กำธร กัมทรทิพย์
เขาเป็นคนสมถะ เรียบง่าย มักปลีกวิเวกอยู่กับธรรมชาติ จึงปลูกบ้านอยู่ย่านชานเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นชายคาพักกายกับครอบครัว บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับหอมสดชื่น และเมื่อลองเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต เราจะพบชื่อของเขาอยู่เบื้องหลังการทำบุญทำทานอยู่เป็นนิจ อาทิ เจ้าของกองทุนรายชื่อผู้ใหญ่ใจดี บริจาคเสื้อผ้าแก่เด็กๆ ให้มูลนิธิกระจกเงาเด็กด้อยโอกาสตามสถานสงเคราะห์ที่ต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้คว้ารางวัล 2 ปีซ้อนในฐานะเป็นบริษัทออกแบบส่งออกดีเด่นจากหลายรัฐบาล ถ้วยรางวัลจึงเต็มบ้าน
MiX MAGAZINE มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศสายธารา เสียงน้ำตก นกร้องลำนำเพลงรักท่ามกลางร่มไม้ใหญ่ เขียวขจีอิงแอบโขดหินที่หนาวเหน็บหากสัมผัส ยามเช้าแสงแดดกระทบผิวน้ำเป็นระลอกเปล่งประกายระยิบผนวกกับอารมณ์เยือกเย็นเป็นกันเองแบบเหนียมๆ ของเจ้าบ้านที่จะมาบอกกล่าวกลยุทธ์เคล็ดลับการประกอบธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะหมัดเด็ดๆกระแทกตรงโฟกัส ว่าหากลงเลือกตั้งแล้วได้รับความไว้วางใจ เขาอยากจะไปคุมกระทรวงศึกษาธิการ เขาจะไปทำอะไร และเพื่ออะไร เชิญชิมลิ้มลองอิ่มอักษรได้ ณ บัดนี้
ชีวิตวัยเรียน
คุณกำธร ทักทายทีมงาน พร้อมกับพูดคุยอย่างออกรสเหมือนเกลอเก่าที่รู้จักกันมานมนาน
“สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต อายุ 20 ต้นๆ ก็สนุกสนานกับการทำกิจกรรม ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท บนดอยตามป่าเขา ลำเนาไพร สร้างห้องเรียน ห้องสมุด สนามเด็กเล่น สร้างชิงช้าก่อนจะไปออกค่ายแต่ละครั้งต้องสำรวจสถานที่ แหล่งทุรกันดารตามชนบทว่าขาดแคลนอะไร ต้องการให้ช่วยเหลืออะไรที่หน่วยงานเร่งรัดพัฒนาฯเข้าไปไม่ถึง จากนั้นจึงหาเงินเข้ากองทุนค่ายอาสาฯ มีการขายบัตร จัดแสดงดนตรี ทำสินค้าจำหน่ายของที่ระลึก วิ่งหา
สปอนเซอร์ ขึ้นป้ายโปสเตอร์โฆษณาขอความช่วยเหลือสารพัด โดยทำกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในรั้วเกษตรศาสตร์”
“ช่วงที่ไปออกค่ายอาสาฯ ไม่มีที่พักเพียงพอ ต้องไปนอนกลางศาลาวัดในชนบทห่างไกลความเจริญ ครั้งนั้นจำได้ว่าไปที่อำเภอแห่งหนึ่งในขอนแก่น ก็ได้รู้จักพบรักกับอดีตแฟนคือคุณกนกวรรณหรือปุย ปัจจุบันเธอเป็นภรรยาที่ดีมาก เธอเรียนคณะคหกรรมศาสตร์ด้านเสื้อผ้าแฟชั่นดีไซน์จากเกษตรศาสตร์จบ KU40 ก็จะทำเรื่องเสื้อผ้าโดยเฉพาะ”
“หลังผมจากจบวิศวกรรมโยธาได้ 6-7 เดือน ก็ไปช่วยครอบครัวทำอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ได้สักพัก จึงไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้านอิมฟอร์เมชั่นซิสเต็ม อีก 3 ปีจนจบ โดยอยู่กับอาซึ่งท่านเปิดร้านอาหารไทย เราก็ต้องเรียนและทำงานไปด้วยทั้งเป็นเด็กเสิร์ฟ ล้างชาม จัดโต๊ะ เก้าอี้ ซักผ้า หุงข้าว ฯลฯ ต่อมาแฟนเดินทางตามมาที่สหรัฐฯ”
“ปี ค.ศ.1988 ทางรัฐบาลสมัยนั้นให้เปิดบริษัททำเสื้อผ้าส่งออกได้ ผมจึงกลับมาเมืองไทยแล้วมาแต่งงานกัน 2 คนผัวเมียบุกเบิกเปิดบริษัทออกแบบผลิตเสื้อผ้าส่งออก ก็ราวๆ 19-20 ปีผ่านมาแล้ว”
ยาย “ลอม” นำโชค!
“ตอนนั้น เราเริ่มตั้งบริษัทจากการทำห้องตัวอย่าง เซ็ตจักรขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าในต่างประเทศเข้ามาดูก่อน เพราะแฟนผมมีกลุ่มลูกค้าที่เคยสั่งทำให้แบรนด์ดังๆ ในต่างประเทศหลายๆ แบรนด์ มีลูกค้าอยู่ในมือจำนวนมาก มีจักรทั้งหมด10 คัน ช่วงแรกๆ เราทำตัวอย่างให้ลูกค้าดูก่อน ยังไม่ได้ตั้งชื่อแบรนด์ ต่อมาคุณยายทวด ชื่อคุณยายลอม เป็นคนไทยแท้ๆ ท่านเสียชีวิตด้วยโรคชราท่านผูกพันกับเรามาก จึงจุดธูปบอกกล่าวขออนุญาตนำชื่อท่านมาตั้งเป็นชื่อบริษัทเพื่อให้เกิด มงคลชีวิต โดยเติมคำว่า “ชา” ขึ้นมาบวกนำหน้า จึงตั้งชื่อจดทะเบียนบริษัท “ชา-ลอม”หากเป็นภาษาไทย ก็น่าจะคล้ายๆ กับคำว่า “ชะลอม” ซึ่งหมายถึงเครื่องสานชนิดหนึ่งที่ทำด้วยไม้ไผ่สานสำหรับใส่ของในสมัยโบราณ หากเป็นภาษายิว ก็แปลว่า “สวัสดี” ซึ่งก็มีความหมายทั้ง 2 ภาษาฟังแล้วติดหู อีกอย่างพวกยิวจะทำการ์เมนท์ ด้านเสื้อผ้าส่งออกมาก จึงดีลงานเป็นเพื่อนกันมาตลอด เขาก็นึกว่าเราเป็นยิว เราก็บอกว่าเราเป็นยิว แต่มีเชื้อสายไชนีสผสม (หัวเราะ)”
“จากนั้นงานก็เริ่มขยายขึ้นเรื่อยๆ จึงเปิดเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ส่งออกต่างประเทศมาตลอด เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจเมืองไทยดาวน์ จึงหันมาทำเรื่องเอ็กซพอร์ตอย่างจริงๆ จังๆ เวลาผ่านไป 15 ปี กิจการดีขึ้นตามลำดับ เราขายแบรนด์ออกไปเมืองนอกลูกค้าให้การยอมรับมากขึ้น โดยไปเปิดช็อปให้เราในประเทศต่างๆ แบรนด์ที่ดังๆ ก็มียี่ห้อ B-BUSHH, THE YOUNG SPIRIT,le petit, PUmm DiTT ออกตามฤดูต่างๆ หลายหลายแบรนด์ ประเทศที่ขยายสาขาออกไปก็มียุโรปและอเมริกาEXCLUSIVELY AVAILABLE AT ไปเปิดที่ ประเทศ DU BAI ประมาณ 6-7 สาขา ประเทศ SAUDI ARABIA EGYPTอีก 7 สาขา ประเทศ MALAYSIA QATAR, BAHRAI, PHILIPPINES, BRUNEI KUWAIT, RUSSIA, MOSKO, SOUT, AFRICA, AUSTRALIA รวมทั้งเปิดเว็บไซต์ www.bbushh.com รองรับอีก ซึ่งส่วนมากก็ขายในเมืองหลวงของประเทศ ยึดหัวหาดได้ทั้งหมด ส่วนประเทศไทย มีขายที่เซ็นทรัลเวิร์ล เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ พัทยา ส่วนมากเป็นซื้อผ้าแบรนด์ เด็กเล็กๆ ถึงเด็กวัยรุ่น”
“ตอนทำเสื้อผ้าเข้าไปยังแถบยุโรป เนื้อผ้าเรามันยังหนาไม่มากพอ เพราะบ้านเขาเป็นเมืองหนาว แต่เราก็ทำส่งให้เขาได้ เพราะเราทำเสื้อผ้าหนามาตลอด เพื่อให้เหมาะสมกับภูมิอากาศบ้านเขา ตอนแรกเจาะเข้าไปในตลาดอเมริกาค่อนข้างยาก เพราะการแข่งขันสูงมาก สำหรับแบรนด์เด็ก มีเต็มตลาดไปหมด ชื่อเราก็เลยยังไม่ติดตลาดที่บ้านเขา เพราะฉะนั้นการทะลุทะลวงต้องใช้อำนาจเงินมหาศาล”
โกอินเตอร์ตลาดโลก
“สินค้าต่างๆ เมื่อนำไปให้ลูกค้าดู เขาจะชอบของเรามาก เพราะสีสันสดสวย เนื้อหนามีลีลา โดยเฉพาะในแผนกเด็ก ยอดขายจะอยู่ในอันดับต้นๆ เพราะสินค้าของเรา มีดีไซน์ ปีหนึ่ง 2 ซีซั่น ลูกค้าจะบินมาซื้อเอง แล้วเปิดร้านเสร็จสรรพ เราจะมี แคตตาล็อคมีดิสเพลย์ ดูแลให้หมด ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ก็ไม่มีผลกระทบกับธุรกิจของเรา เพราะการตั้งโรงงานไม่ต้องอาศัยเงินกู้กองทุนสำรอง จึงไม่เกิดหนี้ เพราะไม่ได้นำเงินในอนาคตมาใช้ เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ มันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ทุกซีซั่นเติบโตไปเรื่อยๆ อีกอย่างเราไม่ได้นำเงินกำไรในธุรกิจไปลงทุนอย่างอื่น จึงหมุนอยู่ในธุรกิจเราเอง ส่วนธุรกิจของคนอื่นล้มทั้งยืนเจ๊งไปตามๆ กันเพราะเขานำเงินไปลงทุนอย่างอื่นกันหมด”
“ตอนนั้นโรงงานเก่ามีพื้นที่อยู่ 555 ตารางวา เมื่อกิจการเติบโต จึงขยายโรงงานพื้นที่ใหม่ ทั้งหมด 18 ไร่ ขยายถึง 5 เท่า จะเริ่มเปิดเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ บนเนื้อที่ 20,000 กว่าตารางเมตร อยู่ที่บางบัวทอง นนทบุรี ส่วนออฟฟิศยังอยู่ที่เดิม ธุรกิจการส่งออกไม่มีดาวน์ลงสักปี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เพราะเรามีตัวของเราคอยช่วยเหลือ”
เคล็ดลับเฉพาะ
“การทำธุรกิจอิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จะว่าไม่มีปัญหาก็ไม่เชิง แต่เราโดนพิษเศรษฐกิจเล่นงานน้อยกว่าคนอื่น อย่างเมื่อปีที่แล้วก็กระทบเกี่ยวกับค่าเงินบาท สูญเสียไปประมาณ 2 ล้านกว่าบาท”
“เคล็ดลับในการผลิตเสื้อผ้าเด็กนั้น ดีไซน์ต้องออกมาสวย โดนใจ มีคุณภาพ แตกต่างจากตลาดและคู่แข่ง สินค้าของเราจะนำมาลงที่ตลาดบน พวกตลาดล่างอย่างบิ๊กซี โลตัส คาร์ฟูร์ ฯลฯ เราไม่นำไปลง”
“พวกการ์เมนท์จะแยกออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเรียกย่อๆ ว่า OEM ลูกค้าจะมีแบรนด์ของเขาเอง แล้วนำมาโยนให้เราผลิตราคาเขาก็จะบีบเรามาก ส่วนที่ 2 ONM เรามีดีไซน์เติมเข้าไปที่แบรนด์ ที่เราทำก็มี BABY GUESS หลายๆอย่าง เป็นการเพิ่มมูลค่า ส่วนสุดท้ายเป็นแบบของเราเองเป็นแฟรนไชน์ ซึ่งของคนอื่นเขาไม่มีในเมืองไทย อาจจะมีแบบผู้ใหญ่ ของเราเป็นเสื้อผ้า
คนละแนวจะมีอาร์ตเข้ามาผสมเยอะ การแข่งขันจึงสูง”
“ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดไหนก็ตาม การ์เมนท์ที่อยู่ได้ ของต้องดีไซน์สวย สะดุดตา ต้องดีมีคุณภาพ การ์เมนท์ใหญ่ๆ ในเมืองไทยมี 2,000-3,000 จักร ของเรามีเพียง 1,000 จักร ก็พอแล้ว ของเขาจะจับออร์เดอร์ใหญ่ๆ รายยาวๆ เราจะจับรายสั้นๆ ถ้ามีจำนวนเยอะๆ ก็จะรวมทีมเด็ก ดูลักษณะของงานว่ามีกี่เวอร์ชั่น อาทิ แจ๊คเก็ต ทีเชิร์ต เย็บแป๊บเดียวเสร็จ วันนี้เย็บทีเชิร์ต พรุ่งนี้อาจจะเย็บเชิร์ต กระโปรง กางเกง ทีมงานจะขมวดกันได้หมด แต่ลักษณะโรงงานขนาดใหญ่งานยาวๆ คนที่เย็บสเต็ปเข้าปก เด็กเขายังไม่เคยเปลี่ยนงาน ก็จะเย็บ สเต็ปเข้าปกอาศัยเอาไวเข้าไว้ แต่ของเรามันไม่ใช่ ของเราจะเป็นงานแฟชั่น เย็บทั้งผ้ายืด ผ้าธรรมดา ซึ่งหาช่างที่มีฝีมือทำงานอย่างนี้ยาก
“งานต้องพิถีพิถันเราจึงโลดแล่นไปในตลาดได้ มีงานดีไซน์มาผสมเข้าไปอีก นั่นคือข้อเด่นของเรา แบรนด์ของเราต้องไม่ตกยุคไปจากคนอื่น เปลี่ยนไปตามแฟชั่นทุกซีซั่น มีสีและสไตล์ แต่ละยุคสมัย ย้อนไปย้อนมา คอนเส็ปต์ของเราคือ ควอลิตี้คัมเฟิร์สคุณภาพต้องมาก่อน เพราะลูกค้าไม่ได้สั่งสินค้ากับเราครั้งเดียวแล้วจากไป แต่เป็นลูกค้าประจำมานับ 10 ปีขึ้นไป อย่างมีลูกค้าจากอิตาลีที่สั่งเข้าไปจำหน่ายประเทศของเขา ก็ไม่ยอมสั่งที่ไหน เพราะเรารักษาคุณภาพอยู่ตลอดเวลา รู้มือกัน ของเกรดบีเกรดซี เราไม่ส่งเด็ดขาด เพราะฉะนั้นจึงเป็นความเชื่อใจระหว่างกัน ดีไซน์มาอย่างนี้ สีปะ สีพิมพ์ เจาะลงไปอย่างนี้ เปลี่ยนสีใหม่ให้มันแม็ทช์กันใหม่ให้ได้ ลักษณะ OEM ทั่วๆ ไป โรงงานขนาดใหญ่ๆ เขาดูให้ไม่ได้ เขาไม่มีทีมดีไซน์ จะรับจ้างผลิตงานตลาดอย่างเดียว นั่นจึงเป็นข้อด้อยของเขา”
ขายดีจึงถูกก็อบปี้
“ถ้าจะให้มองปัญหาของโรงงานตอนนี้ แรงงานคุณภาพยังไม่เพียงพอ เพราะเดี๋ยวนี้คนเขาอยากทำงานในโรงงานหรือพวกเซอร์วิส หากไม่มีแรงงานจริงๆ เรามีแบรนด์ของเรา เราก็ต้องจ้างที่อื่นผลิต มีตัวอย่างไปให้ ทำตามแบบของเรา มันก็จะพลิกกลับมาเหมือนในต่างประเทศที่ขาดแรงงานคุณภาพ ค่าแรงของเขาแพง แต่ของบ้านเรา ค่าแรงงานยังถูกอยู่ จึงส่งออกไปเมืองนอกมาก อีกแง่มุมหนึ่ง สำหรับคนไทย ต้องเป็นคนที่มีฐานะจริงๆ จึงมีโอกาสใส่เสื้อผ้าแบรนด์ อย่างนี้ จะมองว่าของดีส่งไปขายต่างประเทศหมดก็คงไม่ผิด เหตุผลที่ไม่วางตลาดล่าง ก็เพราะมีปัญหาเรื่องการก็อบปี้ละเมิดลิขสิทธิ์มาก แต่เราก็ไม่สนใจ เพราะถือว่าเราเป็นผู้นำแฟชั่น สิ่งที่เขาก็อบปี้ ทำให้เรารู้ว่าของเราดีจริง สวย เขาถึงมา ก็อบปี้ เคยมีลูกค้ามาบ่นว่าเจองานของเราถูกก็อบปี้เยอะมาก มีอยู่วันหนึ่งพวกแขกขาวมาซื้อเสื้อผ้าของเราไป แล้วจะนำไปให้พวกตลาดโบ๊เบ๊ทำก็อบปี้เลียนแบบออกมา ถอดแบบออกมาเป๊ะๆ เปลี่ยนสี เปลี่ยนลายนิดหน่อย เมื่อไปวางขายสินค้าประเทศเขาก็มาชนกัน ลูกค้าที่ประเทศดูไบ มาบ่นให้ฟังว่า“สินค้าของยู เหมือนกันเลย เปลี่ยนเพียงยี่ห้อเท่านั้น ราคาถูกกว่าด้วย ”เขาเอามาให้เราดู ไอ้เราจะไปฟ้องร้องเขาก็ไม่ได้ เพราะเขาเปลี่ยนแบรนด์ พวกนี้เราพิมพ์ชื่อของเราเข้าไป มันก็เอาไปเปลี่ยนชื่อ เป็นอีกยี่ห้อหนึ่ง”
“การดีไซน์ต้องจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาตลอดเวลา แต่เราจดไม่ไหว ปีหนึ่งๆ เราออกแบบอย่างเดียวก็ 400-500 แบบในหนึ่งแบรนด์ ตามจดลิขสิทธิ์ไม่ไหว OEM ที่ทำให้ลูกค้าเมืองนอก เราจะจับแต่แบรนด์ ดังๆ เช่น รีเพลย์แอนด์ซัน ชีบอส เบบี้เกสส์ เกสส์คิดส์ จะจับท็อปแบรนด์ เพราะลูกค้าเขามีปัญญาซื้อ ถ้าแบรนด์ ถูกๆ เราก็ขายไม่ได้”
ชีวิตฟรีสไตล์...อาศัยวิถีพุทธ
“ชีวิตของผมเรียบง่าย ตื่นเช้าไปทำงาน เย็นกลับมากินข้าวบ้าน เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีเวลาเที่ยว เพราะเที่ยวมาหมดแล้วว่างๆ จะอ่านหนังสือพิมพ์ ถึง 3-4 ทุ่ม ส่วนเรือเร็วที่เห็นจอดอยู่ปรากฏว่าผมซื้อมาผิดเป็นระบบเจ็ท เวลาวิ่ง มันจะดูด ผักตบชวาเข้าไป เครื่องน็อคตาย มันกระแทกผิวน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาพังหมด จึงจอดทิ้งไว้ ส่วนของสะสมผมไม่ค่อยมี สมัยเด็กๆ จะชอบสะสมแสตมป์หายาก พวกกล่องไม้ขีดไฟ บางคนชอบสะสมอีหนู (หัวเราะ)”
“เวลาไปต่างประเทศจะไม่ค่อยยึดติดกับวัตถุ บางทีของที่เราชอบแล้วซื้อมาสะสม แต่พอมีคนที่เรารักมากกว่าของ ก็ให้เขาไปหมด(หัวเราะ) ภายในบ้านผมจึงไม่มีทรัพย์สินมีค่าอะไร ใครอยากได้อะไรก็เอาไป รอบๆ บ้านจึงไม่มีรั้วไม่มีเหล็กดัด มีแต่กำแพงต้นไม้ นอกนั้นก็เลี้ยงสุนัขบางแก้วปล่อยไว้เฝ้าบ้าน 12 ตัว(หัวเราะ) ทรัพย์สมบัติอยู่ในแบงก์หมด”
“โดยส่วนตัวผมไม่เคยนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับ CEO หรือ ICC ใหญ่ๆ ผมเจียมเนื้อเจียมตัว ทำวันนี้ของเราให้ดีที่สุด จะยึดหลักสายพุทธ ส่วนมากจะทำเน้นการทำทานมากกว่าการทำบุญ จะทำทานให้กับคนที่ด้อยโอกาส ทำกันทั้งบ้านครบ 5-6 คนเวลาถึงวันเกิดใคร ก็จะพาพวกลูกๆ ไปจังหวัดอ่างทอง ไปบริจาคของให้เด็กกำพร้า บางครั้งก็ไปทำทาน ให้กับเด็กพิการซ้ำซ้อน
ที่ปากเกร็ด เพื่อให้ลูกๆ ไปเห็นว่าคนอื่นเขาไม่มีพ่อไม่มีแม่ มันเป็นอย่างไร เขาหนาวเขาไม่สบาย ใครจะมาดูแลห่มผ้า หายามาให้ทาน เขาร้องไห้เสียใจ ใครจะคอยปลอบโยน จะสอนเขาเป็นรูปธรรมมากกว่าการทำบุญที่มันมองไม่เห็น มันเป็นนามธรรมปกติจะเป็นคนไม่ค่อยเข้าวัด เพื่อศึกษาธรรมะ หัวใจของพระพุทธศาสนา อาจจะไม่เยอะ มีอยู่เพียงแค่ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทำดีไม่ทำชั่ว หัวใจหลักๆ คือไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบคนอื่น การยึดหลักของความสำเร็จ ที่จำไว้ใช้อยู่เสมอ คือ ความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การตอบแทนสังคม หลักๆ จะชอบพาครอบครัวไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้า ตามมูลนิธิต่างๆ ส่วนในรายปี จะรับเลี้ยงดู เด็กกำพร้าไว้ 2 คนให้กับมูลนิธิแห่งหนึ่ง เลี้ยงเขาตั้งแต่แบเบาะพอเริ่มโตขึ้นมา เป็นเด็กเราก็ให้ทุนการศึกษาแก่เขา จนกระทั่งจบการศึกษาขั้นสูงสุด วันปีใหม่หรือวันเด็กก็จะนำเสื้อผ้าที่เราผลิต นำไปบริจาคมอบให้กับเด็กๆ ของมูลนิธิฯแม้กระทั่งเด็กแรกเกิดพญาไท เราก็นำเสื้อผ้าเด็กอ่อนไปให้พวกเขา”
“ในส่วนของพนักงานโรงงานเรามีคนงานที่จะต้องดูแลทั้งหมด 700-800 คน ที่ต้องเลี้ยงดูพวกเขา เพราะเขาทำงานกับเรา เขาทำงานตรงเวลา เราไม่เอาเปรียบเขา ไม่เรียกประชุมนอกเวลางาน จ่ายเงินเดือนตรงเวลา มีสวัสดิการ แค่นี้ก็คือการตอบแทนสังคมแล้ว”
คนเอเชียเห่อของนอก
“สินค้าทุกตัว ที่โรงงานผลิต ลูกๆ หลานๆ ทุกคนจะใส่เป็นพรีเซ็นเตอร์กันหมดทุกคน ตั้งแต่เด็กอ่อนไปถึงวัยรุ่น17-18 ปี เมื่อพ่อแม่ เพื่อนๆ มาเห็น ก็สงสัยถามว่าซื้อจากที่ไหน สวยดี เด็กๆ ก็จะบอก แม้แต่การถ่ายทำแคตตาล็อกแฟชั่นเสื้อผ้า ผมก็จะนำเด็กๆ ฝรั่งและเอเชีย ซึ่งเป็นลูกของลูกค้าชาวต่างชาติมาถ่ายแบบที่บ้าน ชาวต่างประเทศจึงนิยมสินค้าของเรา เพราะเราออกแบบสไตล์ยุโรป ดูมีสีสันไม่ใช่แบรนด์ของไทยที่ใส่เสื้อบางๆ แต่ปัญหาของการตีตลาดในภูมิภาคเอเชียไม่สำเร็จก็คือคนเอเชียด้วยกัน ไม่ค่อยยอมรับแบรนด์เมดอินไทยแลนด์หรือเมดอินไชน่า เมื่อขายราคาสูง ก็มักจะถูกต่อว่าว่าทำไมถึงขายราคาเท่านี้ ฉะนั้นเขาจึงไปซื้อ เมดอินยุโรป ยูเอสเอ ฝรั่งเศส อิตาลี สินค้าเขาจะเรียกราคาได้เยอะ แบรนด์ของเอเชียทุกประเทศจึงไม่ค่อยรุ่งโรจน์ในตลาดยุโรป อเมริกา เพราะคนเอเชียด้วยกันมันกลับไปเห่อของฝรั่ง ลูกค้าบางคนบอกกับเราว่าหากแบรนด์ ของคุณไปผลิตอยู่ในประเทศอิตาลี รับรองขายระเบิดเถิดเทิงแน่”
การศึกษาคือเรื่องสำคัญ
ขณะที่ทีมงานกำลังเดินหาโลเกชั่นภายในบ้านสวน เพื่อถ่ายแบบคุณพ่อ “ปอม ปอม” บุตรชายคนเล็กผิวขาวเหมือนหยวก ศีรษะเกรียนวัย 3 ขวบครึ่ง ช่างเจรจาพาที เลือดเนื้อเชื้อไขของคุณกำธรก็ออกมานั่งเล่นชวนพูดคุย ดื่มน้ำส้ม ทำการฝีมืออยู่ข้างๆ แลเห็นอย่างน่าเอ็นดู คุณกำธรก็กล่าวถึงลูกว่า
“ตอนนี้ ปอม ปอม เรียนชั้นอนุบาล 1 อยู่ที่โรงเรียนนานาชาติเด่นหล้า อยู่ได้เพียงแค่เทอมเดียว กลับมาบ้านเขียน ก.ไก่ ถึงฮ.นกฮูกได้ เขียน A ถึง Z ได้ พูดได้ 3 ภาษา อังกฤษ จีน และไทย เช่น การสอนเรื่องกบเติบโตมาจากลูกอ๊อด เขาก็ให้มานั่งดู เป็นสมัยใหม่ไม่เหมือนสมัยก่อนหรือสมัยนี้บางที่ที่ยังให้ท่องจำอย่างเดียวอยู่เลย ครูบอกอะไรก็รู้ ไม่บอกก็ไม่รู้ ครูสอนถูกหมด แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ มานั่งตั้งคำถามอย่างงงๆ ว่า ทำไมโรงเรียนในเมืองไทยถึงไม่พัฒนา ให้เด็กมีความเป็นวิทยาศาสตร์เยอะๆ ให้มันคิดเองได้อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่สอนให้ท่องจำอย่างเดียว โบราณมาก ของเขาจะเน้น EQ มีการเรียนการสอนทั้งเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี วันพ่อ วันแม่ ทำบุญใส่บาตร เดี๋ยวพระจะมานะ จะต้องเตรียมอย่างไร เด็กมันก็ซึมซับเข้าไป เขาจะอัดเข้าไปเพราะสมองเด็กวัยนี้จะรับข้อมูลได้หมด ตั้งแต่อนุบาลจนกว่าจะถึงป.1ป.2 เด็กที่นี่จบออกไปกี่คนๆ ก็สามารถสอบเข้าโรงเรียนดีๆ ได้เยอะ”
“ผมเป็นคนที่ธรรมดามากไม่เคยตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้สูงสุด มากมาย ว่าทำงานพอหรือยัง ทำแค่ไหนถึงจะต้องบอกว่าพอแล้วผมยังเหนื่อยไม่พอมากกว่า ยังต้องทำงานต่อไปไม่มีความทะเยอทะยาน คิดว่าการทำงานเหมือนการเก็บดอกเบี้ยกินไปเรื่อยๆเลี้ยงคนงานไปเรื่อยๆ เพราะเรามองพนักงานไม่ใช่แค่วันนี้มี 700-800 คนที่จะมาทำงานให้เรา เราสร้างงานเพื่อเลี้ยงครอบครัวเขา เขายังมีเมีย มีผัว มีลูกๆ ต้องดูแล โรงงานใหม่ที่ตั้ง ผมจึงจัดให้สร้างโรงเรียนสำหรับเลี้ยงเด็กเล็กๆ เช้าเวลามาทำงานไม่มีใครเลี้ยงก็นำมาฝากไว้ เรามีครูคอยดูแลฝากเลี้ยงให้เป็นสวัสดิการ ตอนเย็นเลิกงานแล้วก็มารับกลับไป”
วิพากษ์สังคม
“สังคมไทยเดี๋ยวนี้ มันเริ่มจากวัตถุนิยมเยอะมาก ตีค่าเป็นเงินไปหมด ความดีมันเริ่มสูญหายไปจากสังคม น้ำใจไม่มีให้กัน กลายเป็นน้ำเงิน หากเป็นแบบนี้มันมีแต่แย่ลงไปเรื่อยๆ การสร้างสังคม จึงต้องเริ่มต้นจากครอบครัวก่อน พ่อ แม่หลายคนต่างกระเสือกกระสนหาเงินเพื่อให้ลูกเรียนดีๆ คุณค่าทางจิตใจจึงหดหายไปหมด เราต้องช่วยกันปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่
สังคมครอบครัวก่อน แต่ส่วนมากมักจะทำไม่ค่อยได้ มันพร้อมที่จะไหลลื่นไปตามกระแสสังคม นำมาซึ่งวัตถุนิยมเต็มไปหมด มีทั้งโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ เดี๋ยวนี้เด็กๆ ในเมืองเป็นอย่างนี้”
“หากผมมีกำลังทรัพย์เหลือพอ มีมันสมองที่จะเข้าไปพัฒนาเพื่อประเทศชาติให้ดีขึ้น ผมก็อยากที่จะไปสมัคร ส.ส.ลงเล่นการเมือง ไม่รู้ว่าจะได้รับเลือกตั้งหรือเปล่า แต่หากเข้าไปได้จริงๆ เรื่องแรกที่จะดูคือเรื่องปากท้องของประชาชน ทั่วประเทศระบบสังคม เศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงๆ จังๆ แต่หากเลือกได้จะไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการอันดับแรก เพราะความล้มเหลวทางการศึกษามันต้องรื้อระบบทั้งหมด มาปฏิรูปให้เด็กคิดให้เป็น ครูต้องมีศักยภาพ เด็กเองเมื่อได้รับการบ่มเพาะ ต้องรู้ว่าชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร ให้มีเหตุมีผล คิดให้เป็นเด็กทุกคนต้องมีการศึกษา เราต้องพัฒนาเขาตั้งแต่เด็กๆสำคัญที่สุด เมื่อการศึกษาดี คนมันจะคิดได้เองมากขึ้น”
ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
“คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ ขนาดใหญ่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องหันมาสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะกรมการส่งเสริมการส่งออก กรมสรรพากรเขาก็มุ่งจะจับเอายอดขาย แต่ผมก็ไม่อยากจะว่าใคร เอาเป็นว่าเวลาจัดแสดงสินค้าส่งออกในต่างประเทศแต่ละครั้งมันเหมือนเอาเงินไปละลายเล่น มันไม่เคยได้ผลเลย ผมไปออกงานกับเขา แต่ละครั้งผมออก 10-20 บูธ ไปแต่ละครั้ง บางทีเหมือนผีหลอก แทบไม่มีคนเดินมาดูบูธเลย อย่างงานแฟร์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศ มันใหญ่มาก 8 ฮอลล์ แต่กรมส่งเสริมฯ มักจะจองแต่ฮออล์หลังๆ คนมันเดินมาไม่ถึง สุดท้ายคนที่ประกอบการได้แต่ล้มหายตายจากไป ธุรกิจสิ่งทอเยอะมากที่ตายไปเรื่อยๆเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยแรงงานเยอะ”
“ถ้าถามว่าอยากให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลืออะไร ที่ผ่านมาอยากให้ช่วยนะ แต่ภาครัฐบาลไม่มีความต่อเนื่องในระบบการทำงานของรัฐบาลกับข้าราชการประจำ ผมเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก เอาง่ายๆ เราต้องทำงานให้เหมือนกับประเทศเกาหลี ขอแค่ส่วนเดียวเท่านั้น โมเดลภาคอุตสาหกรรมในทุกส่วนของประเทศเกาหลี รัฐบาลเขาดูแล ส่งเสริมให้ทั้งหมด ยกตัวอย่างง่ายๆอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ผ่านมา 4-5 ปี รัฐบาลเขาผลักดันหนังเกาหลีซีรีย์ต่างๆออกไปฉายทั่วโลก เขาจะดูแลอุตสาหกรรมทุกอย่าง เขาผาดโผนมากในเรื่องแบบนี้ เพราะเขามีรัฐบาลที่แข็งแรง ผลักดันอย่างจริงจัง หนุนส่งเสริมการส่งออกอย่างเต็มที่จัดการทุกอย่างให้ แต่บ้านเราแทบไม่มีเลย ของเราเหมือนจับปล่อย จับปล่อย เอาเงินไปละลายเล่น อย่าคิดแม้จะทำเป็นเมืองแฟชั่นเลย โปรเจ็คที่คิดไม่ได้เกิดอะไรเลย การออกงานแต่ละครั้งไม่เคยมีการประเมินผล ไม่เคยมีการวิเคราะห์กลับมาว่าไม่ได้ผลเพราะอะไร
“ผมไม่ได้ดูถูกคนไทยด้วยกันว่าไม่เก่ง แต่เรื่องธุรกิจการ์เมนท์ การส่งออกเสื้อผ้าเด็ก ต้องจำไว้อย่างหนึ่ง มันมีคู่แข่งก็จริงแต่หากเราไม่คิดจะกลัวใคร เราจะไม่กลัว ตลาดมันกว้างใหญ่มาก วันนี้เราเจาะตลาดตรงนี้ได้ พรุ่งนี้คนนี้อาจจะมาเจาะข้างๆ เราก็ได้ใครจะไปรู้ เพราะฉะนั้นใครดีใครอยู่ เราสู้ตลาดโลกได้สบายมาก แต่เราต้องพัฒนางานของเราออกไป ต้องวิ่งหนีเขา มันหยุดนิ่งไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนของการออกแบบ ทีมทำงานออกแบบของผมมีประมาณ 8 คน มีภรรยาเป็นหัวเรือใหญ่ในการควบคุมทุกแผนก ทั้งการดีไซน์ การตัดเย็บ มีแผนกเสื้อผ้าเด็กอ่อน เด็กเล็ก เด็กกลาง เด็กโต วัยรุ่น ชุดคลุมท้อง เสื้อผ้าของคนท้อง เพิ่งจะเปิดตลาดได้ 2 ปีในการส่งออก แหม...จะมีลูกสัก 1 คน มันแพงนะสมัยนี้ (หัวเราะ)”
ชีวิตที่เรียบง่าย