ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล
ต้นไผ่โอนเอนล้อเล่นกับกอดอกแก้วภายในตักศิลาหลังน้อย ณ หมู่บ้านจันทรานิเวศน์ ถนนจันทร์ ย่านเจริญกรุง ที่พำนักสไตล์โมเดิร์นอาร์ตของ “หม่อมน้อย” หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ผู้กำกับภาพยนตร์และละครชื่อก้อง หลายคนคงชินตากับชายร่างเล็ก ผมยาวประไหล่ถึงหลัง ใส่แว่นตา สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนยาว ติดกระดุมที่คอ นั่งชันเข่าเป็นเอกลักษณ์ การประดิดประดอยลายลูกไม้ผ้าปูโต๊ะสีฉูดฉาด ตั่งตั้งตรงหน้า นั่งบนฟูกนุ่มๆ จุดบุหรี่สูบสบายอุรา แลเห็นควันละเอียดสีเทาแผ่วเบา พวยพุ่งแหวกอากาศ ลอยออกไปพบรักกับออกซิเจนอยู่เป็นนิจศีล
ท่านคือเจ้าของรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และหลากหลายรางวัลที่ ตระหง่านอยู่บนตู้โชว์ เยื้องกำแพงคือหน้ากากนานาชาติของลูกศิษย์แต่ละคนที่มอบเป็นของขวัญ บ่งบอกถึงสัญลักษณ์มนตร์มายา มีความหมายทางจิตใจ
แม้เจ้าตัวจะห่างหายจากแวดวงการภาพยนตร์ไปกว่า 10 ปี แต่ก็ยังโลดแล่นอยู่แวดวงละครตลอด 3 ปีให้หลัง เพราะหลงใหลการปฏิบัติธรรม วันนี้ท่านกลับมาอีกครั้งด้วยการรับหน้าที่อาจารย์พิเศษสอนศิลปะการแสดงให้แก่มหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งการสอนให้กับนักแสดงค่ายเอ็กแซ็กท์ของ คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ฟังดูเผินๆ อาจจะธรรมดาทั่วไป แต่หม่อมน้อยไม่ได้สอนให้ลูกศิษย์ปั้นหน้ายักษ์ บีบน้ำตาหยดติ๋งๆ หรือตะเบ็งเสียง กรี๊ดเกรี้ยวกราดเป็นนางมารร้ายเพื่อให้รู้ว่าโมโห ทว่าท่านกลับสอนให้ลูกศิษย์ลูกหาสวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ให้รู้ว่า ร่างกายคืออะไรรู้ว่าเรากำลังหายใจเข้า หายใจออก จะทำอะไรก็ให้รู้ตัว เป็นการเรียนรู้จากภายในเพื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับภายนอก โดยนำวิถีพุทธมาประยุกต์ใช้กับการแสดง เพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนลักษณะนิสัยของคนๆนั้น ให้มองโลกในความเป็นจริง เข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น
โดยรวมคนที่ฝึกฝนด้วยยุทธวิธีนี้มักจะมีนิสัยเปลี่ยนไป จากใจร้อนก็ใจเย็นลง บางรายพึ่งยาเสพติด มีความสุขกับชีวิตขึ้น เหมือนการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทั้งในเรื่องส่วนตัวและความก้าวหน้าของเขา
ตามนิยามที่มีคนเคยบอกว่าหม่อมน้อยไม่ได้สอนให้ “ดาราเป็นเทวดา” แต่สอนให้ “ดาราเป็นมนุษย์” ถ้าถามว่าคนจะเป็นนักปีนเขาที่เก่ง นั้นต้องทำอย่างไร หม่อมน้อยจะสอนให้รู้ว่าตรงไหนลื่น ตรงไหนมีเหว ทำให้รู้จักวิธีการเดินขึ้นไป ด้วยการฝึกให้เขาพร้อมที่จะเดินไปบนยอดเขาเพื่อไม่ให้ร่วงหล่นตกลงมา เพราะนั่นคือหน้าที่ เพราะการสอนของท่านไม่มีดาราหรือเทวดามาเรียนแต่สอนให้มนุษย์ที่มาเรียนนั้นมีความรู้ในการเอาตัวรอดอย่างสง่างาม พร้อมที่จะเดินจากตีนเขาขึ้นไปสู่ยอดเขา จึงจำเป็นต้องฝึกปรืออย่างดี ทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะคนที่จะปีนขึ้นไปคือตัวเขาเอง
ชีวิต ความคิด ตัวตน มนต์เสน่ห์ จะเป็นเยี่ยงไร เรามาจับเข่าเล่าเรื่องเมืองมายาอย่างย่อๆ พอสังเขป
อ้อมกอดความโหยหา
ย้อนหลังไปกว่าครึ่งศตวรรษ ในวัยเยาว์หม่อมน้อยชื่นชอบการวาดการ์ตูนและวาดภาพเป็นชีวิตจิตใจ ตั้งแต่เข้าโรงเรียนสาธิตประสานมิตร เมื่อโตขึ้นก็เริ่มสนใจประวัติศาสตร์ ปรัชญา ตรรกะ วรรณกรรม การวาดภาพแต่ละครั้งจะออกมาเป็น
สตอรี่บอร์ด ออกมาเป็นฉากๆ คิดว่าตัวเองอยู่ในนั้นจริงๆ อีกทั้งท่านยังชอบอ่านหนังสือเรื่อง สี่แผ่นดิน ชอบอ่านหนังสือของทมยันตี ฝ่ายท่านพ่อท่านแม่ก็ชอบดูภาพยนตร์ฝรั่งดีๆ จึงพาเขาเข้าไปชมที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตต์ เฉลิมไทย เฉลิมกรุง อยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดการซึมซับในภาพยนตร์ต่างประเทศ ส่วนภาพยนตร์ไทยก็จะดูของเสด็จพระองค์ชายใหญ่และของท่านพระองค์ชายเล็ก ส่วนเมื่อเป็นวัยรุ่นได้ดูของ “เปี๊ยก โปสเตอร์” “วิจิตร คุณาวุฒิ” และ ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล)
บนเส้นทางการกำกับภาพยนตร์ของหม่อมน้อย ย่อมมีเสาหลักอันเป็นสถาบัน เป็นตักศิลาหล่อหลอม เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวละเมียดบรรจง แต่เรื่องที่เราคิดว่าใช่ อาจผิดคาดแบบหักมุม เมื่อได้อรรถาธิบาย
“จะเรียกว่าผมจบจากสถาบันที่สอนภาพยนตร์ก็ไม่เชิง แต่ผมลาออกจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาศิลปะการละคร ตอนเรียนปี 4 ตอนนั้นราวๆ ปี พ.ศ.2520 เพราะระหว่างที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ผมออกมาทำหนังกับคุณยุทธนามุกดาสนิท ตอนนั้นยอมรับว่าติดลมมาก ทำต่อจากเรื่อง ‘ฝนเสน่หา’ ก็จะมีเรื่อง ‘ชีวิตบัดซบ’ ผมก็ไปเขียนบท ไปแคสติ้งให้เขามันก็เลยใจแตก ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
“ผมออกมาทำหนัง ไม่ได้ออกมาเพื่อทำจริงๆ เพราะช่วงนั้นภาควิชาศิลปะการแสดง มีสอนการสร้างภาพยนตร์เหมือนกัน สอนทฤษฎีกับสอนวิจารณ์ ผมมีโอกาสไปทำหนังก็เหมือนได้ไปเรียน แต่มันไม่มีภาคปฏิบัติ ฉะนั้นการออกไปของเรา จึงไปเพื่อการเรียนรู้จริงๆ เพราะทางมหาวิทยาลัยตอนนั้นไม่มีการทำภาพยนตร์ พวกนิเทศศาสตร์ก็ไม่ได้เรียนเรื่องภาพยนตร์จริงๆ แต่ของคณะศิลปะการละครที่ผมเรียนนั้นเขาสอน
“ผมเรียนการกำกับการแสดงโดยตรงจากอาจารย์สดใส พนมโกมล ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชา Dramatic Arts เป็นการเรียนดรามาจริงๆ ไม่ใช่การละครอย่างเดียว อาจารย์สดใสท่านจบปริญญาโท วิชาเอกการแสดง วิชาโทด้านภาพยนต์ จากมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นรุ่นพี่ท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) และตัวท่านเองเป็นดาราภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เป็นคนไทยคนเดียวที่เป็นดาราภาพยนตร์สังกัดทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์
“ผมเข้าจุฬาฯ เรียนภาควิชาศิลปะการละคร ปี พ.ศ.2515 ถึงผมจะสนใจภาพยนตร์ แต่ผมก็เรียนการถ่ายภาพ เรียนทฤษฏีและการวิจารณ์ด้วย เมื่อเริ่มเรียนก็มุ่งโฟกัสไปทางการกำกับการแสดง มันยากมาก ไม่ใช่ว่าใครจะเรียนก็เรียนได้ ใช้หลักสูตรต่างประเทศ ยุคนั้นสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะไม่มีตำราภาษาไทย ที่ลาออกตอนนั้น ผมคิดอย่างเด็กทั้งๆที่ฟังดูมีเหตุผลนั่นคือดร็อปเรียนไป 1 ปี เพื่อออกไปศึกษาภาพยนตร์ แลดูดี มีเหตุผล แต่ท่านพ่อก็รู้สึกเสียใจมาก รู้สึกได้ทันทีว่าอันนั้นเป็นบาปที่สุดในชีวิต เพราะตัวเราเป็นลูกคนเดียวที่เข้าจุฬาฯ ได้แล้วท่านพ่อเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาฯ ด้วย แต่ลูกชายดันมาลาออกปีสุดท้าย จำได้ว่าคนแรกที่ลาออกคือ จิตร ภูมิศักดิ์ คนที่สองชื่อ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล (หัวเราะ)
“จุดหักเหอีกอันหนึ่งช่วงนั้นได้ออกมาทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘เทพธิดาบาร์ 21’ เป็นละครมิวสิเคิล หนังเรื่องนี้มีอิทธิพลมาก ช่วงนั้นก็มีปัญหากับอาจารย์ที่ปรึกษาเล็กน้อยเรื่องการบริหาร ผมก็เลยตัดสินใจลาออก
“ด้วยวุฒิภาวะยังไม่พอ เริ่มใจแตกบวกกับอีโก้ว่าทำไมตัวเราเก่งจัง ทำงานกับดารารุ่นพ่อที่เคยเห็นเขาในหนังตอนเด็กๆ ทำงานกับสรพงษ์ ชาตรี กลายเป็นทุกคนฟังเรา เราอธิบายให้เขาฟัง เขาก็ชื่นชมเรา คนในวงการพวกตากล้องหรือใครต่อใครก็ชื่นชมกันหมด อายุยังน้อยแต่เป็นที่ยอมรับของคนในวงการ จึงถือได้ว่าประสบผลสำเร็จเร็วเกินไป
“สมัยนั้นผมไม่เคยออกจากบ้านเลย ครอบครัวผมจะหัวโบราณ อนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ผมเองก็ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง เมื่อออกมาโลกภายนอก ได้มาเห็นโลกมันกว้างใหญ่ เหมือนมาเจอโลกใหม่ การเรียนรู้เรื่องการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จึงเกิดขึ้นในช่วงนั้น ผมเป็นคนบ้าการทำงาน แต่ก่อนตอนเรียนหนังสืออายุ 18-19 ปี ก็ทำกิจกรรมของการละคร เช่น ตอกฉาก ติดโปสเตอร์ เดินตั๋วทำทุกอย่าง ชีวิตวัยรุ่นผมเลยหายไป
“นิสัยไม่ดีอีกอย่างหนึ่งของผมก็คือผมจะเลือกเรียนศิลปะการละครอย่างเดียวเท่านั้น อย่างอื่นไม่เรียน เช่น ภาษาบาลีไม่เรียนเลย พอเมื่อกาลเวลาผ่านมา 30-40 ปี จึงรู้ว่าเราทิ้งโอกาสที่ดีไป เมื่อมาศึกษาธรรมะ กว่าจะมารู้ตัวว่าตัวเองพลาด มันก็เนิ่นนานแล้ว ยังคิดอยู่เสมอว่าถ้าย้อนเวลาได้ เราคงจะเรียนหนังสืออย่างเดียว คงจะไม่ออกไปฝึกงาน ไปเรียนรู้ข้างนอกก่อนเวลาอันควรมีความรู้สึกว่ามันเป็นความผิดพลาดครั้งแรกในชีวิตที่ทำ เขาวางหลักสูตร ทุกวิชามันดีหมด ทุกวิชาทำให้เรารอบรู้มาก อักษรศาสตร์ยุคนั้นเข้มข้นมาก ไม่ใช่มาเรียนเทคนิคหรือมาเรียนวิธีการกำกับ วิธีการแสดง แต่ต้องมาเรียนเพื่อทำความเข้าใจในมนุษย์เพราะวิชาดรามาเป็นศาสตร์ที่เป็นศิลปะการเลียนแบบชนิดมนุษย์ ซึ่งต่อมาเป็นต้นกำเนิดของฟิล์ม ของภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ทำหน้าที่นี้แทน เราต้องเรียนวรรณกรรมชั้นดีของทั่วโลกทั้งหมด และเราต้องอ่านเอง เราจึงจะได้สิ่งที่ดีงามที่เขากลั่นกรองมาให้เรา มันจึงทำให้เราซึมซับกับสิ่งที่เป็นแม่บทของภาพยนตร์”
สัจธรรมคนสร้างภาพ
“การออกมาทำหนังมันเป็นสัจธรรม มีทั้งได้ทั้งเสีย มันได้ความรู้จริงๆ ผมได้คลุกคลีอยู่กับคุณยุทธนา มุกดาสนิท ตอนนั้นเขาเป็นผู้ช่วยท่านมุ้ย ผมก็ติดตามไปห้องตัดต่อของท่านมุ้ย เราคอยส่งฟิล์ม คอยชงกาแฟ ทำอะไรต่ออะไรให้กับท่านมุ้ย โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง ‘ความรักครั้งสุดท้าย’ ส่วนภาพยนตร์เรื่อง ‘ชีวิตบัดซบ’ นั้น ผมทำแคสติ้ง เขียนบท ฝึกนักแสดงให้คุณเพิ่มพล เชยอรุณ การเรียนรู้เรื่องภาพยนตร์จึงเกิดขึ้นตรงนั้นโดยที่ไม่รู้ตัว
“บางคนอาจจะเห็นว่าผมประสบผลสำเร็จ เพราะตอนอยู่ในกองถ่าย เราเป็นผู้กำกับ เป็นนายพลของกองถ่าย เราน่าจะมีความสุขอย่างนั้น แต่ผมกลับไม่รู้สึกแบบนั้น ผมมีความรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบสูงมาก ทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องเงินทองหลายสิบล้าน เงินไม่พอ หนังเข้าแล้วก็ต้องมานั่งลุ้นรายได้เพื่อทำให้งานของเราไม่ขาดทุน มันเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงเหลือเกินนับตั้งแต่หนังเรื่องแรกที่ทำ เรื่อง ‘เพลิงพิศวาส’ ปี พ.ศ.2527 ของค่ายสหมงคลฟิล์ม
“พอทำหนังเรื่องแรกจบ ผมก็มานั่งคิดว่าทำไมมันถึงหนักขนาดนี้กว่าหนังจะออกมาได้ ไม่ทราบว่ามาจากสาเหตุอะไร มันอาจจะโดนลิขิตให้มาเป็นแบบนี้ ผมมีความเชื่อว่ามันมาจากการโดนหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็กๆ ให้เป็นนักศิลปะ เพราะเราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เราชอบดูงานศิลปะมาก มองเห็นความงามในทุกๆ อย่าง มองเห็นความงามของสลัม ในขณะที่คนอื่นมองไม่เห็น
“หากย้อนไปช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ผมเคยอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะต้องการอิสระและอยากวาดรูป ตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำละครสมัยใหม่ เรื่อง ‘อวสานเซลล์แมน’ ซึ่งผมได้ไปดู ผมตกใจมาก ดูได้ไม่ถึง 10 นาที จึงรู้เลยว่านี่ล่ะคือสิ่งที่เราอยากเรียน เพราะที่ธรรมศาสตร์เขาเรียนเป็นคอร์สๆ ผมจึงหันไปสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ก็เรียนดรามาเป็นเรื่องเป็นราว ในที่สุดแม้แต่วิชาที่เรียกว่า Poetry หรือการเรียนกวีนิพนธ์ของโลกตะวันตก นอกจากจะได้ภาษาที่ไพเราะแล้ว เรายังได้เรียนรู้หลักการของไดเร็กติ้งของการกำกับการแสดงที่ถูกต้องก็เกิดขึ้นจากการอ่านบทกวี การเปรียบเทียบสัญลักษณ์ การอุปมาอุปไมย
“เมื่อเราเข้าใจ Poetry เราจะเข้าใจในการนำเอาสัญลักษณ์และในเชิงเปรียบเทียบมาใช้ในแง่ภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการกำกับภาพยนตร์ ผู้กำกับชั้นนำของโลกก็ใช้วิธีนี้กันหมด ผมชอบกวีหลายๆ ท่านอยากจะบอกว่าคณะอักษรศาสตร์์ จุฬาฯ หล่อหลอมให้เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่ตัวเราเป็นเอง ต้องวิเคราะห์ ต้องอ่าน บวกกับจินตนาการเกินเหตุในวัยเด็ก มันจึงจะสร้างจินตนาการกับสิ่งที่เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นคล้าสสิกทั้งหมด
“หลายคนบอกว่าผมเป็นติสต์ คำว่าติสต์มันมาจากคำว่า อาร์ตติสต์ แปลความว่าผู้ที่ทุ่มเทชีวิตให้กับงานศิลปะ ทั้งชีวิต ทุกลมหายใจ ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่ทำเพื่อศิลปะ กำกับหนัง กำกับภาพยนตร์ ต้องทำให้มันออกมาดีให้ได้ ในขณะที่ทำไม่เคยคิดอะไรเลยจะโฟกัสเข้าไปเหมือนกับตัวเองโดดเข้าไปอยู่ในนั้น ไม่รู้วันเวลา ลืมแม้กระทั่งกินข้าว ลืมร้อน ลืมหนาว ลืมทุกอย่างไปเลย”
โซ่ตรวน - ความคิด - ชีวิต - ตัวตน
“ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับผมเริ่มตั้งแต่กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘เพลิงพิศวาส’ ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาดาราประกอบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมโดยสินจัย หงส์ไทย ต่อมา ภาพยนตร์เรื่อง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ ได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่วนภาพยนตร์เรื่อง ‘ช่างมันฉันไม่แคร์’ แต่งเอง และสำหรับ ‘ฉันผู้ชายนะยะ’ก็นำมาจากบทละครของ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งท่านแปลมาอีกที
“ช่างมันฉันไม่แคร์นั้นผมคิดเอง ด้วยสำนึกของประเทศชาติและการเมือง สำนึกของประชาธิปไตย แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 หลังจากที่ทำเรื่อง เพลิงพิศวาสมาในยุคที่สังคมบ้านเรา วงการโฆษณาเพิ่งเกิด วัฒนธรรมการบริโภคเริ่มมาสู่บ้านเรามากยิ่งขึ้น ทุกคนกลายเป็นขายสินค้า หนังโฆษณาก็นำเอาเทคนิคที่ดีงามของภาพยนตร์มาใช้ในเชิงขายของ เพื่อนๆ และพี่ๆ หลายคนที่เก่งๆ ก็ไปเก่งในวงการโฆษณา ซึ่งหลายๆ ท่านเป็นปัญญาชนคนฉลาดที่เก่งมาก แต่กลับทุ่มชีวิตของตัวเองให้กับวัฒนธรรมการบริโภค
“เรื่องช่างมันฉันไม่แคร์หนังสือพิมพ์เอเชียวีคสัมภาษณ์ผม 2 หน้าเต็มๆ กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่สะท้อนประชาธิปไตยในเมืองไทยโดยผ่านตัวละคร 2 ตัว ดูง่ายๆ มันเป็นเรื่องของเขา แล้วคนอื่นไปยุ่งอะไรด้วยล่ะ (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขามากกว่าจนกระทั่งทุกวันนี้ ผมยังเข้าใจว่าคนไทยยังไม่เข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ
“เราต้องเคารพเสรีภาพในความคิด เสรีภาพในการแสดงทัศนะทางการเมือง แต่ไม่ใช่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
“แม้แต่เรื่องราวของ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ซึ่งเรื่องนี้ผมถ่ายทอดมาจากบทประพันธ์ของ ครูมาลัย ชูพินิจ โดยในขณะที่ตัวละคร 2 ตัวเรียกร้องเสรีภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์มีเสรีภาพไม่แท้จริงเลย แต่มนุษย์เป็นทาสของกิเลสตัณหาตั้งแต่เกิดมาแล้วเป็นทาสของชะตากรรม เป็นทาสของตัวเอง คุณใฝ่หาเสรีภาพ แต่คุณไม่มองย้อนกลับเข้าหาตัวเองว่า ที่จริงแล้วเสรีภาพมี ถ้าเราเลือกถูกทาง
“ตัวละครเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจแก่คนดู เพราะเหตุว่าคนคิดอย่างนี้แล้ว ผลที่ได้รับควรจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของบาปบุญคุณโทษ ความรักที่ไม่ถูกกาลเทศะ สุดท้ายก็จะเกิดโศกนาฏกรรมในที่สุด หนังของผมเกือบทุกเรื่อง ส่วนใหญ่มันจะสะท้อนบาปของมนุษย์ กิเลสตัณหา ธาตุแท้ มุมมืด ที่ซ่อนอยู่ในตัวละคร เพื่อจะเป็นอุทาหรณ์ให้คนดูว่าอย่างนี้ไม่ควรทำ”
ธรรมใดๆ ก็ไร้ค่าถ้าไม่ “ทำ”
“แท้จริงแล้วต้นกำเนิดของการละคร มันเกิดที่กรีก ตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนพระเยซูคริสต์เกิด กรีกมีการบูชาเทพพระเจ้าแล้ว ดรามาเกิดในพิธีบวงศรวงเทพเจ้ายูเอเนตุส นักบวชทำละครให้คนดูแทนที่จะเทศน์ อย่างโรงละครกรีกที่เป็นอารีนานั่น อยู่ในวัด คนก็จะเข้าไปดูการแสดง จนกลายเป็นต้นกำเนิดของละครเศร้า เมื่อคนดูได้เข้าไปดูแล้ว ตัวเองก็อยากจะเก่งกล้าสามารถเหมือนตัวละคร แต่ถ้ามีบาปบางอย่าง แล้วทำบาป คนดูจะรู้สึกว่าฆ่าคนมันเป็นสิ่งไม่ดี
“คนดูก็จะติดตามพระเอกเหมือนกับทนทุกข์ทรมานด้วย คนดูละครประเภทนี้ถือเป็นการล้างดวงวิญญาณบาป จิตเราเข้าไปในตัวเขา เขาทุกข์ เราจะทุกข์ตาม สู่หายนะในตอนจบ เหมือนกับเราได้มีประสบการณ์ร่วมกับตัวเขา เราถึงรู้ว่าไอ้นี่เป็นสิ่งไม่ดี และเราจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นนี่คือละครที่ทำเพื่อชำระล้างจิตใจบาป และเป็นตัวอย่างว่าฉันจะไม่ทำเช่นนี้อีก นี่แหละเป็นสิ่งที่ซ้อนอยู่ในงานของผมทั้งหมด เพื่อให้คนดูเข้าใจ
“ผมเองต้องขอบคุณอาจารย์สดใส เพราะในชั่วโมงแรกที่เรียนกับท่าน ท่านพูดคำว่า ‘ครูที่ดีที่สุดของการเป็นผู้กำกับที่ดี นักแสดงที่ดี นักเขียนบทที่ดี หรือนักประพันธ์ที่ดีก็ คือชีวิต เราต้องเข้าใจชีวิต ไม่เข้าใจชีวิต เราจะถ่ายทอดออกมาเป็นธรรมชาติไม่ได้’เพราะศิลปะประเภทนี้คือการสะท้อนภาพธรรมชาติออกมาบนเวที บนจอภาพยนตร์ หรือในจอโทรทัศน์ สิ่งที่เราเห็นทุกเมื่อเชื่อวันถ้าเราเป็นคนช่างสังเกต ล้วนเป็นครูเราทั้งสิ้น ข้อสำคัญคือไม่ใช่แค่มองฉาบฉวย มันต้องมองด้วยความเข้าใจ
“หลังจากทำละครเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ และ ‘ในฝัน’ ผมหยุดไป 3 ปี เป็นช่วงที่ผมหันมาสนใจในพุทธศาสนา เริ่มจากการอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส น่าสนใจมาก จึงอ่านไปเรื่อยๆ จากนั้นก็ฟังดีวีดีของท่าน และอีกหลายๆ ท่าน อ่านหลายๆ แบบ รวมทั้งการไปปฏิบัติธรรมที่วัดผาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กับพระอาจารย์สุรศักดิ์ จากนั้นก็ได้ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่บุญฤทธิ์ที่สวนทิพย์จึงค้นพบอะไรบางอย่างที่ตนเองอิ่มเอิบใจที่เจอพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่าธรรมะคือธรรมชาติ
“การเรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์คือการเข้าถึงร่างกายกับจิตใจของมนุษย์โดยตรง และเจาะลงไปในจิตใจของมนุษย์ ว่าประกอบด้วยอะไร เรามีอะไรบ้าง อะไรคือต้นกำเนิดของการก่อให้เกิดกรรมะหรือแอ็คชั่น ฉะนั้นวิชาแอ็คติ้งจึงเป็นวิชาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง มันไม่ใช่แปลว่าแสดง เราแปลผิด แปลว่าแสดงมาตั้งแต่ต้น มันเลยแสดงกันไปหมด
“ร่างกายหรือจิตใจมนุษย์เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดแอ็คชั่น เป็นการกระทำของคน คือกรรมนั่นเอง แล้วต้นกำเนิดมันคืออะไร อะไรเป็นตัวกำหนด อะไรคือการกำหนดทุกข์ อะไรคือการพ้นทุกข์ ผมจึงค้นพบว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นวิทยาศาสตร์มาก ไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ หรือมันอาจจะเป็นปาฏิหาริย์ก็ได้ เพียงแต่วิทยาศาสตร์ยุคนี้ยังไปไม่ถึง ยุคก่อนนั้นเมื่อ 70 ปี ไม่มีทีวี ไม่มีอินเทอร์เน็ต หากโผล่ขึ้นมา พูดแล้วเห็นหน้ากันได้ คงนึกว่าผีหลอก มันเป็นไปได้อย่างไร แต่ปัจจุบันมันเป็นไปแล้ว
มหัศจรรย์แห่งศรัทธา
“เพราะฉะนั้นผลงานหลังจากที่ไปปฏิบัติธรรม ศึกษาพระธรรม มันเลยกลายมาเป็นภาพยนตร์ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ แต่ภาพยนตร์ผมไม่ได้ทำมา 13 ปีแล้ว ทำแต่ละครโทรทัศน์ ที่หายไปทำให้ค้นพบว่าการฝึกฝน การปฏิบัติ กับการฝึกฝนแอ็คติ้ง มีอะไรที่คล้ายคลึงกัน ท้ายที่สุดก็ค้นพบว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน ผมจึงนำเอาสิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมดกับฝรั่ง กับข้อปฏิบัติทางพระธรรม เช่นการทำอานาปานสติหรือโยคะต่างๆ เอามาผสมผสานกันเพื่อสร้างหลักสูตรใหม่และทดลองในการสอน
“ผมทำงานมาตั้งแต่ต้น ผมมีคลาสให้คนมาทำงานกับผมอยู่แล้ว ยิ่งลูกศิษย์เก่าๆ ที่ผมสอน เขาก็มากันเป็นประจำ อย่าง ฉัตรชัย-สินใจ เปล่งพานิช ฯลฯ มีคนถามผมว่าหม่อมน้อยคิดว่าตัวเองเป็นครูหรือเป็นผู้กำกับ ผมก็บอกว่าผมเป็นคนที่ทำงานหนึ่งคนแต่ถ้าจะพูดถึงเรื่องการสอน เราก็เป็นคนๆ หนึ่งที่สอนคน เรานำเอาความเข้าใจ ประสบการณ์ชีวิต ความรู้ที่เรามีในชีวิต มาถ่ายทอดให้เขาเท่านั้น
“ถ้าเรื่องการสอน เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมสอนที่มหิดล อินเตอร์ อย่างนั้นผมยอมให้เรียกครูอาจารย์ได้ เพราะว่าอันนั้นสอนจริงๆ อยู่ในสถานภาพอาจารย์จริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ที่เอ็กแซ็กท์ ผมเริ่มค้นพบหลักสูตรใหม่ คนมาเรียนต้องมาเรียนตลอดต้องปฏิบัติเหมือนกับนักกีฬาๆ จะต้องฝึกฝนอยู่ตลอดเวลาถึงจะเก่ง
“มันต้องฝึกฝน แม้แต่การปฏิบัติธรรม คุณปฏิบัติแล้วคุณหายไปไม่ได้ คุณต้องปฏิบัติเป็นประจำ เหมือนกับศิลปะกับพุทธศาสนามันแยกกันไม่ออก อย่าลืมว่าศิลปะดีๆ ทั่วโลกเกิดขึ้นที่ไหน ดูดีๆ อย่างสถาปัตยกรรมดีๆ เพ้นท์ติ้งดีๆ มันเกิดขึ้นที่โบสถ์ ที่วัดเพราะฉะนั้นงานศิลปะที่งดงามที่สุด วิจิตรบรรจงที่สุดของชาวโลก จึงเกี่ยวกับความเชื่อและศรัทธาในศาสนา
“ถ้าจะพูดถึงทุกฉากที่ผมกำกับ พวกเสื้อผ้า หน้า ผม โลเคชั่น มันต้องสื่อความหมายได้หมด แม้กระทั่งการใช้สีหรือภาพ มันก็ต้องมีการเปรียบเทียบ สีของเสื้อผ้า มันต้องบ่งบอกนิสัยของแต่ละฉาก ทำไมยุพดีต้องถือร่มสีแดง ในขณะที่ป่าเป็นสีเขียว ทำไมยุพดีเหมือนกับแต่งหน้าอยู่ตลอดเวลา มันเหมือนกับใส่หน้ากากอยู่ แต่เมื่อไรที่ยุพดีไม่ควรแต่งหน้า มันก็เหมือนกับไม่ได้ใส่หน้ากาก แล้วร่มหายไปได้อย่างไร ทำไมร่มเปลี่ยนสีจากสีแดงกลายเป็นร่มสีขาว ทุกอย่างจะมีความหมายหมด เป็นการสื่อความหมาย โคมทำไมถึงสีแดง สีโทนของเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย สีเมนของเรื่องนี้ มันมีแค่ สีขาว ดำ แดง และสีเขียวของป่าเท่านั้น ทุกอย่างสื่อความหมายหมด ผมอยากแนะนำให้ไปดูในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ฉายที่เฮาส์ RCA เพราะจะฉายฉบับสมบูรณ์ความยาว 3 ชั่วโมงกว่า ซึ่งดูเข้าใจมากกว่านี้
“หนังเรื่องนี้ คุณเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) เชิญผมเข้าไปพบ ซึ่งเป็นคนแรกที่ให้ผมทำหนังเรื่องเพลิงพิศวาส ถ้าไม่มีท่าน ก็ไม่มีหม่อมน้อยทุกวันนี้ เมื่อมาคุย ท่านปรารถนาให้เราทำเรื่องนี้
“การทำงานชิ้นนี้เป็นการทดแทนบุญคุณคุณเจียง โปรดักชั่นนี้จึงกลายเป็นโปรดักชั่นส่วนตัวของคุณเจียง ไม่ใช่หม่อมน้อยคิดเรื่องมา แล้วนำไปเสนอ
“สุดท้ายสิ่งที่ผมอยากจะทำ แล้วยังไม่ได้ทำก็คือผมอยากจะบวช หลังจากไปปฏิบัติธรรม มันทำให้เราลืมโลกภายนอกไปโดยปริยาย มีความรู้สึกว่าถ้าเราครองเพศบรรพชิตเป็นพระ คงตัดได้จริงๆ จะได้โฟกัสไปทางพระธรรมจริงๆ จะได้ศึกษา เข้าใจละเอียดลึกซึ้งขึ้นจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะงานด้านหลังต่างๆยังมีอีกมากที่เรามีห่วง มีความรับผิดชอบอื่นๆ อยู่เยอะกับทุกๆ คน ก็คิดว่าน่าจะบวชตอนที่เราพร้อมจริงๆ อาจจะอายุ 60-70 บวชแล้วไม่อยากสึก จะอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เพื่อรับใช้พุทธศาสนาต่อไป”