อรพรรณ มนต์พิชิต
หลับตาย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา คุณพ่อพีรพลและคุณแม่วัฒนี ประธานฯ และผู้ก่อตั้งธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ได้ให้กำเนิดทารกหญิงคนแรกของตระกูล คุณ “โรส” อรพรรณ มนต์พิชิต ทั้งคู่ต่างทะนุถนอมกล่อมเกลา เฝ้าดูการเจริญเติบโตของลูกสาวคนนี้ ไปพร้อมๆ กับกิจการที่ค่อยๆ เจริญขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นไม่นานจึงได้นำชื่อบุตรสาวมาตั้งชื่อบริษัทเป็นบริษัทโรส วีดีโอจำกัด (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนมาเป็นบริษัทโรส มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2542) และเมื่อบุตรสาวเติบใหญ่จึงมอบหมายให้คุมบังเหียนธุรกิจเจเนอร์เรชั่น 2 ในตำแหน่งรองประธานกรรมการสายงานภาพยนตร์อย่างเต็มตัว โดยนำแนวความคิดการทำงานสไตล์ของคนรุ่นใหม่มาผสมผสาน พัฒนาอย่างเป็นระบบ จน “โรส มีเดียฯ” รุดหน้าไปมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของความสำเร็จเกิดจากฝีมือของกุหลาบน้อยร้อยชั่งผู้นี้ ที่ได้ตั้งปณิธานสืบสานงานด้านเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ของตระกูลจนก้าวมาสู่ระดับแนวหน้าได้สำเร็จอย่างภาคภูมิใจ เธอเรียนรู้คลุกคลีกับระบบการทำงานของครอบครัวมาตั้งแต่วัยรุ่น โดยเข้ามาเรียนรู้ฝึกฝนการทำงานในส่วนของบริษัทเชอร์รี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “โรส มีเดียฯ” โดยดูแลร้านค้าย่อยที่มีอยู่กว่า 100สาขา อันเป็นความตั้งใจของบุพการีที่ต้องการให้เข้ามาเรียนรู้งานสายค้าปลีก สายงานหินที่ยากมากที่สุด เพื่อวางรากฐานทางความคิดที่มั่นคงให้กับบุตรสาวคนโตผู้นี้
เธอเรียนจบระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และคว้ามหาบัณฑิตจาก American Intercontinental University London ประเทศอังกฤษ ในสาขา Intercontinental Business ในวัยเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้น จากนั้นเธอก็ก้าวเข้าสู่การเป็นนักบริหาร ลงสนามรบแห่งชีวิตอย่างเด็ดเดี่ยวเต็มความภาคภูมิ โดยผู้เป็นพ่อไว้วางใจให้เข้ามาดูแลบริษัทดับบลิว พี เอ็มฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด รับหน้าที่คัดสรรภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ต่างประเทศจากทั่วโลกเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ พร้อมจัดจำหน่ายและผลิตภาพยนตร์ไทยคุณภาพให้คนไทยได้ชมกัน
และบรรทัดต่อจากนี้คือเรื่องราวของสาวน้อยร้อยโปรเจ็คท์ ที่ MiX MAGAZINE ENTERTAINMENT ภูมิใจนำเสนอภาพยนตร์มินิซีรี่ส์ที่ยิ่งใหญ่จนหลายโรงภาพยนตร์ในเครือต้องหลีกทางให้เธอคนนี้
กำเนิดคุณหนู “โรส”
“ตั้งแต่ลืมตาดูโลก จำความได้ว่าตอนเด็กๆ ครอบครัวของโรส ยังไม่ได้มีฐานะขนาดนี้ ตอนนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจของคุณพ่อคุณแม่ ท่านไม่ได้เลี้ยงดูลูกโรสมาแบบคุณหนู เรียกว่าเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดมากกว่า ครอบครัวเราค่อนข้างอบอุ่น มีพี่น้อง 4คน น้องชาย 1 คน น้องสาวอีก 2 คน ไปไหนมาไหนด้วยกัน ทานข้าวเย็นกันทุกวัน คุณแม่ทำงาน ลูกๆ ก็จะวิ่งเล่นกันอยู่หน้าบ้าน เติบโตขึ้นมาด้วยกัน
“ถึงแม้จะเริ่มมีฐานะขึ้น แต่ถ้าจะขอหรืออยากได้อะไรจากท่าน ก็ต้องทำงานเพื่อแลกเปลี่ยน คุณพ่อจะให้ไปหาเพลงที่เด็กในโรงเรียนอนุบาลเขาร้องกัน ตอนนั้นเราต้องมาคิดว่าเราเคยฟังเพลงอะไรมาบ้าง ต้องหามาให้ครบ 40 เพลง
“ตอนเด็กๆ โรสเรียนที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ หลังจากนั้นก็ไปเรียนที่เซ็นโยเซฟคอนแวนต์ เรียนอยู่ช่วงนึง แล้วคุณพ่อก็ส่งไปเรียนต่อที่สิงคโปร์กับน้องชาย เป็นโรงเรียน Intercontinental School ชื่อโรงเรียนแคนนาเดียน อินเตอร์เนชั่นแนลสคูล คุณพ่อคุณแม่อยากให้เราเรียนรู้เรื่องภาษา ก็เลยไปที่สิงคโปร์ เพราะอยู่ใกล้ประเทศไทย ไปมาสะดวก เรียนที่นั่น 2 ปี เราเหมือนโดนบังคับ ก็เลยอยากกลับมา คุณพ่อก็ให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนรัศมีอินเตอร์ จากนั้นจึงสอบเทียบเข้า มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC ) เรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี ค่อนข้างเร็วมาก
“ตอนเรียนอยู่ที่สิงคโปร์ เราได้ประโยชน์เยอะ กล้าแสดงออกมากขึ้น อยู่เมืองไทย ระบบการศึกษา เรียนตามชั้นเรียนแบบปกติครูไม่ค่อยซักถาม แต่อยู่ที่โน่น เพื่อนฝรั่งหรือครูจะชี้ให้ตอบ เราต้องยกมือถาม ที่นั่นส่วนใหญ่เพื่อนๆ จะเป็นลูกๆ ทูตฯ ก็จะแข่งขันกันยกมือถามเพื่อให้ได้คำตอบ ถ้าเราไม่แข่งกับเขา เหมือนกับเราไม่ค่อยรู้ประสีประสา เราเลยต้องฝึกฝน โดยเฉพาะการพรีเซ็นต์หน้าห้องเรียน เราได้เรียนรู้เรื่องระบบ การช่วยเหลือตัวเอง ทำให้เรามีวินัยความรับผิดชอบ ทั้งเรื่องการซักเสื้อผ้า การตื่นนอนไปโรงเรียน ในทางกลับกัน ถ้าอยู่เมืองไทย มีคนขับรถคอยไปรับไปส่ง แต่อยู่ที่นั่นต้องนั่งรถเมล์ไปเรียนเอง
“ระบบการเรียนการสอนของเขาจะเข้มงวดมาก จะทำอะไรต้องมีลายเซ็นจากผู้ปกครอง หากไม่มีลายเซ็น เขาก็จะส่งจดหมายไปถึงการ์เดี้ยน คนที่เราไปอยู่ด้วยว่าเราหยุด แล้วแจ้งกลับมาที่บ้าน ผลการเรียนการสอนก็จะแจ้งกลับมาที่บ้าน แล้วประเมินเป็นรายวิชา ข้อแตกต่างของบ้านเขาที่เห็นชัดคือ ความมีวินัยในตัวเอง สภาพแวดล้อมเป็นธรรมชาติ ถนนหนทางของเขาสะอาดสะอ้าน ห้ามทิ้งขยะ ห้ามเคี้ยวหมากฝรั่ง ถ้าฝ่าฝืนจะถูกปรับ เรียกว่าเป็นกฎระเบียบธรรมดาๆ ของเขา
“พอมาเรียนที่ ABAC ก็ได้ความรู้เพิ่มเติมเยอะมากๆ เพราะเป็นสถาบันที่ปลูกฝังความเป็น Business การเรียนบางวิชาเขาให้ทำรีเสิร์ชตั้งแต่ต้นโปรเจ็คท์จนจบโปรเจ็คท์ อย่างวิชา Consumer Business เขาให้ทำโปรเจ็คท์ให้เราคิดโปรดักท์ขึ้นมาชิ้นหนึ่งโดยการรีเสิร์ชว่าตลาดต้องการอะไร เราจะทำออกมาในรูปแบบไหน คิดตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าเราจะทำอะไรออกสู่ตลาด คิดแพ็คเก็จ ทุกสิ่งทุกอย่างจนจบกระบวนการ มันเลยฝึกความคิดได้ โชคดีที่มีเพื่อนร่วมกลุ่มดี มีอาจารย์สอนดี เขาสอนให้เข้าไปสู่ธุรกิจได้จริงๆ การสอนเข้มข้นมาก เวลาทำงานจึงได้พื้นฐานของการเรียนมาจาก ABAC ทั้งหมด ส่วนปริญญาโท เราเหมือนไปเรียนCase Study เพราะเรารู้พื้นฐานหมดแล้ว อย่างเขาให้ไปเรียน Case Study ของบริษัทต่างๆ เพื่อนำไปทำรายงาน นำไปวิเคราะห์ แต่พื้นฐานเราได้มาจาก ABAC และได้จากคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก”