ปากพนัง…

ปากพนัง…

ระหว่างลมตะวันออกพลิ้วพัด ที่อำเภอปากพนัง พื้นแผ่นดินที่ราบลุ่มริมทะเลอ่าวไทย เรื่องราวของผู้คนอันผูกพันอยู่กับโลกกสิกรรมโบราณได้ผ่านพ้นเรื่องราวมายาวนาน ตกทอดเป็นประวัติศาสตร์แห่งการอยู่กิน มากไปด้วยตำนานแห่งข้าวและคืนวันของการเปลี่ยนแปลง

 

ที่ราบลุ่มปากพนังครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ปากแม่น้ำปากพนัง ไล่เรีื่อยไปจนถึงอำเภอเชียรใหญ่ เข้าสู่หัวไทร และลากยาวต่อไปถึงระโนดและแถบทะเลสาบสงขลา แต่ดั้งเดิม ข้าวคือสิ่งหล่อเลี้ยงผู้คนให้มีชีวิตยืนยาว เชื่อมโยงภาพรวมของเมืองนครฯ ในอดีตให้ดูมีชีวิตชีวา เทือกเขาหลวงที่ทอดขวางแผ่นดินนครศรีธรรมราชไว้ทั้งจังหวัดนั้นเป็นดั่งเหตุผลของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความผูกพันของผู้คนหลายกลุ่มทั้งสองฟากเขา

 

ข้าวของจากชาวเหนือทั้งของป่า ผลไม้ สมุนไพร ลงมาถึงปากพนังกันทางเรือ ล่องกันมาตามคลอง ชาวนอกอย่างเราในสมัยโน้นก็เอาข้าวแลกกลับไป

 

‘ชาวเหนือ’ นั้นหมายถึงคนจากแถบลานสกา พิปูน ที่ยังชีพอยู่ด้วยการเพาะปลูกพืชสวนผสมหรือที่เรียกกันว่าสวนสมรม ส่วน‘ชาวนอก’ ก็คือคนบนพื้นที่ลุ่มริมลำน้ำปากพนังในฝั่งทะเลด้านตะวันออกทั้งปลูกข้าวและทำการประมง ไม่ใช่แค่ปากพนัง แต่ยังกินพื้นที่ไปถึงหัวไทร ท่าศาลา สิชล และขนอม

 

ยังมี ‘พวกนอกเขา’ อีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ไกลออกไปอีกด้านหนึ่งของภูเขา ซึ่งก็คือผู้คนในแถบอำเภอฉวาง ทุ่งสง ชีวิตของพวกเขาโอบล้อมอยูด้วยสวนยางพารานับหมื่นนับแสนไร่ ยางไม้ เครื่องเทศ และไม้ผลบางประเภทจึงเป็นข้าวของที่พวกเขานำขึ้นหลังช้าง ขี่ตัดป่าเขาหลวงลงมาแลกข้าวกับชาวนอก

 

คืนวันแลกเปลี่ยนในอดีตนั้นน่าสนุกสนานและจินตนาการถึง ว่ากันว่าชาวเหนือหรือพวกนอกเขาขนผลิตผลลงมาให้ทีไร ชาวนอกก็จะลำเลียงข้าวกลับไปเต็มลำเรือหรือหลังช้างอย่างเท่าๆ กัน

 

พื้นที่ราบบริเวณลุ่มน้ำปากพนังจึงเป็นแหล่งเชื่อมโยงคนจากขุนเขาเข้ากับคนพื้นราบ เงื่อนไขของธรรมชาติในการเพาะปลูกที่แตกต่างทำให้ผลผลิตในแต่ละพื้นที่ได้สัมพันธ์แลกเปลี่ยนกันอย่างมีชีวิตชีวา จนมีคำเรียกขานคนจากภูเขาทั้งสองกลุ่มว่า ‘เกลอเขา’และเรียกคนลุ่มปากพนังว่า ‘เกลอเล’ หรือที่เรียกระบบแบบนี้กันว่า ‘อ้ายเกลอ’

 

หากแต่ในยุคหลัง ๆ ราวยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่โลกเปลี่ยนและเต็มไปด้วยกลไกการค้า พื้นที่อุดมชุ่มอย่างปากพนังกลับพบปัญหาที่แม้แต่ผู้เฒ่าซึ่งเจนจัดในการทำนายฝนฟ้าตามความเชื่อโบราณของคนใต้เองก็ยังงุนงงและทรุดลงยอมจำนนกับผืนดินที่ป่วยไข้

 

ความสัมพันธ์ในวิถีชุมชนที่เคยเป็นมาค่อยๆ เลือนราง เรื่องราวของเกลอเลและเกลอเขากลายเป็นเพียงความฝันอันหอมหวานของสายสัมพันธ์ในอดีตที่คนรุ่นหลังๆ นึกภาพตามไม่ค่อยออก

 

ไม่เพียงผืนดินที่เปลี่ยนไปจากการใช้อย่างสาหัส แต่ปัญหาแห่งความแร้นแค้นนี้ยังทบซ้อนอยู่ในหลายส่วน แม่น้ำปากพนังที่เคยหล่อเลี้ยงพวกเขาอยู่ก็บอบช้ำไม่แพ้ผู้คน ปัญหาน้ำเน่าเสียจากการทำนากุ้งและน้ำเค็มหนุนเข้ามาจนเพาะปลูกไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่หลายครัวเรือนคล้ายเดินมาถึงจุดอับ

 

ห้วงยามเช่นนั้นเองที่เรื่องราวความทุกข์ยากของพี่น้องปากพนังล่องลอยไปถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องราวของความลำบากแร้นแค้นของเมืองที่เคยได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำอย่างปากพนัง ไม่เพียงแต่เป็นปัญหาที่รับรู้กันแต่ในท้องถิ่น หากแต่ยังทราบไปถึง ‘พ่อหลวง’ ของพวกเขาอีกด้วย                            

 

ไม่เพียงแต่ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากของราษฎรแห่งลุ่มน้ำปากพนัง แต่ยังมีพระราชดำริที่จะทรงช่วยแก้ไข โดยเฉพาะครั้งสำคัญที่สุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2536 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ ณ พระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ได้พระราชทานพระราชดำริว่า “ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่าง จากอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พิจารณาว่าจะแก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าเป็นกุญแจสำคัญของโครงการฯ จะแก้ปัญหาตั้งแต่น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม และสามารถที่จะให้ประชาชนมีน้ำบริโภค และน้ำทำการเกษตร แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะต้องสร้างหรือทำโครงการอย่างต่อเนื่อง หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด จากอันนี้จะทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง”

 

ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ์และอาคารประกอบอันได้แก่ บันไดปลา ทางปลาลอด ประตูเรือสัญจร และทำนบดินกั้นลำน้ำเดิมจึงเริ่มก่อร่างขึ้นที่บ้านบางพี้ ตำบลอู่ล่อง ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมๆ กับชีวิตชีวาที่ค่อยๆ ฟื้นคืนมาของพื้นที่นากว่าห้าแสนไร่

 

น้ำเค็มถูกแยกออกจากน้ำจืด พร้อมๆ กับความอุดมสมบูรณ์ของคุณภาพดินที่ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ นากุ้งกับนาข้าวถูกแยกพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนตามประเภทของน้ำ

 

เมื่อแผ่นดินได้รับการเยียวยา คนลุ่มน้ำปากพนังที่มีรากเชื่อมโยงอยู่กับท้องนาและผืนน้ำก็กลับมาเปี่ยมล้นด้วยลมหายใจ

 

หากเราพาตัวเองลงไปเป็นหนึ่งเดียวกับลำน้ำปากพนัง ล่องไปตามความรื่นเย็น ตามเกาะแก่งรกร้างที่ไม้ใหญ่ขึ้นคลุม ล้วนเสียดยอดอยู่ด้วยปล่องโรงสีข้าวโบราณที่สะท้อนความเป็น “เมืองข้าว” ของปากพนังในอดีต บางคนเรียกภาพตรงหน้าว่า “แจกันยักษ์”

 

แต่เดิมตามหมู่บ้านที่ทอดรายอยู่ในที่ราบลุ่มแห่งนี้ เฉพาะในเขตอำเภอปากพนังนั้นมีโรงสีอยู่ถึง 9 โรง ซึ่งถือว่าพอเพียงที่จะรองรับการทำกินของผู้คนในอดีต ด้วยทำเลที่เหมาะสม เรือขนสินค้าสามารถล่องจากทะเลเข้ามาตามแม่น้ำ และซื้อขายข้าวกันได้ถึงท่าโรงสี ตลาดเมืองปากพนังเติบโตเคียงคู่ ชีวิตที่ดีนำพาผู้คนหลากหลายเข้ามาตั้งหลักแหล่ง ตึกเก่าหลายห้องในตลาดคือภาพชัดของคนจีนที่ก้าวมาอยู่ร่วมจากการปักหลักค้าขาย

 

ทุกวันนี้ ภาพของปากพนังปรับเปลี่ยนไปด้วยความเติบโต “คอนโดนกนางแอ่น” หลากสีผุดพรายคล้ายปากพนังเป็นเมืองสีลูกกวาด อาชีพเสริมที่มีเงินทองโบยบินอยู่ในอากาศ ทำให้การก่อสร้างคอนโดเพื่อล่อให้นกนางแอ่นเข้ามาทำรังจึงเป็นที่นิยมมากยิ่งในตลาดปากพนัง พื้นที่ซึ่งปากแม่น้ำแผ่กว้างสู่ผืนทะเล เป็นทำเลหากินของนกนักเดินทางในแทบทุกวี่วัน

 

ชีวิตเติบโตจากยุคโบราณ ผ่านตำนานและประวัติศาสตร์ของนาข้าวและการใช้ชีวิต วันที่แม่น้ำและท้องทะเลได้รับการแบ่งสรรที่ทางด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ชีวิตเก่าใหม่ได้ผสมผสานอย่างมีทิศทาง

 

บ้านหลังอุ่นจึงไม่ร้างไร้ผู้คนเช่นห้วงหนึ่งในอดีต ทว่ากลับเนืองแน่นไปด้วยความหลากหลายของชีวิตบนผืนแผ่นดินเดียวกัน
อย่างเปี่ยมค่า

เทือกเขาหลวงอันเหยียดยาวตกทอดเป็นภูมิประเทศสีเขียว