คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช

ที่ผ่านมาเรามีความเชื่อว่าสังคมเป็นของเราทุกคน แต่ความรับผิดชอบในสังคมกลับเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงาน และในวันที่ทุกคนมองเรื่องขยะเป็นเพียงแค่ขยะ แต่วันเดียวกัน คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช เปลี่ยนการมองขยะในมุมนั้นด้วย โครงการ “ตาวิเศษ”

เธอคือสตรีผู้โดดเด่นในสังคมชั้นสูง ทายาทเจ้าสัวแหล่งการเงินสำคัญของประเทศไทย นั่นอาจเป็นเพียงฉากหน้าที่หลายๆ คนมองเห็น แต่เมื่อสัมผัสถึงศักยภาพที่เธอมี การมายืนอยู่ในแถวหน้าของวงสังคมทุกวันนี้ได้นั้นไม่จำเป็นต้องใช้นามสกุล

 

กรอบของกุลสตรี

หากเป็นบทละคร นี่คงเป็นการเกริ่นนำของละครแนวดราม่าที่ปราศจากน้ำตา เนื้อหาเต็มไปด้วยสีสันของชีวิต ชีวิตที่เธอได้เขียนบทเองใหม่ทั้งหมด จากจุดเริ่มต้นของคุณหนูแห่งตระกูลใหญ่ สู่ผู้มีอิทธิพลต่อการพลิกหน้ากระดาษสังคมไทยให้สดใหม่อยู่เสมอ

“ดิฉันเป็นลูกสาวเพียงคนเดียว ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน เป็นธรรมดาในสมัยนั้นที่คุณแม่ต้องการให้ลูกสาวมีความเป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อม ถูกเลี้ยงดูแบบไข่ในหินมาก ทุกเที่ยงจะต้องมีคนเอาอาหารไปให้ทานที่โรงเรียน (ขณะนั้นศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์) ไปไหนกับเพื่อนฝูงก็ไม่ได้ ถ้าจะไปต้องมีคนคอยไปรับ ห้ามเล่นกีฬา เพราะเป็นลูกผู้หญิงต้องเล่นเปียโนจึงจะเหมาะกว่า อยากเรียนเต้นบัลเล่ต์ ก็ไม่ได้เรียน เพราะตอนนั้นยังไม่มีที่เรียนมาก ถ้าต้องออกไปเรียนข้างนอกก็ไม่ได้ เลยไม่ได้เรียน จึงต้องเรียนเปียโนที่โรงเรียนแทน

“ชีวิตวัยเด็กที่เมืองไทยของดิฉันถึงจะเรียบร้อย แต่ก็ค่อนไปทางทอมบอย เพราะเล่นกับพี่น้องซึ่งเป็นผู้ชายหมด ชอบใส่กางเกงชอบเล่นตากแดด ทำให้มีมุมโลดโผนอยู่บ้าง เป็นเรื่องที่ขัดใจคุณแม่มาโดยตลอด จนเมื่ออายุ 9 ปี ได้ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียพร้อมกับพี่ๆ ทั้งสี่คน เมื่อมีอิสระมากขึ้นโลกที่เคยเห็นก็เปลี่ยนไป พี่ๆ ก็วัยไล่เลี่ยกัน เราจึงมีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน สังคมเดียวกันสนิทกันมาก ไปไหนก็ไปด้วยกันตลอด การไปตั้งแต่เล็กมันยังไม่คิดถึงเรื่องว้าเหว่นะคะ มันปรับตัวได้เร็วกว่าตอนโตเสียอีก”

 

จุดประกายพรสวรรค์

จะว่าไปก็เหมือนหนังคนละม้วน เหมือนหนังสือคนละเล่ม เพราะเมื่อไปใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นการที่ต้องดูแลตัวเองแทบทั้งหมด เธอจึงต้องทิ้งคราบความเป็นคุณหนูให้หมดสิ้น แม้ความอิสระจะอยู่ในมือ แต่สิ่งที่ยึดถือกลับเป็นกรอบแห่งวัฒนธรรม และพรสวรรค์ก็คือสิ่งที่เธอค้นพบ

“ดิฉันได้รู้ตัวเองว่าเป็นคนที่มีพรสวรรค์ด้านกีฬาทุกอย่าง อย่างเวลาเรียนจะชอบชั่วโมงพละมาก เริ่มแรกที่ตีเทนนิส พอตีได้ดีอาจารย์ก็จะพาไปฝึกสอนจนเก่ง จนได้เข้าทีมแข่งขันของโรงเรียน ตอนนั้นยังไม่มีไม้ ก็ต้องอาศัยยืมเพื่อนไปก่อน ทีนี้พอเข้าทีมโรงเรียน เอาแล้วสิ มันจำเป็นต้องมีไม้แล้ว ทางโรงเรียนจึงเขียนจดหมายมาขอความอนุเคราะห์ที่บ้านว่าของบประมาณในการซื้อไม้เทนนิส พอคุณแม่ทราบเรื่องก็อายมาก ว่าทำไมทางโรงเรียนจะต้องเขียนจดหมายมาขนาดนี้ จึงได้อ้างไปว่า ‘เพราะคุณแม่ไม่ให้ลูกเล่นนี่นา’ ท่านจึงยอม ตอนนั้นได้เป็นถึงกัปตันทางด้านกีฬาของโรงเรียนเลยนะคะ ซึ่งถ้าคุณแม่ท่านทราบก่อน คงห้ามแน่นอน

“แม้เวลาจะเปลี่ยนไปจนถึงทุกวันนี้ ดิฉันก็ยังมีความเป็นนักกีฬาอยู่ในตัวเสมอ อย่างเมื่อครั้งที่ตั้งครรภ์ลูกคนโต ว่างๆ ยังไปเล่นบริดจ์กับเพื่อนๆ อยู่เลย ตอนนั้นเป็นที่นิยมมาก ก็เล่นเอาจริงเอาจังถึงขั้นไปแข่งขันกันเลยทีเดียว ได้เป็นทีมชาติหญิงของไทยตอนนี้ดิฉันก็เป็นนายกสมาพันธ์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคและเอเชียกลาง ซึ่ง World Bridge Federation นั้นมีอยู่ 7 ภูมิภาคทั่วโลก เราอยู่โซน 6 และกำลังจะจัดตั้งให้กีฬาประเภทนี้ถูกบรรจุอยู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิคด้วย เรากำลังรวบรวมประเทศสมาชิกกันอยู่ นี่คืองานปัจจุบันที่ดิฉันทำควบคู่กันไปกับงาน
ด้านอื่นๆ” 

 

บทเรียนจากต่างแดน

เลือดแห่งความเป็นนักแสวงหายังคงสูบฉีดอยู่ในร่ายกาย เมื่อสิ่งแปลกใหม่ของโลกอีกด้านที่ยังไม่เคยเห็น หรือไม่เคยได้สัมผัสกำลังกวักมือเรียกเธอ มีหรือที่เธอจะหยุดแล้วหันหลังจากไป 

“เมื่อเรียนจบทุกคนกลับมาก็เข้ารับหน้าที่ในกิจการครอบครัว แต่ดิฉันกลับมาอยู่เมืองไทยได้ 2-3 เดือน ก็ขอคุณพ่อไปอังกฤษเพราะเมื่อครั้งเรียนที่ออสเตรเลียก็ไม่ได้ไปเที่ยวไหน อยากรู้อยากเห็นประเทศต่างๆ บ้าง คุณพ่อก็ให้ไป แต่ต้องไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพสาขาประเทศอังกฤษ ดิฉันก็ตกลง เพราะตอนนั้นถ้าให้ไป จะแบบไหนก็ได้แล้ว (หัวเราะ) เมื่อไปถึงก็ได้ไปอยู่ในความดูแลของคุณอาที่นั่น ซึ่งพี่เลี้ยงของลูกคุณอาเป็นคนเยอรมัน ว่างๆ เขาก็จะมาสอนภาษาเยอรมัน และเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟังมากมาย 

“พอถึงช่วงที่คุณอาจะกลับเมืองไทย พี่เลี้ยงคนนี้เขาก็มาชวนให้เราไปที่เยอรมันบ้านเขากัน เราก็โอเค เพราะเขาก็เป็นผู้หญิงที่มีความเป็นเยอรมันสูงมาก ไว้ใจได้ แต่ก็เพียงแค่แย็บๆ ไป ท่านก็บอกว่ากลับมาที่เมืองไทยเถอะ แล้วอยากไปไหนท่านจะพาไปคิดแล้วว่าถ้าไปเที่ยวกับพวกท่าน เวลาพักก็จะอยู่แต่ในโรงแรมหรูๆ จะไม่เห็นอะไร ก็เลยตัดสินใจไม่เอาดีกว่า วันที่จะออกเดินทาง ดิฉันบอกคุณอาเลยว่าเรามีแผนจะไปที่ไหน อย่างไรบ้าง ซึ่งทริปนั้นไม่ได้ใช้เงินที่บ้านเลย เพราะพอรู้แล้วว่าท่านน่าจะไม่ให้ไปแน่ๆ ก็เริ่มเก็บเงินเพื่อที่จะไปเอง” 

ด้วยบุคลิกที่มาดมั่น นิ่งขรึม หากแต่เมื่อย้อนนึกถึงครั้งนั้นที่ได้ออกเดินทางผ่านเรื่องราวมากมายเพียงลำพังเป็นครั้งแรก น้ำเสียงกลับดูแตกต่าง คล้ายกับกำลังอยู่ในเหตุการณ์ที่เสมือนเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ 

“ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี ดิฉันได้พบเจออะไรมากมาย ได้ไปมาทั่วยุโรป จนมาถึงอังกฤษ เหลือเงินไม่พอที่จะขึ้นรถไฟไปลอนดอน ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาก็ให้ค้างค่าโดยสาร โดยให้เขียน IOU กับรัฐบาลเหมือนให้สัญญาว่าเราจะใช้เงินคืนเขาอะไรแบบนี้ก็ได้ไปพักอยู่กับผู้จัดการสาขาของธนาคารกรุงเทพที่นั่น ถือว่าแก่นมากๆ เลยตอนนั้น พอถึงกำหนดจะกลับเมืองไทย ดิฉันมีตั๋วสำหรับกลับกรุงเทพอยู่ในมือ แต่ก็เอาไปเปลี่ยนเพื่อที่จะไปนิวยอร์กแทน เพราะพี่ชาย (คุณชัย) เขาบอกว่าจะไปโคโลราโด ไปเที่ยวกัน เราก็สนใจไปกับเขา 

“พอไปถึง ผู้จัดการสาขานิวยอร์กก็เข้ามาหาเราแล้วบอกว่าคุณพ่อให้มาสองร้อยเหรียญ เราก็ถามว่าให้มาทำไม เขาก็บอกว่าไม่ทราบ แต่หลังจากเที่ยวกับพี่ชายแล้ว ให้เราไปเจอท่าน สองคนจะไปญี่ปุ่น แล้วท่านจะพาเที่ยวก่อนกลับกรุงเทพ ต้องไปให้ได้นะเพราะไม่อย่างนั้นเขาจะเดือดร้อนไปด้วย เราก็เลยตกลง เมื่อได้เจอคุณพ่อก็ถามเหตุผลว่าทำไมส่งเงินมาให้ ท่านก็เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นมีลูกสาวท่านทูตคนหนึ่ง มาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่มีเงินกลับ เลยไปเต้นอะโกโก้ในคลับ ท่านกลัวเราจะทำแบบนั้นบ้าง(หัวเราะ) แต่ท่านไม่รู้หรอกว่าเราได้ศึกษาทริคต่างๆ ของการเดินทางมาอย่างรอบคอบแล้ว ทั้งจากหนังสือ จากอะไร ทำให้เราอยู่ได้โดยไม่ได้ขอเงินท่านถึงสี่เดือน

“ดิฉันเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ทำอะไรผิดแผกไป แต่เชื่อไหมดิฉันไปถึงไหนๆ แต่ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง ไม่เคยดื่มเหล้าไม่เคยสูบบุหรี่เลยในชีวิตนี้ เพราะดิฉันเติบโตมากับความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แน่นแฟ้นอบอุ่นพอที่จะเป็นเกราะป้องกันให้เราไม่ต้องรู้สึกขาดอะไร แล้วต้องหาอะไรมาทดแทนหรือเติมเต็ม แม้สายตาภายนอกจะมองว่าฐานะทางครอบครัวดิฉันดี แต่ก็ไม่เคยคิดว่าอย่างนั้น ดิฉันจะใช้เงินเฉพาะในส่วนที่ได้รับเท่านั้น ไม่มีการขอเพิ่มในแต่ละเดือน แถมยังเหลือเผื่อพี่ๆ น้องๆ ขอยืมพาสาวๆ เที่ยวเสียด้วย”

 

ใครว่าเธอคือสาวหัวนอก

แม้เธอจะยืนยันถึงกรอบความเป็นไทยที่ห่อหุ้มจิตใจของเธอเสียแน่นหนาแล้วก็ตาม แต่บุคลิกที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ผิดแผกไปจากหญิงไทยสมัยนั้น กลับทำให้เธอต้องเผชิญกับเสียงสะท้อนของสังคมเมื่อกลับมาใช้ชีวิตยังแผ่นดินเกิดอีกครั้ง

“โดยภาพรวมและบุคลิกของดิฉันอาจทำให้คนอื่นไปว่าดิฉันเป็นคนหัวนอกมาก แต่ลึกๆ แล้วการที่ได้ใช้วัยเด็กอยู่เมืองไทยในระดับที่สามารถซึมซับความเป็นไทยไว้เป็นรากลึกแล้ว มันจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนได้ ระยะเวลาที่เรียนอยู่ที่โน่น ก็จะกลับมาเมืองไทยทุกปี เชื่อไหมว่าภาษาไทยไม่ค่อยได้พูดเลยนะ อยู่เมืองนอกเราก็ต้องพูดภาษาอังกฤษ พอกลับมาเจอกันระหว่างพี่ๆ เพื่อนๆ ก็ยังจะพูดภาษาอังกฤษกันอีก เพราะความเคยชินเมื่อเราไปเมืองนอกด้วยกัน แล้วพอมาอยู่กับครอบครัวก็จะพูดภาษาจีน คือแทบจะไม่ได้พูดภาษาไทยกับใคร แต่ก็ไม่เคยลืม กลับมาก็ยังพูดชัดถ้อยชัดคำเหมือนเดิม

“ดิฉันเป็นคนที่ถ้าจะทำอะไรแล้วต้องทำสิ่งใหม่ การจะสานต่อสิ่งเดิม อย่างดูแลกิจการครอบครัวนั้นคิดว่าไม่ใช่ตัวเรา พอกลับมาเมืองไทยจึงได้เข้าไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนอยู่ได้หกเดือนก็ต้องลาออก เพราะอยู่ไม่ได้กับระบบที่มีความเป็นไทยเกินไป สายตาคนภายนอกมองดูเรามีความเป็นฝรั่งมาก กระโปรงมินิสเกิร์ตก็ใส่ไม่ได้ ต้องใส่กระโปรงยาวเท่านั้นอาจเพราะตอนนั้นยังเด็กมากถ้าเทียบการกับเข้ามาเป็นอาจารย์ ความอาวุโสเลยยังไม่มี เมื่อยังไม่ชินก็เลยออก แต่หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถปรับตัวได้

“จากนั้นก็ได้เข้าทำงานในบริษัท เรียกได้ว่า 10 ปีแรกของการกลับมาทำงานที่เมืองไทย แม้จะโชคดีที่ได้ทำงานในบริษัทฝรั่งก็ตาม มองย้อนไปช่วงนั้นคิดว่าหลายคนคงรับดิฉันไม่ได้ เพราะความที่เป็นคนตรงไปตรงมามากๆ เมื่อคิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้นไม่ได้คิดไตร่ตรองให้ถ้อยคำมันอ่อน รื่นหู ก็จะเป็นสาวมั่นนักธุรกิจที่ทำงานด้านมาร์เก็ตติ้งและประชาสัมพันธ์ ในสายตาคนทั่วไป

“ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาดของโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลในขณะนั้นมีความเป็นอเมริกันมาก และคนไทยยังอยู่ในช่วงที่แอนตี้อเมริกันอยู่ ดิฉันก็ต้องสร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทยแฝงอยู่ให้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะแสดงความสามารถให้คนอื่นเห็นไปพร้อมๆ กับทำงานให้ลุล่วงตามวัตถุประสงค์ การปรับตัว และความมีกรอบแห่งวัฒนธรรมนี่แหละค่ะที่ฝังเป็นรากลึกและไม่หายไปไหน

“จากนั้นก็เริ่มทำ ไดเนอร์ส คลับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครดิตการ์ดใบแรกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นยังไม่มีใครอยากใช้เครดิตการ์ด เราก็ต้องไปอ้อนวอนขอให้คนได้ลองใช้ ขอให้ทางร้านค้าต่างๆ เข้าร่วมบริการกับเรา ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเหมือนกับเราต้องริเริ่มอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ นอกจากนั้นดิฉันก็ทำธุรกิจส่วนตัว หุ้นกับเพื่อนชาวออสเตรเลียน ผลิตเสื้อผ้าไปขายที่ออสเตรเลีย ปีหนึ่งๆ ก็จะไปที่นั่นเพียงสองครั้ง ไปทำแฟชั่นโชว์ ไปดูงานอะไรต่างๆ เท่านั้น แต่ทุกครั้งที่กลับไปก็รู้สึกว่าทำไมสภาพแวดล้อม วิวทิวทัศน์มันยังคงเหมือนเดิม ถ้ามีเปลี่ยนก็น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ต้นเดิมที่เคยเห็นก็ยังอยู่ ได้คุยกับเพื่อนๆก็ทราบว่าเค้ามีการจัดการปลูกฝัง มีกฎระเบียบต่างๆ ให้มันซึมลึกไปเป็นจิตสำนึกคนในเมือง เขารักษาให้สภาพแวดล้อมเหล่านั้นคงไว้เหมือนเดิม ดิฉันก็ฉุกใจคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไร

“พอดีกับช่วงที่ดิฉันขาย ไดเนอร์ส คลับ ให้กับ ซิตี้แบงก์ ในช่วงที่เขากว้านซื้อกิจการทั่วโลก สถานะตอนนั้นจึงกลายเป็นคนว่างงานครั้งแรกในชีวิต อยู่เฉยๆ ไม่เป็น เลยคิดว่าจะทำอะไรดี แม้จะมีคนชวนไปทำงานที่นั่นที่นี่มากมาย แต่ใจก็ไม่อยาก มันเลยเป็นอีกจุดหนึ่ง เมื่อเราว่างแล้วได้มองเห็นเรื่องของสังคม เลยคิดเรื่องประเด็นการทิ้งขยะ การดูแลรักษาสภาพแวดล้อมขึ้นมาเพราะก่อนหน้านี้ที่เคยเห็นออสเตรเลีย เราก็คิดว่าทำไมคนในบ้านเมืองเราไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เรายังไม่เคยคิดว่าทำไมไม่เริ่มที่ตัวเรา เคยบอกลูกๆ ตอนเล็กๆ ว่าอย่าทิ้งขยะแบบนี้นะ เขาก็หันมาถามว่าแล้วทำไมล่ะ คนอีกตั้งหลายสิบล้านคนยังทิ้งได้เลย เราเลยเริ่มคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่าควรที่จะทำให้คนหมู่มากหันมาสนใจและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเสียที โครงการ ตาวิเศษจึงเกิดขึ้น

“เริ่มแรกดิฉันก็ไปคุยกับกลุ่มเพื่อนๆ ก่อนอย่าง คุณกำธร ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทโฆษณา เขาก็เห็นด้วยนะ แต่เขาเสนอความเห็นว่าไม้แก่ดัดยาก คุณไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนคนได้ ดิฉันก็คิดว่าเอาอย่างนี้ ถ้าเราสอนผู้ใหญ่ไม่ได้ อย่างนั้นก็จะสอนเด็กแล้วกัน เขาก็พร้อมสนับสนุน พร้อมทำโฆษณาให้เลย เชื่อว่าที่ทุกคนอยากช่วย เพราะแต่ละคนในตอนนั้นก็กำลังมีลูกเล็กๆ กันหมด ต่างก็อยากจะปลูกฝังให้ลูกๆ ของพวกเขา แต่มีข้อแม้เพียงข้อเดียวว่าดิฉันจะต้องทำอย่างจริงจังร้อยเปอร์เซ็นต์ดิฉันจึงรับปากตอบตกลง ไม่ว่าจะเป็นคุณสันติ ภิรมย์ภักดี คุณคริส สารสิน คุณฉัตรชัย บุญยะอนันต์ ก็เห็นด้วยและให้เวลาโฆษณาเรามาคนละเล็กละน้อย พอมีการยิงโฆษณาบ่อยๆ คนก็เริ่มรู้จักเราว่าเราคืออะไร และมีประโยชน์ช่วยเหลือสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างไร” 

 

ไม่ใช่ผู้ (มีตาวิเศษ 

จากนักธุรกิจทุกครั้งของการลงทุนต้องเป็นผลกำไร ไม่ว่าจะหยิบจับอะไร ต้องได้ผลตอบแทน นั่นคือสิ่งที่เธอหันหลังให้กับมันองค์กรไม่แสวงหากำไรแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ทางสังคมจึงเกิดขึ้น เวลาเกือบครึ่งชีวิตของบางคนคือการเดินทางของตาวิเศษ 

“จุดสำคัญของตอนนั้นคือเมื่อเราจะทำอะไร เราต้องคุยกับทุกคน แล้วเราต้องเอาความรู้ของทุกคนเข้ามาเพื่อนำมาปรับปรุงความรู้ของเราเอง ดิฉันไม่ได้อยู่ดีๆ คิดขึ้นมาว่าจะทำก็ทำ เรามีกระบวนการคิดร่วมกันจากหลายๆ คนนั่นเอง เรามีการประชุมเพื่อระดมแนวทางกันอย่างเต็มที่ โครงการนี้จึงไม่ได้เป็นของดิฉัน แต่เป็นของทุกคน ใครจะนำตาวิเศษไปใช้ก็ได้ หรือใครจะใช้เราทำงานก็ได้ เพราะเราอยู่ตรงกลางของสังคม และทำเพื่อสังคมเป็นจุดมุ่งหมายหลักที่สำคัญ

“โครงการตาวิเศษเราเริ่มมาเมื่อหลายปีก่อนนั้น จะเรียกว่าถูกกลืนไปก็ได้ แต่อีกมุมหนึ่งหากมองว่าทุกวันนี้เราได้ก้าวไปถึงจุดที่เป็นแรงผลักดันในเรื่องของปัญหาขยะ มลภาวะ ให้สังคมได้ตื่นตัว เราเป็นจุดเริ่มต้นในวันที่ทุกคนมองว่าปัญหาขยะเป็นเรื่องเล็กๆไม่ใช่เรื่องตัวเอง มาจนถึงจุดที่ไม่ว่าองค์กรไหนก็ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จนะคะ ไม่เกี่ยวกับว่าคนจะจำเราติดตา สโลแกนติดหูอยู่หรือไม่หรอก”

การบอกเล่าถึงเรื่องราวของตาวิเศษ เสมือนเป็นการบอกเรื่องราวของชีวิต คุณหญิงเบนสายตาไปมองบรรยากาศรอบๆ ตัว ราวกับว่าสิ่งต่างๆ หวนกลับมาอีกครั้ง เธอไม่เพียงแต่บอกเล่าด้วยน้ำเสียงเฉียบขาด แต่เธอกำลังพาเราเข้าไปร่วมรับรู้เหตุการณ์เหล่านั้น

“เราไม่ได้ถึงจุดจบ แต่การที่หายไปเพราะมันมีจุดเปลี่ยน ตอนเริ่มโครงการใหม่ๆ ตอนนั้นโรงเรียน หรือองค์กรต่างๆ ก็จะบอกว่ายินดีที่เราได้ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถจะไปชี้นำให้คนมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข เราเหมือนเป็นตัวเชื่อมให้เขาได้สื่อถึง ตอนนั้นถ้าพูดถึงเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อมคนก็จะนึกถึงเจ้าตัวโลโก้สีเขียวๆ ตาดุๆ

 

สิ่งแวดล้อมหรือสร้างภาพ

“ปัจจุบันตั้งแต่มี CSR (Corporate Social Responsibility) แต่ละองค์กรก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันเยอะขึ้น และมีโครงการที่จะทำเองกันมากขึ้น เพราะมันส่งผลดีทั้งต่อภาพลักษณ์ต่อองค์กรนั้นๆ การทุ่มทุนทำเอง มันก็ดีกว่าเอาทุนโครงการพวกนี้มาให้เราทำอยู่แล้ว เพราะถ้าเราทำ มันก็เป็นโครงการตาวิเศษทำ ภาพลักษณ์มันก็จะถูกแชร์ออกมาให้ตาวิเศษอีก พอแต่ละองค์กรเขาสามารถทำเรื่องโครงการสิ่งแวดล้อมกันเองได้ ตาวิเศษมันเลยค่อยๆ หายไป 

“การที่ CSR นำมาใช้ควรคะนึงถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของ CSR จริงๆ ให้ถ่องแท้ หลายๆ คนอาจลืมไปว่า CSR เป็นเรื่องภายใน ควรจะปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี กระบวนการ ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแก่คนในองค์กรเสียก่อนที่จะกระจายออกสู่ข้างนอก นี่คือสิ่งที่คนที่จริงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมจริงๆ ควรนึกถึง

“อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เราไม่มีงบโฆษณา และไม่มีผู้สนับสนุนด้วยเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้น ค่าเวลาของการทำรายการ หรือค่าโฆษณาต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น เวลาที่ผู้สนับสนุนเดิมต่างๆ เคยมีเลยถูกบีบลง เวลาที่จะแบ่งให้เราเลยไม่มี แต่ทุกวันนี้เราก็ยังคงทำงานกันอยู่ เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในชื่อของตาวิเศษเท่านั้นเอง เมื่อมีองค์กรต่างๆ มาติดต่อขอความร่วมมือในการทำโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราก็เข้าไปดูแลให้เหมือนเดิม

“ถ้าจะมองภาพของปัญหาก็คือสิ่งที่ออกมาเป็นภาพรวมใหญ่ๆ ของการรักษาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ มันไม่ซึมเข้าไปในใจของเด็กๆรุ่นใหม่ เหมือนเด็กรุ่นแรกๆ ที่โตมากับตาวิเศษ ที่จริงแล้วต้องมองย้อนกลับไปว่า จิตสำนึกคนทุกคนคืออะไร เดี๋ยวนี้ทุกคนอยากจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ ซึ่งเราก็ดีใจ แต่ก็หดหู่ไปกับการฉวยโอกาสนำเอาสิ่งแวดล้อมมาเป็นแผนโพรโหมตองค์กรเพียงเท่านั้นเอง ถ้าเขาคิดอย่างนั้น อยากจะบอกว่าในวันแรกที่เขาจัดงานแถลงข่าวมันจะกลายเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบของโครงการนั้นไปในตัว การทำเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือโครงการสิ่งแวดล้อมขึ้นมาต้องมีสามสิ่งที่สำคัญคือ การประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นให้ได้รู้โครงการเราพร้อมทั้งให้ความรู้ และปลูกฝัง และต้องไม่ลืมที่จะมีกิจกรรมให้ได้ลงมือทำจนเกิดสำนึกฝังอยู่ในใจของแต่ละคนให้ได้”

 

วัฒนธรรมของไทย

เธอได้เปิดโลกการเรียนรู้ขึ้นอีกครั้ง จากอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนเล็กๆ ในชีวิต เมื่อครั้งที่ความเป็นสาวหัวนอกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต แต่เมื่อได้ใช้เวลานั่งมองย้อนกลับไป สิ่งหนึ่งที่ยังคงมีคุณค่าในตัวเธอไม่เปลี่ยนแปลงก็คือความไม่ไร้ซึ่งวัฒนธรรม

“ดิฉันมีประสบการณ์ในด้านนี้ จึงไม่เห็นด้วยกับการที่สนับสนุนให้มีโรงเรียนสองภาษาขึ้นมามากมาย แล้วสนับสนุนให้เด็กไทยเข้าไปเรียนในนั้นกันเยอะๆ ด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่าเด็กควรจะได้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ ใช่ มันเป็นความคิดที่ดีที่จะสนับสนุนเด็กในเรื่องภาษา แต่แนวทางนั้นผิด เรากำลังจะส่งเสริมให้ภาษอังกฤษเป็นภาษาแม่ แล้วภาษาไทยจะกลายเป็นภาษาที่สองหรือไม่ เพราะเราอยู่ในเมืองไทยอยู่ดีๆ จะให้ไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ที่พูดภาษาอังกฤษล้วนกันทั้งวัน อย่างน้อย 10 ปีแรกของชีวิต ก็น่าจะให้เรียนภาษาและวัฒนธรรมของไทยได้อย่างเต็มที่ แล้วภาษาหรือวัฒนธรรมที่สอง ค่อยให้เขาไปเรียนรู้หลังจากนั้นได้ จะไปเมืองนอก หรือเข้าโรงเรียนอินเตอร์หลังจากนั้นก็ได้ 

“ตอนนี้ระบบการศึกษาในบ้านเรายังไม่เหมาะ ลองคิดดูดีๆ สิ

เมื่อ 27 ปีที่ผ่านมา คุณกำลังทำอะไรกันอยู่