คนเหมืองแห่ง

คนเหมืองแห่ง

จากอดีตที่แม่เมาะคือแดนดินในเขตเขาห่างไกล อากาศเหน็บหนาวและไร่นารวมไปถึงของป่าคือทางเลือกของชาวบ้านผู้อยู่กินทว่าในที่สุด โลกของการพัฒนาเดินทางมาถึงที่นี่แต่ครั้งรัชสมัยพระยามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ห้วงยามนั้น แผ่นดินสยามก้าวหน้าด้วยการเปิดรับเทคโนโลยีจากตะวันตกมามายหลายทิศทาง รถไฟถือเป็นสิ่งทันสมัยเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน การสำรวจสร้างเส้นทางรถไฟแทบทั้งประเทศนำพามาซึ่งการศึกษาเส้นทาง บุกป่าฝ่าดง รวมถึงการว่าจ้างผู้มีประสบการณ์จากชาติตะวันตกเข้ามาบุกเบิกในยุคแรกเริ่ม การสร้างต้องผ่านพาให้ครอบคลุมถึงชุมชนชาวบ้าน

เส้นทางรถไฟสู่ภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ผ่านพามาถึงลำปางและแม่เมาะ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เซอร์แอนดรูว์คลาร์ก และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ โดยมีกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระราชโอรสพระองค์หนึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงเป็นพระองค์แรก

ทรัพยากรต่างๆ ถูกศึกษาค้นคว้าและนำมาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศให้เท่าเทียมตะวันตก กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง สินแร่ต่างๆ ในชั้นดินถูกขุดค้นเพื่อรู้เห็นถึงความเหมาะสมในการใช้ผ่านรูปแบบต่าง ๆ และเหมืองถ่านหินแห่งแรกในเมืองไทยที่กระบี่ได้รับการเปิดเหมืองผ่านบริษัทถ่านหินกระบี่ ซึ่งดำเนินการโดยนายโรเบิร์ต ยัง ชาวอังกฤษจากปีนัง

เชื้อเพลิงอย่างไม้ฟืนคือพลังงานหลักที่ให้ใช้ต้มน้ำให้เกิดพลังงานความร้อนกับหัวรถจักรไอน้ำในยุคแรกเริ่ม ความเติบโตทันสมัยกลบกลืนปริมาณป่าไม้ที่ค่อยๆ ลดลงตามพัฒนาการเรื่องการคมนาคมอันเป็นสากล

การ “เปิดบ้าน” เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องล่วงสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้สงวนป่าไม้ตามพระราชดำริที่ว่า “อันการรถไฟที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงเหล่านี้ รังแต่จะทำให้ป่าไม้ที่มีอยู่ในประเทศไทยหมดสิ้นไปโดยเร็ว เห็นสมควรที่จะคิดหาเชื้อเพลิงอื่นไว้ทดแทน เพื่อเป็นการรักษาป่าไม้ให้คงไว้”

การสำรวจเชื้อเพลิง “ทดแทน” ป่าไม้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศถูกว่าจ้างให้เดินทางสำรวจเกือบทั่วทั้งประเทศ รายงานต่างๆ ราวปี พ.ศ.2464-2466 ของกรมรถไฟหลวงได้ฉายชัดการสำรวจทางธรณีวิทยาเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

ห้วงยามนั้นเอง ที่บ้านแม่เมาะของลำปางได้รับรู้ความแปลกใหม่ที่เห็นชาวต่างชาติแวะเวียนเข้าออกบ้านกลางหุบเขาของพวกเขาบางคนตัดป่ามาจากแดนดอย บ้างมาอยู่กินค้างแรมราวเดือน มารู้มาถามถึงเรื่องราวที่คนหาของป่าแถบแม่เมาะเห็นไฟลุกลามตามป่าเขายามค่ำคืน หรือให้ชาวบ้านพาพวกเขาไปที่ “วังไฟไหม้ดิน”

ทรัพย์ในดินอย่างถ่านหินผ่านพ้นการสัมปทานจากบริษัทเอกชนต่างชาติ การขุดค้นทำเหมืองเริ่มฝังราก จนก้าวย่างล่วงเลยเข้าสู่รัชสมัยของพระบาสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ความที่ทรงเป็นห่วงว่าการสัมปทานถ่านหินจะตกไปอยู่ในมือของชาติตะวันตกเสียหมด จึงมีพระราชโองการถึงเจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิราช ที่ดูแลทั้งด้านเกษตรกรรมและสินแร่ของสยาม ให้สงวนแหล่งถ่านหินของประเทศไว้

ความเปลี่ยนแปลงอันเกี่ยวร้อยอยู่กับถ่านหินและแผ่นผืนดินแม่เมาะถูกพลิกฟื้นขึ้นเป็นตำนานใหม่ โครงการสำรวจต่างๆ ถูกรื้อฟื้นศึกษา องค์การลิกไนต์ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะตามตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนต์(รัฐวิสาหกิจ) เพื่อจัดการผลิตถ่านหินลิกไนต์อย่างจริงจัง ส่งจำหน่ายให้โรงบ่มใบยาสูบ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ รวมถึงโรงไฟฟ้าสามเสน ด้วยการลำเลียงผ่านทางรถไฟล่องลงใต้

ความก้าวหน้าหยั่งรากและยังผลให้คนแม่เมาะได้เรียนรู้และมีชีิวิตที่ดีขึ้น “เหมืองหาบ” จากแรงงานคนเปิดหน้าดินและขุดถ่านรวมทั้งลำเลียงขึ้นสู่เบื้องบนถูกทุ่นแรงด้วยการศึกษาทั้งจากระบบสายพาน เครื่องจักรกล สู่ “เหมืองเปิด” ที่ใช้เครื่องจักรเปิดหน้าดินออกเป็นชั้นๆ จนถึงชั้นถ่านหิน

และตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ที่รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยรวมกิจการลิกไนต์ทั้งที่แม่เมาะและกระบี่ รวมไปถึงการไฟฟ้ายันฮีและการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน โลกแห่งกระแสไฟฟ้าก็ได้หลอมรวมเรื่องราวที่ไม่ได้มีเพียงชั้นดินและถ่านหินซึ่งถูกเปิดและขุดค้นขึ้นมานับหลายสิบปี

หากแต่ความหมายของผู้ย่ำเดินและตอกหมุดชีวิตแรงงานลงข้างล่างนั้น แม่เมาะเองก็โอบอุ้มเอาเรื่องราวของพวกเขาไว้ไม่ตกหล่นไปจากวันเวลาและการก่อกำเนิดมันขึ้นมา

คนแม่เมาะมักเปรียบห้องทำงานกลางหุบเขาของพวกเขาไว้ดุจเดียวกับทะเลที่ไม่มีวันหลับใหล

เสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่ม ชั้นดินและถ่านหินผสมผสานอยู่ในแอ่งเบื้องล่างราวภาพเขียนสีน้ำมันที่มีแดดฉายระบาย เครื่องจักรหนักและรถขุดขนาดใหญ่โตวิ่งเวียนคล้ายโลกของเล่นเมื่อมองจากระยะไกล

จนเมื่อลงไปถึงความลึกกว่า 200 เมตรอันเก่าแก่กว่า 50 ปี โลกที่ไม่มีวันหยุดของคนที่นี่ก็ขยายสัดส่วนของงานหนักและความรับผิดชอบสู่ความยิ่งใหญ่มโหฬาร ฝุ่นดินและเสียงสนั่นครอบคลุมไปทั่วแอ่งเหมือง งานหนักอันมากด้วยความรับผิดชอบขับเคลื่อนชีวิตเหมืองอย่างที่มันเคยเป็นมาหลายสิบปี

รถบรรทุกเทท้าย หรือที่พวกเขาเรียกว่า “รถรับ” แล่นขวักไขว่ไปตามหน้างาน ที่มีรถขุดไฟฟ้าน้ำหนัก 85 ตัน คอยตักดินหรือถ่านหินลำเลียงใส่กระบะท้าย เรากลายเป็นมนุษย์ย่อส่วนเมื่อเทียบกับความโอฬารของมัน

“กว่าจะมาขับได้ต้องฝึกกันเป็นเดือนเป็นปี”  ผมได้โอกาสจาก เกียรติศักดิ์ อุปาลี ให้เข้าไปร่วมมองผ่านบานกระจกใหญ่โตเหนือความสูงในห้องคนขับรถเทท้าย ต้องป่ายปีนขึ้นไปเหนือความสูงราว 5 เมตร

รอยล้อและรถกระบะตรวจงานของโฟร์แมนกลายเป็นจุดเล็กๆ เมื่อรถเทท้ายเคลื่อนไปรับถ่านหินจนพูนเพียบ ก่อนจะเคลื่อนไปด้วยความรู้สึกหนักอึ้งและยาวนานในความวนเวียนไมรู้กี่รอบต่อกี่รอบ

แต่ดั้งเดิมครั้งจัดตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตใหม่ๆ ศูนย์ฝึกอบรมคนขับรถขุดและรถเทท้ายเป็นโรงเรียนที่มากมายไปด้วยชายแกร่งแห่งแดนดอย กว่า 6 เดือนที่คนขับรถรุ่นเก่าๆ ของแม่เมาะต้องผ่านกำแพงหลายอย่างที่ไม่ใช่แค่เรื่องใบขับขี่รถขนาดใหญ่ ทั้งการวนเวียนกินนอนอยู่กับเครื่องยนต์ ทฤษฎีต่างๆ และความเข้าใจในงานเหมือง กว่าจะผ่านพ้นการเป็น ‘นักเรียนศูนย์’ สู่คนทำงานออกกะ

“8 ชั่วโมงยาวจะตายสำหรับคนเหมือง” เกียรติศักดิ์ว่าชีวิตข้างล่างราวกับนาฬิกามีเข็มบอกเวลาแค่ 8 ชั่วโมง งานเหมืองอันหนักหน่วงแบ่งการทำงานของพวกเขาออกเป็น เช้า บ่าย และดึก ทั้งสามกะนี้กินเวลา 8 ชั่วโมง ผลัดเวียนไปกะละ 5 วัน และเมื่อพวกเขาได้หยุด หรือ “อ๊อฟ” ก็อีก 5 วัน

วันทั้งวันหน้างานของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปไม่มีหยุด ด้วยการเปิดชั้นดินและปริมาณถ่านแต่ละจุดนั้นแตกต่าง ตั้งแต่คุณภาพของลิกไนต์ หรือการควบคุมให้เหมาะกับปริมาณไฟที่โรงไฟฟ้าต้องการผลิต

จอว์ครัชเชอร์ หรือเครื่องย่อยถ่านให้กลายเป็นก้อนเพื่อลำเลียงสู่สายพานรอคอยอยู่ราวยักษ์ปักหลั่นที่กระหายหิว รถเทท้ายของเกียรติศักดิ์วนไปมาราวกับหนทางเส้นนี้หนักหน่วงด้วยความรับผิดชอบ“ความระมัดระวังต้องมาก มีเหยียบรถกระบะเล็กออกบ่อยๆ” นาทีเช่นนั้นแม้ไม่มีใครต้องการ แต่เขาว่ามันก็เกิดขึ้นได้หากคนขับประมาทแม้สักเสี้ยววินาที

วันทั้งวันดูเหมือนการงานของพวกเขาซ้ำไปซ้ำมากับหนทางสายเดิม หากแต่ในรายละเอียดและความหน่วงหนัก ชีวิตในแอ่งเหมืองมากมายรายละเอียดให้ทำความรู้จัก

ขึ้นจากเหมืองราวสี่โมงเย็น ที่ห้องโอเปอร์เรต หรือ “ห้องจัดกะ” ของคนเหมืองคึกคักขึ้นทันตา ต่างกับขาที่เราลงไปสู่แดนดินลิกไนต์เบื้องล่าง

วิศวกรเหมืองแร่หลายรุ่นแจงงานกับโฟร์แมนและคนขับรถอยู่ในห้อง กระดานไวท์บอร์ดเต็มไปด้วยสัดส่วนและตัวเลขที่คนนอกยากจะเข้าใจ ซึ่งมันอาจหมายถึงปริมาณถ่าน ทิศทาง หรือความเหมาะสมตามฤดูกาล

ทว่าโลกด้านนอกก็มากไปด้วยอารมณ์หยอกล้อของคนที่เพิ่งเสร็จงานและคนที่กำลังจะก้าวลงไปข้างล่างเพื่อเริ่มงานใหม่ กระดานหมากรุก วงตะกร้อ หรือกับข้าวถิ่นเหนือที่หลายคนหอบหิ้ว

ภาพเหล่านี้ผสมผสานจนทำให้โลกของพวกเขามากไปด้วยมิติ มีหนักหน่วง จริงจัง และยิ้มหัวผ่อนคลาย เท่าที่คนธรรมดาสักคนจะพึงเป็น

มากไปกว่านั้น เมื่อความต้องการต่อกระแสไฟฟ้าของคน “ข้างบน” มีมากเท่าไหร่ โลกของคน “ข้างล่าง”อย่างแม่เมาะจึงจำเป็นต้องไร้การหยุดหย่อน ขับเคลื่อนราวมันไม่มีที่สิ้นสุด

8 ชั่วโมงอันยาวนานของแต่ละคนที่นี่จึงมากด้วยการขุดค้น ทำความรู้จักและเข้าใจในหนทางที่พวกเขาน้อมนำและใช้ชีวิตก้าวเดิน

How to Go?

จากตัวเมืองลำปาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 11 (ลำปาง-เด่นชัย) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 10 แยกซ้ายเข้าถนนผาลาด-แม่เมาะ อีกราว 10 กิโลเมตร ถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (เหมืองแม่เมาะ)

มาเที่ยวเหมืองแม่เมาะ ควรแวะไปทำความรู้จักเรื่องราวของลิกไนต์และประวัติความเป็นมา รวมถึงขั้นตอนการขุดหาลิกไนต์ลำเลียง ก่อนกลายเป็นพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ)เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เปิดให้บริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ หยุดทุกวันจันทร์ เวลา 9.00-16.00 นาฬิกา โทรศัพท์ 0-5425-4930-25 หรือ maemohmine.egat.co.th/museum

เมื่อเราอยู่ในแลนด์สเคปอันแสนงดงามของเหมืองแม่เมาะ