ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์

กิจกรรมโหมโรงผ่านโสตประสาทเกี่ยวกับศิลปะของกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม งานกรุงเทพฯ ตลาดนัดศิลปะ หรือ Bangkok Art Market ในอดีต จนกระทั่งมาถึง Siam Art Fair เกิดจากการร่วมมือระหว่าง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ชมรมตลาดนัดศิลปะ เครือข่ายศิลปินร่วมสมัย สำนักงานกรุงเทพมหานคร กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและแกลเลอรี่เกือบทั่วประเทศฯลฯ จุดประสงค์หลักก็เพื่อให้ศิลปะพัฒนา คน สังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ โดยมีหัวเรือใหญ่อย่างศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นผู้ขยับเขยื้อนขับเคลื่อนกงล้อมวลศิลป์ แหวกม่านหมอก ทำให้ศิลปินไทยโกอินเตอร์ เป็นที่รู้จักของนานาอารยะ

 

ย้อนหลังไปราวปี พ.ศ.2545 รัฐบาลยุคนั้นได้มีการปรับทิศทางกระทรวง ทบวง กรม ครั้งใหญ่ มีการก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากมีมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการรวมหน่วยงานกรมศิลปากร กรมการศาสนามีนักวิชา ทั้ง สส. สว. เสนอให้มีหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมสนับสนุนศิลปะที่สร้างขึ้นในปัจจุบันร่วมสมัย ซึ่งปัจจุบันก็คือสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

 

รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลในเรื่องของบุคลากร 2 กรม คือ กรมศิลปากรและกรมการศาสนา สำนักงานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและสำนักงานศิลปะบำรุงศาสนา งานกรรมการของกระดานไทยเข้มแข็ง สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในด้านกิจกรรม การนำเสนองบประมาณของกระทรวงฯ ทั้งหมด อีกทั้งจัดนิทรรศการคลุกคลีกับศิลปินมาโดยตลอด จึงมีพื้นของความเป็นศิลปินและบริหารจัดการในบริบทของการนำเอางานศิลปะมาแสดง

 

หอศิลป์กลางกรุง

“เราทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องของตลาดนัดศิลปะมาก่อน ผมเริ่มทำมาเมื่อตอนปี พ.ศ.2547 ตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะหอศิลป์แห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า เป็นอะไรง่ายๆ สำหรับพื้นที่ตรงนี้ ได้มีการประสานงานกับทางกระทรวงฯ ว่าจะหาพื้นที่อย่างไร เพื่อสร้างกิจกรรมให้ทางเยาวชน วัยรุ่น รวมไปถึงบุคคลทั่วไปได้มีกิจกรรมใช้เวลาว่างที่เป็นประโยชน์ในเชิงศิลปะ ซึ่งมีหลากหลายสาขา มันเหมือนวงจรของตลาด บางทีก็ดี บางทีก็ฟุบ เราก็เชิญพวกศิลปินจตุจักร มาแสดงงานที่นี่ด้วย

 

“เรามองว่ากรุงเทพฯ เป็นตลาดนัดศิลปะหรือ Bangkok Art Market ควรจะเปิดบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนี้ก่อน เป็นการแนะนำพื้นที่ให้กับผู้ที่สนใจ แถมบรรยากาศหอศิลป์ฯ แถวนี้ มีคนสัญจรอยู่ตลอดเวลา เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศ ที่สามารถเป็นถนนศิลปะได้ไม่ยาก มันเป็นไปตามธรรมชาติ สิ่งที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศิลปินจะมุ่งมั่นอยู่กับงาน เพราะฉะนั้นสำหรับคนทั่วไปที่เคยคิดว่าศิลปะเป็นสิ่งเข้าใจยากมาก ไม่เคยเข้าถึงเลย ก็จะมีคำตอบในชิ้นงานแต่ละชิ้น โดยการพูดคุยกับศิลปิน การปฏิสัมพันธ์ตรงนี้ก็จะทำให้ศิลปินมีโอกาสได้อธิบายเกี่ยวกับงานของตัวเอง แล้วผลงานศิลปินที่มาอยู่ตรงนี้ เราเน้นเสมอว่าราคาจะไม่สูงมาก

 

“ไม่เพียงแต่ภาพวาดและดนตรีเท่านั้น ยังมีทั้งงานประติมากรรม หนังสือทำมือ โปสการ์ด อีกหน่อยก็จะนำละครมาแสดง หรือไม่ก็เป็นบีบอยไปเลยก็ได้ จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะทุกอย่างที่พูดมาคือศิลปะทั้งหมด เมื่อตรงนี้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แน่นอนพื้นที่กรุงเทพฯ มีมากมาย ศิลปินก็มีไม่น้อย ในอนาคตก็จะกระจายไปตามจุดต่างๆ ซึ่งในอดีตก็มีมาแล้ว เหมือนเป็นการยกระดับงานศิลปะ อย่างงาน Siam Art Fair ที่ปรากฏผ่านสายตาไปเมื่อเร็วๆ นี้ เราก็ให้แกลเลอรี่ชั้นนำต่างๆ เกือบทั่วประเทศมาแสดงร่วมกัน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเขาถูกกระทบมากในช่วงเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ

 

“เราชี้ให้รัฐบาลเห็นว่าโครงสร้างหรือระบบธุรกิจศิลปะในบ้านเรามันยังขาดอะไรบ้าง ถ้าภาครัฐฯ ช่วยลงมาสนับสนุน มันจะมีอีกมิติหนึ่ง อีกพื้นที่หนึ่ง ที่จะสร้างภาพลักษณ์และตัวเม็ดเงินได้ 

 

“ที่ผมทราบ เพราะผมคลุกคลีอยู่กับศิลปะและศิลปินมาก่อน ผมเคยอยู่ในสายของนักวิชาการ เป็นอาจารย์ระดับ 4คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์ คณะศิลปกรรม จนมาถึงศาสตราจารย์คณะศิลปกรรมจุฬาฯ ก่อนจะย้ายมาเป็นผู้อำนวยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

 

อหังการแห่งเอเชีย 

“ผมได้รับการสนับสนุนให้เป็นตัวแทนในการคัดเลือกและตัดสินการประกวดผลงานศิลปะร่วมสมัย และจัดงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับเชิญจากสถาบันและพิพิธภัณฑ์ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ในการเป็นผู้จัดการนิทรรศการและมหกรรมศิลปะร่วมสมัย เป็นที่ยอมรับทั่วโลก อาทิ การจัดงานให้กับสถาบันเอเชีย โซไซตี้ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา มหกรรมศิลปะลิเวอร์พูล บีนนาเล่ เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย นครซานฟรานซิสโกมหกรรมศิลปะโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

 

“สถาบันเอเชีย โซไซตี้ เคยให้ผมไปเลือกงานศิลปะของไทย เกาหลี อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย เพื่อนำเอาไปแสดงที่นิวยอร์ก แคนนาดา ออสเตรเลีย เขาคงเห็นว่าเราทำอะไรแปลกๆ พอที่จะไปทำงานร่วมกับคนในวัฒนธรรมอื่นๆ ได้ เพราะเราเป็นตัวแทนของประเทศไทย หรืออย่างที่เซาเปาโล ประเทศบราซิล เขาก็เลือกให้ผมมาเป็นคนเลือกงานศิลปินของเอเชีย นำไปแสดงในงานมหกรรมศิลปะที่นั่น ทางสวีเดนเขาเห็นประวัติผมมาแล้ว เขาจึงให้ผมเป็นตัวแทน เพราะเรามีพื้นฐาน เข้ากับศิลปินและทำงานกับศิลปินได้

 

“ส่วนการได้รับยกย่องให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติในสาขาปรัชญา จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีพ.ศ.2544 ที่ได้เพราะเขาคงมองว่าสิ่งที่ผมทำไม่ค่อยมีใครทำ ในเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่กับประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย เราเอางานศิลปวัฒนธรรมของศิลปินสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ค และฟินแลนด์ นำมาแสดงเผยแพร่ที่เอเชีย มีการแสดงที่กรุงเทพ กัวลาลัมเปอร์ และเซี่ยงไฮ้ ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดที่เคยจัดมาในทวีปเอเชีย ผมทำม้วนเดียวจบ เป็นที่ฮือฮามาก เป็นอีกมิติหนึ่ง ที่เขาอยากจะให้มุมมองศิลปะของบ้านเขามองโดยคนเอเชีย เขาจึงเชิญให้ผมไปเลือกผลงานศิลปะโดยผ่านสายตาของคนผิวเหลืองอย่างผม มองพวกไวกิ้งในแถบสแกนดิเนเวีย”

 

สายธารวัฒนธรรม....ยังไหลริน 

“ช่วงที่ผมเริ่มทำวิทยานิพนธ์ ช่วงอยู่ที่ Cornell สหรัฐอเมริกา ผมกลับมาประเทศไทยทำการสัมภาษณ์ศิลปิน มีอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข อาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ (น ณ ปากน้ำ) ผมสัมภาษณ์ศิลปินแห่งชาติหมดเลย จึงได้มาเป็นหนังสือที่ทางสำนักพิมพ์ Oxford พิมพ์มาเป็นหนังสือ ทาง Cornell ก็ให้จัดงานศิลปะ มีงานศิลปะของตัวเอง ช่วงนั้นมันก็เลยเกิดความสับสน จึงพักยาว หยุดทำงานศิลปะไปเลย

 

“เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ทุกคนก็มองว่าเหมือนกับเป็นระลอกของ 5 เสือ 1 มังกร ที่มองว่าในศตวรรษต่อไป ประเทศจีนและเอเชียจะต้องมารุ่ง เขามองว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวสำคัญในการนำเสนองานต่างๆ คล้ายๆ กับวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ นำประวัติศาสตร์ นำการท่องเที่ยว ฯลฯ

 

“ประเทศที่เขาเห็นความสำคัญตรงนี้ เขาจะเข้ามาเป็นตัวหลัก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ช่วงนั้นประเทศออสเตรเลีย พยายามที่จะสอดแทรกเข้ามามีบทบาทในเอเชียเพื่อหวังผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เขาก็เอาเรื่องของศิลปะเข้ามาเป็นตัวนำ สนุกมากเป็นการไหลเทวัฒนธรรมเยอะมาก เราเองก็ได้เรียนรู้งานของเพื่อนบ้านต่างชาติอีกด้วย

 

“สมัยที่ผมเป็นผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ผมมองว่าศักยภาพของศิลปินในบ้านเรา มีอยู่มาก แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน เขาคงมองว่าในต่างประเทศ มีมูลนิธิญี่ปุ่น มูลนิธิฝรั่งเศส ที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐบาล เข้ามาสนับสนุนให้ความสะดวกในการบริหารจัดการ แล้วมีงบประมาณบางส่วนสนับสนุนให้กับศิลปิน โดยเฉพาะการนำศิลปวัฒนธรรมมาเป็นตัวผลักดันการให้ความสำคัญของบุคลากรอย่างตัวศิลปินว่ามีความสามารถอย่างไร ก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรมนี้เกิดขึ้นมา

 

“ภารกิจนี้มันมหาศาล เขาคงมองว่าศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมันคืออะไร แค่อธิบายประโยคนี้ก็ยากแล้ว ในเรื่องของศิลปะ เรื่องของการใช้วิถีชีวิตแบบร่วมสมัย บ้านเรายังไม่ให้ความสนใจอย่างเต็มที่ เรายังให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตประจำวันที่เรามีอยู่ บางทีสิ่งที่เรามีอยู่ เรากลับมองข้าม เช่นเรื่องของการแต่งกาย การซื้อเครื่องประดับตกแต่งบ้าน มันเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่มันออกมาเป็นงานได้ แต่เรามองว่ามันไม่ได้สำคัญ

 

“ในทางกลับกัน สิ่งที่เกิดรอบข้าง เช่นการออกแบบแฟชั่น จิวเวลรี่ เครื่องประดับ ต้องใช้ศิลปินนักออกแบบทั้งนั้น บางทีบ้านเราคุ้นเคยกับการใช้มรดกเก่า ประเทศเรามีภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยโบราณสถานที่เก่าแก่ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศ แต่เราไม่ค่อยให้ความสนใจ ในปัจจุบันมีผลงานอะไรออกมาเป็นร่วมในสมัยนี้ หมายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อจากนั้น มันจะเป็นมรดกในยุคสมัย เป็นมรดกต่อไป จุดเชื่อมต่อตรงนี้ง่ายมาก เพียงแต่ต่อยอดกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ อย่างเช่นงานสมัยสุโขทัย งานประติมากรรมลีลาสละสลวย ทำอย่างไรที่จะทำให้ศิลปินในปัจจุบัน ถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นงานที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่ แล้วมันจะสืบทอดเป็นมรดก เขาอาจจะขายได้

 

“พูดอย่างนี้ผู้คนก็จะเริ่มเข้าใจ ตัวอย่างก็มีมาก อย่างเช่น อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ งานของอาจารย์เฉลิมชัยแปลออกมาเป็นเม็ดเงินได้ มันจึงต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ ขึ้นอยู่ที่ภาครัฐที่จะผลักดันลงไปด้วย ขายของเก่า สร้างของใหม่ อย่างเช่นประเทศฝรั่งเศส เห็นได้ชัดว่า ขายของเก่า ยกตัวอย่างรูปโมนาลิซา ศิลปินก็ไม่ได้เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศส แต่เป็นศิลปินชาวอิตาลี แต่เผอิญงานเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ คนก็จะซื้อตั๋วไปดู ไปดูเสร็จ จากนั้นก็จะไปช็อปปิ้งต่อ แต่กว่าจะไปชมได้ มันมีกระบวนการจองเข้าคิว ซื้อตั๋ว กว่าจะดูแล้วออกมา อาจจะซื้อของฝาก มันสร้างเม็ดเงินทั้งนั้น

 

“แต่ในเวลาเดียวกันเราต้องสร้างของใหม่ โรมเองเขาก็สร้างศิลปินของเขาออกมา ฝรั่งเศสก็สร้างศิลปินฝรั่งเศสรุ่นใหม่ขึ้นมา ที่เขาพยายามผลักดันอยู่ในระดับนานาชาติ ออกไปแสดงในงานมหกรรมศิลปะต่างๆ เป็นการสร้างคนออกมา มันแตกไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในเรื่องของการส่งออก หรือแม้แต่นักออกแบบ มาออกแบบแพ็คเกจจิ้ง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มันจะโยงไปถึงเรื่องของการเพิ่มดีกรีให้กับประเทศ

 

“ผมเข้ามาช่วงปีแรก ผมขอเขาทำ 2 อย่าง คือขอให้มีการให้รางวัลศิลปินดีเด่นรุ่นกลาง อยู่ในวัย 30-50 ปี ชื่อ รางวัลศิลปาธรแปลว่าผู้คงไว้ ผู้รักษาไว้ซึ่งศิลปะ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ศิลปินรุ่นกลาง ซึ่งกำลังก้าวไปสู่ศิลปินอาชีพ ช่วงนั้นก็มี4-5 สาขา อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ได้เป็นท่านแรก จากนั้นก็มีคุณเป็นเอก รัตนเรือง คุณชาติ กอบจิตติ คุณดนู ฮันตระกูล มาถึงตอนนี้คนก็เริ่มเข้าใจแล้ว

 

“อันที่สอง ผมนำเอาศิลปินไปแสดงบนเวทีนานาชาติ ที่เวนิส ประเทศอิตาลี งบประมาณฝ่ายราชการมีน้อยมาก ก็ต้องไปขอการสนับสนุนจากภาคเอกชน ผมอยากให้เห็นความสามารถในการนำเสนอความสำคัญของทรัพยากรทางบุคลากร เราต้องอธิบายให้กับกรรมาธิการ ให้ ส.ส. แม้แต่สำนักงบประมาณ เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ เขามองว่าศิลปิน อาจจะไม่มีความสำคัญในสังคม มันเป็นธรรมชาติ คนที่เข้าใจก็มี ศิลปวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติ เมื่อมีกิจกรรมเหล่านี้ออกมา เขาก็จะมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

 

“มันเหมือนกับการให้องค์ความรู้ว่าการไปดูงานศิลปะ มันให้อะไรกับเราได้เยอะมาก ชาวต่างประเทศเขามีความกระหาย ความอยากในการดูงานศิลปะ การใช้เวลาว่าง เสาร์-อาทิตย์ ไปดูงานศิลปะ เด็กและเยาวชน เริ่มสนใจงานศิลปะมากขึ้น ผู้ปกครองสนับสนุนบุตรหลาน ให้ไปเรียนพิเศษ เรื่องดนตรี เรื่องของศิลปะมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนจะไปแนวหมอ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ ในมุมกลับกัน มันเป็นการพัฒนาสมองซีกขวาของเรา เด็กหลายๆ คนอาจมีพรสวรรค์ มีความสามารถ แต่ไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาสิ่งที่เขามีอยู่ในตัว เขาก็อาจจะไปทำอาชีพอื่นก็ได้”

 

พลังอันอ่อนละมุน 

“ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีมันเยอะมาก โดยเฉพาะเยาวชน วัยรุ่นเขารับในเรื่องของสื่อในลักษณะที่มาเป็นหมู่ งานออกแบบงานแฟชั่น งานดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มากับสื่อ มากับเว็บไซต์ นี่คือส่วนที่ดี แต่ส่วนที่ไม่ดี มันจะมีสื่อลามกอนาจารตามมาด้วย มันมาเป็นแพ็ค เราก็ควรแยกแยะออก ว่าอะไรที่ควรและไม่ควร แต่สิ่งที่เราทำได้อย่างน้อย ก็คือการสร้างภูมิต้านทาน โดยเฉพาะสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ในกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น ผมภูมิใจที่สร้างบุคลากรขึ้นมา เพราะเขาไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร เราก็ดึงคนขึ้นที่เขาตั้งใจ มีความสามารถ ถึงแม้เขาจะไม่ใช่ศิลปิน แต่เขาจะเป็นนักบริหารที่ดีได้ เขาจะเป็นตัวเชื่อมที่ดีระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนกับศิลปิน บุคลากรเหล่านี้เราต้องดูแลเขา แล้วให้เขามีบทบาทในการพัฒนาตัวเอง อายุเขายังน้อย แต่เมื่อเขาอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมต่อไป เขาก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของกระทรวงดูดีขึ้น

 

“ใครๆ ก็มองว่ากระทรวงวัฒนธรรม เป็นกระทรวงเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญ เมื่อเทียบกับกระทรวงเกรดเอทั้งหลาย แต่ในมุมกลับกัน ในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม เรื่องของมรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ ในภาพรวม มันมีศักยภาพมหาศาล สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้เยอะมาก

 

“กระทรวงวัฒนธรรมต้องเร่งรีแบรนด์ตัวเองอย่างเร่งด่วน เพราะว่า ณ ตอนนี้ ภาพในลักษณะอนุรักษ์ ยังมีอยู่ค่อนข้างเยอะ ใน 4ยุทธศาสตร์ที่เรามีอยู่ คือเรื่องของการอนุรักษ์ เรื่องของการส่งเสริม เผยแพร่ ยังทำอยู่ เรื่องของการต่อยอด ไม่ได้หมายถึงศิลปะร่วมสมัยแต่อย่างเดียว กรมศิลปากรก็สามารถต่อยอดได้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติหรือหอภาพยนตร์ ก็สามารถต่อยอดได้ เพียงแต่เรานำมาบูรณการ

 

“แต่ปัจจุบันต่างคนต่างทำ งานก็เลยจะออกมาลักษณะเป็นแท่ง ได้งบประมาณมาแค่ 5,000 ล้าน แต่มันถูกซอยลงไป งานบางงานมันซ้ำซ้อนกันเยอะมาก ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ เดี๋ยวสำนักปลัดก็ทำ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กรมการศาสนาก็ทำ ต่างคนต่างทำ พอออกมาแล้วมันจึงออกมาเป็นเบี้ยหัวแตก งานที่ออกมามันไม่เปรี้ยงปร้าง

 

“กระทรวงใหญ่ๆ เขาทุบปังออกมาเลย มีกิจกรรมอะไรดีๆ ออกมา ทำให้เห็นภาพ ทางรัฐบาลก็มองความสำคัญของกระทรวงวัฒนธรรมมากขึ้นเยอะ แต่จะประสบผลสำเร็จแค่ไหนคงต้องรอดูต่อไป ในเรื่องของการหลอมรวมเรื่องทัศนคติของผู้บริหารระดับสูงด้วยว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อจะให้งานออกมาเป็นทีมให้ได้

 

“เมื่อก่อนก็ทำแต่ละกรมก็มีความสำคัญทั้งนั้น โดยเฉพาะกรมศิลปากรนั้นสำคัญมาก เป็นหัวใจของกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกรมใหญ่ ถ้าเราทำงานร่วมกันกับศิลปิน กับกรมอื่นๆ กรมศิลปากรจะมีความสำคัญมาก กระทรวงวัฒนธรรม เปิดประตูออกไปสามารถไปบูรณาการกับกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ ผมมองว่าวัฒนธรรมมันเป็นพลัง แต่มันเป็นพลังที่อ่อนละมุน มันไม่แข็งกระด้าง มันซึมไปได้ให้เข้าไปไหลอยู่ที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ว่าคนที่ส่งพลังอันนี้ออกไปหาคนรับ ต้องปรับต้องจูนกันหน่อย”

 

ฝันถึงสันติภาพ

“สองสามปีที่ผ่านมา เราเจอหนักในมิติต่างๆ จากประกาศ ‘สยามเมืองยิ้ม’ ปัจจุบันสถานการณ์มีความขัดแย้ง แค่นี้มันก็เป็นการพลิกภาพลักษณ์ของเราไปแล้ว เราเองยังตระหนกตกใจเลยว่าทำไมคนไทยทำกันเองได้ถึงขั้นนี้เชียวหรือ จากภาพข้างนอกที่มองเข้ามาข้างใน อันนั้นเขาค่อนข้างงงที่ว่าคนไทยเป็นชาวพุทธ มีแต่ความยิ้มแย้มแจ่มใส กลายเป็นสิ่งที่เกิดอะไรขึ้นมา

 

“ผมไม่อยากใช้คำว่าปรองดองหรือสมานฉันท์ให้มันพร่ำเพื่อ มันเป็นอารมณ์หนึ่งที่จะทำอย่างไรให้เรามาอยู่ด้วยกันได้ อาจจะมีอุดมคติต่าง มีทัศนคติต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ตรงนี้ต่างหากที่กลายเป็นโจทย์สำคัญ เรื่องของศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นพลังอ่อนละมุน สามารถที่จะเข้าไปไหลซึมได้ในความต่างกระด้างของแต่ละฝ่าย มันต้องละลายพฤติกรรมเล็กน้อย เพื่อให้ม่านที่มองไม่เห็น สลายไปสักหน่อย ไม่อย่างนั้นทุกคนก็จะมาเกร็งกันว่า อุดมคติเป็นอย่างไร แม้แต่ครอบครัวเดียวกัน ยังคิดต่าง สีต่างอุดมคติต่าง แต่จะทำอย่างไรให้มีพื้นที่อยู่ร่วมกันได้ ผมก็ลองเชิญศิลปิน สถาปนิก นักคิดต่างๆ มาระดมสมองที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ผมอยากให้แต่ละคน มีโอกาสในการพูด

 

“เรื่องของศิลปะ เรื่องของการแสดงออก เพราะเขาไม่มีพื้นที่แสดง พอมาคุยกันอย่างน้อยเป็นการส่งสัญญาณ ปลุกศิลปิน แล้วศิลปินเองก็อยากที่จะมีส่วนร่วมด้วย ศิลปิน รวมไปถึงสภาสถาปนิกสยาม สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ต้องมานั่งคุยกันเพื่อจะช่วยสังคมอะไรได้บ้าง จนออกมาเป็นนิทรรศการ ‘ฝันถึงสันติภาพ’ โจทย์คือการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินแสดงออก ถึงแม้ว่าจะอุดมคติ เหลือง แดง หลากสี เราก็เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงได้ มีทั้งวิพากษ์วิจารณ์ มีทั้งหวังถึงสันติภาพ

 

“สิ่งเหล่านี้เราคงเข้าไปแก้ปัญหาไม่ได้หมด แต่อย่างน้อยมันเป็นทางเลือกในการเยียวยาอย่างหนึ่งให้เขามีความรู้สึกผ่อนคลายจากเรื่องเครียดๆ หันมาดูศิลปะ ปรากฏว่าหลังเหตุการณ์สงบ หอศิลป์กรุงเทพฯ มีผู้คนเข้ามาดูเยอะมาก เพราะฉะนั้นที่เราบอกว่าวัฒนธรรมของคนไทยไม่ชอบเข้าไปชมงานศิลปะ มันก็เริ่มมีคนเข้าไปดูเยอะมาก ไม่ได้เข้าไปซื้องาน แต่มาเดินเล่น ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการจัดกิจกรรมของคนหลากวัยด้วย”

 

วิถีคนกล้า!

“เวลาส่วนมากที่ว่าง ผมจะอยู่กับภรรยาและลูกเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นมีการสังสรรค์กับเพื่อนๆ และเรื่องของกีฬาก็มีบ้าง สมัยที่เรียนโรงเรียนประจำในต่างประเทศ ผมเล่นรักบี้ แล้วไหล่หลุด 5 ครั้งติดกัน จึงต้องระวัง ปัจจุบันจะเล่นกอล์ฟก็ไม่ได้ จึงวิ่งออกกำลัง และนั่งสมาธิ ส่วนหนึ่งที่ช่วยเยอะมาก ก็คือเรื่องของการปฏิบัติธรรม กับคุณแม่สิริและท่านชยสาโร สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตที่วุ่นวาย เกิดมีความสมดุลขึ้นมาหน่อย

 

“ทุกวันนี้เราจะต้องแก้ปัญหาและไม่สร้างปัญหา แต่เรื่องของสมาธิก็ช่วยได้เยอะ การนั่งสมาธิทำให้มันเป็นเหมือนกับ การทานข้าววันละ 3 มื้อ ผมไม่ใช้เป็นนักปฏิบัติธรรมที่สำเร็จอะไรเลย แต่อย่างน้อย สมาธิ มันจะช่วยเราได้ ก่อนจะออกไปทำงาน หรือก่อนนอน ก็ตั้งสติสักนิดหนึ่งว่าวันนี้ เราช่วยทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง หรือพรุ่งนี้เราจะช่วยอะไรให้กับสังคมได้บ้าง ประโยคเล็กๆ เหล่านี้ มันเป็นการเตือนอะไรบางอย่างว่าเราไปทำให้ใครเขาเหม็นหน้า หรือไปทะเลาะกับใครบ้างหรือเปล่า ไปเอ่ยกิริยาที่ไม่ดีกับลูกน้องหรือเปล่า มันเป็นการทบทวนในแต่ละวัน

 

“โชคดีที่ผมได้ทำในสิ่งที่ผมชอบมาตลอด เกี่ยวกับศิลปะ เกี่ยวกับวัฒนธรรม คลุกคลีกับศิลปิน จัดงานอะไรต่างๆ มันเป็นอะไรที่เราให้กับสังคม โดยที่บางครั้งเราไม่รู้หรอก เพราะความสนุกตรงนี้ผมเชื่อว่ากลุ่มศิลปิน เขาเห็นว่าผมไม่ได้เสแสร้ง ผมทำด้วยความสนุก ผลประโยชน์จะไม่มีเลย เวลาแนะนำให้ศิลปินเขาขายงานได้ ตามพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ อะไรต่างๆเหล่านี้ อย่ามาคิดว่าผมจะมากินหัวคิว ผมดีใจกับคุณด้วยซ้ำไป เมื่อผมได้แนะนำตรงนี้ผมก็จบแล้ว

 

“ในระบบราชการ ผมพอแล้ว ผมพออยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องขนขวายหาอะไร ผมจะต้องทำงานให้เต็มที่ เรื่องวงศ์ตระกูล มันจึงตัดสิ่งต่างๆ ออกไป ที่เรารู้ หนึ่ง เราไม่ต้องการผลตอบแทน สอง เราทำด้วยความสนุก ในความว้าวุ่น เรารู้อยู่ตลอดเวลาว่า แสงไฟที่อยู่ตรงปลาย ช่องทางมันมี เรารู้ว่าเราจะเดินไปตรงไหนด้วย แต่บางคนทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบ ทำในสิ่งที่เขาไม่ถนัด

 

“ผมเป็นคนชอบเขียนหนังสือมาก มีหนังสืออยู่ชุดหนึ่ง หลังจาก Oxford ทำออกมาแล้วและผมภูมิใจมากที่สุดคือ หนังสือเรื่องจิตรกรรมและประติมกรรมแบบตะวันตกในราชสำนักไทย ผมได้มีโอกาสเข้าไปค้นคว้าในสำนักพระราชวัง ช่วงนั้น เขามีการซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารต่างๆ แล้วไปเก็บภาพงานศิลปะส่วนที่ชำรุด งานพระบรมสาทิสลักษณ์ต่างๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4รัชกาลที่ 5 ตอนนั้นผมทำวิจัยต้องสัมภาษณ์ศิลปิน ทางคุณแก้วขวัญ วัชโรทัย จึงบอกกับผมว่าลองไปดูสิว่าจะช่วยอะไรได้บ้างผมจึงลงไปทำอยู่ 3 ปี ออกมาเป็นหนังสือ 670 กว่าหน้า 2 เล่ม

 

“ทางสำนักพระราชวังก็พิมพ์ออกมาช่วงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ครบ 5 รอบ เป็นการรวบรวมศิลปะในพระราชสำนัก เป็นงานการเขียนหนังสือที่สนุกมาก ผมอยากจะเขียนหนังสือออกมา คิดว่าประสบการณ์ที่เราสะสมได้มา มันเป็นประโยชน์ อ่านแล้วสนุก ในเชิงวิชาการ ก็จะมีประโยชน์ที่ใครจะนำไปใช้ได้

 

“งานสยาม อาร์ต แฟร์ เราจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการรวมตัวของอาร์ต แกลเลอรี่และทางแกลเลอรี่ เขาพยายามทำกันอยู่แล้ว แต่ทำไม่สำเร็จสักที ผมจึงนำมาประเมินว่าเป็นเพราะอะไร ทำไม ขาดอะไร มันก็เหมือนศิลปิน ที่เขามีความคิดเป็นเอกเทศเฉพาะตัวของเขา เราก็อธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่าทางภาครัฐฯ จะทำอะไร แล้วจะไม่ทำอะไร แล้วจะไม่ควรทำอะไร ผมจะไม่เข้าไปก้าวก่าย สิ่งที่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย อย่างเช่น เรื่องของการซื้องาน เราก็บอกว่า เมื่อมาจัดเรามีพื้นที่อย่างนี้นะ สิ่งที่เราจะให้คือพื้นที่ฟรี บูธ ไฟทุกอย่าง ฟรีหมด ขออย่างเดียว คุณขนงานนำมาติดตั้ง แล้วคุณดูแลงานของคุณเอง ถ้าเกิดมีอะไรชำรุด เสียหาย คุณดูแลเองนะ ถ้าหากมีการซื้อขายกัน คุณก็ซื้อขายกันไป เราจะไม่หักเปอร์เซ็นต์ อะไรทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เราอยากจะได้ต่อมา คือการสร้างตลาดลูกค้าใหม่ได้ไหม สร้างให้เขาเกิดมิติใหม่ ในการทำงานของเขา ต่อๆ ไปเราจะจัดครั้งที่ 2 ที่ 3ขึ้นมาได้ ในที่สุด ผมหวังว่าเขาจะจัดกันเองได้

 

“อย่างหนังสือแค็ตตาล็อก เราทำขึ้นมา แล้วเราก็เผยแพร่ออกไป ต่อไปในอนาคต อาจจะมีแกลเลอรี่จากสิงคโปร์ มาเลเซียเซี่ยงไฮ้ ฯลฯ มาลงที่นี่ด้วยก็ได้ มันช่วยได้เยอะในเรื่องของการทำงาน แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะเหมือนกัน คนก็มองเหมือนกับกลุ่มศิลปินที่เราชอบหรือเปล่า สนับสนุนคนกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า

 

“ผมไปจัดงาน ฝันถึงสันติภาพ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งก็วิจารณ์บอกว่าอันตรายยิ่งกว่าแผนปรองดองเสียอีก ทำเหมือนไปอุ้มศิลปินไปช่วยศิลปิน เขาควรจะต่อสู้ด้วยตัวของเขาเอง หากรัฐบาลไปช่วย ไปอุ้ม จะทำให้เขาเคยตัว ผมก็หงุดหงิด เขาคิดอย่างนั้นได้อย่างไร (หัวเราะ) ถ้าเขาใช้มุมมองอย่างนั้น เขาก็จะมามองงานนี้อีกว่า แล้วไปช่วยแกลเลอรี่ทำไม

กระแสศิลป์บ้านเรา ต่างกับที่ต่างประเทศ