่าเด็กรุ่นหลัง เขากินอาหารสำเร็จรูป เขาชอบกินฟาสต์ฟู้ด เขาทนไม่ได้ที่จะมานั่งก่อไฟหุงข้าว การเป็นกวี มันเริ่มตั้งแต่ไปหาฟืน นอกจากจะใจรักแล้ว ต้องอ่านหนังสือแยะอีกด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ พี่เนาวรัตน์ อ่านหนังสือเยอะมาก เพราะพ่อเป็นครูพ่อก็ใช้ให้อ่านเรื่องขุนช้างขุนแผนให้ฟัง จนกระทั่งขุนช้างขุนแผนซึมเข้าไป ภาษากลอนของพี่เนาว์ยุคแรกๆ ก็ยังมีกลิ่นอายของขุนช้างขุนแผนอยู่

“สำหรับผม ผมอ่านหมด ผมติดเรื่องรามเกียรติ์มากกว่า ตอนที่ผมทำ ใบไม้แห่งนาคร’ ตอนนั้นใช้นามปากกา ‘ธารี’ เฉลิมศักดิ์เขาตั้งนิยามผมว่า ‘ธารี หยาดน้ำผึ้งในทะเลเพลิง’ คำนี้เพราะ แต่มันไม่ติดตลาด เขาบอกว่าหวานด้วย ดุเดือดด้วย ก็แล้วแต่อารมณ์ อย่างบทกวีที่เขียน ‘คิดแบบเหี้ย’ ผมมองว่าคนหรือมนุษย์มาเอาเหี้ยมาโทษ เหี้ยมันทำอะไรให้มนุษย์ล่ะ ฉะนั้นผมก็เขียนความคิดของเหี้ย กลอนชิ้นนี้ความคิดมันชัดมาก

“ผมจะต้องส่งต้นฉบับให้ข่าวสด หนึ่งทุ่ม ทุกวันศุกร์เพราะต้องตีพิมพ์ลงฉบับวันอาทิตย์ วันศุกร์นั้น ผมเป็นวิทยากรไปสอนกฎหมายอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เลิกสี่โมงเย็น ผมมีเวลา 3 ชั่วโมงทั้งเขียน ทั้งคัดลอก ทั้งส่ง ทั้งขับรถ แต่เวลาขับรถ ความคิดมันทำงานได้ เพราะฉะนั้นระหว่างขับรถไป ผมก็คิดไป พอคิดได้สักบทหนึ่ง ผมก็จอดรถจด จดเสร็จก็ขับต่อ จนกระทั่งมาถึงบางแค หกโมงครึ่งเสร็จ จากนั้นก็จอดรถลอก แล้วก็หาที่ส่งแฟกซ์ จำได้แม่นยำว่าวิธีคิดของบทนี้ แปลว่าความคิดมันต้องชัดก่อนว่าคุณจะเขียนอะไร

ก่อนเวลาที่ตะวันจะรอนแสง