ทับสะแก
หมู่บ้านชาวประมงริมทะเลอ่าวไทยเติบโต มั่นคงแข็งแรง เป็นหลักฐานให้ชีวิตเติบโตมาหลายรุ่น ไล่เลยไปตามที่ดินริมอ่าว เราจะเห็นงานซ่อมแซมอุปกรณ์หากินในทะเลแม้ในฤดูมรสุมมาเยือน
“ช่วงปิดอ่าว ออกเรือเล็ก หาหมึก หาปลาไปตามเรื่องราว ซ่อมข่ายซ่อมลอบไปนั่นล่ะ” ประมงชราบอกกับผมหลังจากเห็นเรามายืนมองความว่างเปล่าของทะเลในหลายเช้า มีเพียงดวงตะวันสีส้มกลมโตโผล่พ้นเป็นภาพงดงามปลอบใจ
สะพานซีเมนต์ยื่นลงไปในทะเลลึก ลานสาธารณะด้านบนคือสนามตะกร้อของเด็กๆ ลูกทะเลยามเพลาพักจากช่วยงานผู้ใหญ่บ้านไม้ริมทะเลทับสะแกมั่นคงหยัดยืน บางหลังเหยียดยาวประตูไม้ ถูกเพนต์ลายคล้ายเมืองประมงแถบอมริกาใต้ และเมื่อดุ่มเดินเข้าไปดูใกล้ๆ เราจะพบว่า อดีตอันเรืองโรจน์จากงานประมงได้ขัดเกลาให้ชีวิตที่เหลืออยู่เปี่ยมไปด้วยความมั่นคงและเรื่องเล่าจากทะเล
“แต่ก่อนทับสะแกคึกคักกว่านี้มาก ราวสามสิบสี่สิบปีนี่มีแต่เรือประมง แรงงานทั้งไทยและพม่า สะพานปลาของบ้านฉันไม่เคยเงียบ” คุณยายเจ้าของแพปลาเล่าผ่านอากาศหม่น บานประตูชราทาสีเทาอ่อนประดับลวดลายรูปลาทู ด้านในคือโรงขึ้นปลาห่มแสงสลัว สะพานไม้หน้าบ้านทอดยาวลงในทะเลลึก มีผู้คนพร้อมเบ็ดทรอลลิงคอยเหวี่ยงมันลงเพื่อรอคอยปลาโชคร้าย เด็ก ๆ ตามมาช่วยผู้เป็นพ่อหย่อนปลาลงในลังพลาสติก ไม่ได้เพื่อขาย ทว่าเพียงพอต่อมื้อเย็นที่กำลังจะมาถึง
ทะเลประจวบคีรีขันธ์คือบ้านของปลาทูและปลาอีกนานาชนิด ฤดูวางไข่ของพวกมันในช่วงต้นปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ส่งผลให้พื้นผิวทะเลไร้เรือประมงใหญ่ในน่านน้ำประจวบคีรีขันธ์ไล่เลยผ่านชุมพร ไปถึงสุราษฎร์ธานี สำหรับคนหลงรักภาพวิถีชีวิตริมทะเล ในห้วงยามเช่นนี้ดูเหมือนความว่างเปล่าร้างไร้จะปกคลุม ทว่ากับคนริมฝั่ง บ้านของพวกเขากำลังได้รับการเยียวยาเพื่อวันข้างหน้า เพื่ออนาคตอันจีรังยั่งยืน
ริมหาดทับสะแกหาใช่พื้นที่เล่นน้ำเริงร่า มีเพียงตรงหัวหาดทางที่เนินทรายและแนวสนไหวลม ร้านอาหารริมทะเลเล็กๆ แกล้มวิวกว้างไกล ระดับน้ำที่ค่อนข้างลึกส่งผลให้ความรุ่งเรืองทางการประมงได้บ่มเพาะ
“ถ้าเป็นหน้าปลานะ เสียงโหวกเหวก เครื่องยนต์เรือแรงงานลูกจ้างดังกันฟังแทบไม่ได้ศัพท์...แต่นี่มันเรื่องสิบกว่าปีก่อนนะ” เว้นวรรคสักพักยายก็กลับไปหาเพิงไม้ริมทะเล นั่งมองและเล่านี่โน่นซึ่งเราทำได้เพียงจินตนาการ โรงขึ้นปลาด้านหลังราวฉากภาพยนตร์ย้อนอดีต แกว่าราวกับความรุ่งโรจน์ไม่อยู่กับใครนาน
“มันเป็นอย่างนี้ล่ะ เมืองริมประมง มีเงียบ มีคึกคัก ทะเลก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่สุดก็คนที่อยู่กับมันนั่นละ ปลา หอย กุ้ง อะไรนี่มันจะน้อยจะมากก็มาจากคน” คู่ชีวิตของคุณยาย อดีตไต๋ผู้เคี่ยวกรำช่ำชองปิดท้าย ระหว่างทะเลตรงหน้ามากลูกคลื่นและแรงลม
ปลายสุดของชายทะเลทับสะแกฝั่งที่จะวกเข้าสู่ตัวตลาดนั้นงดงามลงตัว ทิวมะพร้าวไล่เรียงไปกับแนวหาด บ้านไม้สามสี่หลังใต้ร่มเงาหยัดยืนอยู่อย่างสมถะ เรือไดหมึกไม่ห่างหายเจ้าของผู้ดูแล ซ่อมอวน ซ่อมลอบ หรือไม่ก็ชันเรืออุดร่องรอยรั่วไหล ตามพื้นทรายคือมะพร้าวที่ผ่านการปอกเปลือกก่ายกอง วันทั้งวันของพวกเขา
ไม่เคยว่างเปล่าจากการงาน
รอยยิ้มเอียงอายของเด็กๆ ลูกหลานชาวประมง กลิ่นหอมแปลกๆ ของทะเลอ่าวไทยในยามเช้า หลอมรวมกับการงานของผู้คนประมงริมทะเลทับสะแก หรือแม้แต่มุมสงบของคนที่เลือกรีสอร์ตเล็กๆ ในทับสะแกเพื่อพักผ่อน เป็นภาพที่แม้จะพยามผลักไสก็ไม่อาจหลุดไปจากความทรงจำโดยง่าย
บางวันเราเข้าไปในความร่มครึ้มของพืชพรรณที่เป็นเหมือนลมหายใจของคนทับสะแก หากมองจากสายตาของนก บ้านทุ่งประดู่และทั่วทุกหมู่บ้านในเขตทับสะแกน่าจะเขียวครึ้มด้วยสวนมะพร้าว ตัวตนของคนที่นี่ดำรงอยู่ภายใต้ร่มเงาของมันมาหลากหลายรุ่น ผูกพันกับดินทรายและต้นไม้มากประโยชน์นี้มาร่วมร้อยปี
ว่ากันว่าหากคนเมืองเพชรเจนจัดเรื่องขนมหวาน และถามลึกกันไปในเคล็ดลับ มะพร้าวจากทับสะแกนั้นคือหนึ่งในความอร่อยอันเลอเลิศ
“ซื้อขายกันมาเป็นร้อยปีแล้วล่ะ เมืองเพชรกับทับสะแกนี่ แต่ก่อนนะ ขนส่งกันในโบกี้รถไฟเป็นพันเป็นร้อยลูก ขึ้นไปถึงกรุงเทพฯ โน่น” ภายใต้สวนมะพร้าวหนาแน่น บ้านไม้หลังสวยสะท้อนแสงบ่ายวามวาว ลุงน้อย ภู่ระย้า หรือ “ลุงโจ๊ะ” ของคนทับสะแกยิ้มฟันงาม พร้อมลิงกังสี่ห้าตัวที่แกฝึกไว้ “ขึ้นพร้าว” ในสวนของตัวเองและรับจ้างขึ้นสวนเพื่อนบ้าน ยามมะพร้าวทั้งสวนติดลูก
“ไอ้นี่ดุนะ เชื่อแต่ผมนั่นละ” ลุงโจ๊ะเล่าถึงไอ้ธง กังแสนฉลาดที่แกฝึกมันมาร่วมสี่ปี จนกลายเป็นเพื่อนคู่ชีวิต หากินร่วมกันในสวนมะพร้าวมาเนิ่นนาน
“คนเขาเลิกไปเยอะ ไปทำสวนยางบ้าง ทำอย่างอื่น โค่นสวนทิ้งเป็นไร่ แต่ฉันเลิกไม่ได้หรอก ส่งลูกหลานเรียนมาก็มะพร้าวนี่ล่ะ” แม้ทุกวันนี้จะเหลือคนใช้ “กัง” เก็บมะพร้าวไม่ถึง 3 รายในทับสะแก แต่หนทางอันเคียงคู่ระหว่างเจ้าของสวนและมิตรอันสัตย์ซื่อของที่นี่ก็ดำเนินต่อยอด มีที่ทางแห่งลมหายใจ
ลิงกังตัวหนึ่ง หากฝึกจนช่ำชอง วันๆ สามารถขึ้นไปเก็บมะพร้าวให้คนทับสะแกราว 700-800 ลูก “มันเลือกได้นะ ว่าเราจะเอาลูกแก่หรือลูกอ่อน” แกว่ายามมีไอ้ตัวเล็กเกาะอยู่บนบ่า มันคุ้ยหาอะไรสักอย่างบนหัวลุงโจ๊ะ เรียกเสียงเฮฮารอบด้าน
หลังยืนมองพี่สาวสักคนยืนปอกมะพร้าวนับร้อยลูกหน้า “เสียม” วาววาม คมกริบ โลกของมะพร้าวบนผืนดินทรายของคนทับสะแกพาผมมาพบกับป้าละเมียด แถมมี ในบ้านที่ไม่ไกลกันนักกับบ้านลุงโจ๊ะ เพื่อยืนยันกับตัวเองว่าพืชชนิดนี้ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน
“นอกจากปอก กินน้ำ ใช้เนื้อทางมะพร้าวนี่ก็เป็นการงานของคนแก่และผู้หญิงตามบ้านล่ะหลาน” ป้าละเมียดนั่งอยู่หน้าบ้าน ค่อยๆ ยกก้านมะพร้าวที่มากมายด้วยทาง ลิดใบจนก่ายกอง มีดในมือเหลาจนก้านย่อยในทางเหลือเป็นเส้นแข็ง ๆ รอวันที่จะส่งขายเพื่อไปทำไม้กวาด
ทางมะพร้าวก่ายเกยเป็นมัดๆ ที่หน้าประตูบ้านราวฉากในโปสเตอร์แสนสวย จริงๆ แล้วป้าละเมียดแลกมันมาด้วยการนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่หน้าบ้านเป็นวันๆ กลางความเงียบเชียบของสวนมะพร้าวที่สะท้อนตัวตนของคนทับสะแก
ตัวตนอันแสนเก่าแก่ มีรากเหง้าที่มา และพร้อมจะฝากฝังมันไว้สู่ลูกหลาน เท่าที่ใบหน้าแห่งกาลเวลาและความเป็นจริงจะยินยอม
บ่ายอ่อนพาคนต่างถิ่นอย่างเราเข้ามาที่ย่านตลาด ความคึกคักเริ่มปรากฏประปราย หลังจากที่มันเงียบเหงามาแทบทั้งวัน บนถนนเทศบาลห้องแถวไม้สองชั้นเหยียดยาวได้อย่างน่าทึ่งถึงการคงอยู่ของมันมาเกิน 70 ปี
ตั้งแต่ข้ามทางรถไฟ เราพาตัวเองเลาะไปตามหน้าทางเท้า ร้านรวงที่มีป้ายชื่อส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน หากไม่นับกิจการที่ปิดตัวลงไปหลังยุคก่อร่างสร้างตัว อดีตของตลาดทับสะแกมักซุกซ่อนอยู่ในแววตาและรอยยิ้มของผู้เฒ่าที่นั่งหย่อนอารมณ์อยู่หน้าแต่ละห้อง
ว่ากันว่าความคึกคักที่หลายต่อหลายคนมักนึกถึงทับสะแกนั้น คือภาพของคนประมงและคนจากเขตภูเขาที่มาพบกันที่ย่านตลาด หากเรานับเริ่มจากข้ามรางรถไฟ แล้วเดินเป็นวงกลม ชุดห้องแถวไม้เปี่ยมเรื่องราวการค้าขายอันเรืองโรจน์จะโอบล้อม แม้ไม่ใหญ่โตฟู่ฟ่าเหมือนย่านเก่าของเมืองใหญ่อื่นๆ แต่เรื่องราวเฉพาะตนเฉพาะด้านก็ห่มคลุมอย่างมีเสน่ห์
ยุคที่ป่าไม้ยังสมบูรณ์และสัมปทานทำเหมืองแร่ดีบุกยังส่งผลให้ราคาสินแร่ชนิดนี้สูงลิบ กระแสตื่นเหมืองแผ่ขยายมาถึงเขตภูเขาของทับสะแก และในตลาดก็คือศูนย์รวมของการใช้จ่ายอันแสนมีชีวิตชีวา
“คนมาดูหนัง ซื้อขายจับจ่ายกันเยอะ ของสด ของป่า เกลื่อนตลาด” ยายเพ็ญศรีว่าโรงหนังหลักๆ ที่คนทับสะแกรู้จักมีกันอยู่ 2 โรง คือทับสะแกรามา หรือชื่อเก่าในนามเฉลิมวัฒน์ ที่พวกเขามักเรียกกันว่าวิกใน เพราะอยู่ในตลาด ส่วนอีกโรงคือรวมเกียรติรามา หรือวิกนอก ที่อยู่ถัดออกไปใกล้ถนนเพชรเกษม
“วิกในนี่ฉายแต่หนังจีนกับหนังฝรั่ง มีเปิดแสดงวงดนตรีลูกทุ่งด้วยนะ แต่ก่อนฉันชอบไปดูเพลิน พรมแดน กับผ่องศรี วรนุช” คุณป้าร้านข้างๆ โรงพิมพ์ทวีกิจเข้าร่วมวงสนทนาอีกคน โลกตรงนั้นราวย้อนไปสามสิบกว่าปีก่อน ทับสะแกฉายภาพอยู่ในคำพูดของคนทั้งสอง
เฒ่าชราตามหน้าห้องแถวล้วนคือวัยรุ่นและเด็กๆ ของทับสะแกที่เติบโตเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับย่านตลาด ร้านรวงต่างๆ ที่เคยเป็นศูนย์รวมผู้คนล้วนเดินทางไปอยู่ในที่ทางแห่งความทรงจำตามกาลเวลา
“ใครมาตัดเสื้อผ้านะ ต้องร้านแมวดำ ส่วนเด็กๆ นี่ต้องตาลุกวาวกับเครื่องเขียนร้านปิยะมิตร เด็กๆ หนุ่มสาวแต่ก่อนจะไปเที่ยวแหลมกุ่มทีนี่ต้องเล็งขี่รถข้ามแผ่นไม้ข้ามคลอง ไม่มีสะพานสะดวกเหมือนเดี๋ยวนี้” เรื่องราวต่างๆ หลั่งไหลผ่านคนหลายวัยที่แวะเวียนมาทักทายยามเรานั่งนิ่งกันอยู่ในย่านตลาด ยามเย็นยิ่งงดงาม ร้านดารารัตน์ที่อยู่ไม่ไกลเริ่มตั้งขายโจ๊กและข้าวต้มรสเลิศ
เราเดินเวียนอยู่ในตลาดเก่าหลายต่อหลายวัน ทักทายบ้านโน้นบ้านนี้ หรือไม่ก็รอคอยสัมผัสรอยยิ้มหน้าประตูห้องแถวไม้แสนสวย ราวกับโลกที่ผ่านพ้นไปในอดีตยังพร้อมจะโลดแล่นวิ่งเต้น ยามใครสักคนพยามทำความรู้จักบ้านของพวกเขา
หลายอย่างดำเนินผ่านและคลี่คลาย เยี่ยงเดียวกับห้องแถวไม้เหยียดยาว หรือท่าเรือขึ้นปลาและสะพานไม้คร่ำคร่าที่ผืนทะเล ยุครุ่งเรืองของทับสะแกเดินทางผ่านพ้น สิ่งหลงเหลือเป็นหลักฐานอาจคือห้องแถวโบราณ หรือไม่ก็เรื่องเล่าของประมงชรา
ทว่านั่นก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ภายนอกที่ง่ายดายต่อการสัมผัสสัมพันธ์ สำหรับผู้คนที่ผลักพาตัวเองมาตามคลื่นลมและเงื้อมเงาของภูเขาที่โอบล้อมอยู่อีกฟากด้าน มีเรื่องเล่าและทิศทางชีวิตเฉพาะตัว ฉายซ้ำกี่ครั้งก็ไร้การเปลี่ยนแปลง เพราะมันคือความทรงจำ
หากแต่สิ่งที่อยู่ภายใน อาจต้องใช้คืนวันและการรอคอยอีกยาวนาน สำหรับการค้นหาและพานพบ
How to Go?
ทับสะแกอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 320 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (พระราม 2) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี สู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านอำเภอหัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี อำเภอเมืองประจวบฯ ก็จะถึงอำเภอทับสะแก