มานิตย์ ภู่อารีย์

มานิตย์ ภู่อารีย์

“ผมจบปริญญาจิตรกรรมเป็นคนแรก อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ จบปั้นเป็นคนแรก ผมผ่าอาถรรพณ์ของศิลปากรที่สาหัสสากรรจ์เพราะคนไทยเราขี้เกียจ แต่ผมผ่านได้หมดทุกวิชาเอก ทั้งเขียนภาพเหมือน ฟิกเกอร์ 2 ตัว นู้ด 3 ตัว ไม่ผ่านตัวใดตัวหนึ่งออกเลย บางคนชอบแอบไปเมาหน้าพระลาน อาจารย์ฝรั่งท่านทราบ ก็จะเรียกสอบวันรุ่งขึ้นแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เมื่อผมดื่มหน้าแดงอาจารย์ฝรั่งจะบอกว่า “นายดื่มเหล้ามาก จะทำให้นายเป็นบ้า นายต้องใช้สมอง นายเป็น Artistic ไม่ได้” ลูกศิษย์ของท่านท่านจะกระหน่ำตลอด แต่เราก็แอบไปดื่มตลอด มันเหมือนเป็นอาถรรพณ์อย่างหนึ่ง แต่ผมไม่ได้ดื่มส่งเดช ผมดื่มในวงหม่อมเจ้าจันทร์ จีรายุ ท่านอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ท่านประธานองคมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร ผมก็รินเบียร์ให้ท่าน เวลาสนทนาแล้วได้ประโยชน์มาก ”

จากการที่ได้รับรางวัลเกียรติยศอันดับ 1 ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติถึง 3 ครั้ง ทำให้ได้รับเกียรติยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทภาพพิมพ์ ฝากผลงานให้ศิลปินน้อยใหญ่ได้ชื่นชม อาจารย์มานิตย์ได้ย้อนรอยให้กับเราฟังอย่างออกรสเป็นกันเอง ณบ้านสวนร่มเย็นที่แวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ งานศิลปะขนาดใหญ่อันทรงคุณค่าหลากหลายรูปแบบถูกนำมาใส่กรอบทองแกะสลักหรู และยังคงตั้งสงบเสงี่ยมซุกตัววางอยู่โคนเสาบ้านนับร้อยบานไปจนสุดทางเดิน รอการคลี่คลายจากนักสะสมต่อไป

แม้อาจารย์จะก้าวขึ้นสู่ไปจุดสูงสุดด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี แต่ท่านหาได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ตรงกันข้าม ไฟในการทำงานกลับยังคงลุกโชนอยู่เสมอ โดยจะเห็นได้จากการสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปแสดงในโอกาสต่างๆนับครั้งไม่ถ้วน มีทั้งงานปั้น งานเพนติ้ง คอมโพส ดรอวอิ้งและอีกมากมาย ทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิออสเตรีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี บราซิล เนปาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลงานศิลปะทุกประเภทของท่านเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งของบรรดาเศรษฐี นักสะสมงานศิลปะ แม้ราคาจะสูงลิบลิ่วก็ตาม อาจารย์ผู้บ่มเพาะรากเหง้ากิ่งใบจนกระทั่งผลไม้แห่งมวลศิลปะสุกงอมเปล่งปลั่ง กลิ่นหอมหวาน แปรสภาพกลายเป็นประกายเพชร กล่าวติดตลกเกี่ยวกับเรื่องผู้สะสมงานของท่านว่า

“หลายคนที่ซื้องานของผมไปเพื่อเก็งกำไร คงจะแช่งให้ผมตายอยู่ทุกวัน งานของผมที่เก็บไว้จะได้ราคาขึ้น แล้วขายต่อได้แพงๆแต่กาลเวลาเท่านั้นจึงจะพิสูจน์ถึงผลงานเจ้าของ งานพรอทเทร็ทผมขายไปหมดแล้ว เพราะคนมันต้องการทั้งนั้น ถ้าเกิดมีการเสแสร้งเมื่อไร มันจะกลืนกินตัวมันเอง แต่งานซื่อสัตย์จริงใจเหล่านี้จะสู้กับกาลเวลา”

ภาพเขียนสีน้ำมันที่ท่านเขียนภาพตัวเองใส่หมวก ได้ถูกนำไปขึ้นปกหนังสือศิลปกรรมแห่งชาติของตัวเองและหนังสือศิลปินแห่งชาติประจำปี 2542 วู้ดคัท ดรอวอิ้ง สีชอล์ค เกรยอง สีน้ำมันจิตรกรรมดินสอสีบนกระดาษ ทุกสิ่งยังคงมีกลิ่นอายแห่งมนต์ขลังมิรู้ลืม

ผลงานศิลปิน....ทรงคุณค่าสมราคา

คำถามขั้นปฐมภูมิเรียกน้ำย่อย อุบัติขึ้นฉับพลัน

“อาจารย์ขายรูปแพงมั้ย?”

...นิ่ง...

“ผมไม่พูดว่าแพง ผมจะพูดว่ามันสมคุณค่าของมัน ที่ขายได้มีราคามากที่สุดคือ 1 ล้านบาท ถ้าคนมันไม่ศรัทธาอย่าไปซื้อเลยบางคนมีสตางค์เยอะผมยังไม่ขายเลย เพราะเขาเข้าไม่ถึง บางคนเอาไปปั่นราคา ของของผมมันแปลกกว่าคนอื่น ราคาไม่แน่ไม่นอน อยู่ที่ใจผม ราคารูปๆ หนึ่ง มันขึ้นยิ่งกว่าดอกเบี้ยในธนาคารเสียอีก ที่ผมกล้าพูดเพราะรูปของผมแต่ละรูปมันมีคุณค่า ย่อมเหนือกว่าราคาเสมอ เพราะจิตวิญาณของศิลปินเข้าไปอยู่ในรูป ความยากของมันอยู่ที่การเริ่มต้น กว่าจะเค้นจะคั้นจนเป็นน้ำกะทิมันไม่ใช่นิดหน่อย ใช่ว่าออกมาเป็นลูกมะพร้าวแล้วเป็นน้ำกะทิได้ในทุกๆ ผลงาน”

“ผมพิสูจน์ให้โลกได้ประจักษ์ว่า ถึงเวลาสุกงอมเต็มที่ พีเรียดจงอางจะเขยิบลงมาสารภาพใจ อย่างภาพแอปเปิ้ล สีชอล์ค บนกระดาษ  ผมไม่ยอมขาย จะเก็บไว้ชื่นชมเอง หากมองดูเราจะเห็นแม้กระทั่งน้ำหนักอ่อน แก่ ร้อยแปดพันเก้า มีอารมณ์ มีรสชาติกว่าที่เรามองเห็นในหนังสือ เป็นภาพที่เขียนอยู่ที่กรุงโรมราวปีค.ศ.1964”

โยนิโสมนัสสิการ
วันนั้นอาจารย์วิพากษ์วิจารณ์งานศิลปินรุ่นใหม่อย่างภาพภิกษุสันดานกาที่ผ่านมา

“มันขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะที่เรียกว่า Artistic และผู้ที่ชื่นชมงานศิลปะ คือประชาชนทั่วไป 2 ตัวนี้มันอยู่กลางๆ ตามสภาพธรรมชาติของมันก็ไม่มีผลด้วยประการใด มันเป็นความลื่นไหลตามธรรมชาติ แต่บังเอิญมันเป็นงานประกวดแต่มีซับเจ็คบอกแต่เพียงชนิดของงานเท่านั้นว่าเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์หรือสื่อผสม อะไรก็แล้วแต่ เนื้อเรื่องศิลปินเขาไม่ได้สร้าง การประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ได้นำผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งเป็นคณะกรรมการหรือบอร์ด เมื่อกติกาได้กำหนดเรียบร้อย ตัวศิลปินเขาก็ส่งงานมาตามปกติ เขาไม่ได้มีความผิดด้วยประการทั้งปวง”

“ตามทัศนะคติของผม มันอยู่ที่ว่าคณะกรรมการจะพิจารณางานชิ้นนี้ด้วยความรอบคอบถ้วนถี่แค่ไหนเพียงไร เพราะงานศิลปกรรมแห่งชาติไม่ใช่งานแสดงงานส่วนตัว ถ้าเป็นงานส่วนตัวจะไม่เป็นเช่นนี้ ศิลปินเขาได้รับเกียรติรางวัลที่ 1 และกรรมการยอมรับแล้วแต่ตอนหลังมีสภาพการณ์ว่าเป็นการทำลายเหยียบย่ำพุทธศาสนา แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ไปเจาะจงว่าเป็นพระรูปใดรูปหนึ่ง ตรงนี้อันตรายเพราะในอดีตก็เคยมีคำถามแล้ว พระธุดงค์เคยตอบในเรื่องของสันดานกาที่เลวทราม มีอยู่ 10 ประการ ซึ่งเข้าข่ายน่าตำหนิ สรุปง่ายๆ มันมีที่มาที่ไป คำว่า “โยนิโสมนัสสิการ” มันเป็นศัพท์ทางพระของพระพุทธศาสนาที่เราใช้กันทั่วไปว่าทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะ มีสติและมีปัญญามาประกบในเวลาเดียวกันต้องมี โยนิโสมนัสสิการ คือการไตร่ตรองอย่างรอบคอบด้วยสติปัญญา แม้แต่การนั่งทำสมาธิก็ต้องใช้คำนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานของเขาออกมากราบขอโทษ แต่กรรมการจะคลี่คลายแค่ไหนอย่างไรเหมือนกับการขาดโยนิโสมนัสสิการเท่านั้น”

“ผมไม่ปฏิเสธว่าในงานศิลปะย่อมมีอิสระในการแสดงอออก จะพูดส่งเดชไม่ได้ ผลกระทบตัวนี้เราต้องรู้ว่าเราต้องระงับเสีย งานตรงนี้เป็นโครงงานศิลปะนิพนธ์ของเขา เขาต้องทำสืบเนื่อง ส่วนเด็กเองอยู่ในระหว่างศึกษา เขาต้องประลองในงานที่เขาเรียนเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียง เพื่อแสดงความคิดความรู้สึกออกมาสู่สังคม เขาไม่ผิด มันเหมือนกับเด็กไม่ใช่เกิดมากินพริกขี้หนูเลยทีเดียว มันอันตราย เด็กมันต้องหลอกล่อให้กินว่าเป็นต้นหอม จากนั้นให้กินพริกหยวกก่อน จึงไปพริกชี้ฟ้า แล้วเขยิบมากินพริกเผ็ด พริกขี้หนู พริกแม้ว พริกกระเหรี่ยง พริกดอย(หัวเราะ) เพื่อให้มันเกิดความเข้มข้น มันเหมือนคนที่ไม่เคยคลอดลูกแล้วดัดจริตพูดถึงการเบ่งลูกอยู่ตลอดเวลา มันยังไม่รู้จักคำว่าเสียวเลย เราวิเคราะห์ตีแผ่ได้ ไม่ใช่ว่ามุ่งเอาชนะแต่เป็นเหตุผลที่ต้องยอมรับทุกอย่าง มีปัจจัยร่วมเหตุด้วย เพราะเวลาพูดไปแล้วตัวหนังสือมันประทับอยู่บนกระดาษ”

จรรโลงสร้างสรรค์ศิลปะเด็ก

ทุกวันนี้ตามโรงเรียนทั้งในเมืองและชนบท ส่วนมากครูอาจารย์ที่สอนเด็กนักเรียน มักจะสอนควบหลายวิชา บางคนเป็นครูพละครูภาษาไทย ทั้งที่ไม่ได้จบจากสถาบันสอนศิลปะก็มาสอนศิลปะเด็ก ฉะนั้นเราจะจรรโลงสร้างสรรค์บุคคลในชาติได้อย่างไร

“เราเอาจอบไปตักน้ำแกง เราเอาชะแลงมาสับหมูรึไง ครูสอนศิลปะต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ให้เหมาะสม อะไรถูกอะไรควร ต้องรู้จักกาลเทศะ กาลเวลา สถานที่ บุคคล ปัจจัย ทำไมเราต้องมีโครงงานวิทยานิพนธ์ มีอาจารย์ที่ปรึกษา แล้วอาจารย์ที่ปรึกษาต้องมีปัญญาพอที่จะช่วยเป็นที่ปรึกษาเรื่องศิลปะ ซับเจ็คนี้ไม่ถูกไม่ควร มันอยู่ที่ผู้แนะนำผู้สอนผู้บอก เมื่อมีตรงนี้แล้ว ย่อมขมวดแน่นเป็นผู้สอนงาน”

“อย่างการให้ของแก่เด็กแล้วไม่บอกเด็กให้ยกมือไหว้ เด็กๆ ก็จะไม่ซึมซับ ผู้ใหญ่ต้องบอกสอนให้มันฝังสัญญาณจำ มันกำลังจำเราก็สอนสิ เขาเรียกว่ากระทุ้งสัญญาณอยู่เรื่อยไป ทุกอย่างก็จะเรียบร้อย อย่างคุณเห็นผมปลูกต้นกล้วย ผมเริ่มจากหน่อเล็กๆผมทะนุถนอมเหมือนลูกของผม เหมือนเด็กที่ผมรัก ต้องให้น้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย จนกระทั่งหน่อเกิดขึ้นมาเจริญเติบโต แตกหน่อขยายพันธุ์ เหมือนผมดูความเจริญเติบโตในสิ่งที่ผมให้ชีวิต แล้วมันก็ออกปลี ออกเครือแก่ เราตัดใบตอง ใบตองก็มีชีวิต เวลาลมพัดใบตองมันเล่นลมยังกับว่าวจุฬา ผมปล่อยกล้วยให้สุกคาเครือ นก 4 -5 ตัวมารุมจิกกินกล้วย มันยิ่งกว่าอะไรเสียอีก กระโดดมาเครือโน้นที เครือนั้นที กระรอกก็มี กว่าจะได้ยินเสียงร้องของเขา ผมยังซื้อโอ่งมาใส่น้ำให้เต็ม นกกางเขน นกปรอด บินลงมาเล่นน้ำ ผมแอบดูแล้วฟังเสียงมันไพเราะเสนาะหูมาก อันนี้ผมได้อะไรเยอะจากความสุนทรีย์ของธรรมชาติเพื่อนำมาถ่ายทอดสร้างสรรค์งาน”

กำเนิดนายหนุมาน

“การเขียนรูปต้องเขียนทั้งแขน การขีดเส้นตรง ต้องสร้างระดับได้ เมื่อเขียนทั้งแขนมันจะมีอะไรมาขีดกั้นการเขียนของคุณเพราะแขนตัวนี้ถูกสั่งด้วยจิต ไอ้ตัวรู้สึกมันยิ่งกว่าความเข้าใจ บางคนคุณยังไม่เคยพูดกับเขาด้วยซ้ำไป แต่คุณรู้สึกเกลียดขี้หน้าอะไรที่ทำให้เกลียด มันเคยเกลียดมาแล้วในอดีตชาติ บางครั้งมันอหังการเหลือทน แต่เรายังมีเมตตากับมัน นั่นเราได้บุญแล้ว”

“เท่าที่ผมศึกษาศิลปะมา มันละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เหมือนกับกระแสน้ำที่พังทลายภูเขาก้อนมหึมาเป็นลูกๆ มันนุ่มนวลแต่มีพละกำลังเหลือเกิน บางครั้งความโหดร้ายมันมีค่าของสุนทรีย์แฝงอยู่ บางครั้งความนุ่มนวลมันแฝงไปด้วยยาพิษเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด”

“ผมจะเรียกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีว่าอาจารย์ฝรั่ง ท่านก็จะเรียกผมว่า “นายหนุมาน” ทำไมท่านเรียกผมว่าอย่างนี้ ก็เพราะผมคล่องทุกรูปแบบ ผมสามารถที่จะสนองเรื่องที่ว่ายากเย็นแสนเข็ญให้บรรลุเป้าหมายได้ทั้งนั้น อะไรที่คนอื่นคิดว่ายาก ผมผ่านตัวนั้นได้หมด ทำให้ผมมีค่า รู้สึกมันในอารมณ์ที่จะคลี่คลายปัญหาตัวนั้น คืออาจารย์ฝรั่งท่านจะให้เกียรติผมเรียก หนุมาน-พระรามฯ แต่เพื่อนฝูงจะเรียกไอ้ลิงตลอด อาจารย์บางท่านเรียก “ไอ้ตัวเล็ก” เพราะผมรูปร่างเล็ก คล่องแคล่ว วันหนึ่งอาจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ท่านชอบเขียนหน้าด้านข้างผม ล้อเลียนตลอดว่าไอ้ลิง ไปที่ไหนมักจะเอาผมเป็นตัวรองบ่อนเสมอ แต่ผมไม่โกรธ ผมไม่ต้องโฆษณาสรรพคุณใดๆ เลย อาจารย์ประหยัดจะคอยโฆษณาให้เสร็จ เลยดังไปเลย คนรู้จักหมด”

“ถ้าเผื่อพลังภายในมันต่างกัน อย่างไรมันก็ต่างกัน เหมือนช้อนกับส้อมที่ถืออยู่ มันเสมือนแทนมือคุณอยู่ได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่มือคุณจับด้ามช้อนและส้อมอยู่ คุณต้องขยัน นี่แหละคือการศึกษาเพื่อทำงานศิลปะ คุณจะก้าวเข้าสู่สภาวะที่เป็นศิลปินแห่งชาติ ถ้าเขียนภาพแต่ละครั้งเงาเคลียร์ไม่ลงตัว มันนอนไม่หลับ ต้องลุกขึ้นมาเพื่อแก้ไข พอแก้ไขเสร็จก็นอนหลับสบาย หมดพันธะหน้าที่ที่ยังกวน”

เยือนถิ่นมะกัน...ย่ำแดนมักกะโรนี
อาจารย์ได้อะไรจากการไปศึกษาศิลปะที่อเมริกาและอิตาลีบ้าง

“สมัยนั้นจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการเด็กหนุ่มไทยไปบ้านเขาเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อาจารย์ฝรั่งจึงส่งผมไปสอบชิงทุน ปรากฏว่าจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เลือกผม ผมจึงได้ไปชีวิตที่โน่น ผมไปดูทุกอย่าง ดูพิพิธภัณฑ์ ดูการเรียนการสอน ดูงานศิลปะที่เป็นออริจินัลของจริงอย่างที่อาจารย์ฝรั่งเคยสอน เคยให้ดูจากในหนังสือ ผมจึงเห็นของจริงด้วยตาจริงๆ ผมทัวร์รอบๆ ทั้งหมด จากวอชิงตันดีซีไปสุดท้ายที่นิวยอร์ค ศูนย์กลาง Modern Museum รัฐบาลอเมริกาออกค่าใช้จ่ายให้หมดจากนั้นผมจึงบินไปโรม มันเหมือนการสำลักแล้วเขมือบ คิดไม่ถึงว่าอเมริกจะเก็บงานศิลปวัตถุต่างๆ จากทุกจุดของโลกมารวมอเมริกาเขาฉลาดมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศใหม่แต่เขามีนโยบายอย่างหนึ่งว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ทั่วโลกหรือชาวยุโรปที่เจริญมาก่อนเขาได้รู้สึกว่าเขาเป็นชาติที่มีรสนิยม ฉะนั้นเงินส่วนหนึ่งที่มี เขาจะซื้องานศิลปะที่มีคุณค่าจากทั่วโลกเข้ามาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่มาก แต่อยากตำหนิหน่อย ไปอเมริกาคราวนั้น มันไม่ขายเบียร์ให้เรา มันหาว่าเราเป็นเด็ก เราอุตส่าห์นัดพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมายจนต้องเอาหลักฐานมาให้มันดู ว่าเราไม่ใช่เด็กมันจึงยอมขาย (หัวเราะ)”

“ส่วนที่อิตาลี ผมมีงานดรอวอิ้งอยู่ชุดหนึ่ง เขียนต้นไม้ มันจะมีท่าทางของตัวมันเองที่ไม่เหมือนกับต้นไม้ทางตะวันออกบ้านเราผมเขียนในสภาวะที่ฉับพลันด้วยความเร่งรีบ เพราะอากาศที่หนาวเย็น แล้วไม่ต้องเอาความคิดบ้าบอคอแตกมาใส่ด้วย ตัวนี้ต่างหากที่เรียกว่าความสด มันได้ค่าของ Artistic Value บางรูปผมเขียนกลางหิมะ พรรคพวกถือจานสี หนาวเย็นยะเยือก ส่วนอีกคนส่งไวน์ให้ดื่ม สิ่งเหล่านี้มันคือความอบอุ่นท่ามกลางไอหนาว อย่างมาม่าเจ้าของบ้านเช่า จะสนิทกัน เห็นงานของเราอย่างนี้เขียนผิดขยำขยี้ทิ้งถังขยะ แกต้องมาเก็บทุกที มาม่าจะห่วงเรามากเวลาดื่ม คล้ายๆ กับว่าเอาแต่กินมากมายมันอันตราย เดี๋ยวปอดบวม ตัวแกใหญ่มาก ตัวผมเล็กนิดเดียว เวลาผมเมาหลับ แกจะหนีบผมเข้าสะเอวเหมือนอุ้มลูกน้อย แล้วโยนผึงบนเตียง ตื่นเช้าขึ้นมาก็ชงกาแฟให้กิน เขาจะเป็นห่วงเป็นใย ท่านมีเมตตากับเรา ที่เขาให้ความเมตตาเพราะเราต่างจากคนอื่น เรามีความจริงใจ ผมเคยขโมยไวน์ มาม่าเรียก “มานิตย์”(ลากเสียงยาว....) แกจำชื่อผมได้ดี ท่านบอกว่า ตั้งแต่ฉันเกิดขึ้นมา มียูนี่แหละที่จะขโมยไวน์ฉัน (หัวเราะ) เหมือนเราเป็นลูกหลาน เมื่อมีจังหวะโอกาสก็เลยซื้อยกแกลลอนมาคืนให้ท่านเพื่อแอบกินใหม่ผมได้สิทธิพิเศษทุกอย่างในบ้านทั้งดูทีวี ทำอาหารในครัว โทรศัพท์ ทั้งๆ ที่ไม่มีในสัญญาการเช่าบ้าน ผมเป็นคนแรกในนักเรียนไทยที่เช่ากลางใจเมือง”

“ผมเรียน PITURA ก็เพื่อทำจิตรกรรม ประติ- มากรรม เรียนอยู่ 2 ปีจึงจบ ผมไปอิตาลี ครั้งนั้นต้องไปดูดไปซึมซับเอาในสิ่งที่บ้านเรายังขาด เพื่อกลับมาพัฒนาจิตรกรรม ประติมากรรม กลับจากกรุงโรมก็มาสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อ เมื่อปี2508-2516 ที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม เพราะผมรับปากกับอาจารย์ฝรั่งไว้ สุดท้ายที่ท่านเห็นงานของผมก็คือปี 2505ก่อนที่ท่านจะเสีย เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 2505 หลังจากนั้นผมไปอเมริกาและอิตาลี กลับมาผมได้วิธีพิจารณางาน สร้างระบบการศึกษาอย่างมีขั้นตอน และทดสอบได้ว่ารู้จริงหรือไม่ เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาศิลปะแขนงอื่นๆ ต่อไป”

หมัดเด็ด..โดนใจ !

“ศิลปินต้องรอบรู้องค์ประกอบศิลป์แก่นความรู้ทั่วๆ ไปให้หมด เพื่อนำมาผสมผสานกัน ต้องใช้ชีวิตทุกอณูก่อไปด้วยคุณค่าของสุนทรียศาสตร์และโครงสร้างของสุนทรียภาพกับชีวิตเรา ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การรับรู้ทางหูจากโสตวิญญาณกับดนตรีก็ต้องพิเศษ นัยน์ตาเห็นด้านจักษุวิญญาณในสี ในการแสดงออกมันประสานประโยชน์กันที่รับอารมณ์ให้จิตปรุงแต่งได้ เราต้องรู้จักวิเคราะห์ วิจัย ด้วยความรวดเร็ว อะไรงาม อะไรไม่งาม ควรจะนำมาแก้ไขอย่างไร ควรจะเพิ่มหรือตัดออก เราต้องฝึกฝนอยู่ตลอดเวลาเพื่อสนองกายสนองจิตวิญญาณ”

“คุณค่าของสุนทรียภาพนั้นให้คุณค่าอะไรกับชีวิต เป็นอาหารใจได้เช่นไร มีประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติ ทำไมเราจะต้องมีการเรียนรู้เรื่องศิลปะ ศิลปะนี้นอกเหนือจากมนุษย์แล้ว มีผู้ใดทำได้อีกหรือไม่ ลิง จิงโจ้ นกกระจาบ สัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ทำงานศิลปะไม่ได้หรอก ทำได้ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของสัญชาตญาณ”

ทั้งหมดคือเรื่องราวความคิดของอาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ศิลปินผู้ทระนงด้วยจุดยืนมาดมั่นปั้นแต่งสานุศิษย์ ดุจนักประติมากรอันยิ่งใหญ่ มากด้วยประสบการณ์อารมณ์ความรัก ความรู้สึก ผสานจินตนาการอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้

เกือบ 60 ปีในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรก